โพสต์เมื่อ 10 ก.ค. 2022
ที่ตั้ง : ม.8 บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
อำเภอ : พนมดงรัก
จังหวัด : สุรินทร์
พิกัด DD : 14.349195 N, 103.266641 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี
ออกจากตัวอำเภอพนมดงรักไปตามถนนสายชนบทไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 (สายอำเภอกาบเชิง-อำเภอบ้านกรวด) เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงบริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้านหนองคันนา เลี้ยวซ้ายไปทางทิศใต้ตามทางหลวงแผ่นดินสายชนบทหมายเลข 2047 ทางทิศใต้ประมาณ 3.5 กิโลเมตรถึงปราสาทตาเมือน และประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงกลุ่มปราสาทตาเมือน
เวลาทำการ 9.00-15.00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่นักท่องเที่ยวต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันการเป็นคนไทยไปแลกบัตรเข้าชมกับทหารผู้ดีแลพื้นที่ด้วยทุกครั้ง และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีบัตรประชาชนรวมถึงชาวต่างชาติเข้าชม และเนื่องจากยังไม่มีรถโดยสารประจำทางมาถึง นักท่องเที่ยวสามารถนำรถมาเองได้
กรมศิลปากร, ทหารพรานกองร้อยจู่โจมที่ 961 กรมทหารพรานที่ 23 กองทัพภาค 2
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3712 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ
กลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา สภาพทั่วไปอยู่ในป่าทึบ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และเป็นพื้นที่ควบคุมของทหาร โบราณสถานได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว
ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือน (บายกรีม) มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 1 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 700 เมตร
แม่น้ำชี, คลองตาโมง, คลองโอกรุ, ลำห้วยเสน
สภาพธรณีวิทยา (กรมทรัพยากรธรณี 2553: 16) อยู่ในหมวดหินภูพาน (Kpp) กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส (66.4-140 ล้านปีมาแล้ว) ลักษณะหิ้นเป็นหินทรายสีเทาขาว เหลืองจาง ขาวปนเหลืองส้ม ขนาดเมล็ดทรายหยาบถึงหยาบปานกลาง การคัดขนาดไม่ดี เม็ดทรายค่อนข้างเหลี่ยม เนื้อแน่น แข็ง แสดงชั้น และชั้นเฉียงระดับ และหินกรวดมน สีเทาขาว เหลืองจาง ขาวปนเหลืองส้ม ขนาดเมล็ดกรวดเล็กถึงปานกลาง วางตัวอย่างต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินเสาขรัว
หมวดหินภูพานบริเวณช่องปราสาทตาเมือนนี้ สันนิษฐานว่าถูกใช้เป็นวัสดุในการสร้างปราสาทด้วย
ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม, จำรัส เกียรติก้อง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502, พ.ศ.2503
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กองโบราณคดีและหน่วยศิลปากรที่ 6, กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เป็นการสำรวจกลุ่มปราสาทตาเมือนครั้งแรก ได้พบหลักฐานทางสถาปัตยกรรม และพบจารึกอักษรขอมภาษาสันสกฤต ที่ปราสาทตาเมือนโต๊ดชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
สันนิษฐานว่าปราสาทตาเมือนธม น่าจะสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1600-1650ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
อ่านและแปลจารึกปราสาทตาเมือนโตจ เป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต ได้ข้อมูลด้านการปกครองสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพบว่าเป็นจารึกแบบเดียวกับที่พบในโบราณสถานที่เรียกว่าอโรคยศาลาชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการ/พัฒนาแหล่งโบราณคดี
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, กองทัพภาคที่ 2
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 6 ร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 2 เปิดแหล่งโบราณคดีกลุ่มปราสาทตาเมือน มีการตัดถนนเข้าสู่แหล่งโบราณคดีนี้ โดยในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้เสด็จไปศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือนชื่อผู้ศึกษา : ปราโมทย์ เงินไพโรจน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
คณะสำรวจจากหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้เข้าสำรวจทำผังบริเวณ และผังสภาพปัจจุบันของกลุ่มปราสาทตาเมือน และได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะกลุ่มปราสาทตาเมือนบางส่วนในปีงบประมาณ 2534ชื่อผู้ศึกษา : อนงค์ หนูแป้น
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
อนงค์ หนูแป้น เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์”ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ปุราณรักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9, กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ดำเนินการบูรณะปราสาทตาเมือนธม ด้วยวิธีอนัสติโลซิส โดยห้างฯได้บูรณะโคปุระ ระเบียงคดด้านทิศเหนือให้อยู่ในสภาพดีชื่อผู้ศึกษา : ก่องแก้ว วีระประจักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
อ่านจารึกที่พบที่ปราสาทตาเมือนธม ทำให้ทราบว่าปราสาทตาเมือนธมมีการใช้งานเป็นศาสนสถาน 2 สมัย สมัยแรกก่อนสร้างตัวปราสาทราวพุทธศตวรรษที่ 12 และต่อมาคือระยะสร้างตัวปราสาทในพุทธศตวรรษที่ 16ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บูรณะโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน (ตาเมือนธม) จ. สุรินทร์ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บูรณะโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือนจากข้อความในจารึกเท่าที่อ่านแปลความได้เบื้องต้น สามารถสรุปได้ว่า ปราสาทตาเมือนธมได้เลือกภูเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมในศาสนาฮินดูไศวนิกายตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 และมีการก่อสร้างตัวปราสาทขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 ดังหลักฐานด้านศิลปกรรมพบที่ปราสาทแห่งนี้ที่มีพัฒนาการของลวดลายและพัฒนาการของประติมากรรมในแบบศิลปะบาปวน (ดังจะกล่าวถึงต่อไป) ทั้งนี้ คงมีการใช้งานสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏพระนามกษัตริย์องค์ต่างๆ ทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 (พ.ศ.1389-1420) พระเจ้าราเชนทรวรมัน (พ.ศ.1487-1511) พระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545-1593) และสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การปรากฏชื่อ “พระกมรเตงชคตศิวบาท” ซึ่งอาจเป็นชื่อรูปเคารพประธานของปราสาทแห่งนี้ก็เป็นได้ (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, 2548 : 121-122)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปราสาทตาเมือนธมเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู แต่บางช่วงเวลา ปราสาทแห่งนี้อาจมีการเคารพนับถือพุทธศาสนาก็เป็นได้ เนื่องจากมีการค้นพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร กำหนดอายุราวสมัยศิลปะบาปวน-นครวัด (พุทธศตวรรษที่ 17) (สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ., 2547 : 122) พระวัชรปาณีทรงครุฑ และพระยมทรงกระบือซึ่งเป็นประติมากรรมแบบที่พบในอโรคยศาลาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
มีการให้ความสำคัญส่วนของครรภคฤหะด้วยการเพิ่มชุดฐานที่มีลวดลายเครื่องประดับแตกต่างจากส่วนของอันตราละและมณฑป กล่าวคือ ประกอบด้วยชั้นหน้ากระดานสลักลายประจำยาม ชั้นบัวคว่ำสลักลายใบไม้ม้วน ถัดขึ้นไปชั้นบัวลูกแก้วสองชั้นสลักเป็นบัวหงาย และชั้นลวดบัวที่สลักเป็นลายบัวกุมุท ก่อนจะถึงผนังเรือนธาตุที่มีลายดอกไม้สี่กลีบ และลายรูปบุคคลที่มุมต่างๆของปราสาท
ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีปราสาทบริวารก่อจากศิลาทรายหันหน้าไปทางทิศใต้เช่นเดียวกับปราสาทประธาน ส่วนทางด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้ตามลำดับ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคดมีโคปุระเป็นทางเข้าที่กึ่งกลางระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันโคปุระและระเบียงคดด้านทิศเหนือได้รับการรื้อออกไปคราวที่ต้องการให้มีการบูรณะปราสาทในปี พ.ศ.2536 แต่เกิดกรณีพิพาทระหว่างกัมพูชากับไทยเสียก่อนเมื่อมีการเผาสถานฑูตไทยในกัมพูชาในปีเดียวกัน ไม่ทันได้ประกอบกลับเข้าตำแหน่งเดิมตราบจนปัจจุบัน จึงเหลือหลักฐานให้ศึกษาเพียงสามด้าน
ทางทิศใต้ซึ่งเป็นด้านหน้าปราสาทนอกระเบียงคด มีการก่อบันไดทางขึ้น และทำผนังกั้นดินจากศิลาแลงลดหลั่นกันสามชั้น และมีสระน้ำ 2 สระกรุด้วยศิลาทรายอยู่นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือ
ทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทมีร่องรอยของแนวทางเดินโบราณขนาดกว้างประมาณ 13.5 เมตร ความยาวที่เหลือในปัจจุบันประมาณ 70 เมตรตามแนวเหนือ-ใต้ ลักษณะเป็นทางเดินที่ก่อขอบด้วยศิลาแลงอัดดินตรงกลาง จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่กล่าวว่า ยังมีแนวถนนยาวต่อออกไปอีกประมาณ 150 เมตรสู่ปราสาทตาเมือนโต๊จทางด้านทิศเหนือ แต่เป็นถนนอัดด้วยดินไม่มีแลงกรุที่ขอบทาง ส่วนทางด้านทิศใต้มีการก่อสร้างเป็นบันไดอย่างดี มีสัตว์ต่างๆ เช่น สิงห์ ช้าง ประดับอยู่ตามขั้นบันได (ปัจจุบันไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทหารกัมพูชาตรึงกำลังอยู่) ถนนโบราณด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นฝั่งประเทศไทยสูงจากพื้นดินเล็กน้อย ส่วนทางด้านทิศตะวันออกที่เป็นพื้นที่เขตกัมพูชาในปัจจุบันมีความสูงจากพื้นประมาณ 1-2 เมตร
จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกปราสาทตาเมือนธม หลักที่ 1, หลักที่ 2, หลักที่ 3, หลักที่ 4, หลักที่ 5, หลักที่ 6, จารึกปราสาทตาเมือนโตจ
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2553.
กรมศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง. เอกสารกองโบราณคดี หมายเลข 8/2533. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2533.
ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “อารยธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมจากหลักฐานจารึก.” ศิลปากร 51, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2551) : 74.
ไขศรี ศรีอรุณ และสันติ เล็กสุขุม [ผู้แปล], “อำนาจศูนย์รวมและสถาปัตยกรรมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในประเทศไทย”, การค้นคว้าวิจัยทางโบราณคดีในประเทศไทย. เอกสารการประชุมทางวิชาการฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 2. 9-11 ธันวาคม 2534, หน้า 116-117
ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2528.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปุราณรักษ์. รายงานการบูรณะปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์. เอกสารอัดสำเนา, 2542.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย : ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. [ผู้แปล], “ที่พักคนเดินทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.” ศิลปวัฒนธรรม 16, 2 (ธันวาคม 2537) : 106.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี, 2522.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2547.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.” ศิลปากร 10, 2 (กรกฏาคม 2509) : 52-61.
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, รายงานการศึกษาวิเคราะห์เส้นทางวัฒนธรรมจากโบราณสถานและจารึกพบที่อโรคยศาล. มปท., 2553.
องค์ หนูแป้น. “การศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์.” วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535.
หอสมุดแห่งชาติ, จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอมพุทธศตวรรษที่ 17-18. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.
Lawrence Palmer Briggs. The Ancient Khmer Empire. Bangkok : White Lotus, 1999.