พระอุโบสถ วัดเทพธิดารามวรวิหาร


โพสต์เมื่อ 1 พ.ค. 2021

ที่ตั้ง : เลขที่ 70 ถ.มหาไชย

ตำบล : สำราญราษฎร์

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.753431 N, 100.504182 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากพระบรมมหาราชวัง ใช้ถนนราชดำเนินใน ผ่านท้องสนามหลวง มุ่งหน้าสะพานผ่านพิภพลีลา จากสะพานผ่านพิภพลีลา ใช้ถนนราชดำเนินกลาง ประมาณ 1.1 กิโลเมตร (ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ถึงสี่แยกป้อมมหากาฬ เลี้ยวขวาสู่ถนนมหาไชย (ผ่านลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่อยู่ทางขวามือ และวัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่อยู่ทางขวามือ จนข้ามคลองหลอดวัดเทพธิดา) ประมาณ 220 เมตร จะพบวัดเทพธิดารามวรวิหารอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระอุโบสถ เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 7.30 - 18.00 น. และเปิดให้พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมสวดมนต์ทำวัตร ตั้งแต่เวลา วัตรเช้า 8.30 น. วัตรเย็น 19.00 น.

ติดต่อทางวัดเทพธิดาราม ได้ที่เบอร์โทร 02-621-1178, เว็บไซต์ http://www.watthepthidaramqr.com/,Facebook https://www.facebook.com/pages/วัดเทพธิดาราม/724744394217927

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 123 วันที่ 13 ธันวาคม 2520 หน้า 5035

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พระอุโบสถวัดเทพธิดาราม เป็นอาคารหลักของวัด ปัจจุบันอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง มีการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่สม่ำเสมอ ยังคงมีการใช้งาน เป็นที่ประกอบสังฆกรรม 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองรอบกรุง, คลองหลอดวัดราชนัดดา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอบน้ำพาทับถมสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2447

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมพระเจดีย์รายรอบพระวิหาร ศาลารอยรอบพระวิหารภายในกำแพงแก้ว ซ่อมกำแพง บานประตูวัด และตุ๊กตาหิน

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมประตูกำแพงรอบ บานประตูพระอุโบสถ และซ่อมประตูลานหน้าพระวิหาร 1 ประตู

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2451

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมหลังคาพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญ รื้อที่จงกรมที่ต่อกับพระวิหารน้อยออก

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2453

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมที่จงกรม ศาลาคร่อมกำแพงด้านหลังพระอุโบสถ 2 หลัง ซ่อมสระน้ำและพื้นคณะกลางตรงพระอุโบสถ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2454

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ปูหินอ่อนพื้นพระอุโบสถและตกแต่งเครื่องประดับภายในพระอุโบสถ ซ่อมประตูกำแง กำแพงหน้าวัด ซ่อมของใช้ในพระอุโบสถ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมพระอุโบสถ เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา ซ่อมและเปลี่ยนไม่โครงหลังคา ซ่อมหน้าบันทั้ง 2 ด้าน เสริมความมั่นคงของผนัง ซ่อมผนังและฐานผนังภายนอกพระอุโบสถ ซ่อมลายปูนปั้นปิดทองที่ซุ้มประตูและหน้าต่าง ซ่อมพื้นระเบียงรอบพระอุโบสถ และซ่อมซุ้มเสนาทั้ง 8 ซุ้ม นอกจากนั้นยังมีการบูรณะพระปรางค์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร 1 ตุลาคม 2549-30 กันยายน 2550

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร 1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            พระอุโบสถ ของวัดเทพธิดารามวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอาคารประธานของวัด มีขนาดกว้าง 13.20 เมตร ยาว 27.20 เมตร สูง 16 เมตร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีฐาน 2 ชั้น คือ ฐานพระอุโบสถ และฐานของตัวอาคารพระอุโบสถ ฐานทั้ง 2 ชั้น มีลักษณะเป็นชุดฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านข้างของส่วนด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถ ด้านละ 2 บันได รวม 4 บันได

            หลังคาพระอุโบสถมี 2 ชั้น 3 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบ ตั้งเสาหานสี่เหลี่ยมรายรอบระเบียงทางเดินรอบพระอุโบสถ รองรับพาไลหลังคาโดยรอบ ระเบียงและพนักระเบียงพระอุโบสถ ก่อเป็นพนักระเบียงด้วยอิฐถือปูน ไม่สูงมากนัก ส่วนบนทำเป็นพนักระเบียงหนา ลักษณะเป็นผืนเรียบประกอบบัวคว่ำสองข้าง ท้องพนักระเบียงโล่งก่อลดหลบเข้าภายใน กรุด้วยกระเบื้องปรุเคลือบสีเขียวแบบจีน

            หลังคามุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นลายปูนปั้นลวดลายไทย เช่น ลายพวงอุบะ ลายดอกไม้ ผสมผสานกับลวดลายจีน เช่น ภาพทิวทัศน์ มีภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ และนก เป็นต้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจีนและเบี้ยอีแก้ ลายหน้าบันตอนล่างประดับด้วยลายปูนปั้นตกแต่งด้วยเศษกระเบื้องเคลือบเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้และเฟื่องอุบะเต็มพื้นที่    

            ซุ้มประตูพระอุโบสถมี 4 ซุ้ม อยู่ในด้านสกัดทั้งด้านหน้าและหลังของอาคาร ด้านละ 2 ช่องประตู ลักษณะซุ้มประตูปั้นปูนติดผนังปิดทอง ลายดอกพุดตานผสมลายใบไม้ ส่วนบนสุดของซุ้มมีลักษณะคล้ายแจกันดอกไม้

            ซุ้มหน้าต่าง 10 ซุ้ม อยู่ด้านข้างด้านละ 5 ช่องหน้าต่าง ปั้นปูนยกเป็นกรอบรอบช่องหน้าต่าง ประดับด้วยลายพรรณพฤกษาแบบเดียวกับซุ้มประตู

            บานประตูหน้าต่าง ลักษณะเป็นบานไม้คู่ เปิดเข้าสู่ด้านใน แบ่งลักษณะของบานออกเป็นบานด้านนอกและบานด้านใน บานประตูด้านนอกลงรักเขียนลายปิดทอง แบบลายรดน้ำ ลวดลายที่เขียน เขียนเป็นภาพนางสีดานั่งในซุ้มยอดปราสาท เบื้องหลังภาพเขียนเป็นลายกนกแบบไทย ส่วนล่างของภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพที่เขียนขึ้นใหม่ บานด้านในเขียนสี ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำลักษณะเดียวกับบานประตู และลวดลายที่เขียนก็เป็นลายเช่นเดียวกับบานประตู

            ภายในพระอุโสถ ที่เพดานมีดาวเพดานคอสองเป็นลายพวงมาลัย ฝาผนังเขียนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกพุดตานเครือเถา ตามแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3

            ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานซึ่งสลักด้วยหินสีขาว (ศิลายวง) ปางมารวิชัย หน้าพระเพลากว้าง 15 นิ้ว สูง 19 นิ้ว หนา 8 นิ้ว พระอังสา (ไหล่) 9 นิ้ว รอบพระอุระ (อก) 18 นิ้ว เรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว” ลักษณะมีพระพักต์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ มีพระศกขมวดก้น มีไรพระศก พระรัศมีรูปเปลวเพลิงซึ่งสามารถถอดออกได้ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนกลีบดอกบัวหงาย ไม่ทราบประวัติการสร้างหรือที่มาที่แน่ชัด แต่กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง พระพุทธรูปนี้ประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก (บุษบกท้ายเกริน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า “พระพุทธเทววิลาส” เมื่อ พ.ศ.2514

            เวชยันต์บุษบก หรือ บุษบกท้ายเกริน เป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธเทววิลาศ ทำจากปูนและไม้แกะสลัก โดยจำลองแบบจากพระแท่นเวชยันต์บุษบกของพระสักกะเทวราช หรือพระอินทร์ ที่มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม ตามที่ปรากฏอยู่ในพระสูตร ตัวงานศิลป์แสดงถึงฝีมือเชิงช่างสมัยรัตนโกสินทร์ผ่านลวดลายอันวิจิตร รอบๆ ประดับลายเป็นรูปเทพพนมและครุฑ หล่อด้วยดีบุกปิดทอง ประดับด้วยกระจกเกรียบลวดลายประณีตละเอียดบรรจงมาก ด้านข้างวางเศวตฉัตร 5 ชั้น ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์หญิงวิลาศฯ) ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์วัดเทพธิดาราม เวชยันต์บุษบกและเศวตฉัตร 5 ชั้นนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของวัดเทพธิดาราม และได้ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของวัดและมูลนิธิวัดเทพธิดาราม

            เบื้องหน้าพระประธาน ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2 องค์  ศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง ประทับยืนบนฐานปัทมาสน์มีฉัตรทองปรุ 5 ชั้น  แสดงปางห้ามสมุทร  ลักษณะพระพักตร์รูปไข่ เนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม ทรงเครื่องจักรพรรดิ หรือทรงเครื่องขัตติยภูษิตาภรณ์ คือ ทรงเครื่องศิราภรณ์ยอดมงกุฎ ทรงกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด สองพระหัตถ์ยกเสมอบั้นพระองค์ ข้อพระกรห้อยสังวาลย์ ชายผ้าตกแต่งลายนกหางหงส์ รองพระบาทเชิงงอน รูปแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปักฉัตรทองปรุ 5 ชั้น ประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวาของพระประธาน กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส)

            นอกจากนี้ ด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลาขาว 1 องค์ และพระพุทธรูปสำริด 1 องค์ ซึ่งคงนำมาประดิษฐานภายหลัง เนื่องจากในหนังสือ “รำพันพิลาป” ของสุนทรภู่ กล่าวถึงเพียงแต่พระยืนทรงเครื่องจักรพรรดิ ปางห้ามสมุทร ด้านละองค์ (กรมการศาสนา 2526 : 242) ด้านซ้ายมีพระรูปกรมหมื่นอิปสรสุดาเทพ (พระองค์หญิงวิลาศฯ)ที่วาดขึ้นโดยกรมศิลปากร ส่วนด้านขวาเป็นพระรูป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

            รอบอาคารพระอุโบสถล้อมรอบด้วยซุ้มเสมา 8 ซุ้ม ตามทิศ ซุ้มเสมาทำเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูน ยกฐานขึ้นสูงทรงสี่เหลี่ยม ลักษณะเป็นฐานบัวและลูกแก้ว ประกอบหน้ากระดานท้องไม้ เรือนซุ้มทรงสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกัน ทำเป็นเสาหลอกประกอบกับบัวลูกแก้วบนและล่างที่มุมทั้งสี่ รองรับส่วนที่เป็นหลังคาปูนปั้นเหลี่ยม เอนลาดเป็นแนวโค้งเข้าสู่ศูนย์กลาง ลักษณะทรงปิรามิดหรือทรงซุ้มหรือทรงกระโจม ปั้นปูนเป็นลอนเหลี่ยม ส่วนยอดปั้นปูนเป็นลักษณะเสมาทรงแท่งสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก เรือนซุ้มเจาะทะลุทั้งสี่ด้าน ทำเป็นซุ้มเจาะทะลุทั้งสี่ด้าน ทำเป็นซุ้มประตูโค้ง ยกกรอบริม ปั้นปูนประดับเหนือซุ้มประตูโค้งรูปดอกไม้และใบไม้ ภายในซุ้มเสมา ประดิษฐานเสมาเดี่ยว สลักจากหินสีเขียว

             รอบพระอุโบสถยังมีพระปรางค์จตุรทิศ (ดูข้อมูลพระปรางค์ใน วัดเทพธิดารามวรวิหาร) และประติมากรรมศิลาหรืออับเฉา มีทั้งที่เป็นรูปคนและสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นรูปคนและสัตว์ของจีน แต่ก็มีที่เป็นประติมากรรมหญิงไทยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกัน เพื่อประดับพระอาราม ประติมากรรมรูปสตรีไทยเหล่านี้แสดงอิริยาบทแตกต่างกัน บ้างเป็นแม่กับลูก บ้างเป็นสตรีชาววัง ดังจะเห็นได้จากองค์ประกอบและรายละเอียดที่ช่างได้ใส่ประกอบตุ๊กตาแต่ละตัวเพื่อบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของผู้คนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตอน 3 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2526.

กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2431-2474. กรุงเทพฯ : กองบัญชาการทหารสูงสุด, 2542.

กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : เอกสารวิชาการกองโบราณคดี หมายเลข 13/2532, 2537.

กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2538.

กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรม เล่ม 4 วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

กรมศิลปากร. วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. ศิลปวัฒนธรรม เล่ม 4 วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, 2525.

ณัฐวัตร จินรัตน์. “การออกแบบสถาปัตยกรรมตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (ศึกษาเฉพาะเขตพุทธาวาสของพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์)” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

บัณฑิต จุลาสัย, เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร และพีรศรี โพวาทอง. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450-2550. กรุงเทพฯ : สำนักผังเมือง กรุงเทพหานคร, 2550.

ปิยมาศ สุขพลับพลา. “การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณีศึกษาวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดเฉลิม  พระเกียรติวรวิหาร” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยศิลปากร, 2546.

วงศ์ฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา. “การศึกษาสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยศิลปากร, 2538.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชศรัทธาปณิธานในการสถาปนาวัตถุสถานในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. การขุดตรวจสอบทางโบราณคดี บริเวณหอพระไตรปิฎก กุฏิคณะ 5 วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ท., 2552.

สุนทรภู่. รำพันพิลาป. กรุงเทพฯ : วรรณศิลป์สโมสร, 2530.


ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี