โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.4 บ้านไทยเจริญ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่
ตำบล : พระพุทธบาท
อำเภอ : ศรีเชียงใหม่
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.98363 N, 102.42864 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
จากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอศรีเชียงใหม่ ให้ใช้ถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 211) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าอำเภอสังคม ประมาณ 19.6 กิโลเมตร จะพบวัดหินหมากเป้งทางขวามือ เลี้ยวขวาเข้าสู่ประตูวัด ตรงไปตามถนนภายในวัดอีกประมาณ 600 เมตร ถึงที่จอดรถของวัด
วัดหินหมากเป้งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของพระสายวิปัสสานากรรมฐาน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย โดยทางวัดมีที่พักรองรับผู้ปฏิบัติธรรม
สภาพทั่วไปภายในวัดสะอาด เงียบสงบ ร่มรื่น มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขง ทั้งยังเป็นสถานที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานท้องถิ่น คือตำนานหินหมากเป้ง
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีการสร้างสถานที่ต่างๆ เพื่อระลึกถึงหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เช่น มณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (สร้างเมื่อ พ.ศ.2524) เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสีฯ (สร้าง พ.ศ.2534 ก่อสร้างเสร็จ พ.ศ.2540) เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พิพิธภัณฑ์ และศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภายในสถานที่แต่ละแห่งจัดแสดงวัตถุและเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่เทสก์ เช่น อัฐิ รูปปั้น เครื่องอัฐบริขาร ของใช้ และชีวประวัติของหลวงปู่เทสก์
เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสีฯ เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พิพิธภัณฑ์ และศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าไปภายในมณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ควรติดต่อทางวัดล่วงหน้า
ทุกวันที่ 17-19 ธันวาคมของทุกปี ทางวัดจะจัดงานครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัดคือหลักหินและเสมาที่เคลื่อนย้ายมาจากวัดอัญญา (ดงนาคำ) อ.โพธิ์ตาก นั้น พระภายในวัดและบุคคลที่เข้ามาสักการะเยี่ยมชมปูชนียสถานวัตถุภายในวัดส่วนใหญ่ทราบแต่เพียงว่าเป็นโบราณวัตถุ แต่ไม่ทราบที่มาและความสำคัญของหลักฐานเหล่านี้ จึงให้ความเอาใจใส่และดูแลรักษาในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ไม่มีการรบกวนหลักฐาน ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมศิลปากรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจัดทำป้ายให้ข้อมูลหรือนิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวของหลักหินและเสมาเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่วิชาการและการท่องเที่ยว เนื่องจากวัดแห่งนี้มีพุทธศาสนิกชนเข้ามาเยี่ยมเยียนเป็นจำนวนมาก
หมายเลขโทรศัพท์พระครูมงคลญาณโสภณ เจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง 081-7625055
วัดหินหมากเป้ง, กรมศิลปากร
วัดหินหมากเป้ง ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงด้านทิศตะวันตก บนพื้นที่ภูเขาหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช (ต่อเนื่องกับหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช ทางทิศตะวันออก)
แม่น้ำโขง
สภาพธรณีวิทยาเป็นภูเขาหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช ต่อเนื่องกับหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช ทางทิศตะวันออก
วัดหินหมากเป้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2482 โดยพระอาจารย์หล้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2513 บริเวณหน้าหอสมุด วัดหินหมากเป้ง เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหลักหินและเสมาหิน โดยเฉพาะเสมาหินสมัยทวารวดี ที่นำมาจากบริเวณวัดอรัญญา (ดงนาคำ) อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ตามประวัติกล่าวว่ามีจำนวน 52 ชิ้น
บริเวณวัดอรัญญา (ดงนาคำ) นี้ อาจเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เนื่องจากหลักหินที่พบจำนวนหนึ่งมีรูปทรงคล้ายแท่งหินหรือหลักศิลาที่ใช้ปักแสดงเขตประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มวัฒนธรรมหินตั้ง (Megalith) ในยุคสมัยดังกล่าว ก่อนที่ในสมัยต่อมาคือสมัยทวารวดี ประชาชนจะรับเอาความเชื่อในศาสนาพุทธ เถรวาท เข้ามายึดเหนี่ยวจิตใจ ดังปรากฏหลักฐานเป็นเสมาหินทราย โดยเฉพาะที่มีการสลักเป็นรูปสถูปและเรื่องราวชาดก ชุมชนแห่งนี้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าพื้นที่วัอรัญญา (ดงนาคำ) อาจเป็น เวียงนกยูง ที่ปรากฏชื่อในตำนานอุรังคธาตุ
คำว่า “หินหมากเป้ง” เป็นชื่อหิน 3 ก้อน ที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขง ด้านทิศเหนือของวัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยโบราณ คนพื้นถิ่นเรียกว่า เต็งหรือเป้งยอย (หมากเป้งเป็นผลของต้นไม้ตระกูลปาล์มหรือหมากชนิดหนึ่ง) ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าหินก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง หินก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ส่วนหินก้อนที่ 3 เป็นของเวียงจันทร์ (หินทั้ง 3 ก้อน จะมองเห็นได้เฉพาะในมุมมองจากแม่น้ำโขง หรือมุมมองจากฝั่งลาว)
วัดหินหมากเป้ง ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของพระสายวิปัสสนากรรมฐาน ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากในสมัยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) ลูกศิษย์รูปหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2508 และได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย
จากการสำรวจในเดือนกันยายน 2557 พบหลักฐานทางโบราณคดีภายในวัดหินหมากเป้งคือ หลักหินและเสมาหินมากกว่า 20 หลัก ปักอยู่ในพื้นดินด้านหน้าอาคารหอสมุดของวัด มีทั้งที่ค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นชิ้นส่วนแตกหักขนาดเล็ก ในจำนวนนี้มีเสมา 6 หลักที่ปรากฏภาพสลักสถูป
จากการสัมภาษณ์พระลูกวัดหินหมากเป้งทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักหินและเสมาเหล่านี้ได้รับการเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นเมื่อสมัยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นเจ้าอาวาส และได้รับการเอาใจใส่ต่อเนื่องมาในสมัยพระอธิการพิชิต ชิตมาโร เป็นเจ้าอาวาส ในขณะที่ปัจจุบันอาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจุบันทางวัดเน้นการวิปัสสนาเป็นสรณะ