บ้านวังด้วน


โพสต์เมื่อ 2 พ.ย. 2020

ที่ตั้ง : บ้านวังด้วน ม.1 ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

จังหวัด : ประจวบคีรีขันธ์

พิกัด DD : 11.691016 N, 99.724781 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : อ่าวไทย

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยขี้มด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสี่แยกประจวบคีรีขันธ์ ในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ลงใต้ไปทางอำเภอทับสะแก ระยะทางประมาณ 16.4 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยสถานี หรือซอยเพชรเกษม-สถานีรถไฟวังด้วน (อยู่เลยโรงเรียนบ้านห้วยน้ำพุไปประมาณ 1.3 กิโลเมตร บริเวณบ้านห้วยทราย) ตรงไปตามทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงสถานีรถไฟวังด้วน พื้นที่แหล่งโบราณคดีอยู่ทางทิศเหนือของอาคารสถานีไปตามทางรถไฟราว 300-700 เมตร

ส่วนพื้นที่แหล่งโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง จากถนนเพชรเกษมเมื่อเลี้ยวเข้าซอยสถานี (หรือซอยเพชรเกษม-สถานีรถไฟวังด้วน) แล้ว ให้ตรงมาตามทางประมาณ 2.7-3 กิโลเมตร (ผ่านสถานีรถไฟวังด้วนและข้ามทางรถไฟ) จะพบแหล่งโบราณคดีอยู่ทั้ง 2 ฝั่งถนน

ทั้งนี้ นอกจากซอยสถานีแล้ว การเข้าสู่สถานีรถไฟวังด้วนจากถนนเพชรเกษม ยังสามารถเข้าได้จากซอยกำนัน ที่อยู่เลยโรงเรียนบ้านห้วยน้ำพุไปประมาณ 300 เมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

การรถไฟแห่งประเทศไทย, ที่ดินในความครอบครองของเอกชน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

โคกเนินบนที่ราบ, ที่ราบ, ที่ราบชายฝั่งทะเล

สภาพทั่วไป

สภาพทั่วไปของแหล่งโบราณคดีเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ลักษณะเป็นที่ลุ่มสลับกับเนินดินและสันทราย ธรณีสัณฐานหรือการก่อตัวของพื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) โดยการกระทำของกระแสน้ำเค็มและน้ำจืดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งการขึ้นลงของน้ำทะเล การกระทำของคลื่น การขึ้นลงของน้ำจากห้วยขี้มดและลำน้ำสายเล็กๆ อีก 6 สาย เช่น ห้วยโป่งจัน ห้วยทราย ที่ไหลมาจากทางตะวันตกที่เป็นเขตที่สูงและภูเขา ลงสู่บึงวังด้วน ก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเลบริเวณชายหาดวังด้วน

บึงวังด้วนเป็นชะวากทะเลที่มีทางน้ำเล็กๆ เปิดออกสู่ทะเล หรือที่เรียกว่า Tidal inlet ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้จึงน่าจะมีลักษณะเว้าลึกเข้าไปจากชายฝั่ง โดยสังเกตจากบึงวังด้วนที่เป็นชะวากทะเลเก่า แนวเนินและสันทรายเก่า ซึ่งเป็นขอบของชายฝั่งชะวากทะเลในอดีต

ลักษณะดินโดยทั่วไปจึงมีลักษณะเป็นตะกอนสันทรายเก่า (Qbo) ประกอบด้วยทรายเนื้อปานกลางถึงหยาบ การคัดขนาดปานกลาง ความกลมมนดี มีเศษเปลือกหอยปน (กรมทรัพยากรธรณี 2551 : 11-14) ความลาดเอียงของพื้นที่ ลาดเทจากทิศตะวันตกที่เป็นเขตเทือกเขาตะนาวศรี ชายแดนไทย-เมียนมา ลงสู่ทะเลอ่าวไทยบริเวณชายหาดวังด้วน

ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นเนินดินในแอ่งที่ลุ่มที่มีลักษณะเว้าลึกเข้ามาด้านในจากชายฝั่งทะเล และมีช่องทางน้ำออกสู่ทะเล อุดมไปด้วยทรัพยากรทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล จึงทำให้บริเวณนี้เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานเป็นอย่างยิ่ง สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มักพบอยู่บริเวณเนินตามเส้นทางน้ำเก่า หรือบริเวณแอ่งที่ลุ่มระหว่างแนวสันทรายเก่า (Bérénice Bellina 2560 : 3 ; พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) รอบบึงวังด้วน

ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม สวนมะพร้าว พืชผักสวนครัว ทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว และมีการอยู่อาศัยเป็นชุมชนที่ไม่หนาแน่นนัก มีการทำประมงบริเวณพื้นที่ชายหาดและทะเล มีการตัดถนนผ่านเนินดินเนินต่างๆ เพื่อใช้สัญจร ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของแหล่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟวังด้วนและมีทางรถไฟสายใต้ตัดผ่าน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

4 เมตร

ทางน้ำ

อ่าวไทย, ห้วยขี้มด

สภาพธรณีวิทยา

ธรณีสัณฐานหรือการก่อตัวของพื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) โดยการกระทำของกระแสน้ำเค็มและน้ำจืดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งการขึ้นลงของน้ำทะเล การกระทำของคลื่น การขึ้นลงของน้ำจากห้วยขี้มดและลำน้ำสายเล็กๆ อีก 6 สาย เช่น ห้วยโป่งจัน ห้วยทราย ที่ไหลมาจากทางตะวันตกที่เป็นเขตที่สูงและภูเขา ลงสู่บึงวังด้วน ก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเลบริเวณชายหาดวังด้วน

ลักษณะดินโดยทั่วไปจึงมีลักษณะเป็นตะกอนสันทรายเก่า (Qbo) ประกอบด้วยทรายเนื้อปานกลางถึงหยาบ การคัดขนาดปานกลาง ความกลมมนดี มีเศษเปลือกหอยปน (กรมทรัพยากรธรณี 2551 : 11-14) ความลาดเอียงของพื้นที่ ลาดเทจากทิศตะวันตกที่เป็นเขตเทือกเขาตะนาวศรี ชายแดนไทย-เมียนมา ลงสู่ทะเลอ่าวไทยบริเวณชายหาดวังด้วน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พยุง วงษ์น้อย, เดชา สุดสวาท, สุริยา สุดสวาท, ปัทมา ก่อทอง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี

ผลการศึกษา :

ใน พ.ศ.2552 สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี โดยนางสาวพยุง วงษ์น้อย นายเดชา สุดสวาท นางสุริยา สุดสวาท และนางสาวปัทมา ก่อทอง ได้เข้าสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน พบหลักฐานทางโบราณคดีกระจายตัวอยู่ตามเนินดิน 3 เนิน ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน (เนิน 1) แหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน (เนิน 2) และแหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน (เนิน 3) ดังมีรายละเอียด (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) ดังนี้ แหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน (เนิน 1) ที่ตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พิกัดองศาทศนิยม (WGS84) 11.683003 N, 99.723635 E พิกัดกริด UTM (WGS84) 47N 578867 N, 1291602 E เส้นทางเข้าสู่แหล่ง อยู่ห่างจากสถานีรถไฟวังด้วน มาตามถนนลาดยางประมาณ 900 เมตร หรือจากถนนเพชรเกษมให้ใช้ซอยสถานี มาตามถนนลาดยางประมาณ 2.9 กิโลเมตร (ผ่านสถานีรถไฟและข้ามทางรถไฟ) จะพบแหล่งโบราณคดีลักษณะเป็นเนินดินอยู่ทางขวามือของถนน ริมลำน้ำเก่าสายเล็กๆ สภาพพื้นที่ เป็นเนินดินในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เนินดินนี้สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 3-4 เมตร ตัวเนินเป็นรูปกลมกว้างประมาณ 2 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 250 เมตร อยู่ทางทิศใต้ของบึงวังด้วน ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) หลักฐานทางโบราณคดี จากการสำรวจพบว่ามีหลักฐานทางโบราณคดีดังต่อไปนี้ (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา พบแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างปริมาณค่อนข้างหนาแน่น ลักษณะเป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ หนา (ความหนาประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร) มีส่วนผสมของเม็ดกรวดขนาดใหญ่จำนวนมาก เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ การตกแต่งภาชนะพบว่า มีทั้งภาชนะผิวเรียบ และตกแต่งด้วยการกดประทับเป็นลายเชือกทาบในแนวตั้ง เชือกทาบไขว้ทับกัน กดประทับเป็นริ้วสั้นๆ เฉียงๆ บริเวณปาก สีผิวภาชนะไม่สม่ำเสมอ มีสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลอมส้ม น้ำตาลแดง บางชิ้นด้านในมีร่องรอยของหินดุ ลักษณะเป็นภาชนะดินเผาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประเภทหม้อ ไห อ่าง โอ่ง ภาชนะบางส่วนที่พบ เนื้อหยาบ แต่ไม่หนา (หนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร) เนื้อค่อนข้างแกร่ง ผิวสีเทา ตกแต่งด้วยการกดประทับเป็นลายเชือกทาบไขว้ทับกัน ที่เนื้อไม่แกร่งก็พบบ้างเช่นกัน เครื่องมือหินขัด พบจำนวน 1 ชิ้น ขนาดกว้าง 3.6 เซนติเมตร ยาว 7 เซนติเมตร หนา 1.7 เซนติเมตร ลักษณะเป็นแบบขวานแผ่น ไม่มีบ่า มีการแบ่งคมบริเวณปลายคมชัดเจนด้านหน้าด้านเดียว ทำจากหินชนวน โบราณวัตถุที่เก็บรักษาไว้ที่สถาบันถิ่นฐานไทย พบบริเวณเนินดินที่ 1 ได้แก่ เครื่องมือหินขัด พบจำนวน 1 ชิ้น ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 6 เซนติเมตร หนา 0.7 เซนติเมตร ลักษณะเป็นแบบขวานแผ่น ไม่มีบ่า มีการแต่งคมบริเวณหลายคมชัดเจนด้านหน้าด้านเดียว ทำจากหินชนวน หินลับ ทำจากหินทรายสีแดง ลักษณะเป็นท่อนยาว เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 3.7 เซนติเมตร ยาว 15.2 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร มีร่องรอยการขัดฝนจนสึกหรอทุกด้าน ชิ้นส่วนหินบด ทำจากหิน ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 18.5 เซนติเมตร หนา 4 เซนติเมตร สภาพชำรุดหักครึ่ง? ปลายด้านหนึ่งโค้งแหลม ด้านบนผิวค่อนข้างเรียบแบน ตรงกลางเป็นแอ่งรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8.5 เซนติเมตร ด้านล่างที่เป็นฐานทำเป็นแถบนูนออกมา ข้อสันนิษฐาน แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ในอดีตถูกใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และสมัยอยุธยา (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) แหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน (เนิน 2) ที่ตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พิกัดองศาทศนิยม (WGS84) 11.683416 N, 99.723003 E พิกัดกริด UTM (WGS84) 47N 578798 N, 1291647 E เส้นทางเข้าสู่แหล่ง อยู่ห่างจากสถานีรถไฟวังด้วน มาตามถนนลาดยางประมาณ 900 เมตร หรือจากถนนเพชรเกษมให้ใช้ซอยสถานี มาตามถนนลาดยางประมาณ 2.8 กิโลเมตร (ผ่านสถานีรถไฟและข้ามทางรถไฟ) จะพบแหล่งโบราณคดีลักษณะเป็นเนินดินอยู่ทางขวามือของถนน ริมลำน้ำเก่าสายเล็กๆ ห่างจากเนิน 1 ไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือประมาณ 50 เมตร (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) สภาพพื้นที่ เป็นเนินดินในพื้นที่ชายฝั่งทะเล พื้นที่ชายฝั่งทะเล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือของเนิน 1 โดยอยู่ห่างกันประมาณ 50 เมตร สภาพทั่วไปของแหล่งเป็นเนินดินสูงประมาณ 3-4 เมตร ตัวเนินเกือบเป็นรูปกลม ค่อนข้างยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ กว้างประมาณ 3 ไร่ ตั้งอยู่ห่างชายฝั่งทะเลประมาณ 300 เมตร ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย บนผิวดินไม่พบโบราณวัตถุ บนเนินมีไม้พุ่ม ไม้ยืนต้นขนาดเล็กขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป ตัวเนินทางด้านทิศเหนือถูกถนนสายวังด้วน-ชายทะเลตัดผ่าเกือบกลางเนิน ทำให้หลักฐานบริเวณดังกล่าวถูกทำลายสูญหายไป นอกจากนี้ บริเวณทางทิศเหนือเยื้องไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย เป็นเนินดินที่มีลักษณะต่อเนื่องมาจากเนิน 2 แต่อยู่คนละฟากของถนนสายวังด้วน-ชายทะเล เนินนี้มีพื้นที่มากกว่าแต่มีความสูงน้อยกว่า (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) หลักฐานทางโบราณคดี จากการสำรวจร่องรอยหน้าตัดของเนินที่ถูกปาดไป (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) ทำให้เห็นชั้นทับถมทางธรรมชาติและชั้นทับถมทางวัฒนธรรมที่มีโบราณวัตถุปริมาณค่อนข้างหนาแน่น สามารถสังเกตเห็นลักษณะการทับถมได้ว่า ชั้นดินบนเป็นชั้นดินทับถมตามธรรมชาติหนาประมาณ 1 เมตร ชั้นถัดลงมาเป็นชั้นทับถมทางวัฒนธรรมหนาประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเศษภาชนะดินเผาทับถมค่อนข้างหนาแน่น ถัดลงมาอีกชั้น เป็นชั้นทับถมทางธรรมชาติ ดินมีกรวดผสมทราย 40-50 เซนติเมตร ส่วนชั้นล่างเป็นชั้นวัฒนธรรมอีก 1 ชั้น หนาประมาณ 40 เซนติเมตร จากการสังเกตชั้นหน้าตัดของดิน พบว่ามีชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง 2 ชั้นวัฒนธรรม คือ ชั้นวัฒนธรรมล่าง พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ที่มีลักษณะเดียวกับที่พบบริเวณเนิน 1 คือ พบแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ปริมาณค่อนข้างหนาแน่น ลักษณะเป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ หนา (ความหนา 1-2.5 เซนติเมตร) มีส่วนผสมของทรายมาก เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เผาสุกไม่ทั่ว การตกแต่งกาชนะพบว่า มีทั้งภาชนะผิวเรียบ และตกแต่งด้านการกดประทับ เป็นลายเชือกทาบ ลายไขว้ทับกัน สีผิวภาชนะไม่สม่ำเสมอ มีสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาล น้ำตาลเข้ม สีเทา ชั้นวัฒนธรรมบน พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินที่เนื้อหยาบค่อนข้างบาง บางส่วนเป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง รวมทั้งเครื่องเคลือบปะปนอยู่ ได้แก่ ภาชนะดินเผาเนื้อดิน (earthenware) เนื้อค่อนข้างหยาบ มีส่วนผสมของทรายจำนวนมาก ขึ้นรูปด้วยมือ บางชิ้นมีรอยหินดุอยู่ด้านใน ความหนาประมาณ 0.3-0.7 เซนติเมตร เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ การตกแต่งผิวส่วนใหญ่เป็นลายเชือกทาบไขว้ทับกัน ส่วนประเภทผิวเรียบ ไม่มีการตกแต่งลวดลายก็พบ แต่พบปริมาณน้อยกว่าลายเชือกทาบ สีผิวของชิ้นส่วนภาชนะดินเผามีทั้งสีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน สีส้ม บางชิ้นพบว่าเนื้อค่อนข้างแกร่ง ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน มีการใช้วัสดุ (อาจเป็นใบไม้) ลูบเป็นรอยเส้นอยู่บริเวณปากทั้งด้านนอกและด้านใน ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนภาชนะเหล่านี้เป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประเภทหม้อ อ่าง ไห เครื่องเคลือบ พบปริมาณน้อยกว่าภาชนะเนื้อดิน ลักษณะเป็นเครื่องเคลือบจีน เคลือบสีเดียว สีเขียวมะกอก และเครื่องลายคราม ประเภทถ้วยหรือชาม ข้อสันนิษฐาน แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ในอดีตถูกใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และสมัยอยุธยา (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) แหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน (เนิน 3) ที่ตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พิกัดองศาทศนิยม (WGS84) 11.692945 N, 99.725495 E พิกัดกริด UTM (WGS84) 47N 579067 N, 1292702 E เส้นทางเข้าสู่แหล่ง จากถนนเพชรเกษมให้ใช้ซอยสถานี มาตามถนนลาดยางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงสถานีรถไฟวังด้วน แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ทางด้านเหนือของสถานีรถไฟวังด้วน ห่างจากตัวสถานีประมาณ 200 เมตร (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) สภาพพื้นที่ เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นเนินดินใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของสถานีรถไฟวังด้วน รูปร่างค่อนข้างกลม สูงประมาณ 2-3 เมตร เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีทางรถไฟสายใต้ตัดผ่ากลางเนิน เนินฝั่งด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น ส่วนฟากตะวันตก ปัจจุบันมีประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ทางด้านกสิกรรม (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) หลักฐานทางโบราณคดี จากการสำรวจร่องรอยหน้าตัดชั้นดินที่เนินด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ พบชั้นทับถมทางวัฒนธรรมที่ลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 1 เมตร ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต คือ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินทับถมเป็นชั้นหนาประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษณะของชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบ เป็นประเภทภาชนะดินเผาเนื้อดิน เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ส่วนใหญ่มีการตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552) ข้อสันนิษฐาน แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ในอดีตถูกใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และสมัยอยุธยา (พยุง วงษ์น้อย และคณะ 2552)

ชื่อผู้ศึกษา : Bérénice Bellina

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2560

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : แห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (French National Centre for Scientific Research)

ผลการศึกษา :

ในเดือนมีนาคม 2560 เบเรนิซ เบลลิน่า (Bérénice Bellina) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส แห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (French National Centre for Scientific Research) ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันถิ่นฐานไทย และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน ตามโครงการวิจัย “ประชากรกับสิ่งแวดล้อม : การปฏิสัมพันธ์และวิวัฒนาการในความสัมพันธ์ของการติดต่อแลกเปลี่ยนภายในภูมิภาคบริเวณตอนบนของคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย (ระหว่าง 2,000 ปีก่อนตริสตกาล ถึงปัจจุบัน)” โครงการวิจัยสนใจศึกษาเรื่องของการติดต่อแลกเปลี่ยนและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจากการแลกเปลี่ยนติดต่อกันทางน้ำของคนในพื้นที่คาบสมุทรมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางข้ามคาบสมุทร ระหว่างชุมชนชายฝั่งทะเลและชุมชนในภาคพื้นแผ่นดิน รวมถึงกลุ่มประชากรในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ ทางโครงการวิจัยจึงได้เลือกขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน เพื่อเป็นตัวแทนของชุมชนชายฝั่งทะเล ควบคู่ไปกับการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขาจุฬา ต.เขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร ชุมชนโบราณร่วมสมัยกับบ้านวังด้วน ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนในแผ่นดิน อยู่ห่างไกลทะเล วัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยคือ (1) เพื่อศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละพื้นที่บริเวณคาบสมุทรไทย-มาเลย์ตอนบน และศึกษาสภาพแวดล้อม (ทางทะเลและทางบก) ตลอดจนกำหนดอายุสมัยของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ที่พบ (2) เพื่อศึกษาว่าชุมชนดังกล่าวมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย การแลกเปลี่ยนบริเวณพื้นที่คาบสมุทร (3) เพื่อศึกษาโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนเหล่านี้ มีวิวัฒนาการในการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตลอดช่วงเวลาที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ห่างไกล ทางโครงการวิจัยได้เริ่มปฏิบัติงานภาคสนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อตรวจสอบร่องรอยการอยู่อาศัยในอดีต โดยได้ขุดค้นพื้นที่ด้านทิศตะวันตกและและทิศใต้ของบึงวังด้วน จำนวน 14 หลุม แต่ละหลุมมีขนาด 2x1 เมตร และ 2x2 เมตร กระจายไปตามบริเวณต่างๆ ดังนี้ - พื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของบึง (อยู่ทางเหนือของสถานีรถไฟวังด้วน) ได้แก่ หลุมขุดค้นที่ 2 (เป็นหลุมตัดเพื่อดูชั้นดิน) และหลุมขุดค้นที่ 6 - พื้นที่ด้านทิศใต้ของบึงตามเส้นทางน้ำเก่า ได้แก่ หลุมขุดค้นที่ 1, 1 (หลุมขยาย), 3 (เป็นหลุมตัดเพื่อดูชั้นดิน), 5, 9, 11, 12, 14 - พื้นที่ด้านทิศใต้ของบึงบริเวณสันทรายใกล้ชายฝั่งทะเล ได้แก่ หลุมขุดค้นที่ 4 (เป็นหลุมตัดเพื่อดูชั้นดิน), 7, 8, 10, 13 จากรายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1 เดือนเมษายน พ.ศ.2560 โครงการวิจัย “ประชากรกับสิ่งแวดล้อม : การปฏิสัมพันธ์และวิวัฒนาการในความสัมพันธ์ของการติดต่อแลกเปลี่ยนภายในภูมิภาคบริเวณตอนบนของคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย (ระหว่าง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ถึงปัจจุบัน)” (Bérénice Bellina 2560) รายงานว่า ผลของการขุดค้นพบชั้นดินที่แสดงถึงการประกอบกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตจำนวน 4 หลุม ได้แก่ หลุมขุดค้นที่ 1, 1 (หลุมขยาย) หลุมขุดค้นที่ 9 ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบึง และหลุมขุดค้นที่ 6 อยู่ทางตะวันตกของบึง และหลุมขุดค้นที่ 13 อยู่ทางทิศใต้ของบึงบริเวณด้านหลังสันทราย ซึ่งพบเศษภาชนะดินเผาเพียงจำนวนเล็กน้อย ในขณะที่พื้นที่ด้านทิศใต้หรือบริเวณสันทรายไม่ปรากฏชั้นวัฒนธรรมหรือกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตเลย พื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบึง (หลุมขุดค้นที่ 6) หลุมขุดค้นที่ 6 เป็นหลุมขุดค้นขนาด 2x2 เมตร ตั้งอยู่ทางเหนือของสถานีรถไฟวังด้วน ที่ตั้งแหล่งเป็นเนินดินที่ถูกตัดผ่านโดยทางรถไฟ ผลการขุดค้นทางโบราณคดีพบชั้นกิจกรรมมนุษย์ในอดีต มีความลึกถึง 2.3 เมตร จากระดับผิวดินปัจจุบันสามารถจำแนกลำดับการทับถมของชั้นดินธรรมชาติได้ 11 ชั้น เป็นชั้นดินวัฒนธรรม 5 ชั้น ซึ่งชั้นดินวัฒนธรรมอยู่ในชั้นดินที่ 3, 5, 7, 9 และ 10 ในแต่ละชั้นดินวัฒนธรรม (ยกเว้นชั้นดินวัฒนธรรมที่ 9-10) จะพบชั้นดินทรายแทรกอยู่ โดยในชั้นดินทรายนี้ได้พบเศษภาชนะดินเผาปะปนอยู่บ้างเล็กน้อย ผู้ขุดค้นจึงยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดได้ว่าเป็นชั้นกิจกรรมมนุษย์ในอดีต หรือเป็นชั้นที่ถูกรบกวนจากคนเข้ามาใช้พื้นที่ในระยะต่อมา ชั้นดินในระดับล่าง ซึ่งได้แก่ ชั้นดินที่ 7, 9 และ 10 พบเศษภาชนะดินเผา ประเภทเนื้อดินธรรมดาที่มีเนื้อหยาบและค่อนข้างหนา พบการเรียงตัวของเศษภาชนะดินเผาเป็นแนวระนาบอย่างชัดเจนในชั้นดินที่ 5 และ 10 สรุปชั้นดินวัฒนธรรมที่พบในหลุมขุดค้นที่ 6 สามารถจำแนกได้อย่างน้อย 4-5 ชั้นวัฒนธรรม ได้แก่ ชั้นดินที่ 3, 5, 7, 9 และ 10 โดยชั้นดินที่ 9 และ 10 ซึ่งเป็นชั้นดินที่ต่อเนื่องกัน ผู้ขุดค้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นชั้นวัฒนธรรมเดียวกันหรือคนละชั้นวัฒนธรรม เนื่องจากไม่พบชั้นดินทรายแทรกระหว่างชั้นดินทั้งสองนี้ โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดา ไม่พบหลักฐานอื่นๆ เช่น กระดูกคนหรือกระดูกสัตว์ เป็นต้น พื้นที่ด้านใต้ของบึงตามเส้นทางลำน้ำเก่า หลุมขุดค้นที่ 1 และหลุมขุดค้นที่ 1 (หลุมขยาย) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเนินดิน หลุมขุดค้นที่ 1 มีขนาด 1x4.5 เมตร และหลุมขุดค้นที่ 1 (หลุมขยาย) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหลุมขุดค้นที่ 1 มีขนาด 3x2 เมตร แหล่งโบราณคดีนี้ถือเป็นแหล่งที่มีความซับซ้อนของกระบวนการก่อตัวแหล่งโบราณคดีที่อาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ขุดค้นจึงเป็นอุปสรรคที่จะสร้างความเข้าใจของความซับซ้อนในแหล่งนี้ได้ หลุมขุดค้นที่ 1 (TP1) พบการทับถมของชั้นดินที่แสดงถึงชั้นวัฒนธรรม จำนวน 4 ชั้น โดยชั้นดินวัฒนธรรมที่ 2 และ 3 น่าจะเป็นชั้นวัฒนธรรมเดียวกัน ขณะที่ชั้นดินที่ 6 น่าจะเป็นชั้นดินเก่ากว่า พบกลุ่มภาชนะดินเผาจำนวน 4 ใบ ความลึกประมาณ 1 เมตร จากระดับผิวดินปัจจุบัน หลุมขุดค้นที่ 1 (หลุมขยาย) เป็นหลุมที่มีความซับซ้อนกว่า โดยพบชั้นดินทั้งหมด 18 ชั้น หลุมขุดค้นที่ 1 และหลุมขุดค้นที่ 1 (หลุมขยาย) พบภาชนะดินเผาที่มีรูปแบบคล้ายกัน คือ ภาชนะดินเผาแบบเจาะรูที่ก้นภาชนะ บางใบพบเป็นกลุ่มภาชนะซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มชั้นวัฒนธรรมเดียวกัน อยู่ที่ความลึกประมาณ 1 เมตร จากระดับผิวดินปัจจุบัน และอยู่ใต้ชั้นเศษภาชนะดินเผาที่เรียงเป็นแนวระนาบ เศษภาชนะดินเผานี้น่าจะเป็นชั้นวัฒนธรรมร่วมสมัยกับชั้นดินที่ 6 ในหลุมขุดค้นที่ 1 จากการศึกษาตีความในเบื้องต้น พบชั้นกิจกรรมมนุษย์ในอดีตเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่สันทราย ซึ่งมีสภาพพื้นที่ลาดเอียง โดยชั้นกิจกรรมแต่ละชั้นได้มีการขุดตัดชั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ขณะที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการขุดตัดนั้น เป็นชั้นวัฒนธรรมที่เกิดจากมนุษย์หรือเกิดจากกระบวนการผุกร่อนทางธรรมชาติ หรืออาจเปิดจากการทับถมเมื่อมีการกลับมาใช้พื้นที่อีกครั้ง กระบวนการทับถมนี้สามารถอธิบายถึงความหนาแน่นของเศษภาชนะดินเผาที่พบในแต่ละชั้นได้ (ชั้นดินที่ 13 และ 14) หลุมขุดค้นที่ 1 (TP1) และหลุมขุดค้นที่ 1 (หลุมขยาย) แสดงถึงความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่เกิดจากการกระทำของธรรมชาติ และกระบวนการที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ในบริเวณพื้นที่สันทราย สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไปในอนาคตโดยมีนักธรณีสัณฐานมาช่วยอธิบานกระบวนการเกิดของชั้นดิน หลุมขุดค้นที่ 9 (TP9) มีขนาด 2x2 เมตร ตั้งอยู่บนเนินดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเส้นทางน้ำเก่า ผลการขุดค้นทางโบราณคดีสามารถจำแนกชั้นดินธรรมชาติได้ทั้งหมด 5 ชั้น โดยพบชั้นดินวัฒนธรรม 1 ชั้น ในชั้นดินที่ 3 ความลึกระหว่าง 1.2-1.4 เมตร จากระดับผิวดินปัจจุบัน หรือ 1.6-2 เมตร จากระดับ Datum point ชั้นวัฒนธรรมนี้มีความหนาประมาณ 15-20 เซนติเมตร พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่จำนวนมาก ปะปนร่วมกับเศษถ่าน โดยสามารถสังเกตการเรียงตัวเศษภาชนะดินเผาในผนังชั้นดินด้านทิศใต้ที่เป็นแนวระนาบลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก แสดงให้เห็นว่าบริเวณพื้นที่นี้มีการประกอบกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นบริเวณที่อาจจะเป็นเนินดินมาก่อน หลังจากที่มนุษย์เลิกใช้หรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่นี้แล้ว จึงเกิดการทับถมของชั้นดินโดยกระบวนการทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากกระแสลม คลื่น และน้ำ ให้เกิดกระบวนการทับถมและเปลี่ยนแปลงของชั้นดินได้อย่างชัดเจนในชั้นดินที่ 2 พื้นที่ด้านทิศใต้ของบึงบริเวณสันทรายใกล้ชายฝั่งทะเล หลุมขุดค้นที่ 13 (TP13) เป็นหลุมขุดค้นขนาด 1x2 เมตร ตั้งอู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของสันทราย ผลการขุดค้นทางโบราณคดีพบชั้นดินวัฒนธรรม 1 ชั้น โดยพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนเล็กน้อยในชั้นดินนี้ และในเวลาต่อมาบริเวณนี้น่าจะถูกทิ้งร้างไป ผลการวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาเบื้องต้นในภาคสนาม การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตภาชนะดินเผา จะมุ่งเน้นศึกษารูปแบบลวดลายตกแต่งและวิธีการตกแต่งลวดลาย จากการศึกษาเศษภาชนะดินเผาที่พบจากหลุมขุดค้นทั้ง 7 หลุม จำนวนทั้งหมด 4,478 ชิ้น การวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาของแหล่งโบราณคดีวังด้วน ใช้วิธี Chaîne opératoire จากการวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผา พบว่าเศษภาชนะดินเผาที่พบส่วนใหญ่มีวิธีการผลิตที่คล้ายกัน โดยวิธีการขดดินแล้วใช้หินดุกับไม้พายช่วยในการตีขึ้นรูป อย่างไรก็ตาม ยังพบเศษภาชนะดินเผาที่มีวิธีการผลิตแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับชนิดของส่วนผสมในเนื้อดินและวิธีการตีขึ้นรูปด้วยหินดุและไม้พาย เศษภาชนะดินเผาจำนวนเล็กน้อยที่พบจากการขุดค้นที่ 1 พบว่าไม่มีการขึ้นรูปโดยการตีด้วยไม้พายและหินดุ อาจมีการตกแต่งด้วยการขูดหรือเจาะ ร่องรอยเม็ดทรายในเนื้อภาชนะดินเผาทำให้ไม่สามารถบอกวิธีการตกแต่งภาชนะดินเผาได้ ส่วนเศษภาชนะดินเผาที่พบในหลุมขุดค้นที่ 6 และหลุมขุดค้นที่ 9 พบภาชนะดินเผาที่มีส่วนผสมของเนื้อดินหยาบ จึงไม่สามารถบ่งบอกวิธีการตกแต่งของภาชนะดินเผาเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2560 เว็บไซต์ข่าวมติชนออนไลน์ (2560) รายงานว่า ทีมโครงการวิจัยได้ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ ณ แหล่งโบราณบ้านวังด้วน ในระดับความลึกประมาณ 80 เซนติเมตรจากผิวดิน โดยพบในลักษณะนอนในท่านอนหงายเหยียดยาว และเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (2560) รายงานถึงลักษณะชั้นดินที่มีภาชนะดินเผาทับซ้อนกัน 2 ชั้นวัฒนธรรม โดยชั้นล่างหรือชั้นที่เก่ากว่า พบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบลายเชือกทาบ และขวานหินขัด ส่วนชั้นบนพบภาชนะดินเผาเนื้อละเอียดและเครื่องเคลือบจีน อย่างไรก็ตาม การค้นพบโครงกระดูกรวมถึงหลักฐานอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ปรากฏอยู่เพียงในรายงานข่าวเท่านั้น ไม่ปรากฏในรายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1 (Bérénice Bellina 2560) ที่โครงการวิจัยเสนอต่อสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรีแต่อย่างใด จึงยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่พบและทราบรายละเอียดผลการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ได้ ทั้งนี้ ทางโครงการวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้น โดยเฉพาะจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ จึงยังไม่สามารถเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ขณะนี้ สรุปผลการขุดค้นเบื้องต้นของแหล่งโบราณคดีวังด้วนในปี 2560 การขุดค้นแหล่งโบราณคดีวังด้วนในบริเวณพื้นที่เนินดินตามเส้นทางน้ำเก่า ปรากฏหลักฐานที่แสดงการประกอบกิจกรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ 4-5 ชั้นวัฒนธรรม (จากหลุมขุดค้นที่ 6) โดยแต่ละชั้นวัฒนธรรมพบรูปแบบภาชนะดินเผาแตกต่างกันออกไป และพบเปลือกหอยทะเล (จากหลุมขุดค้นที่ 1) อย่างไรก็ดี ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทอื่นๆ เช่น กระดูกสัตว์ ขวานหินขัด เครื่องมือจับปลา ล่าสัตว์ หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม ที่สามารถใช้บ่งบอกวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีตบริเวณพื้นที่นี้ได้ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ อาจสันนิษฐานได้ว่าการตั้งถิ่นฐานในอดีตบริเวณนี้ เป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก หรืออยู่อาศัยในระดับครอบครัว ในเรื่องอาหารการกินของกลุ่มคนเหล่านี้นั้น จากการร่อนดินแบบเปียก (Flotation) ในเบื้องต้นพบเพียงเปลือกหอยทะเลอย่างเดียว ไม่พบชิ้นส่วนกระดูกปลาหรือเมล็ดพืช ทางโครงการวิจัยจึงหวังว่าเมื่อได้ศึกษาวิเคราะห์พืชโบราณที่ได้จากการร่อนดินแบบเปียกแล้ว น่าจะทำให้ทราบเรื่องอาหารการกินของคนสมัยก่อนบ้าง กลุ่มคนที่อยู่อาศัยตามชายฝั่งทะเลมีการทำสวนหรือปลูกพืชหรือไม่ พวกเขามีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่ทำเกษตรกรรมในตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินที่ห่างไกลทะเลหรือไม่ อีกทั้งกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากชุมชนวัฒนธรรมบ้านเก่าในยุคหินใหม่ ในช่วง 2,000 ปีก่อนคริสตกาลอย่างไร การขุดค้นครั้งนี้ ไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ เช่น เครื่องประดับหรือโบราณวัตถุประเภทโลหะ ดังนั้น การวิเคราะห์เรื่องพืชโบราณและการตรวจค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ น่าจะช่วยให้เข้าใจชีวิตของชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเลที่อยู่อาศัยริมเส้นทางน้ำของแหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วนมากขึ้นได้

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากประวัติการศึกษาของนักโบราณคดีและนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้สามารถระบุพื้นที่แหล่งโบราณคดีได้ว่า อยู่ทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีรถไฟวังด้วน ในรัศมี 700 เมตรจากสถานีรถไฟ หรืออาจกล่าวได้ว่าตั้งอยู่โดยรอบบึงวังด้วน ทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติหาดวนกร  ในพื้นที่เขตพิกัดกริด UTM (WGS84) 47N 578000 E, 1291000 N และ 47N 579000 E, 1292000 N

อาณาเขตของแหล่งโบราณคดี ทิศเหนือจรดซอยวัง ทิศตะวันออกจรดทะเลอ่าวไทย ทิศใต้จรดอุทยานแห่งชาติหาดวนกร และทิศตะวันตกจรดบ้านต้นเกตุและบ้านห้วยทราย

จากการศึกษาที่ผ่านมา ทำให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า พื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังด้วน ครอบคลุมด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของบึงวังด้วน ซึ่งบึงวังด้วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของชะวากทะเลเก่า ที่มีลำน้ำธรรมชาติขนาดเล็กอย่างน้อย 7 สาย เช่น ห้วยขี้มด ห้วยโป่งจัน ห้วยทราย ไหลลงมายังชะวากทะเลหรือบึงวังด้วนแห่งนี้ ก่อนไหลออกสู่ทะเล                    

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ คือเป็นแอ่งที่ลุ่มในพื้นที่ชุ่มน้ำ มีเนินดินที่เกิดจากการกระทำของทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม อยู่ตามแนวริมลำน้ำธรรมชาติที่ติดกับชะวากทะเล และตามขอบชายฝั่งของชะวากทะเลในอดีต ลักษณะพื้นที่เว้าลึกเข้ามาด้านในจากชายฝั่งทะเล มีช่องทางน้ำออกสู่ทะเล ทำให้อุดมไปด้วยทรัพยากรทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณก็พบอยู่ตามเนินดินตามเส้นทางน้ำเก่า และบริเวณแอ่งที่ลุ่มระหว่างแนวสันทรายเก่ารอบชะวากทะเล (บึงวังด้วน) เหล่านี้

จากประวัติการค้นพบจนถึงปัจจุบัน พบว่าเนินดินที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันตก (ค่อนไปทางเหนือ) และทิศใต้ของบึงวังด้วน ส่วนหนึ่งของเนินดินด้านทิศตะวันตกถูกทางรถไฟสายใต้ตัดผ่าเนิน เช่นเดียวกับเนินดินด้านทิศใต้ ที่ส่วนหนึ่งถูกถนนลาดยางตัดผ่าเนิน จากการขุดค้นพบว่า ชั้นดินของเนินดินเหล่านี้ถูกรบกวนหลายครั้ง ทั้งจากมนุษย์และธรรมชาติ

จากชั้นดิน ชั้นวัฒนธรรม และหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้วิเคราะห์และแปลความได้ในเบื้องต้นว่า บริเวณบ้านวังด้วนในอดีตถูกใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และถูกทิ้งร้างไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะมีการกลับมาใช้พื้นที่นี้อีกครั้งในสมัยอยุธยา ขนาดของชุมชนที่มาใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว ทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและสมัยอยุธยา น่าจะเป็นชุมชนขนาดเล็ก (พิจารณาจากปริมาณและความหนาแน่นของโบราณวัตถุที่พบ) รายละเอียดเบื้องต้นของแต่ละสมัยมีดังนี้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ เช่น ขวานหินขัด ภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) เนื้อหยาบผสมทราย เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีทั้งที่ผิวเรียบไม่มีการตกแต่งและตกแต่งผิวด้านนอกด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะประเภทชาม หม้อ อ่าง ไห มีทั้งที่ขึ้นรูปด้วยมือและแป้นหมุน มีทั้งสีน้ำตาล  สีน้ำตาลอ่อน สีส้ม มีที่พบว่าตั้งใจเจาะรูที่ส่งก้นภาชนะเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หินลับ (ทำจากหินทรายสีแดง) และหินบด นอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกมนุษย์ที่น่าจะผ่านการประกอบพิธีกรรมฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว

การตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็กบนเนินดินรอบชะวากทะเล (บึงวังด้วน) ดำรงชีวิตด้วยการออกหาทรัพยากรจากธรรมชาติ ทั้งจากทะเล ลำน้ำจืด และทรัพยากรจากแผ่นดิน ทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ไม่ปรากฏหลักฐานประเภทวัตถุจากแหล่งอื่น ทำให้ไม่สามารถแปลความได้ถึงการติดต่อกับชุมชนในพื้นที่อื่น รวมถึงไม่พบโบราณวัตถุประเภทโลหะ อาจแปลความได้ว่า ชุมชนแห่งนี้อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ (สมัยที่ยังไม่รู้จักการใช้ประโยชน์จากแร่โลหะ) หรืออาจอยู่ในสมัยโลหะแล้ว แต่ไม่มีการใช้โลหะหรือมีการใช้น้อย เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่หายาก ไม่มีวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตควรมีการนำหลักฐานทางโบราณคดีไปตรวจหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับค่าอายุของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ต่อไป

สมัยอยุธยา หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผาเนื้อละเอียด ภาชนะเครื่องเคลือบจีน เคลือบสีเดียว สีเขียวมะกอก และเครื่องลายคราม ประเภทถ้วยหรือชาม ภาชนะดินเผาที่ตกแต่งด้วยไม้ลาย ไหสี่หูเคลือบผิว เป็นต้น

การตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็กบนเนินดินรอบชะวากทะเล (บึงวังด้วน) การดำรงชีวิตอาจยังคงพึ่งพาการออกหาทรัพยากรจากธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งจากทะเล ลำน้ำจืด และทรัพยากรจากแผ่นดิน ทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ (อาจยึดอาชีพประมงเป็นหลัก?) 

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2551.

กรมแผนที่ทหาร. “สถานีห้วยยาง.” แผนที่ทหารลำดับชุด L7017 ระวาง 4932 III (พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD มาตราส่วน 1 : 50,000). กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, 2516.

“ทีมสำรวจพบโครงกระดูกมนุษย์ในวังด้วน ย้ำการมีอยู่ของถิ่นฐานยุคโบราณ.” [ออนไลน์]. มติชน (11 มีนาคม 2560). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2562. เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/region/news_491978

ไทยรัฐออนไลน์. “พบภาชนะดินเผาโบราณ ที่บ้านวังด้วน คาดเป็นที่ตั้งชุมชนเก่านับ 2,000 ปี.” [ออนไลน์].ไทยรัฐ (2 เมษายน 2561). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2562. เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/content/902921

“ผอ.ถิ่นฐานไทย จี้รัฐตรวจเอกสารสิทธิรอบ ‘บึงวังด้วน’ เผย กระทบสำรวจชุมชนโบราณ 3,000 ปี.” [ออนไลน์]. มติชน (11 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2562. เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/region/news_836907

พยุง วงษ์น้อย. พัฒนาการของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (เอกสารอัดสำเนา). ราชบุรี : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2554.

พยุง วงษ์น้อย, เดชา สุดสวาท, สุริยา สุดสวาท และปัทมา ก่อทอง. รายงานสำรวจแหล่งโบราณบ้านวังด้วน ตำบลห้วยทราย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (เอกสารอัดสำเนา). ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2552.

องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย. สภาพและข้อมูลพื้นฐาน [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2562. เข้าถึงจาก http://www.huaysai.go.th

Bellina, Bérénice. รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1 เดือนเมษายน พ.ศ.2560 โครงการวิจัย “ประชากรกับสิ่งแวดล้อม : การปฏิสัมพันธ์และวิวัฒนาการในความสัมพันธ์ของการติดต่อแลกเปลี่ยนภายในภูมิภาคบริเวณตอนบนของคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย (ระหว่าง 2,000 ปีก่อนตริสตกาล ถึงปัจจุบัน)”. (เอกสารอัดสำเนา). เอกสารเสนอต่อสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2560.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี