พระวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหาร


โพสต์เมื่อ 1 พ.ค. 2021

ที่ตั้ง : เลขที่ 70 ถ.มหาไชย

ตำบล : สำราญราษฎร์

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.753084 N, 100.504108 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากพระบรมมหาราชวัง ใช้ถนนราชดำเนินใน ผ่านท้องสนามหลวง มุ่งหน้าสะพานผ่านพิภพลีลา จากสะพานผ่านพิภพลีลา ใช้ถนนราชดำเนินกลาง ประมาณ 1.1 กิโลเมตร (ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ถึงสี่แยกป้อมมหากาฬ เลี้ยวขวาสู่ถนนมหาไชย (ผ่านลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่อยู่ทางขวามือ และวัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่อยู่ทางขวามือ จนข้ามคลองหลอดวัดเทพธิดา) ประมาณ 220 เมตร จะพบวัดเทพธิดารามวรวิหารอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระวิหารวัดเทพธิดาราม เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.30 น. ถึง 17.00 น.โดยไม่เสียค่าเข้า

ติดต่อทางวัดได้ที่เบอร์โทร 02-621-1178, เว็บไซต์ http://www.watthepthidaramqr.com/, Facebook https://www.facebook.com/pages/วัดเทพธิดาราม/724744394217927

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 123 วันที่ 13 ธันวาคม 2520 หน้า 5035

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเทพธิดารามเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดราชนัดดารามวรวิหาร ทั้งในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี รวมถึงพระวิหาร เนื่องจากมีการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่สม่ำเสมอจนกระทั่งปัจจุบัน 

วัดเทพธิดาราม มีอาณาเขต ทิศเหนือ จรด คลองหลอดวัดเทพธิดาราม, ทิศใต้ จรด ซอยสำราญราษฎร์, ทิศตะวันออก จรด ถนนมหาไชย, ทิศตะวันตก จรด ชุมชนหลังวัดเทพธิดา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองรอบกรุง, คลองหลอดวัดราชนัดดา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอบน้ำพาทับถมสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2447

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมพระเจดีย์รายรอบพระวิหาร ศาลารายรอบพระวิหารภายในกำแพงแก้ว ซ่อมกำแพง บานประตูวัด และตุ๊กตาหิน

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมประตูกำแพงรอบ บานประตูพระอุโบสถ และซ่อมประตูลานหน้าพระวิหาร 1 ประตู

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2451

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมหลังคาพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญ รื้อที่จงกรมที่ต่อกับพระวิหารน้อยออก

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร 1 ตุลาคม 2549-30 กันยายน 2550

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร 1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            พระวิหาร ของวัดเทพธิดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถไปทางทิศใต้ ลักษณะคล้ายกับพระอุโบสถ แต่แตกต่างกันที่พระวิหารมีขนาดเล็กกว่า คือกว้าง 13.20 เมตร ยาว 22.20 เมตร สูง 15 เมตร ตัวพระวิหารเป็นอาคารทรงโรงยาวขนาด 7 ห้อง มีฐาน 2 ชั้น คือ ฐานพระวิหาร และฐานของตัวอาคารพระวิหาร ฐานทั้ง 2 ชั้น มีลักษณะเป็นชุดฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้าและหลังของตัวอาคาร

            หลังคาพระอุโบสถมี 2 ชั้น 3 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบ ตั้งเสาหานสี่เหลี่ยมรายรอบระเบียงทางเดินรอบพระวิหาร รองรับพาไลหลังคาโดยรอบ ระเบียงและพนักระเบียงพระวิหารเป็นแบบเดียวกับพระอุโบสถ คือ ก่อเป็นพนักระเบียงด้วยอิฐถือปูน ไม่สูงมากนัก ส่วนบนทำเป็นพนักระเบียงหนา ลักษณะเป็นผืนเรียบประกอบบัวคว่ำสองข้าง ท้องพนักระเบียงโล่งก่อลดหลบเข้าภายใน กรุด้วยกระเบื้องปรุเคลือบสีเขียวแบบจีน 

            หลังคาไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นประกอบกระเบื้องเคลือบสีรูปหงส์แบบจีน รายล้อมด้วยลายดอกไม้ที่เป็นลวดลายไทย เช่น พวงอุบะและดอกไม้ ประดับตกแต่งด้วยเศษกระเบื้องเคลือบสีหลายสีในกรอบรูปสามเหลี่ยม กรอบนอกยกเป็นสันปั้นปูนประดับรูปดอกไม้ ลายหน้าบันตอนล่างประดับด้วยลายปูนปั้นตกแต่งด้วยเศษกระเบื้องเคลือบเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้และเฟื่องอุบะเต็มพื้นที่

            ซุ้มประตูพระวิหารอยู่ในด้านสกัดทั้งด้านหน้าและหลัง ด้านละ 2 ช่องประตู ลักษณะซุ้มประตู ปั้นปูนติดผนังปิดทอง ลายดอกพุดตานผสมลายใบไม้ ส่วนซุ้มหน้าต่างซึ่งอยู่ที่ผนังด้านยาว ด้านละ 5 ช่องหน้าต่าง ปั้นปูนยกเป็นกรอบช่องหน้าต่าง ประดับด้วยลวดลายดอกไม้ลักษณะเดียวกับซุ้มประตู บานประตูหน้าต่าง มีลักษณะเป็นบานไม้คู่ เปิดเข้าสู่ด้านใน แบ่งลักษณะของบานออกเป็นบานด้านนอกและบานด้านใน บานประตูด้านนอกเขียนลายลงรักปิดทอง รูปเทวี บานด้านในเขียนเป็นลวดลายกระถางบัว แจกันดอกไม้ วางอยู่บนโต๊ะที่วางซ้อนกัน โดยใต้โต๊ะก็ยังมีกระถางดอกไม้อีก 1 กระถาง ด้านบนของภาพ มีลวดลายนกกำลังไล่จับแมลง ลวดลายเหล่านี้เขียนอยู่บนพื้นสีแดง ตรงแง้มประตูหรือบานแผละ เขียนสีเป็นลายกอบัวและต้นไม้ในสระน้ำ ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกเขียนเป็นลวดลายพรรณพฤกษา บานหน้าต่างด้านในและบานแผละ มีลวดลายเช่นเดียวกันบานประตูด้านใน

            ภายในพระวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเป็นลายหงส์จีนบนพื้นสีแดง พระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 75 นิ้ว สูง 95 นิ้ว ประทับนั่งบนอาสนะฐานสิงห์ ประกอบหน้ากระดานบัวหงายซ้อนกัน 5 ชั้น เบื้องซ้ายและขวาของพระประธาน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรอยู่ข้างละ 2 องค์ ปักฉัตรทองปรุ 5 ชั้น เช่นเดียวกับในพระอุโบสถ และพระสาวกอยู่อีกข้างละ 1 องค์ 

            เบื้องหน้าพระประธานภายในพระวิหาร ยังมีแท่นหินอ่อนที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ซึ่งได้รับเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุณีบริษัท หน้าตัก 11 นิ้ว สูง 21 นิ้ว หล่อด้วยดีบุก รวม 52 องค์ (ประทับนั่ง 49 องค์ ประทับยืน 3 องค์) อันแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ เนื่องด้วยเพื่อให้เข้ากับวัด ที่สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชธิดา 

            นอกจากนี้ ในพระวิหาร ยังมีประติกรรมที่สำคัญอีก 2 องค์ ได้แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย์ หล่อด้วยทองเหลือง ประทับขัดสมาธิราบบนฐานเขียง พระหัตถ์ขวาอยู่ในลักษณะกำวัตถุซึ่งสูญหายไป สันนิษฐานว่าเป็นตาลปัตร เป็นสมบัติของวัดเทพธิดารามมาแต่เดิม อีกองค์หนึ่งคือ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เป็นรูปดีบุกปิดทอง พระพักต์เรียวคิ้วโก่งเป็นรูปปีกกา นัยน์ตาเหลือบลงต่ำ ผมเป็นเม็ดกลมเล็กเรียงต่อกัน ห่มจีวรเฉียง สังฆาฏิยาวปลายตัดตรงจรดพระนาภี มือซ้ายวางหงายบนตัก มือขวาวางที่พระชงค์ขวา นั่งท่าขัดสมาธิราบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อสถาปนาวัดเทพธิดาราม

            พระวิหารล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเตี้ยๆ ก่อเป็นพนักประดับด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายสีน้ำตาล ภายในกำแพงแก้วประดิษฐานเจดีย์ 14 องค์ ล้อมรอบตัวอาคารพระวิหาร เจดีย์ทุกองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือเป็นเจดีย์มีผังสี่เหลี่ยม ย่อมุม ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียง 2 ชั้น ชุดฐานสิงห์และฐานบัว 2 ชุด ถัดขึ้นไปบัวคลุ่มและบัวปากระฆัง รองรับองค์ระฆังที่มีผังสี่เหลี่ยมย่อมุมเช่นเดียวกัน เหนือขึ้นไป

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตอน 3 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2526.

กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2431-2474. กรุงเทพฯ : กองบัญชาการทหารสูงสุด, 2542.

กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : เอกสารวิชาการกองโบราณคดี หมายเลข 13/2532, 2537.

กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2538.

กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรม เล่ม 4 วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

กรมศิลปากร. วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. ศิลปวัฒนธรรม เล่ม 4 วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, 2525.

ณัฐวัตร จินรัตน์. “การออกแบบสถาปัตยกรรมตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (ศึกษาเฉพาะเขตพุทธาวาสของพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์)” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

บัณฑิต จุลาสัย, เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร และพีรศรี โพวาทอง. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450-2550. กรุงเทพฯ : สำนักผังเมือง กรุงเทพหานคร, 2550.

ปิยมาศ สุขพลับพลา. “การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณีศึกษาวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดเฉลิม  พระเกียรติวรวิหาร” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยศิลปากร, 2546.

วงศ์ฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา. “การศึกษาสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยศิลปากร, 2538.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชศรัทธาปณิธานในการสถาปนาวัตถุสถานในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. การขุดตรวจสอบทางโบราณคดี บริเวณหอพระไตรปิฎก กุฏิคณะ 5 วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ท., 2552.

สุนทรภู่. รำพันพิลาป. กรุงเทพฯ : วรรณศิลป์สโมสร, 2530.


ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี