โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : สโมสรข้าราชบริพาร, สวนนาคราภิรมย์
ที่ตั้ง : ถ.มหาราช
ตำบล : พระบรมมหาราชวัง
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.746899 N, 100.490136 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
ตั้งอยู่บริเวณท่าราชวรดิฐ ติดกับท่าเตียน ริมถนนมหาราช ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง
รถเมล์: สาย 1, 25, 32, 44, 47, 48, 53, 82, 123, 508, 512
รถไฟฟ้า: รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสอง-พุทธมณฑล สาย 4) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสนามไชย และเดินเท้าต่อไปยังท่าเตียน
เรือด่วนเจ้าพระยา: ลงท่าเตียน
ปัจจุบันเป็นลานจอดรถ แต่ก็สามารถชมอาคารคลังสินค้าที่ได้รับการอนุรักษ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดีได้จากภายนอกอาคาร
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรมธนารักษ์
ปัจจุบันพื้นที่ได้รับการปรับปรุงเป็นลานจอดรถ อาคารโบราณสถานคลังราชการได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์
แม่น้ำเจ้าพระยา
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท โบรันดี จำกัด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2559
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ผลการศึกษา :
การดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่อาคารคลังราชการภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง” สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มอบหมายให้ บริษัท โบรันดี จำกัด เป็นผู้ด้าเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี เก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์ร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี และนำเสนอในรูปแบบรายงานผลการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นลานจอดรถ และอนุรักษ์อาคารโบราณสถานคลังราชการชื่อผู้ศึกษา : บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ผลการศึกษา :
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของพื้นที่กรมการค้าภายใน ได้มอบหมายให้บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการทางโบราณคดีในบริเวณองค์การคลังสินค้าของกรมการค้าภายใน ท่าเตียน เพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนนาคราภิรมย์เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2325 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังอยู่บนพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้้าเจ้าพระยาอันเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนเดิม และสร้างพระราชวังรวมถึงตำหนักต่างๆ พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงษ์ในเขตพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง หนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวก็คือบริเวณ “ท่าเตียน” ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวญวนเดิมมาตั้งแต่สมัยธนบุรี มีการสร้างวังคลังเก่าและวังท่าเตียนขึ้นพระราชทานแก่พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี และพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณอาคารคลังราชการจนถึงบริเวณท่าเตียนปัจจุบัน
สามารถแบ่งพัฒนาการของพื้นที่ออกได้ทั้งหมด 5 ช่วง ตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของหน้าที่ใช้งาน (บริษัท โบรันดี จำกัด 2559) ได้ดังนี้
1. ที่ตั้งวังคลังเก่า (รัชกาลที่ 1-2)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ย้ายชุมชนจีนและญวณที่ตั้งชุมชนอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้้าเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยธนบุรีไปยังบริเวณอื่น และได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นในพื้นที่เหล่านี้แล้วนั้น ยังพระราชทานพื้นที่บริเวณด้านหลังพระบรมมหาราชวังให้เป็นที่พักสำหรับเสนาบดีข้าราชการต่างๆ เพื่อช่วยดูแลรักษาพระบรมมหาราชวัง อันได้แก่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค สันนิษฐานว่าเคยตั้งอยู่บริเวณวิหารพระนอน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในปัจจุบัน รวมถึงโปรดฯ ให้สร้างกำแพงและป้อมปราการต่างๆ รอบพระนคร โดยแนวกำแพงพระนครฝั่งตะวันตกจะขนานไปตามแนวถนนมหาราชจนถึงถนนพระอาทิตย์ นอกจากนี้ ได้พระราชทานที่ดินบริเวณริมแม่น้้าใต้ตำหนักแพ (ท่าราชวรดิษฐ์) ให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (ต้นราชสกุล มนตรีกุล) เพื่อสร้างวังเรียก “วังคลังเก่า” ปัจจุบันคือบริเวณพื้นที่โครงการฯ หรือสโมสรข้าราชบริพารปัจจุบัน
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้ขอเวนคืนพื้นที่ท้ายวังและได้ขยายพระบรมมหาราชวังออกไปทางด้านทิศใต้เกือบถึงเขตวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม เนื่องจากเขตพระราชฐานชั้นในมีเนื้อที่ค่อนข้างคับแคบและมีผู้คนอยู่จำนวนมาก เพราะตามกฎมณเฑียรบาลได้ก้าหนดไว้ว่าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ จะออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวังไม่ได้ แต่พระชนนีหรือเจ้าจอมมารดาของพระราชโอรสจะมีสิทธิ์ขอพระบรมราชานุญาตออกมาประทับนอกวังกับพระราชโอรสได้ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2352 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระบรมมหาราชวังออกไปด้านทิศใต้ เพื่อปลูกตำหนักเพิ่มเติม ซึ่งบริเวณที่ขยายออกไปนั้นเดิมเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนเสนาบดีจนจรดเขตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในช่วงรัชกาลที่ 1 รวมถึงสร้างถนนท้ายวังเพื่อแบ่งเขตวัดกับพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงต่อจากแนวกำแพงเดิมและสร้างป้อมขึ้นใหม่ที่มุมกำแพง และระหว่างกลางกำแพง รวมทั้งรื้อประตูของเดิมและสร้างขึ้นใหม่อีกหลายแห่ง อันได้แก่ ป้อมมณีปราการ(ใหม่) และป้อมภูผาสุทัศน์ ทั้งนี้ เป็นขณะเดียวกับที่เกิดเพลิงไหม้ตำหนักวังคลังสินค้า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ซึ่งต่อมาสันนิษฐานว่าได้พระราชทานพื้นที่วังคลังเก่าแก่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเศวตฉัตร กรมหมื่นสุรินทรารักษ์ โดยพระองค์อาจสร้างตำหนักประทับชั่วคราวในพื้นที่วังคลังสินค้าที่ถูกเพลิงไหม้มาก่อน แล้วย้ายไปประทับ ณ วังท่าเตียนภายหลัง
ที่ตั้งของ “วังท่าเตียน” อยู่บริเวณถัดลงมาทางด้านใต้ของวังคลังสินค้า (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณชุมชนท่าเตียนปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานวังท่าเตียนแก่พระองค์เจ้าเศวตฉัตร กรมหมื่นสุรินทรารักษ์ ซึ่งย้ายมาจากวังคลังเก่า อาจเนื่องด้วยว่าวังท่าเตียนมีอาคารตำหนักที่พร้อมมากกว่า (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2513 : 22-23)
2. สร้างโรงวิเสทและคลังสินค้า (รัชกาลที่ 3-4)
เมื่อเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นบริเวณวังคลังเก่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงได้ยกพื้นที่บริเวณดังกล่าวพระราชทานแก่พระองค์เจ้าเศวตฉัตร กรมหมื่นสุรินทรารักษ์ ซึ่งน่าจะมีการปลูกตำหนักชั่วคราวไว้ก่อนในบริเวณพื้นที่เพลิงไหม้ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ที่ประทับอยู่วังท่าเตียนได้เสด็จย้ายไปประทับที่วังสวนมังคุดฝั่งธนบุรีแทนในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ดังนั้น จึงพระราชทานวังท่าเตียนให้พระองค์เจ้าเศวตฉัตร กรมหมื่นสุรินทรารักษ์ประทับแทนวังคลังเก่า ซึ่งในช่วงระหว่างนี้เองที่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มมีการสร้างอาคารโรงวิเสทและคลังสินค้าในพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้แล้ว หากพิจารณาลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารคลังราชการปัจจุบันบางส่วน พบว่าเป็นอาคารทรงตึกก่ออิฐถือปูน มีเสาพาไลเป็นตัวรับน้้าหนักโครงสร้างส่วนบน หน้าบันก่อด้วยอิฐถือปูน และหลังคามีการสร้างจั่นหับ(คล้ายกันสาด) ยื่นออกมาด้านหน้าอันเป็นลักษณะนิยมของอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจีน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างอาคารตำหนัก ป้อมปราการ และกำแพงพระนครที่เป็นเครื่องไม้ ให้กลายเป็นเครื่องก่ออิฐถือปูน รวมถึงมีการจารึกชื่อป้อมต่างๆ รอบพระนครด้วย (ก่องแก้ว วีระประจักษ์, 2530 : 123-125) ทั้งนี้ ได้ปรากฏอาคารคลังสินค้าทั้ง 4 หลังบนแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 รวมถึงอาคารอื่นๆ ในพื้นที่โครงการด้วย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2400 ได้เกิดเพลิงไหม้บริเวณท่าเตียน แต่ขอบเขตพื้นที่เกิดเหตุไม่ถึงที่ตั้งของคลังสินค้า ต่างจากพื้นที่บริเวณสะพานฉนวนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ที่ถูกเพลิงไหม้จนกลายเป็นที่โล่งเตียน หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลชำระความต่างประเทศ รวมถึงตึกที่พักข้าราชการ และตลาดโรงร้านต่างๆ จนเต็มพื้นที่ ในส่วนพื้นที่ใกล้เคียงคลังสินค้าและโรงวิเสท โปรดฯ ให้สร้างตึกหลวงรับราชทูตจำนวน 3 หลัง ริมแม่น้้าเจ้าพระยาทางด้านทิศเหนือของศาลต่างประเทศ
3. ถมเขื่อนแม่น้้าเจ้าพระยาและขยายถนนมหาราช (พ.ศ. 2440 – 2471)รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เริ่มรื้อวังต่างๆ ออกเพื่อใช้พื้นที่สร้างสถานที่ราชการ อันได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) โรงสกูลสุนันทาลัย สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง ศาลต่างประเทศ ตึกหลวงรับราชทูต เป็นต้น ประกอบกับได้รื้อป้อมมหาฤกษ์และกำแพงพระนครบางส่วนออกเพื่อสร้างเป็นถนนมหาราช ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าในช่วงนี้เองที่น่าจะมีการปรับรื้อพื้นที่บริเวณโรงวิเสทและคลังสินค้าบางส่วน
ในช่วง พ.ศ. 2440 มีแนวพระราชดำริที่จะทำสนามตั้งแต่บริเวณท่าพระจนถึงท่าเตียน โดยพื้นที่ส้าคัญคือบริเวณตำหนักแพหรือท่าราชวรดิษฐ์ปัจจุบัน ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มเป็นที่แรก โดยจำเป็นต้องรื้ออาคารบางส่วนออก สันนิษฐานว่าโรงครัวทหารมหาดเล็กน่าจะเป็นอาคารโรงวิเสทที่น่าจะตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการฯ นอกจากนี้ การสร้างถนนและทำสนามนั้นจ้าเป็นที่จะต้องท้าพร้อมการสร้างแนวเขื่อนริมแม่น้้าด้วย จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงระยะเวลานี้น่าจะเริ่มมีการถมเขื่อนเพิ่มพื้นที่ออกไปทางแม่น้้าเจ้าพระยาตั้งแต่ท่าราชวรดิษฐ์จนถึงพื้นที่คลังราชการ ปรากฎให้เห็นบนแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 หากเทียบกับแผนที่ฉบับ พ.ศ. 2430 ก็จะเห็นว่าอาคารตำหนักต่างๆ บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ถูกรื้อออก และแนวตลิ่งแม่น้้าถูกถมออกไป รวมถึงเมื่อเทียบกับแผนที่ฉบับ พ.ศ. 2447 ก็อาจเป็นไปได้ว่าพื้นที่บริเวณคลังราชการน่าจะถูกถมเขื่อนในช่วง พ.ศ. 2447-2450 นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารจดหมายเหตุที่กล่าวถึงลักษณะดินของพื้นที่บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ว่าเป็นพื้นที่ชายเลนซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการถมดิน(เขื่อน) ให้เสมอกับพื้นดินบนฝั่งก่อนที่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ดังกล่าวว่า
“...พระที่นั่งต่างๆ ในบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นล้าดับมาตามอายุกาล จนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงเสียสองพระที่นั่ง คือพระที่นั่งชลังคพิมาน แลพระที่นั่งสถานเทพสถิตย์ ยังคงเหลืออยู่แต่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยซึ่งกระทรวงทหารเรือได้คอยซ่อมแซมอยู่เท่าที่ควรจะเป็นไปได้ แต่พระที่นั่งองค์นี้ชั้นเดิมได้สร้างขึ้นบนชายเลนเป็นตำหนักแพ ครั้นก่อเขื่อนขยายที่กว้างออกมาทางลาน้า ก็ได้ถมดินลงทั่วบริเวณให้ได้ระดับเสมอหลังเขื่อน แต่ภายใต้พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยนั้นยังคงเป็นดินเลนอยู่ตามเดิม เหตุฉนั้น พระที่นั่งนี้จึงชำรุดอยู่เนืองนิตย์มีเสาผุเป็นต้น...” (ที่มา : หจช. ม ร.6 ว/23, เรื่องสร้างแลซ่อมพระที่นั่งท่าราชวรดิษฐ์, พ.ศ. 2455)
ในช่วง พ.ศ. 2446-2447 เริ่มมีการร่างสัญญาอนุญาตทำรถรางใหม่ทั้งหมด 4 สาย โดยสายที่ 2 เป็นเส้นทางที่เริ่มจากบริเวณท่าช้างวังหน้ามาทางถนนพระอาทิตย์ ผ่านถนนมหาไชย ถนนจักรเพชร์ และถนนมหาราช เลี้ยวออกนอกกำแพงพระนครตรงแยกถนนท้ายวัง เลียบถนนนอกกำแพงไปจนถึงท่าพระ ขนาดของรางรถรางนั้นเป็นทางเดียว กว้างประมาณ 1 เมตร ช่วงเวลาระหว่างนี้เป็นช่วงเดียวกับที่มีการขยายถนนมหาราช สันนิษฐานว่าการขยายถนนมหาราชนั้นน่าจะสัมพันธ์กับการก่อสร้างทางรถรางด้วย เนื่องจาก มีหลักฐานเอกสารกล่าวถึงการรื้ออาคารและป้อมปราการต่างๆ ที่จะมีการตัดถนนมหาราชผ่านและการจัดวางแนวทางรถรางใหม่บริเวณด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะบริเวณป้อมกำแพงพระนครด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ามีพระราชปรารภว่า ควรทำทางรถรางให้เข้าไปอยู่ในสนามบริเวณตั้งแต่ท่าราชวรดิษฐ์ จะได้ไม่เป็นการเกะกะบนถนนสัญจร ดังพระราชหัตถเลขาที่ว่า
“...ด้วยเรื่องรถรางริมป้อมที่เปนปัญหาอยู่นี้ ฉันพึ่งนึกได้ว่าจะแก้ง่ายนิดเดียว ป้อมก็ไม่ต้องรื้อสนามก็ไม่ต้องตัดเข้าไป ข้อที่จะตัดสนามเธอว่ามองซีเออร์โฮเตียแลตัวเธอเองไม่เห็นงาม จึงขอให้ตัดป้อม การที่จะรื้อตัดป้อมจะทำให้ไม่งามเหมือนกัน แลไม่เปิดทางกว้างออกได้เท่าใด เสียเงินเปล่า ไปนึกได้ถึงสนามโกบิงสเปลนที่ปัตเตเวีย รถรางเดินในกลางเมืองเช่นนี้ เขายอมให้แต่ผ่านถนนเข้ามาแล้วเลยเข้าไปในสนาม ทางรถรางอยู่ใต้ต้นไม้คู่ซึ่งเปนทางคนเดิน รถรางไม่มาเกะกะบนถนน ไม่เสียงามของสนาม เพราะรางรถที่ไปบนสนามก็นิดเดียว ไม่ทันเสียหายอะไรถ้ารถรางตอนนี้ให้ไปบนสนามนอกต้นมะขามได้ จะเปนสิ้นเรื่องเกะกะอะไรหมด มีก็แต่ใกล้ตำหนักแพเข้าไปหน่อย ผิดกันกับเดี๋ยวนี้ก็สัก ๓ วาเปนอย่างมาก...” (ที่มา : หจช. ม ร.5 น/323, ให้แก้ไขทางรถรางไทย ตรงมุมป้อมอินทรังสรรค์ ควรย้ายให้เดินในสนามนอกต้นมะขาม และบริษัทจะรื้อป้อมกำแพงจะขนอิฐหักกากปูน ให้กรมสุขาภิบาล, ร.ศ.124-125)
คำว่า “ทางคนเดิน” และ “บนสนามนอกต้นมะขาม” ข้างต้น น่าจะหมายถึงทรงมีพระราชดำริเห็นควรว่าควรเปลี่ยนทางรถรางให้ขึ้นอยู่บนพื้นฟุตบาทบริเวณสนามด้านนอกแนวต้นมะขาม ซึ่งปรากฎเป็นแนวเส้นทางรถรางในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 ตลอดแนวท่าช้างจนถึงท่าราชวรดิษฐ์ จนกระทั่งเมื่อถึงบริเวณพื้นที่คลังราชการและป้อมสัตตบรรพตอันเป็นที่ตั้งของพื้นที่โครงการฯ พบว่าทางรถรางไม่สามารถตัดไปตามทางสนามดังเช่นท่าราชวรดิษฐ์ได้เนื่องจากติดอาคารคลังหลวงและบ้านข้าราชการต่างประเทศ อาจจะต้องมีการรื้อตึกหลายหลังออก ดังนั้น จึงจำต้องท้าทางรถรางให้หักเลี้ยวลงสู่ถนนแทน ดังคำกราบทูลของมองซีเออร์ มาโฮเตียร์ ในเอกสารจดหมายเหตุที่มีความว่า
“...แต่ที่ตรงระหว่างท่าตำหนักแพและท่าเตียนนั้น ทางรางรถนั้นจะไม่ต้องวางให้เสมอเป็นแนวกับถนนดังแบบวิธีนั้น เพราะว่ามีการเกี่ยวที่จะต้องรื้อตึกคลังหลวงนั้นลงหลายหลัง...” (ที่มา : หจช. ม ร.5 น/323, ให้แก้ไขทางรถรางไทย ตรงมุมป้อมอินทรังสรรค์ ควรย้ายให้เดินในสนามนอกต้นมะขาม และบริษัทจะรื้อป้อมกำแพงจะขนอิฐหักกากปูน ให้กรมสุขาภิบาล, ร.ศ.124-125)
ในปี พ.ศ. 2447 โปรดเกล้าฯ ให้แก้แนวถนนมหาราชบริเวณตั้งแต่ท่าพระจนถึงท่าเตียนใหม่ โดยขยายให้กว้างขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะบริเวณคลังสินค้าและท้ายวังที่เป็นที่ตั้งของบรรดาบ้านพักข้าราชการต่างประเทศ ที่ทำให้การทำถนนต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวเนื่องจากต้องรอโยกย้ายแลกเปลี่ยนหาที่พักใหม่ให้แก่ข้าราชการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พบว่ามีพระบรมราชานุญาตให้มีการรื้อป้อมและคลังสินค้าบางส่วนออกพร้อมกันเพื่อเป็นทางสำหรับให้รถรางสัญจรได้สะดวก รวมไปถึงถนนมหาราชบริเวณนี้จะได้ไม่ต้องมีความคดเคี้ยวมากเกินไป ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะทำการรื้อหลังย้ายที่พักข้าราชการชาวต่างประเทศไปยังพื้นที่อื่นเพื่อให้สะดวกต่อการขยายถนนมากขึ้น ทั้งนี้ มีการร่นถนนบริเวณพื้นที่นี้จากเดิมกว้างประมาณ 14 เมตร ให้เหลือเพียง 10 เมตร โดยมีทางเดินเท้าหรือฟุตบาทต่างหากด้วย ซึ่งน่าจะเริ่มทำการรื้อในช่วงปี พ.ศ. 2453 รวมถึงขยายถนนมหาราชและทำฟุตบาทในช่วงเวลาต่อมา ตามรายละเอียดในเอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับรายการค่าใช้จ่ายส้าหรับรื้อป้อมปราการบนกำแพงพระนครด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง ดังนั้น จะมีตึกคลังสินค้าจ้านวน 3 หลัง ในพื้นที่โครงการฯ ที่ถูกรื้อออกไปในช่วงปี พ.ศ. 2453 ซึ่งมีเอกสารจดหมายเหตุได้กล่าวถึงลักษณะรูปแบบของตึกคลังสินค้าทั้งสามหลังไว้ใน “บาญชีรายกะประมาณค่ารื้อค่าตึกแลรื้อป้อมสัตตบรรพตแลต่อกำแพงใหม่ริมคลังราชการ” (หจช. ร.5 น46.1/114, รื้อป้อมสัตตบรรพตและคลังราชการเพื่อสร้างทางรถราง, พ.ศ. 2447)
4. ปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานของกรมวังนอก (พ.ศ. 2471-2500)
หลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่โดยรอบคลังราชการในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-6 แล้วนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีการใช้งานตึกคลังราชการมาอย่างต่อเนื่องในฐานะเป็นตึกเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การใช้งานของตึกต่างๆ ในเขตพื้นที่คลังราชการ ให้กลายเป็นที่ทำการของกรมวังนอก ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ราว พ.ศ. 2471 ดังปรากฎหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุรหัส ม ร.7 ว/5 เรื่อง “ซ่อมและแก้ไขกรมคลังราชการใช้เป็นที่ทำการของกรมวังนอก” มีใจความดังนี้
“...มีจดหมายไปที่กรมพระคลังข้างที่ขอให้จัดการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเงินค่าซ่อมแซมและแก้ไขดัดแปลงกรมคลังราชการที่ว่างเปล่าอยู่ สาหรับใช้เป็นที่ทำการแผนกต่างๆ ของกรมวังนอก รวมเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นการจรพิเศษ...”
และยังมีการอธิบายเกี่ยวกับสภาพพื้นที่รวมถึงหน้าที่การใช้งานของตึกคลังราชการในช่วงสมัยก่อนหน้าไว้อีกว่า
“...ด้วยสถานที่บริเวณกรมคลังราชการที่ว่างเปล่าอยู่ ในหน้าที่ราชการกระทรวงวังคิดจะให้เป็นที่ทำการของศุขาวัง ที่ทำการแผนกน้้าและไฟฟ้ากรมวังนอก แลเป็นที่เก็บชั้นแว่นฟ้า หีบโกศ เก็บสิ่งของเครื่องใช้ในการพระราชพิธี แลเก็บม่านเครื่องผ้าต่างๆ ที่ไว้ใช้ในราชการ แลจัดการแก้ไขเก็บเรือที่ขึ้นคานเรือเพื่อส้าหรับซ่อมเรือยนตร์ของกรมยานยนตร์หลวง กับจัดการรื้อย้ายเรือนแถวมาเพิ่มเติมปลูกในบริเวณที่นั้น จาต้องจัดการซ่อมแซมแก้ไขเปลี่ยนแปลงตึกของเดิมให้เหมาะสาหรับเป็นที่ทำการดังกล่าว...” ( หจช. ม ร.7 ว/5, ซ่อมและแก้ไขกรมคลังราชการใช้เป็นที่ทำการของกรมวังนอก, พ.ศ. 2471)
จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในช่วง พ.ศ. 2471 ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ครั้งใหญ่ภายในพื้นที่คลังราชการ ซึ่งเป็นการปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นที่ทำการของกรมวังนอก รวมถึงปลูกสร้างอาคารอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อใช้ส้าหรับเป็นที่เก็บของรวมถึงพาหนะต่างๆ ของราชการด้วย นอกจากนี้ ยังมีการซ่อมแซมอาคารโรงสูบน้้าซึ่งเป็นอาคารที่สูบน้้าจากแม่น้้าเจ้าพระยาเข้าไปใช้ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับโรงสูบน้้าท่าราชวรดิษฐ์ (ปัจจุบันรื้อแล้ว) ซึ่งมีเอกสารในช่วงเวลาเดียวกันที่กล่าวถึงการแก้ไขซ่อมแซมโรงสูบน้้าไว้ดังนี้
“...ด้วยเจ้าหน้าที่รายงานว่า ถังน้้าที่โรงสูบน้้าข้างคลังราชการแห่ง ๑ และที่โรงสูบน้้าทางพระราชวังดุสิตอีก ๒ แห่ง รวมทั้ง ๓ แห่งนี้ ชำรุดมากขังน้้าไม่อยู่ และเครื่องประกอบอย่างอื่นก็ผุชำรุดไปทั้งเครื่องก็เดินไม่สดวก จ้าเป็นจะต้องปรับเครื่องแก้ไขซ่อมแซมสิ่งชำรุดให้ดีขึ้น...” (ที่มา : หจช. ม ร.7 ว/5, เรื่องซ่อมโรงสูบน้้า (พร้อมทั้งถังและเครื่องสูบ) ริมกรมคลังราชการ, พ.ศ. 2471)
ในช่วงเวลานี้เองที่น่าจะมีการสร้างอาคารโรงสูบน้้าถาวรขึ้น รวมถึงแท๊งก์น้ำด้านหน้าอาคาร ที่มีลักษณะเป็นแท็งก์ขนาดใหญ่ รองรับด้วยโครงสร้างเหล็ก โดยปรากฏผังอาคารโรงสูบน้้าบนแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับ พ.ศ. 2475 และ 2484 แล้ว ลักษณะของเครื่องจักรและท่อของโรงสูบน้้านั้นเหมือนกับเครื่องจักรสูบน้้าที่ใช้ในโรงสูบน้้าสามเสนตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 โดยผลิตมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีสายพานชักรอกที่มีเสารองรับอยู่ ไว้หมุนเครื่องจักร ส้าหรับแทงก์น้้าที่ตั้งอยู่นอกอาคารนั้น เปรียบเสมือนแทงก์ไว้ส้าหรับรองรับน้้าที่สูบขึ้นมาจากแม่น้้าก่อนที่จะถูกสูบเข้าไปตามท่อตามกลไกเครื่องสูบต่อไป เรียก “Water Hammer” นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนที่กรุงเทพฉบับ พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2484 มีความเปลี่ยนแปลงบริเวณทางเดินเท้าหรือฟุตบาทริมถนนมหาราชฝั่งพื้นที่โครงการเกิดขึ้น กล่าวคือแผนที่ พ.ศ. 2475 มีการทำฟุตบาทตั้งแต่ท่าช้างลงมาจนสิ้นสุดถึงบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ซึ่งอยู่ด้านใต้ แต่ในแผนที่ พ.ศ. 2484 พบว่าได้มีการทำแนวฟุตบาทต่อจากจุดสิ้นสุดในแผนที่ พ.ศ. 2475 ลงมาทางด้านใต้ต่อเนื่องจนสุดพื้นที่ท่าเตียน ดังนั้น เป็นไปได้ว่าในช่วงนี้สภาพตึกคลังราชการทั้ง 4 หลัง รวมถึงอาคารโรงสูบน้้าอาจได้รับการเปลี่ยนแปลงรูปทรงไปจากเดิมก็เป็นได้ ทั้งนี้ อาจเนื่องด้วยมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางรถรางให้จราจรเป็นทางตรงสะดวกมากยิ่งขึ้น
5. ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของสโมสรข้าราชบริพาร กับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน (พ.ศ. 2500 - ปัจจุบัน)
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนหน้าที่ใช้งานจากสำนักงานกรมวังนอกมาเป็นพื้นที่ของสโมสรข้าราชบริพาร โดยสันนิษฐานว่าในช่วงนี้เองที่เริ่มมีการสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกหลายหลังจนเต็มพื้นที่ ได้แก่ อาคารแฟลต 4 ชั้น ส้าหรับเป็นที่อยู่ของเจ้าหน้าที่และข้าราชบริพารที่ปฏิบัติงานในพระบรมมหาราชวัง และอาคารห้องประชุมส้าหรับจัดงานเลี้ยงรับรองริมแม่น้้าเจ้าพระยาด้วย จนกระทั่งต่อมาในช่วง พ.ศ. 2548 กรมศิลปากรได้มีการประกาศพื้นที่บริเวณสโมสรข้าราชบริพารให้เป็นเขตพื้นที่โบราณสถาน มาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2548 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 126ง, 7 พ.ย. 2548 : 12) นอกจากนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เคยดูแลอาคารโรงสูบน้้าในพื้นที่อาคารคลังราชการนั้น ได้กล่าวว่า แต่เดิมมีเครื่องสูบน้้าจ้านวน 2 เครื่อง แต่ในช่วงหลังได้น้าอีกเครื่องหนึ่งออกและปรับพื้นด้านในอาคารใหม่ เหลือไว้เพียงเครื่องจักรตัวเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ จากการเทียบภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นไปแล้วนั้น ทำให้เห็นพัฒนาการพื้นที่ซึ่งแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของอาคารคลังราชการแต่ละหลังได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในช่วงสมัยปัจจุบันได้ด้วย โดยจะเห็นว่าใน พ.ศ. 2551 อาคารหมายเลข 3 น่าจะได้รับการบูรณะ ซึ่งสังเกตได้จากการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องไอยราดังปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาของอาคารหมายเลข 4 ที่เป็นอาคารไม้สองชั้นด้วยเช่นกัน จนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2559) ได้มีการรื้ออาคารแฟลต 4 ชั้น และห้องประชุม รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในพื้นที่ด้านหน้าของอาคาคลังราชการออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ เหลือไว้เพียงอาคารคลังราชการ 4 หลัง และอาคารโรงสูบน้้าอีก 1 หลัง เท่านั้น
จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่บริเวณโครงการนั้น มีประวัติศาสตร์มายาวนานนับตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ริมแม่น้้าเจ้าพระยาใกล้กับพระบรมมหาราชวังอันเป็นศูนย์กลางการปกครอง ดังนั้น จึงง่ายต่อการขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้คนในสมัยนั้น อีกทั้งโดยรอบก็เป็นแหล่งค้าขายทั้งตลาดบกและตลาดน้้า โดยเฉพาะตลาดท่าเตียนและตลาดท้ายสนม จึงน่าจะเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ เลือกให้สร้างอาคารโรงวิเสทและคลังสินค้าขึ้นบนพื้นที่นี้ จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการปรับพื้นที่โดยรอบไม่ว่าจะเป็นการถมแม่น้้าสร้างแนวเขื่อนตั้งแต่ท่าราชวรดิษฐ์จนถึงท่าเตียน การขยายถนนมหาราช และการสร้างทางรถราง ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่โครงการด้วย อันจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของตัวอาคารและการต่อเติมอาคารหลังอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นบนแผนที่โบราณฉบับต่างๆ โดยตัวอาคารนั้นน่าจะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ราวก่อน พ.ศ. 2447 และอาจได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมในช่วง พ.ศ. 2447 สำหรับใช้เป็นสำนักงานของกรมวังนอก จนถึง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งในนามพื้นที่ “สโมสรข้าราชบริพาร” ที่เริ่มมีการสร้างอาคารตึก 4 ชั้น และห้องประชุม รวมถึงตึกต่างๆ เพิ่มเติมในพื้นที่
จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เกี่ยวกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติและกระทรวงวังของสมเด็จฯ กรมพระยาด้ารงราชานุภาพในเรื่อง “สิบสองท้องพระคลัง” นั้น พบว่าคลังในสมัยรัตนโกสินทร์มีมากกว่า 12 แห่ง แต่ละแห่งมีหน้าที่คล้ายคลึงกันคือ เป็นคลังส้าหรับเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของพระบรมมหาราชวัง รวมถึงสิ่งของในพระราชพิธีต่างๆ ด้วย ต่างกันเพียงชนิดประเภทสิ่งของที่เก็บไว้แต่ละคลังเท่านั้น
สิบสองท้องพระคลัง เป็นสถานที่จัดเก็บพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เดิมสันนิษฐานว่ามีจ้านวน 12 แห่ง โดยแยกเก็บพระราชทรัพย์และวัสดุสิ่งของชนิดต่างๆ ไว้ในแต่ละพระคลัง แต่เดิมมีเสนาบดีกรมพระคลังทำหน้าที่เป็นพนักงานรับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ ซึ่งในสมัยอยุธยาพบหลักฐานว่ามีจำนวนพระคลังที่ขึ้นตรงกับกรมพระคลังมหาสมบัติทั้งสิ้น 12 แห่ง ได้แก่ พระคลังมหาสมบัติ พระคลังใหญ่ พระคลังเดิมเก่า พระคลังเดิมกลาง พระคลังสวน พระคลังในซ้าย พระคลังในขวา พระคลังวิเศษ พระคลังศุภรัต พระคลังสินค้า พระคลังป่าจาก และพระคลังวังไซ จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบว่ามีจ้านวนพระคลังในพระราชวังหลวงมากกว่า 12 แห่ง อันได้แก่ พระคลังมหาสมบัติ พระคลังสินค้า พระคลังวิเศษ พระคลังในซ้าย พระคลังในขวา พระคลังราชการ6 พระคลังศุภรัต พระคลังสวน พระคลังพิมานอากาศ พระคลังป่าจาก พระคลังวังไชย พระคลังทอง พระคลังเสื้อหมวก พระคลังวรอาสน์ พระคลังแสงสรรพยุทธ และพระคลังข้างใน
การดำเนินงานทางโบราณคดีปี 2549 (บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด 2549)
ในปี 2549 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของพื้นที่กรมการค้าภายใน (เดิม) ได้มอบหมายให้บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการทางโบราณคดีในบริเวณองค์การคลังสินค้าของกรมการค้าภายใน ท่าเตียน เพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนนาคราภิรมย์
การขุดค้นในของกรมการค้าภายใน (เดิม) ที่ติดกับท่าเตียน โดยในตำนานวังเก่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2513) พระนิพนธ์ว่าบริเวณนี้เคยเป็นวังคลังเก่าของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพิทักษ์มนตรี สมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 ต่อมาวังนี้ไฟไหม้หมด และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพิทักษ์มนตรีเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิมแทน พื้นที่นี้ต่อมาสร้างโรงวิเสทและคลังสินค้าในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ตั้งของตึกหลวงราชทูตในสมัยรัชกาลที่ 4 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นอาคารที่พักของพลเรือโทพระยาชลยุทธโยธิน และโรงโม่หิน ก่อนมีการรื้อแล้วสร้างอาคารกรมการค้าภายในสมัยรัชกาลที่ 8 (พ.ศ.2485) ก่อนที่จะถูกรื้อถอนเพื่อทำงานขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อปรับปรุงเป็นสวนนาคราภิรมย์
จากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้พบหลักฐานที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์พื้นที่ ดังนี้
1. กลุ่มแนวอิฐที่ก่อเป็นทางระบายน้ำ
กลุ่มของแนวสิ่งก่อสร้างก่ออิฐ
ถือปูน สันนิษฐานว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ได้แก่
รางระบายน้ำ และบ่อน้ำ รางระบายน้ำที่พบก่ออิฐเป็นแนวยาว
ด้านบนปิดด้วยกระเบื้องดินเผาด้านใต้มีคานก่ออิฐรองรับ
และใช้ไม้ซีกรองรับด้านล่างอีกชั้นหนึ่ง ส่วนบ่อน้ำก่อด้วยอิฐ
มีเส้นผ่าศูนย์กลางด้านนอกสุด
54 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านพักของพลเรือโทพระยาชลยุทธโยธิน
ในสมัยรัชกาลที่ 5
2. กลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐ
เนื่องจากการขุดค้นทางโบราณคดีสามารถขุดค้นได้เพียง 3 หลุมขุดค้นในแนวยาว (trench) และพื้นที่บริเวณนี้มีสิ่งก่อสร้างหลายยุคสมัยซ้อนทับกันไปมาทำให้ยากต่อการสันนิษฐาน เมื่อการขุดค้นทางโบราณคดีเสร็จสิ้นได้พบกลุ่มของสิ่งก่อสร้างก่ออิฐถือปูนซ้อนทับกันไปมา สันนิษฐานได้เพียงบางส่วนเป็นอาคารของโรงโม่หิน และอาคารขนาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 - 7
การดำเนินงานทางโบราณคดีปี 2559 (บริษัท โบรันดี จำกัด 2559)
ในปี 2549 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของพื้นที่สโมสรข้าราชบริพาร ได้มอบหมายให้บริษัท โบรันดี จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการทางโบราณคดีในสโมสรข้าราชบริพาร ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับกรมการค้าภายใน (เดิม) ด้านทิศเหนือ เพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นลานจอดรถ
การขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่สโมสรข้าราชบริพารที่ประกอบไปด้วยโบราณสถานอาคารคลังราชการและโรงสูบน้ำทั้งหมด 5 หลัง ทำให้สามารถสรุปพัฒนาการของพื้นที่ดำเนินงานออกได้เป็น 4 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1 (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 24; รัชกาลที่ 1-2)
สมัยเป็นที่ตั้งของวังคลังสินค้าหรือวังคลังเก่า ช่วงรัชกาลที่ 1-2 โดยปรากฏหลักฐานสิ่งปลูกสร้างเดิมก่อนที่จะมีการสร้างเป็นพื้นที่อาคารคลังราชการในสมัยรัชกาลที่ 3 อันได้แก่ แนวกำแพงที่ประดับลวดบัวปูนปั้น แนวฐานอาคารที่พบด้านหน้าโรงสูบน้ำ และทางเดินอิฐ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าฐานรากของโบราณสถานกลุ่มอาคารคลังราชการ จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นกลุ่มโบราณสถานที่ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้าอาคารคลังราชการทั้ง 4 หลัง
สมัยที่ 2 (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24; รัชกาลที่ 3-4)
สมัยแรกสร้างอาคารคลังราชการช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 อันปรากฏหลักฐานโบราณสถานต่างๆ ได้แก่ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคารคลังราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารหมายเลข 1-2 ซึ่งยังคงสภาพเดิมมากที่สุด อีกทั้งกลุ่มพื้นอาคารที่ปูด้วยอิฐก้อนใหญ่ และแนวฐานรากของผนังอาคารต่างๆ ที่พบจากการขุดค้น
สมัยที่ 3 (ราวพุทธศตวรรษที่ 24-25; รัชกาลที่ 5-8)
เป็นช่วงที่เริ่มมีการปรับลักษณะการใช้งานในพื้นที่อาคารคลังราชการบางส่วน จนถึงเกือบทั้งหมด กาหนดได้ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-8 โดยเริ่มจากการที่มีการปรับพื้นที่โดยการถมแนวเขื่อนลงไปในแม่น้าเจ้าพระยาให้ยาวออกไปเพิ่มเติม ที่มีการสร้างทางเดินอิฐรูปแบบก้างปลา รวมถึงปรับปรุงพื้นในอาคารคลังราชการทั้งหมดเป็นพื้นอิฐเรียงแบบก้างปลาด้วย อีกทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารอย่างเต็มรูปแบบในอาคารคลังราชการหมายเลข 4 เป็นอาคารสองชั้นเพื่อใช้เป็นสานักงานรับจ่าย จนกระทั่งได้มีการขยายถนนมหาราชรวมถึงทางรถรางในช่วงปลายรัชกาลที่ 5-6 ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารคลังราชการ (สังเกตได้จากแนวผนังอาคารที่พบบริเวณหลุมฟุตบาท) รวมถึงอาคารโรงสูบน้าที่ถูกปรับและซ่อมแซมใหม่ หลักฐานโบราณสถานที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยนี้ คือ กลุ่มพื้นอาคารที่ปูด้วยอิฐรูปแบบก้างปลาและแบบเฉียงที่พบในอาคารคลังราชการทั้ง 4 หลัง
สมัยที่ 4 (ราว พ.ศ. 2500 – ปัจจุบัน)
เป็นช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่บริเวณคลังราชการสำหรับเป็นสโมสรข้าราชบริพาร ซึ่งเริ่มมีการสร้างอาคารตึกหลายชั้นขึ้น และอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเพิ่มเติมอีกหลายหลัง หลักฐานโบราณสถานที่พบว่าเป็นส่วนของอาคารสโมสรข้าราชบริพารนั้นคือ กลุ่มเสาคอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัวไอ (I) ที่ปรากฎเรียงกันในบริเวณพื้นที่สนามริมแม่น้าเจ้าพระยา และพื้นคอนกรีตในอาคารคลังราชการปัจจุบัน รวมถึงหลักฐานวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น เศษปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น เป็นต้น
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.
กรมศิลปากร. "กรมการค้าภายใน (เดิม)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/
ก่องแก้ว วีระประจักษ์. จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2530.
บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด. โครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและพัฒนาพื้นที่บริเวณกรมการค้าภายใน (เดิม) ท่าเตียน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร. เอกสารอัดสำเนา, 2549.
บริษัท โบรันดี จำกัด. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดี โครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง พื้นที่คลังราชการ ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2559 (BKK TT’16). เสนอต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษตริย์. เอกสารอัดสำเนา, 2559.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2521.
พิพัฒน์ พงศ์รพีพร. ภาพมุมกว้างของกรุงเทพพระมหานครในสมัยรัชกาลที่ 4 : การค้นพบใหม่. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544.
เมษา จีระเศรษฐ. “การศึกษาเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นบริเวณโรงเรียนราชินี เฉพาะพื้นที่ขุดค้นArea1.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.
ยิ้ม ปัณฑยางกูร. ประชุมหมายรับสั่งภาคที่ 2 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สานักนายกรัฐมนตรี, 2525.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 26 เรื่อง ตำนานวังเก่า. พระนคร : กรมศิลปากร, 2513.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. ประชุมหมายรับสั่งภาค 4 ตอนที่ 2 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จ.ศ. 1203-1205. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2536.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 126ง, 7 พ.ย. 2548 : 12
หจช. ม กร.5 ย8/20, การเกลี่ยที่ทำสนามแต่ท่าพระถึงท่าเตียน, ร.ศ. 116
หจช. ม กร.5 ยธ/23, ขยายถนนมหาราชบริเวณคลังสินค้า, พ.ศ. 2447
หจช. ม ร.5 น/323, ให้แก้ไขทางรถรางไทย ตรงมุมป้อมอินทรังสรรค์ ควรย้ายให้เดินในสนามนอกต้นมะขาม และบริษัทจะรื้อป้อมกาแพงจะขนอิฐหักกากปูนให้กรมสุขาภิบาล, ร.ศ.124-125
หจช. ม ร.6 น/61, แก้แนวถนนมหาราช, พ.ศ. 2454
หจช. ม ร.6 ว/23, เรื่องสร้างแลซ่อมพระที่นั่งท่าราชวรดิษฐ์, พ.ศ. 2455
หจช. ม ร.7 ว/5, ซ่อมและแก้ไขกรมคลังราชการใช้เป็นที่ทำการของกรมวังนอก, พ.ศ. 2471
หจช. ม ร.7 ว/5, เรื่องซ่อมโรงสูบน้ำ (พร้อมทั้งถังและเครื่องสูบ) ริมกรมคลังราชการ, พ.ศ. 2471
หจช. ร.5 น46.1/114, รื้อป้อมสัตตบรรพตและคลังราชการเพื่อสร้างทางรถราง, พ.ศ. 2447
หจช., ผจ.ร.5 น76, แผนที่การขยายถนนมหาราชช่วงคลังสินค้า, พ.ศ. 2447
G. Lister Sulcliffe. The principle and practice of Modern House-Construction. London : Blackie and Son, Ltd., 1899.