โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021
ที่ตั้ง : ถ.สนามไชย
ตำบล : พระบรมมหาราชวัง
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.750364 N, 100.494480 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูเมืองเดิม
ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชย ตั้งอยู่ระหว่างวัดราชประดิษฐฯ กับกระทรวงกลาโหม และอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนสนามไชยกับพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
รถเมล์: สาย 9, ปอ.9, 43, 64, 82, 123, 507
รถไฟฟ้า: รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสอง-พุทธมณฑล สาย 4) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสนามไชย
เรือด่วนเจ้าพระยา: ลงท่าเตียน หรือท่าช้าง
ตัวพระราชวังสามารถเยี่ยมชมได้เฉพาะภายนอก ส่วนสวนสราญรมย์ ซึ่งในอดีตเป็นพระราชอุทยานสราญรมย์ ของพระราชวังนั้น ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 -21.00 น.
กระทรวงการต่างประเทศ
ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เล่ม 119 ตอนพิเศษ131ง วันที่ 28 ธันวาคม 2545
ปัจจุบันพระราชวังสราญรมย์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพดี กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ดูแล กำลังพัฒนาพระราชวังเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทูตไทย และสถาบันฝึกอบรมข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ในชั้นนี้การบูรณะยังไม่แล้วเสร็จ
พื้นที่ทางทิศใต้ของพระราชวัง (ฝั่งตรงข้ามถนนสราญรมย์กับพระราชวังในปัจจุบัน) มีการก่อสร้างทำเนียบองคมนตรีและอาคารสำนักราชเลขาธิการ ส่วนพระราชอุทยานสราญรมย์ ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร
แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : สิริกุล วิริยารมภ์, กรมศิลปากร, กระทรวงการต่างประเทศ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
กระทรวงต่างประเทศจะดำเนินการอนุรักษ์พระราชวังสราญรมย์ ดังนั้นจึงกำหนดให้มีการศึกษาทางโบราณคดี ในครั้งนี้ได้มีการขุดค้นขุดแต่งเพื่อศึกษารูปแบบของตัวอาคารและสภาพภูมิทัศน์ดั้งเดิมชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
สำรวจข้อมูลโบราณสถานพระราชวังสราญรมย์ (กระทรวงการต่างประเทศเดิม)ชื่อผู้ศึกษา : กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง, ปรับปรุงภูมิทัศน์
ผลการศึกษา :
จัดทำแบบงานปรับปรุงอาคารและพื้นที่ สวนสาธารณะ 4 (สวนสราญรมย์)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ทำผัง
ผลการศึกษา :
จัดทำแบบเก๋งจีนในบริเวณวังสราญรมย์ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ศึกษาและตรวจสอบข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ศิลปกรรมและวัฒนธรรม บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกองโบราณคดีดำเนินการสำรวจโบราณสถานและอาคารเก่าในเขตรัตนโกสินทร์พระราชวังสราญรมย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง (บริเวณพระที่นั่ง สุทไธยสวรรค์) ริมถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ลักษณะแผนผังที่ดินเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 5 ไร่ 2 งาน มีพื้นที่ดินติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนบำรุงเมือง และกระทรวงกลาโหม, ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนสราญรมย์ พระราชอุทยานสราญรมย์ และวัดราชประดิษฐ์, ทิศตะวันออก ติดต่อกับ กรมแผนที่ทหาร, ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนสนามไชย
ประวัติพระราชวังสราญรมย์ ในตอนปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2409) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมี พระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ (ภายหลังเถลิง ถวัลย์ราชสมบัติขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเจริญพระชันษา และทรง ผนวชแล้ว จะทรงมอบเวนพระราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์จะเสด็จไปประทับอีก พระราชวังหนึ่งแยกจากพระบรมมหาราชวัง เป็นตำแหน่งพระเจ้าหลวง เพื่อทรงช่วยแนะนำราชการ ไปจนตลอดพระชนมายุ จึงได้โปรดเกล้าฯให้พระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เมื่อครั้งยังเป็น พระยาบรมรัตนราชพัลลภ เป็นแม่กองสร้างพระราชวังที่จะทรงประทับขึ้นที่บริเวณพื้นที่ว่างส่วน หนึ่งในบริเวณกลุ่มอาคารโรงทหาร และตึกดิน ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามพระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ เยื้องไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้พระบรมมหาราชวัง (สิริกุล วิริยารมภ์ 2547)
พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ คือ แนวถนนบำรุงเมืองที่เพิ่งตัดขึ้น ทางด้านใต้ของถนน ซึ่งเป็นฝั่ง วังสราญรมย์ เป็นตึกหลวงให้เช่าแบบเรือนแถวตั้งชิดริมถนน ถัดเข้ามาจากตึกหลวงเป็นแนวอาคารที่ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารโรงทหาร 2 หลัง วางตัวขนานกับแนวคลองตลาด ทางด้านตะวันตกของพื้นที่ สร้างวัง เป็นพื้นที่ของท้องสนามไชย ซึ่งมีอาคารโรงทหาร 2 หลังเป็นชุดเดียวกับโรงทหารทางด้าน เหนือคั่นระหว่างท้องสนามไชยกับวังสราญรมย์ สำหรับทางใต้ของพื้นที่ มีถนนหน้าวัดราชประดิษฐ์ ทางฝั่งวังสราญรมย์ ปรากฏมีแนวกำแพงยาวตลอด ส่วนฝั่งวัดราชประดิษฐ์ปลูก ตึกสองชั้นแบบเรือนแถวจำนวน 3 หลัง เป็นที่ให้เช่า และพื้นที่พักอาศัย บริเวณกึ่งกลางของพื้นที่ซึ่งถูก ล้อมรอบด้วยโรงทหาร และแนวกำแพงที่กล่าวมา เป็นที่ดินค่อนข้างกว้าง ตรงกลางเป็นที่ตั้งของตึกดิน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ล้อมรอบด้วยคูน้ำ และกำแพงทึบ เป็นที่สำหรับเก็บดินปืน (สิริกุล วิริยารมภ์ 2547)
พระราชวังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มีดำริให้สร้างขึ้นในพื้นที่ด้านตะวันออกของ พระบรมมหาราชวังนี้ คือ “วังสราญรมย์” แต่เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตก่อน ในปี พ.ศ. 2411 การก่อสร้างจึงยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ เมื่อเริ่มก่อสร้างคงจะมีตัววังเป็นอาคารหลังเดียว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานถึงลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดฯ ให้สร้างต่อจนแล้ว เสร็จในปี พ.ศ. 2413 โดยให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้ตกแต่งสวนสราญรมย์ แล้วจึงพระราชทานให้วังสราญรมย์เป็นที่ ประทับของเจ้านาย โดยเจ้านายพระองค์แรกที่เสด็จมาประทับ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า จาตุรนต์รัศมี กรมหมื่นจักรพรรดิพงศ์ ต่อมา เมื่อพระองค์เสด็จไปประทับที่วังเดิม ในปี พ.ศ. 2419 วังสราญรมย์จึงเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหมื่นภาณุพันธุวงษ์วรเดช ก่อนที่จะทรงย้ายไปเมื่อสร้างวังบูรพาภิรมย์เสร็จ (สิริกุล วิริยารมภ์ 2547)
พ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ซ่อมแซมวังสราญรมย์ โดย มีเจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้ตกแต่งพระราชอุทยานสราญรมย์ ใน พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯพระเจ้าบรม วงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นายพันตรีราชองครักษ์) เป็นแม่กองในการซ่อมแซมและปรับปรุงตกแต่งวังสราญรมย์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่ประทับของเจ้าชายออสคาร์ แห่งประเทศสวีเดน (สิริกุล วิริยารมภ์ 2547)
ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกระบบจตุสดมภ์ มีการปฏิรูประบบราชการที่เกี่ยวกับการคลังแผ่นดิน และการต่างประเทศซึ่งเดิมอยู่ร่วมกันภายใต้เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่าให้แยกออกจากกัน และเมื่อการติดต่อกับต่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลไทยกับรัฐบาลตะวันตกได้มีบทบาทมากขึ้นจนกลายเป็นราชการประจำ ประกอบกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้ว่าการต่างประเทศคนแรก กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทานอนุญาตให้วังสราญรมย์เป็น “ศาลาว่าการ ต่างประเทศ” ตามคำกราบบังคมทูลของสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขณะนั้นเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่ 2 (ตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2418 ถึง 28 มิถุนายน 2466) ขอมีที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศขึ้นโดยเฉพาะ (สิริกุล วิริยารมภ์ 2547)
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2430 โปรดเกล้าฯให้ย้ายศาลาว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปยัง ศาลาลูกขุนใน (ปัจจุบันเป็นสำนักราชเลขาธิการ) ภายในพระบรมมหาราชวัง วังสราญรมย์จึงเป็นที่ ประทับรับรองแขกเมือง และเจ้านายพระองค์ต่างๆ ได้แก่ พ.ศ. 2430 เป็นที่รับรองเจ้าชายอากิฮิโต โกมาสุ แห่งประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2433 เจ้าชายจอร์จ แห่งประเทศกรีซ พ.ศ. 2434 มกุฎราชกุมาร แห่งรัสเซีย พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้คิดปรับปรุง แก้ไขวังสราญรมย์ให้มีความงดงาม และสะดวกสบายมากขึ้น กระทั่ง พ.ศ. 2441 เริ่มดำเนินการ ปรับปรุงวังสราญรมย์ โดยโปรดฯให้รื้อโรงทหาร 2 หลังด้านสนามไชยออกทั้งหมด ปรับปรุง และ ต่อเติมมุขอาคารด้านตะวันตก 3 มุข เน้นมุขกลางเป็นประธาน เพื่อให้อาคารด้านนี้เป็นด้านหน้าของ วังแทนด้านทิศใต้เดิม ซึ่งหันเข้าสู่ท้องสนามไชย และพระบรมมหาราชวัง แล้วจัดสวนด้านนี้ให้รับกับพระราชอุทยานทางด้านใต้ และมีการซ่อมแซมตกแต่งแก้ไขโครงสร้างอาคาร โดยทำฐานรากที่ มีเข็ม การปรับปรุงซ่อมแซมครั้งนี้มีกระทรวงโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการ มีเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบ ดังนี้
1. พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
2. เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และเจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นแม่งาน
3. นายซี ซันเดรสกี (C. Sandreczki) สถาปนิกใหญ่ชาวเยอรมัน เป็นผู้ออกแบบ
4. นายคาโล แอนแลกกรี (Carlo Allegri) วิศวกรใหญ่ชาวอิตาเลียน เป็นผู้ควบคุมงาน
ปลายปีพ.ศ. 2441 วังสราญรมย์เป็นที่ประทับรับรองเจ้าชายวิตโตริโอ เอมานูเอล เคอซาโร ยา เคานต์ออฟตูริน แห่งประเทศอิตาลี พ.ศ. 2442 วังสราญรมย์เป็นที่ประทับรับรองของมองซิเออร์ ดูแมร์ เกาเวอน์เนอร์ เยนเนอราล แห่งอินโดจีน, สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานารถ คราวเสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศรัสเซีย, เจ้าชายเฮนรี่ แห่งเยอรมันนี, เจ้าชายวัลดิมา แห่งกรุงเดนมาร์ก
พ.ศ. 2444 เป็นที่ประทับชั่วคราวของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ คราวเสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศเยอรมันนี พ.ศ. 2445 เป็นที่ประทับชั่วคราวของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ คราวเสด็จกลับมา ร่วมงานพระศพเจ้าจอมมารดาสำลี
พ.ศ. 2446 เป็นที่ประทับชั่วคราวของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ และเสด็จนิวัติพระนคร พ.ศ. 2447 เป็นที่พักรับรองเจ้าชายอาดาลเบิด แห่งปรัสเซีย ซึ่งเป็นพระราชโอรสแห่งพระ เจ้ากรุงเยอรมันนี พ.ศ. 2448 เป็นที่พักรับรองเจ้าชายลุยยีดีซา โรยา ออฟ อาบรุส แห่งอิตาลี พ.ศ. 2449 วังสราญรมย์เป็นที่พักรับรองของเจ้าชายเฟอร์ดินาน แห่งซาวอย และเจนัว ปรินส์ ออฟ อุดิเน่ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของดยุคแห่งเจนัว, เจ้าชายจอร์จ พร้อมเจ้าชายคอนราด พระราชอนุชาแห่งกรุงบาเวเรีย, เจ้าชายวัลดิมา แห่งประเทศเดนมาร์ก และเจ้าชายยอร์ช แห่งประเทศกรีซ
สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2459 – 2468) มีการประกาศยกวังสราญรมย์ขึ้นเป็น “พระราชวังสราญรมย์” ซึ่งใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง จัดเลี้ยงรับรองต่างๆ และเป็นที่ทำการ “กรมโขนหลวง” ที่เพิ่งตั้งขึ้น (ภายหลังพระราชทานชื่อใหม่ว่า “กรมมหรสพ”) และเป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาวตลอดรัชสมัย ในระยะนี้มีการสร้างโรงละครเป็นอาคารไม้ภายใน พระราชอุทยานสราญรมย์ พระราชวังสราญรมย์เป็นที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ใน สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึง พ.ศ. 2542 กระทรวงการต่างประเทศได้ย้ายที่ทำ การกระทรวงออกไป ณ ที่ทำการใหม่บนถนนศรีอยุธยา อาคารพระราชวังสราญรมย์จึงได้ว่างลงนับแต่นั้นมา (สิริกุล วิริยารมภ์ 2547)
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม (สิริกุล วิริยารมภ์ 2547)
เมื่อเริ่มก่อสร้างพระราชวังสราญรมย์สมัยรัชกาลที่ 4 คงจะมีตัววังเป็นอาคารหลังเดียว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานถึงลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 คาดว่าคงเป็นการ ก่อสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีมาก่อน สำหรับรูปแบบสวนในพระราชอุทยาน โปรดเกล้าฯ ให้อาลาบาสเตอร์สร้างสวนอย่างที่นิยมในระยะนั้น คือ การใช้เส้นสายอิสระ และคำนึงถึงมุมมอง จากในสวนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยม และแพร่หลายอย่างมากในยุโรป อเมริกา รัสเซีย ผสมผสานกับการจัดสวนแบบอิตาลีในศตวรรษที่ 18 คือ การใช้รูปทรงเรขาคณิตที่มีสัดส่วนแบบ คลาสสิค และการใช้สมดุลแบบสมมาตร
ลักษณะของพระราชวังสราญรมย์ระยะนั้น ปรากฏในบันทึกเจ้าชายออสคาร์ แห่งประเทศ สวีเดน ที่ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 ความว่า “พระราชวังสราญรมย์ เป็นตึกแบบตะวันตก มีลานกว้างอยู่หลายแห่ง พื้นที่เป็นหินอ่อนมีเสาเรียงกันเป็นแถว ข้าบริวารของข้าพเจ้าอยู่ตามห้อง ซึ่งจะมองลงมาเห็นชาลาโล่ง รอบชาลาเป็นระเบียงมีหลังคาคลุมแบ่งเป็น 4 ตอนเพราะมีระเบียงอื่นตัดผ่าน เราจึงได้อยู่ร่วมกันในที่แห่งเดียวกันนี้ และอาจมาพบปะ กันได้ตามระเบียงที่ร่มรื่น ซึ่งจัดเก้าอี้ไว้ ..”
รูปแบบก่อน พ.ศ. 2530 เป็นอย่างน้อย พระราชวังสราญรมย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 39 x 66 เมตร หลังคามุงกระเบื้องดินเผาแบบจีน ที่มีกรอบปูนปั้นลูกฟูกทับแนว โครงสร้างใช้ระบบผนังก่ออิฐรับน้ำหนักผสมกับโครงสร้างไม้บางส่วน โครงหลังคา และโครงสร้างพื้นเป็นไม้ทั้งหมด พื้นอาคารชั้นล่างปูด้วยอิฐ หรือกระเบื้องดินเผา ส่วนพื้นชั้นบน บางส่วนเป็นพื้นไม้ บางส่วนมีการปูหินอ่อนทับบนพื้นไม้อีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางอาคารเว้นเป็นลาน โล่ง ด้านทิศใต้มีมุขบันไดหันรับกับสวนสราญรมย์ ด้านทิศตะวันออก มีมุขห้องบรรทมยื่นออกไป จดเขตตึกดิน ด้านทิศตะวันตก สร้างประชิดกับโรงทหารริมสนามไชยทั้งสองหลัง ห้องต่างๆวางตัว ล้อมรอบลานโล่งตรงกลาง ที่ด้านหน้าของห้องจะมีทางเดินซึ่งมีหลังคาคลุมเชื่อมต่อกัน มีบันได และมีหอสี่เหลี่ยม ผนังก่ออิฐ ฉาบปูน ทาสี ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นบางส่วนทั้งภายนอกและภายใน ประดับรายละเอียดด้วยการปิดทอง รอบนอกอาคารด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้มีเพิงพล สำหรับเป็นที่พักทหารสูง 1 ชั้น สร้างติดอาคารทั้งสามด้าน
ต่อมา พ.ศ. 2434 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้กราบบังคมทูลเสนอให้มีการ ปรับปรุงพระราชวังสราญรมย์ เพื่อใช้เป็นที่ประทับรับรองมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียที่จะเสด็จมา ประทับในปี พ.ศ. 2436 มีการรื้อทางเดิน บันได และหอสี่เหลี่ยมในส่วนกลางอาคารออก แล้วปรับปรุงเปิดเป็นคอร์ทกลาง สร้างน้ำพุ จัดแต่งต้นไม้รอบน้ำพุ และรูปสลักจากหินอ่อนอยู่ตรงกลาง มีการรื้อเพิงทหารออกทั้งสามด้าน แล้วเจาะช่องหน้าต่างชั้นล่าง ชั้นบนเป็นส่วนที่ประทับ ห้อง รับรอง และห้องจัดเลี้ยงแขกเมือง ส่วนชั้นล่าง ห้องพัก และห้องใช้งานต่างๆสำหรับทหารและคนรับใช้
เมื่อมีการดำเนินการปรับปรุงพระราชวังสราญรมย์ในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงทหาร 2 หลังด้านสนามไชยออกทั้งหมด มีการเพิ่มเติมมุข 3 มุขด้านตะวันตกให้ด้านนี้เป็นด้านหน้าของวังแทนด้านทิศใต้เดิม มีการจัดสวนด้านนี้ ให้มีรูปแบบเป็นสวนแบบยุโรปรับกับพระราชอุทยานสราญรมย์ทางด้านใต้
พ.ศ. 2442 มีการทำรางระบายน้ำตลอดหน้าพระราชวังสราญรมย์ และปูพื้นกระเบื้อง สนามหญ้า รื้อรั้วเดิมมีรูปแบบเป็นรั้วโปร่ง เสาเป็นปูนปั้นประดับด้วยแผงลูกกรงเหล็กหล่อ กระทั่งในระยะนี้รั้วด้านนี้จึงเปลี่ยนเป็นรั้วแบบทึบ
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏเพียงหลักฐานการซ่อมแซมหลังคา โดยเปลี่ยนจากกระเบื้อง หลังคาดินเผาแบบจีนเปลี่ยนเป็นกระเบื้องซีเมนต์ใยหิน (Asbestos Cement) กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ปรากฏจากภาพถ่ายทางอากาศว่าด้านข้างของมุขบันไดทางใต้ พระราชวังทั้งสองข้างเดิมเป็นระเบียงโล่ง แต่ระยะส่วนระเบียงโล่งได้กลายเป็นห้องมีผนัง และมี หลังคาคลุม โดยชั้นบน เป็นห้องรับรองแขก ห้องประชุม และที่ทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ชั้นล่างเป็นสำนักงานต่างๆ ซึ่งได้ทำผนังใหม่เช่นเดียวกับได้รื้อผนังชั้นบน และเจาะผนังเพื่อทำเป็น คูหา ปูกระเบื้องซีเมนต์ที่พื้นบางส่วน ทำรางน้ำบนหลังคาใหม่หมด มีนายเซ่ง เฮง เป็นผู้รับเหมาใน การปรับปรุงพระราชวังสราญรมย์เพื่อให้เหมาะกับการเป็นที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศในครั้งนี้
พ.ศ. 2471 ซ่อมแซมโครงสร้างผนัง หลังคา และระบบสุขาภิบาลทั้งหมด และทำประตูกระทรวงการต่างประเทศเป็น 2 ประตู มีบริษัท ซี. กิมฮะ เป็นผู้รับเหมาซ่อมแซม ในปีเดียวกัน มี การเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาในส่วนเฉลียงและระเบียง เปลี่ยนจากกระเบื้องซีเมนต์ใยหินเป็นกระเบื้องอิตาลี (สันนิษฐานว่าเป็นกระเบื้องดินเผาลอนกาบกล้วย) มีบริษัทแองโกลสยาม เป็นผู้รับเหมาซ่อมแซม โดยรูปแบบพระราชวังสราญรมย์ระยะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2494 – 2496 อาคารพระราชวังยังคงรูปแบบจากการปรับปรุงครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2441 มีการสร้างอาคาร 3 ชั้นทางด้าน เหนือของพื้นที่บริเวณแนวอาคาร 1 ชั้นที่ถูกรื้อไปก่อน พ.ศ. 2494 และสร้างอาคาร 2 ชั้น เชื่อมต่อกันเป็นมุมฉากติดกับอาคารพระราชวังทางมุมตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะอาคารเป็นอาคารแบบสากลทรงสี่เหลี่ยม โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสี หลังคาดาดฟ้า และปรับปรุงระเบียงโล่งซึ่งเชื่อมระเบียงล้อมคอร์ทปีกตะวันตก - ตะวันออกให้กว้างขึ้น โดยรื้อเสาซึ่งรับพื้นระเบียงช่วงกลางออก แล้วทำโครงสร้างช่วงกว้างให้เต็มช่วงความกว้างของ คอร์ท
พ.ศ. 2508 – 2511 สร้างพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ที่สวนด้านหน้าวังทางตะวันตก เนื่องจากสมเด็จฯกรมพระยา เทวะวงศ์วโรปการเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศลำดับที่ 2 แต่เป็นพระองค์แรกที่ดำรงตำแหน่ง ณ พระราชวังสราญรมย์ตามพระประสงค์ของพระองค์เองที่ต้องการให้มีสถานที่ที่ข้าราชการมาทำงานร่วมกัน ขณะที่เดิมจะพบปะกันตามวัง หรือบ้านของเสนาบดี
ต่อมา พ.ศ. 2511 – 2514 ได้มีการรื้อปีกอาคารพระราชวังทางด้านตะวันออกทั้งหมด บางส่วนของปีกด้านเหนือ และมุขบันไดด้านทิศใต้ เพื่อสร้างอาคารสูง 4 ชั้น ออกแบบโดยกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ซึ่งมีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสากล ทรงสี่เหลี่ยม หลังคาดาดฟ้าแบน โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูน ทาสี ในระยะนี้อาคารพระราชวังเหลือปีก ทางด้านตะวันตกที่ทีมุข 3 มุข เหลือปีกด้านเหนือ และด้านใต้บางส่วน ส่วนปีกด้านตะวันออก เหลือเพียงระเบียงหลังคาคลุมล้อมคอร์ทเท่านั้น บริเวณที่เคยเป็นปีกทางด้านนี้ กลายเป็นอาคาร 4 ชั้น ยาวตามแนวอาคารพระราชวัง แล้วหักเลี้ยวไปตามแนวรั้วทางด้านถนนสราญรมย์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมกับอาคาร 2 ชั้น
กระทั่งเมื่ออาคารพระราชวังสราญรมย์ว่างลงในปี พ.ศ. 2542 ภายหลังจึงได้มีการรื้ออาคาร 2 ชั้น และ 3 ชั้นทางด้านเหนือออก และรื้ออาคาร 4 ชั้นทางด้านใต้ออกในระยะต่อมา บริเวณพระราชวังสราญรมย์เหลือเพียงอาคารที่เป็นตัววังเดิม มีคอร์ทกลางที่มีเพียงอาคารวังล้อมด้านทิศ เหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้เท่านั้น
พระราชวังสราญรมย์ที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นอาคารตรีมุข 2 ชั้น ลักษณะอาคาร พระราชวังเป็นศิลปะแบบ Palladian Style ทั้งภายนอกและภายในอาคาร กล่าวคือ การมีจุดเด่น ของอาคารที่มุขยื่นออกมาด้านหน้า ซึ่งเดิมเคยมีขนาดต่ำและกว้างตามแบบศิลปะกรีก-โรมันโบราณ แต่กลับสูงสง่า และแคบเข้า นิยมตั้งเสาให้เรียงเป็นแถว แผ่นหน้าบันมักเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่เน้นเส้นแนวนอนของฐานล่างมากกว่าความสูง หัวเสามีทั้งอย่างดอริก ไอออนิก คอรินเธียน อาคาร แบบนี้ มักไม่มีการประดับลวดลายวิจิตรนัก อย่างมากอาจมีลายปูนปั้นนูนต่ำระบายสีเป็นลายกนก ใบไม้ หรือตราแผ่นดินในกรอบหน้าบันอย่างเรียบง่ายเท่านั้น
หน้าบันของมุขกลางด้านทิศตะวันตกพระราชวังทำเป็นรูปวงโค้ง ภายในมีปูนปั้นพระราช ลัญจกรประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตราช้างสามเศียรอยู่ใต้มงกุฏ มีฉัตรข้างเปล่งรัศมีขนาบข้าง อีกสองมุขที่ขนาบอยู่เป็นจั่วรูปสามเหลี่ยม มีตราพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซุ้มประตูมุขทั้งสามประดับลายปูนปั้นรูปใบไม้ และพวงอุบะ หัวเสาของมุขประดับลายปูน ปั้นปิดทอง เป็นรูปใบไม้พวงอุบะมาลัยห้อยย้อย บ้างว่าเป็นลักษณะศิลปะแบบเมดิเตอเรเนียน มุขทั้งสามนี้ชั้นบนทำเป็นระเบียงยาวเดินได้ตลอด มีเสาแบบโรมัน 4 ต้นรับหน้าบัน ระเบียงภายนอกด้านทิศตะวันตกระหว่างมุขทั้งสาม และระเบียงภายในล้อมรอบคอร์ทมีเสา สี่เหลี่ยมหัวเสาแบบเรียบ ลูกกรงระเบียงหล่อเป็นทรงกลม ผนังภายนอกชั้นล่างแต่งเป็นลายอิฐ มี คูหาเป็นช่อง ชั้นบนเป็นระเบียงเรียบ และใช้เสาเหลี่ยมรับหลังคา ประดับลายฉลุที่ไม้ชายคา เป็นลายฉลุไม้แบบเรียบๆ
ซุ้มหน้าต่างภายนอกชั้นบนตกแต่งด้วยองค์ประกอบหน้าบันสามเหลี่ยม ประดับปูนปั้นรูปใบไม้ ชั้นล่างช่องคูหาเข้าอาคาร และเหนือหน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง แต่หน้าต่างเป็นสี่เหลี่ยมมีช่องแสง โค้ง มีลายปูนปั้นทำเป็นจั่วเล็กๆ ติดผนังเหนือกรอบหน้าต่างนั้น แล้วคั่นระหว่างช่องหน้าต่างนั้นด้วยเสาติดผนัง ภายในคอร์ทตรงกลาง มีประติมากรรมหินอ่อนแบบยุโรปประกอบน้ำพุซึ่งเป็นของเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2434
กำแพงพระราชวังมีลักษณะทึบ แต่งปูนเป็นลายอิฐ เสาเหลี่ยม หัวเสาประดับปูนปั้นรูป พาน ยอดติดตั้งดวงไฟ กึ่งกลางกำแพงเจาะรูปไข่ปิดด้วยเหล็กดัด ประตูเหล็กดัดประดับตราบัวแก้ว (สันนิษฐานว่าได้สร้างรั้วของพระราชวังสราญรมย์ด้านตะวันตกขึ้นใหม่ภายหลังจากรื้อโรงทหาร 2 หลังด้านนี้ออกไป มีรูปแบบเป็นรั้วโปร่ง เสาเป็นปูนปั้นประดับด้วยแผงลูกกรงเหล็กหล่อ ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 มี การรื้อรั้วเหล็กหล่อนี้ออกไปล้อมที่ท่าราชวรดิษฐ์ทั้งหมด ซึ่งยังคงสามารถดูรั้วต้นแบบของพระราชวังได้ที่สวนสราญรมย์ทางด้านใต้ของ พระราชวัง)
สำหรับสวนในพระราชวังสราญรมย์ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานของอาคารและพื้นที่ภายใน จนสวนปัจจุบันเหลือเค้าโครงเดิมอยู่น้อย ซึ่งทางด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ของลานจอดรถ และอนุสาวรีย์มีลักษณะของสวนหย่อมเล็กๆ ปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ประโยชน์ด้านร่มเงา สำหรับสวนภายในคอร์ทกลาง เป็นสวนจัดเปิดโล่ง มีจุดสนใจ อยู่ที่น้ำพุกลางคอร์ท พื้นสนามหญ้า และปลูกต้นข่อยดัดล้อมรอบ
ด้วยกระทรวงต่างประเทศจะดำเนินการอนุรักษ์พระราชวังสราญรมย์ ดังนั้นจึงกำหนดให้มีการศึกษาทางโบราณคดีในปี 2547 ในครั้งนี้ได้มีการขุดค้นขุดแต่งเพื่อศึกษารูปแบบของตัวอาคารและสภาพภูมิทัศน์ดั้งเดิม
หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2552)
เมื่อแรกสร้างพระราชวังสราญรมย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ.2409 สันนิษฐานว่าพระราชวังสราญรมย์เป็นอาคารหลังเดียวยังไม่มีอาคารอื่นประกอบ
ซึ่งพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างวังขึ้นนั้น เป็นพื้นที่ของอาคารโรงทหารริมท้องสนามไชยและริมถนนบำรุงเมือง โดยทางด้านเหนือริมถนนบำรุงเมืองยังเป็นที่ตั้งของตึกหลวงซึ่งเป็นตึกแถวก่ออิฐ
2 ชั้น
40 ห้อง เมื่อมีการรื้ออาคารทางด้านเหนือออกไปเมื่อปี พ.ศ.2430
พระราชวังสราญรมย์จึงมีอาคารและสิ่งก่อสร้างประกอบอาคารพระราชวังขึ้น
จากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีทำให้ได้ข้อมูลสำคัญ ดังนี้
1. โรงทหารและตึกหลวง
โรงทหารเป็นอาคารที่มีมาก่อนการสร้างพระราชวังสราญรมย์ มีการใช้อิฐขนาดใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นการนำอิฐจากราชธานีเก่ามาใช้ก่อสร้างใหม่ ส่วนตึกหลวงนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น มีรูปแบบอาคารแบบตะวันตก สำหรับชาวต่างชาติที่ทรงจ้างมาสอนภาษาอังกฤษ สอนวิชาทหาร และให้พ่อค้าแขกฝรั่งเช่าตั้งห้างร้าน
2. พระราชวังสราญรมย์ในระยะแรกสร้าง
รูปแบบของอาคารพระราชวังสราญรมย์ในระยะแรกสร้าง พบหลักฐานว่าเป็นอาคารก่ออิฐสอปูน ก่อสร้างระบบกำแพงรับน้ำหนัก (wall bearing) รูปทรงคล้ายกล่อง ด้านตะวันออกมีห้องยื่นออกไปจรดเขตตึกดิน มีมุขประธานหันออกสู่ถนนสราญรมย์ ซึ่งเป็นด้านหน้าพระราชวังสราญรมย์ในขณะนั้น ลักษณะมุขอาคารชั้นล่างไม่มีผนังทั้งสองด้าน ไว้สำหรับเป็นถนนเพื่อขึ้นลงรถม้าหรือรถยนต์
จากการขุดค้นพบว่า
ลักษณะตัวอาคารพระราชวังสราญรมย์ยาวต่อเนื่องกัน ล้อมรอบลานโล่ง (court) ตรงกลาง สอดคล้องกับเอกสารประวัติศาสตร์ที่ปรากฏตามบันทึกของเจ้าชายออสคาร์
แห่งประเทศสวีเดน
ในปี พ.ศ.2427 นอกจากนั้นพบว่า
ภายในคอร์ทกลางมีลานปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผา มีหอสี่เหลี่ยมขนาดไม่ใหญ่นัก หอสี่เหลี่ยมมีหลักฐานการทาผนังสีชมพู
โดยเป็นโทนสีเดียวกับที่ทาอยู่ที่ฐานรากกำแพงด้านทิศใต้ และชั้นสีที่อยู่ใต้สีทาอาคารพระราชวังปัจจุบัน
รวมทั้งสัมพันธ์กับวัตถุดิบคือหินสีชมพูที่พบขณะขุดค้น จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของหินสีชมพูดังกล่าวพบว่าเป็นหินปูนที่มีเฮมาไทต์ซึ่งทำให้เกิดสีออกชมพูเป็นองค์ประกอบ
วัตถุนี้คงเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งในการทำสีทาอาคาร ซึ่งมีการบดให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ ในกระบวนการทำสีทาอาคารพระราชวัง รวมถึงหอสี่เหลี่ยมที่พบบริเวณคอร์ทกลางและกำแพงพระราชวังสราญรมย์ในอดีตด้วย
3. สวนของพระราชวังสราญรมย์ (พ.ศ.2441 - 2469)
ในปี พ.ศ.2441 เป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปแบบพระราชวังสราญรมย์ค่อนข้างมาก โรงทหารด้านตะวันตกสองหลังได้ถูกรื้อออกเพื่อต่อเติมมุขอาคารด้านตะวันตกให้เป็นอาคารตรีมุข แล้วจัดสวนด้านนี้ให้รับกับพระราชอุทยานสราญรมย์ทางทิศใต้ เพื่อให้พื้นที่ด้านนี้เป็นด้านหน้าพระราชวังสราญรมย์รับกับพระบรมมหาราชวัง รั้วพระราชวังสราญรมย์ทางด้านตะวันตกระยะนี้เป็นรั้วเหล็กโปร่ง ซึ่งเป็นรั้วที่มีการใช้งานระยะสั้น เนื่องจากภาพถ่ายเก่าถัดมาในปี พ.ศ.2442 ปรากฏรั้วพระราชวังด้านนี้เป็นรั้วทึบแล้ว รูปแบบของสวนประมวลจากหลักฐานภาพถ่ายเก่า เอกสารประวัติศาสตร์ และหลักฐานจากการขุดค้น พบว่าเป็นสวนที่มีแผนผังก่อด้วยแนวอิฐเป็นวงกลมและเส้นโค้ง ซึ่งเป็นสวนที่นิยมในยุโรปและอเมริกา โดยได้รับอิทธิพลจากอังกฤษมาอีกทอดหนึ่ง ระยะภายหลังการรื้อโรงทหารลงมา พบว่ามีการประยุกต์ใช้ประโยชน์คานโรงทหารเป็นทางระบายน้ำริมกำแพงพระราชวังด้วย
4. พระราชวังสราญรมย์เมื่อครั้งเป็นกระทรวงต่างประเทศ (พ.ศ.2469 - 2485)
พระราชวังสราญรมย์เป็นที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2469 เป็นต้นมา ช่วงนี้มีการซ่อมแซมอาคารอยู่หลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงระบบโครงสร้างฐานราก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมมากนักนอกจากมุขด้านใต้ ซึ่งในระยะนี้พบว่ามีการก่อเป็นผนังทึบทั้งสองด้านแล้ว
5. พระราชวังสราญรมย์เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2485 เป็นต้นมา)
พระราชวังสราญรมย์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (เริ่มเกิดขึ้นในเอเชียอาคเนย์ในปี พ.ศ.2485) เป็นที่ตั้งของหลุมหลบภัย คล้ายกับหลุมหลบภัยบริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หลักฐานทางโบราณคดีที่พบนี้สัมพันธ์กับบันทึกของสมาชิกสโมสรสราญรมย์กล่าวถึงหลุมหลบภัยภายในพระราชวังสราญรมย์ เหนือหลุมหลบภัยขึ้นมา เป็นที่ตั้งของพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สร้างในปี พ.ศ.2508 - 2511 ซึ่งเป็นระยะหลังจากที่สวนด้านตะวันตกมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปแล้ว และเป็นช่วงที่พบว่ามีทางเดินปูด้วยอิฐตะแคง ด้านบนฉาบปูนทำลายเส้นทแยงเลียนแบบพื้นปูกระเบื้อง มีรางระบายน้ำทั้งสองข้างขนานกับกำแพงด้านตะวันตก แล้วหักมุมตามแนวกำแพงพระราชวังด้านใต้ อาจเป็นทางเดินที่มีมาก่อนหรือร่วมสมัยกับพระราชานุสาวรีย์ในระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นทางเดินปูกระเบื้องซีเมนต์สมัยใหม่ในปัจจุบัน
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.
กรมศิลปากร. "พระราชวังสราญรมย์ (กระทรวงการต่างประเทศเดิม)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/
สิริกุล วิริยารมภ์. การขุดแต่งทางโบราณคดีภายในพระราชวังสราญรมย์. เสนอกระทรวงต่างประเทศ. เอกสารอัดสำเนา, 2547.