สถานีรถไฟกันตัง


โพสต์เมื่อ 3 ต.ค. 2021

ที่ตั้ง : ถ.หน้าค่าย

ตำบล : กันตัง

อำเภอ : กันตัง

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.410827 N, 99.514648 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่ในตัวอำเภอกันตัง ริมถนนหน้าค่าย สามารถเดินทางไปยังอำเภอกันตังได้ทั้งทางรถไฟและรถยนต์ส่วนตัว รถไฟจากกรุงเทพฯ มายังสถานีกันตัง มีวันละ 1 เที่ยว

แต่หากมาทางเครื่องบินหรือรถทัวร์จากจังหวัดตรัง ต้องต่อรถโดยสารจากจังหวัดตรัง รถยนต์จากตัวเมืองตรัง ใช้เส้นทางสาย ตรัง-กันตัง 25 กิโลเมตร เมื่อเข้าสู่อำเภอกันตัง ให้เลี้ยวขวา ขับตรงไป 2 กิโลเมตร เกือบสุดทาง แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่สถานีรถไฟกันตัง หากเดินทางโดยรถตู้ สามารถนั่งรถไปอำเภอกันตัง สาย ตรัง-กันตัง ใช้เวลา 30 นาที ขึ้นรถที่หน้าสถานีรถไฟตรัง ลงพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเยี่ยมชมอาคารสถานีรถไฟกันตังได้ทุกวัน มีห้องพิพิธภัณฑ์ของสถานีรถไฟ ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติของสถานีรถไฟพร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานีในอดีต ซึ่งห้องพิพิธภัณฑ์ จะเปิดในช่วงเวลา 9.00-16.30 น. นอกจากนั้น ด้านหน้าชานชาลา ยังมีสวนหย่อมและขบวนรถไฟจำลอง สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมและถ่ายภาพ

ปัจจุบันสถานีรถไฟกันตัง ประชาสัมพันธ์โดยใช้คำขวัญว่า "สถานีรัก" หรือ "สถานีสุดทางรัก" มีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ผลงานสตรีทอาร์ท ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองกันตัง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชนกันตัง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหารท้องถิ่นอีกหลายแห่งในกันตัง

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

การรถไฟแห่งประเทศไทย

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน 113 พิเศษ 50 ง 18 ธันวาคม 2539

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เป็นสถานีรถไฟที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในตัวจังหวัด สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

7 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำตรัง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ ทีเกิดจากการทับถมของตะกอนเศษหินที่ผุพังอยู่กับที่และเศษหินเชิงเขา (กรมทรัพยการธรณี 2550)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 6

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2454

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

จุดขนส่ง/ขนถ่ายคนหรือสินค้า

สาระสำคัญทางโบราณคดี

สถานีรถไฟกันตัง เป็นสถานีรถไฟสุดทางของทางรถไฟสายใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน 

อาคารสถานีรถไฟกันตัง มีลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ทรงปั้นหยา ปัจจุบันทาด้วยสีเหลืองมัสตาร์ดสลับสีน้ำตาล อาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตัวอาคารและชานชาลา ด้านหน้ามีอาคารมุขยื่น มีการตกแต่งประดับมุมเสาด้วยลายไม้ฉลุ ส่วนตัวอาคารที่ทำเป็นห้องมีผนังไม้ตีตาตั้งโขว์แนวเคร่าพร้อมช่องลมระแนงไม้ตีทแยงบานประตูไม้แบบเก่า ส่วนที่เป็นห้องโถงมีรั้วลูกกรงไม้พร้อมบานประตูขนาดเล็กกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ส่วนด้านหลังอาคารเป็นชานชาลามีหลังคาจั่วคลุมแยกต่างหาก โดยเสารับหลังคาชานชาลามีค้ำยันไม้ฉลุตกแต่ง

ปัจจุบันภายในยังคงใช้งานอยู่ เป็นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่การรถไฟ และมีห้องจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเดินรถสมัยก่อน ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางรถไฟเพียงสายเดียวที่ไปสุดทางยังฝั่งทะเลอันดามัน ทำให้กันตังเป็นท่าเรือศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคมของทะเลฝั่งตะวันตกทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สถานีรถไฟกันตังเกิดจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ต่อจากจังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงมลายู ในปี พ.ศ. 2453 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 5 และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2454 ในรัชกาลที่ 6

ทางรถไฟเส้นทางกันตัง-ทุ่งสง เป็นสายแยกทางฝั่งตะวันตกที่ก่อสร้างจากกันตังขึ้นไปทางอำเภอทุ่งสง เพราะเหล็กรางรถไฟและเครื่องจักรกลต่างๆ ในสมัยนั้นต้องนำเข้าทางเรือและมาขึ้นที่ท่าเรือกันตัง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานชั่วคราวประกอบรถจักรล้อเลื่อนต่างๆ เพื่อส่งขึ้นไปยังกรุงเทพมหานคร

สถานีรถไฟกันตังเปิดการเดินรถครั้งแรกจากสถานีกันตังไปยังสถานีห้วยยอด ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2456 ต่อมาเปิดการเดินรถจากห้วยยอดไปยังทุ่งสงในวันที่ 1 มกราคม 2457 

สถานีรถไฟกันตัง เริ่มแรกใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศและเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งของเมืองต่างๆ ในแถบฝั่งอันดามัน ได้แก่ ตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต และสตูล รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศ

นอกจากตัวอาคารสถานนีรถไฟกันตังแล้ว สถานที่สำคัญที่อยู่ในบริเวณเดียวกันคือ บ้านพักพนักงานรถไฟ บ้านพักรับรอง บ่อน้ำเก่า และโรงเก็บรถจักร ที่ปัจจุบันก็ไม่มีการใช้งานแล้ว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจําแนกเขตเพื่อการจดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2550.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี