โรงเรียนราชินี


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : สุนันทาลัย

ที่ตั้ง : เลขที่ 444 ถ.มหาราช

ตำบล : พระบรมมหาราชวัง

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.742895 N, 100.493348 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูเมืองเดิม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โรงเรียนราชินีตั้งอยู่ริมถนนมหาราช ตรงข้ามกับ สน.พระบรมมหาราชวัง และมิวเซียมสยาม และตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างท่าเรือราชินี ติดกับปากคลองคูเมืองเดิมและสะพานเจริญรัช 31 หรือบริเวณปากคลองตลาด

รถเมล์: สาย 3, 6, 7ก, 9, 12, 32, 44, 47, 48, 53, 82, 524

รถไฟฟ้า: รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสอง-พุทธมณฑล สาย 4) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสนามไชย

เรือด่วนเจ้าพระยา: ลงท่าราชินี

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โรงเรียนราชินีเป็นสถานศึกษาที่เปิดการเรียยนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย 

โทรศัพท์: 0-2221-1501 โทรสาร 0-2222-6883

e-mail: @rajini.ac.th>rajiniad@rajini.ac.th@rajini.ac.th>@rajini.ac.th>

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

โรงเรียนราชินี

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 98ง วันที่ 22 กันยายน 2548

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เป็นสถานศึกษาระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โบราณสถานภายในโรงเรียนโดยเฉพาะสุนันทาลัย ได้รับการอนุรักษ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดี

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ราชินีมูลนิธิ

ผลการศึกษา :

บูรณะอาคารสุนันทาลัยโรงเรียนราชินี

ชื่อผู้ศึกษา : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ราชินีมูลนิธิ

ผลการศึกษา :

10 มิถุนายน - 10 กรกฎาคม 2550 ศึกษาวิจัยทางโบราณคดีพื้นที่โรงเรียนราชินี

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

2-4 กุมภาพันธ์ 2547 สำรวจข้อมูลโบราณสถานโรงเรียนราชินี เพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ศึกษาและตรวจสอบข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ศิลปกรรมและวัฒนธรรม บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกองโบราณคดีดำเนินการสำรวจโบราณสถานและอาคารเก่าในเขตรัตนโกสินทร์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ป้อมค่าย, พระราชวัง/วัง, สถานที่ราชการ, สถานศึกษา

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พื้นที่ภายในโรงเรียนราชินีมีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้น สามารถสืบค้นได้หลักฐานการใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนราชินีได้จากหลักฐานทางเอกสารประวัติศาสตร์ แผนที่โบราณและภาพถ่ายเก่าต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสมัยต่างๆ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2550) ดังต่อไปนี้

1. การใช้พื้นที่ก่อนเป็นโรงเรียนราชินี

     1.1 ก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 (ก่อน พ.ศ. 2367)

ในช่วงเวลานี้นับตั้งแต่เริ่มมีหลักฐานของการใช้พื้นที่บริเวณโรงเรียนราชินีเป็นป้อมบอกกอกฝั่งตะวันออก จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีการสร้างกำแพงพระนครกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งมีการสร้างป้อมมหาฤกษ์ริมกำแพงพระนคร

ในสมัยอยุธยาจากเอกสารประวัติศาสตร์ล้วนระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าจะใกล้เคียงกับที่ตั้งของป้อมบางกอกฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นป้อมปราการสำคัญของเมืองบางกอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งป้อมบางกอกนั้นเป็นป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงจ้างนายทหารเรือฝรั่งเศสชื่อ เชวาลิเอร์ เดอะ ฟอร์บัง ให้วางผังควบคุมการก่อสร้าง โดยให้อยู่ในกำกับของชาวยุโรปเชื้อสายกรีกที่ชื่อ ออกญาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์) ป้อมดังกล่าวเป็นป้อมหน้าด่านคอยตรวจตราเรือต่างๆที่เข้าสู่เมืองอยุธยารวมทั้งเป็นด่านตรวจสินค้าต่างๆที่เข้ามาและออกไปอีกด้วย

จากแผนผังป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกที่ทำขึ้นในสมัยโบราณนั้นแสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งที่ตั้งของป้อมปราการนี้น่าจะอยู่บริเวณพื้นที่ทางด้านหลังอาคารศาลาแยกธาตุ หรือใกล้กับประตูทางออกของพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) และบริเวณถนนมหาราชในปัจจุบัน เนื่องจากจากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) พบว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวพบสิ่งก่อสร้างที่น่าจะเก่าถึงสมัยพระนารายณ์มหาราช รวมถึงพบโบราณวัตถุบางชิ้นที่บ่งบอกอายุสมัยว่าเก่าถึงสมัยพระนารายณ์ และอาจจะมีแนวของป้อมปราการบางส่วนอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงเรียนราชินีใกล้กับอาคารสว่างวัฒนา สำหรับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกมีลักษณะผังเป็นแฉก 5 แฉก ทางด้านที่หันหน้าสู่ริมน้ำจะมีมุขยื่นออกมา ภายในป้อมนี้มีอาคารภายในประกอบไปด้วยโรงทหารฝรั่งเศส โรงเก็บเสบียง โรงสวด ตึกดิน นอกจากนั้นในแผนที่โบราณแสดงให้เห็นว่าบริเวณโดยรอบมีค่ายไทยที่ตั้งล้อมฝรั่งเศสรอบป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกเมื่อครั้งทหารฝรั่งเศสยึดป้อมเพื่อทำศึกสงครามกับไทยในสมัยพระเพทราชา บริเวณโดยรอบสันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นสวน ไร่นา หรือเป็นที่เป็นป่า เนื่องจากในแผนที่โบราณฉบับนี้ได้วาดไว้เป็นรูปแนวต้นไม้ทั่วบริเวณ (ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2550)

ในสมัยพระเพทราชา (พ.ศ. 2231 – 2245) มีการต่อสู้กันระหว่างทหารฝรั่งเศสและทหารสยาม และจากแผนผังของมองซิเออร์ วอลลันด์ เดส์เวอร์เกนส์ นายทหารฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในสมัยพระเพทราชานั้น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของโรงเรียนราชินีในช่วงเวลานั้นอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งของป้อมบางกอกฝั่งตะวันออก และอยู่ในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับป้อมปราการตลอดจนเหตุการณ์สู้รบกันในคราวนั้นทั้งสิ้น

จวบจนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่บริเวณนี้จึงมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบบริเวณท่าเตียน หากบริเวณในพื้นที่โรงเรียนราชินีน่าจะมีคนอยู่อาศัยเบาบาง นอกจากนั้นพบว่า ในคราวสร้างพระนครทรงดำริว่าป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกนั้นรกร้างว่างเปล่าจึงโปรดให้รื้อเสียเพื่อขยายพระนครให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และโปรดฯให้สร้างกำแพงรอบพระนครรวมทั้งสร้างป้อมปราการ ณ จุดต่างๆเป็นช่วงๆ ล้อมรอบพระนครชั้นในทั้งหมด สำหรับบริเวณพื้นที่โรงเรียนราชินีนี้ จากแผนที่โบราณทำให้ทราบว่ากำแพงรอบพระนครนั้นจะอยู่ใกล้กับบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับบริเวณทางเท้าริมถนนมหาราช และอาจจะมีกำแพงพระนครและซากของป้อมมหาฤกษ์บางส่วนอยู่ภายในเขตริมรั้วของโรงเรียนราชินีและพื้นที่ด้านในริมรั้วในปัจจุบัน รวมทั้งถนนจักรพรรดิวังหลวงหรือถนนสนามไชยหน้าโรงเรียนราชินีปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในแปดถนนดินที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้

     1.2 สมัยรัชกาลที่ 3-5 (พ.ศ. 2367-2422) (เริ่มรัชกาลที่ 3 ถึงก่อนสร้างอาคารสุนันทาลัย)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้สร้างวังเพื่อถวายเจ้านายพระองค์ต่างๆ ด้วยกันหลายพระองค์ เช่น โปรดฯให้สร้างวังท้ายวัดพระเชตุพน 5 วัง ถวายพระโอรสรวมด้วยกัน 5 พระองค์ ซึ่ง วังท้ายวัดพระเชตุพนในสมัยปัจจุบันคือที่ตั้งของกระทรวงพาณิชย์และสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนราชินีนั้นเอง

สำหรับบริเวณโรงเรียนราชินีนั้น มีการสร้างวังเพื่อถวายพระโอรสของพระองค์เช่นกัน ได้แก่ วังริมแม่น้ำเหนือและใต้ป้อมมหาฤกษ์ (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี 2550, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2513) ตำแหน่งการตั้งวังนี้ อาจเพื่อประโยชน์ในด้านยุทธศาสตร์ในการป้องกันพระนครเป็นประการสำคัญด้วย

วังทั้ง 2 ดังกล่าว วังหนึ่งอยู่ติดกับคลองคูเมืองเดิม (อยู่ทางทิศใต้ของป้อมมหาฤกษ์) เรียกว่า “วังริมแม่น้ำใต้ป้อมมหาฤกษ์” อีกวังหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของป้อมมหาฤกษ์ ติดบ้านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งต่อมา
เป็นวังริมแม่น้ำใต้วัดพระเชตุพนของกรมพระยาเดชาดิศร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานฝึกอบรมเด็กและเยาวชน) เรียกว่า “วังริมแม่น้ำ เหนือป้อมมหาฤกษ์” จากประวัติสามารถสันนิษฐานได้ว่า วังริมแม่น้ำใต้ป้อมมหาฤกษ์ สร้างขึ้นก่อนวังริมแม่น้ำเหนือป้อมมหาฤกษ์ เพราะเจ้านายที่เสด็จมาประทับที่วังเหนือ มีพระชันษาน้อยกว่าเจ้านายที่เสด็จประทับที่วังใต้ถึง 13 ปี ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละวังดังนี้

          1.2.1 วังริมแม่น้ำใต้ป้อมมหาฤกษ์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างวังนี้พระราชทานพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คือ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เสด็จอยู่ต่อมาจนสิ้นพระชนม์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นวังของ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี พระอนุชา เสด็จอยู่ต่อมาจนสิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้าในกรมประทับอยู่ต่อมา จนก่อสร้างเป็นโรงเรียนสุนันทาลัย (โรงเรียนราชินี) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายทั้งสองพระองค์มีประวัติดังนี้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าชายศิริวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ 7 ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์ที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2355 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ.2381 พระองค์เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชินีในสมัยรัชกาลที่ 4 และเป็นพระราชมาตาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2382 พระชันษา 28 พรรษา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นสมเด็จพระราชมาตาหัยกาเธอ (ตา) ของรัชกาลที่ 5 เป็นต้นราชสกุลศิริวงศ์ ณ อยุธยา นอกจากนั้น พระองค์ทรงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญในการทำช่างประดับมุก พระองค์กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ได้ทรงบังคับบัญชากรมช่างมุก ทำบานวัดพระเชตุพนและการอื่นๆ ในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายอรรณพ พระราชโอรสองค์ที่ 32 ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และเป็นองค์ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง ประสูติเมื่อ พ.ศ.2363 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราษี กำกับกรมสังฆการีและธรรมการ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2409 พระชันษา 47 พรรษา เป็นต้นราชสกุล อรรณพ ณ อยุธยา

          1.2.2 วังริมแม่น้ำเหนือป้อมมหาฤกษ์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้สร้างวังนี้พระราชทาน พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ พระราชโอรส ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วจึงพระราชทานให้เป็นวังของ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย ซึ่งได้เสด็จประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานเป็นวังของสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับเพียงระยะเวลาหนึ่ง แล้วเสด็จไปประทับที่วังริมคลองสะพานถ่าน (วังพระองค์เจ้าอุณากรรณ) พื้นที่วังนี้จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเป็นโรงเรียนสุนันทาลัย (โรงเรียนราชินี) ในสมัยรัชกาลที่ 5

เจ้านายที่ประทับในวังนี้ มีประวัติดังนี้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเฉลิมวงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 42 ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ (ธิดาเจ้าพระยานคร (น้อย))ประสูติเมื่อ พ.ศ.2368 สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2392 พระชันษา 25 พรรษา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายอมฤต พระราชโอรสองค์ที่ 45 ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาแก้ว (ธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด บุณยรัตพันธ์) ประสูติเมื่อปี พ.ศ.2367 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นกรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย ทรงกำกับกรมอักษรพิมพการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ทรงกำกับกรมหมอนวด หมอยา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2413 พระชันษา 44 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล อมฤตย์ ณ อยุธยา 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายเทวัญอุไทยวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ 42 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระปิยมาวดี ประสูติเมื่อ พ.ศ.2401 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อปี พ.ศ.2424 เลื่อนเป็นกรมหลวงฯ ปี พ.ศ.2429 ทรงเป็นราชเลขานุการ จากนั้นทรงเลื่อนขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และราชทูตพิเศษเสด็จไปยุโรป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นกรมพระเทวะวงศ์วโรปการฯ เมื่อปี พ.ศ.2454 เป็นสมุหมนตรี แล้วเลื่อนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ เมื่อปี พ.ศ.2459 เป็นมหาอำมาตย์นายก คงในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นนายกแห่งสภาการคลัง เมื่อปี พ.ศ.2465

นอกจากนี้ ทรงได้รับการชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็น “มือขวา” ของพระองค์ คู่กับ “มือซ้าย” สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2466 พระชันษา 65 พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุล เทวกุล ณ อยุธยา มีเจ้านายพี่น้องรวม 6 พระองค์ ที่สำคัญ พระขนิษฐา 3 พระได้เป็นถึงพระอัครมเหสีถึง 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ (พระอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 8-9) และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 6-7) (กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร 2549 : 34)

จากหลักฐานด้านเอกสารและภาพถ่าย สามารถสันนิษฐานลักษณะและรูปแบบของวังเหนือป้อมมหาฤกษ์และวังใต้ป้อมมหาฤกษ์ได้ กล่าวคือ วังน่าจะเป็นรูปแบบโดยทั่วไปของวังในสมัยรัชกาลที่ 1-3 คือเป็นแบบเรือนไทยหมู่ เป็นเรือนห้าห้อง สองหลังแฝด มีตำหนักใหญ่ที่เสด็จประทับหลังหนึ่ง เรือนห้าห้องหลังเดียว เป็นตำหนักน้อย ซึ่งเป็นที่ประทับของพระชายาและพระโอรสธิดาหลังหนึ่ง นอกจากนั้น ก็จะมีเรือนของข้าราชบริพารทั้งหลาย ตัวตำหนักอาจจะสร้างด้วยเครื่องไม้แก่นหลังคามุงกระเบื้อง ส่วนแผนผังวังนั้น ท้องพระโรงหันด้านยาวออกหน้าวัง ตำหนัก 3 หลังที่ประทับอยู่ รวมทั้งตำหนักน้อย หันหน้าสกัดต่อหลังท้องพระโรง มีชาลาอยู่ระหว่างกลาง และภาพถ่ายเก่าแสดงให้เห็นว่ามีชุมชนริมน้ำและชุมชนทั่วไปในแถบบริเวณพื้นที่โรงเรียนราชินี รวมทั้งแสดงให้เห็นป้อมมหาฤกษ์และวังเหนือและวังใต้ป้อมมหาฤกษ์

     1.3 สมัยรัชกาลที่ 5 (ปี พ.ศ.2423 - 2449) (เริ่มสร้างสุนันทาลัย - กำเนิดโรงเรียนราชินี)

ช่วงเวลานี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2423 เป็นต้นมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ใช้อาณาเขตของวังเหนือป้อมมหาฤกษ์และวังใต้ป้อมมหาฤกษ์ เพื่อสร้างอาคารสุนันทาลัยขึ้น 2 หลัง ได้แก่ หลังเหนือ (Royal Seminary) และหลังใต้ (ตึกนาฬิกา) เพื่ออุทิศแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เมื่อก่อสร้างเสร็จก็ได้ย้ายโรงเรียนนันทอุทยาน ซึ่งสอนภาษาอังกฤษมาตั้งที่โรงเรียนสุนันทาลัยในปี พ.ศ.2429 หลังจากนั้น พื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกใช้ประโยชน์จากทั้งทางราชการและเอกชนต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้เป็นโรงเรียนราชินีทั้งพื้นที่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2449 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายโรงเรียนราชินี จากตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์และถนนจักรเพชรมาอยู่บริเวณสุนันทาลัย จนกระทั่งปัจจุบัน

ในช่วงเวลานี้ มีการรื้อวังเจ้านายเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ออกเพื่อสร้างสุนันทาลัย คงเหลือเพียงป้อมมหาฤกษ์เท่านั้นที่ยังคงอยู่ และมีการสร้างสถานสุนันทาลัยเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ. 2423 และวังเจ้านายต่างๆ คงจะถูกรื้อถอนในคราวนี้เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นสุนันทาลัยสถาน ในขณะที่วังเจ้านายในละแวกใกล้เคียงยังไม่ได้ถูกรื้อถอนเพื่อทำการใดๆ

เมื่อมีการสร้างสุนันทาลัยแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2424 ยังไม่ได้มีการใช้งานเพื่อเป็นโรงเรียนราชินีแต่แรกเริ่ม แต่มีที่ทำการของสำนักงานหลายแห่งในพื้นที่บริเวณนี้ เอกสารเก่าในหอจดหมายเหตุแห่งชาติบันทึกเรื่องราวต่างๆสามารถสรุปได้ดังนี้

พ.ศ. 2435 สุนันทาลัยเป็นโรงเรียนผู้หญิง

พ.ศ. 2437 กรมแผนที่เริ่มทำการในสุนันทาลัย

พ.ศ. 2438 มีการทำแผนที่บริเวณสุนันทาลัยเป็นครั้งแรก ในคราวที่กระทรวงธรรมการจะให้บริษัทโรงพิมพ์เช่าที่ภายในโรงเรียนทางด้านเหนือ

พ.ศ. 2439 พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชาการ ได้กราบบังคมทูลเปิดสุนันทาลัยเป็นทานสถาน โดยทำสารกรมธรรม์พิมพ์ให้กำนันขายฉบับละเฟื้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425 เป็นต้นมา แต่สุนันทาลัยยังไม่รับผลประโยชน์นี้เลย ซึ่งขณะนี้สุนันทาลัยต้องการค่าใช้จ่ายในการต่อปีกตึกหลังใต้สุนันทาลัยออกไปเพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนนักเรียนและครู ในคราวเดียวกันนี้ยังต้องการขยายกำแพงรั้วเหล็กริมน้ำให้สนามกว้างออกไป

ในตอนนั้น สุนันทาลัยได้รับเงินจากค่าเช่าที่จากกระทรวงธรรมการ บางกอกไทม์ ค่าเช่าจากที่จอดแพริมแม่น้ำ และกรมแผนที่ทหาร เป็นรายได้หลัก พ.ศ. 2440 มีการขยายรั้วเหล็กออกไปถึงเขื่อนริมแม่น้ำแล้ว ส่วนการต่อปีกตึกไปทางใต้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทูลขอพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการขณะนั้น

ในปีเดียวกันนี้ทางสุนันทาลัยมีความเห็นที่จะใช้ตึกของห้างบีกริมเป็นกินเดอร์การ์เดนสำหรับเด็กอายุ 10 ขวบลงมา แล้วเปิดเป็นแผนกใหม่ นอกจากนี้หากโรงเรียนได้ที่ป้อมมหาฤกษ์แล้วก็คิดจะขยายโรงเรียนอีก ในปีนี้ที่มิสรอเบิร์ตสันเป็นผู้อำนวยการ และพระองค์เจ้ากิติยากรวลักษณ์เป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ ได้ให้มิสเตอร์ฮันสลีคนอังกฤษเป็นคนออกแบบแล้วส่งแบบตึกสามแบบซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงให้ความเห็นว่าหากจะสร้างตึกใหม่ก็ทำให้ดีไปเลยโดยที่พระองค์จะให้การสนับสนุน ในคราวเดียวกันนอกจากมีการซ่อมกำแพงใหม่แล้ว ยังมีการซ่อมโรงเรียนหลังตะวันออกเฉียงเหนือ และซ่อมบันไดหลังใต้ ซ่อมสะพานทางด้านใต้ที่มีคนจอดแพ

พ.ศ. 2440 เป็นปีที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับถนนทางด้านเหนือของโรงเรียน ซึ่งเดิมเป็นทางสัญจรของคนทั่วไปและเป็นทางเข้าออกของห้างบีกริม ซึ่งห้างบีกริมแอนด์คอมปานีกรุงเทพ เช่าตึก 4 หลัง และสะพาน โดยหลวงปฏิบัติราชประสงค์เช่าต่อจาก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสินิท วงษ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 จนกระทั่งกระทรวงธรรมการซึ่งขณะนั้นมีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดี กระทรวงธรรมการย้ายมาในพื้นที่สุนันทาลัยในปีพ.ศ. 2441 ก็ได้ทวงสิทธิ์ที่ดินของสุนันทาลัยด้วยการปิดทางสัญจรนี้

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ทางกระทรวงธรรมการเสนอให้นำพื้นที่ตึกของห้างบีกริมที่หมดสัญญาไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 นั้น เป็นพื้นที่เรียนของสุนันทาลัยซึ่งทำให้ไม่ต้องต่อปีกตึกหลังใต้ ทั้งนี้เมื่อสุนันทาลัยไม่มีรายได้จากการเช่าตึกของห้างบีกริมแล้ว ทางโรงเรียนยังมีรายได้จากกระทรวงธรรมการ ออฟฟิศกรมแผนที่ทหาร และค่าเช่าที่จอดแพอยู่

จากเอกสารจากจดหมายเหตุนี้ทำให้ทราบว่า ด้านหน้าตึกออฟฟิศกรมศึกษาธิการ เพิ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2440 และเดิมเป็นตึกของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (Bangkok Times) อยู่ทางด้านเหนือของโรงเรียนราชินีในปัจจุบันนั้น เคยเป็นตรอกถมด้วยอิฐหักกากปูนเข้าออกเลียบริมคลองตลาดเดินไปมาตั้งแต่ลำน้ำออกประตูช่องกุดที่คงมีมาตั้งแต่สร้างพระนครตั้งอยู่ริมเชิงสะพาน ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นอิฐตะแคง ราดปูน ทำรางน้ำที่ริมตึกและริมกำแพงที่เสริมรั้วเหล็กตามความยาวตลอดคลองถึงประตูช่องกุด และทำประตูไม้สกัดที่มุมตึกเพื่อกันที่เป็นของศาลาว่าการกระทรวงธรรมการ

พ.ศ. 2442 มีผู้คัดค้านการปิดโรงเรียนสุนันทาลัย แสดงว่าก่อนหน้านั้นมีการเสนอให้มีการปิดโรงเรียนสุนันทาลัย ในปีเดียวกันนี้ มีเอกสารจากโรงเรียนนายเรือในสวนอนันต์ซึ่งกำลังรอย้ายไปพระราชวังเดิมที่ซ่อมอยู่ โดยเห็นว่าเป็นการเสียเวลาแก่นักเรียน และสุนันทาลัยว่างอยู่ จึงขอพระราชทานอนุญาตขอยืมโรงเรียนให้เป็นที่พักนักเรียนนายเรือศึกษาชั่วคราว โดยทางกรมศึกษาธิการอนุญาตแล้ว

จากเอกสารข้างต้นทำให้ทราบว่าโรงเรียนนายเรือที่เปิดทำการที่สวนอนันต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442 มีนายนาวาโท ไซเดอลิน (Seidelin) เป็น ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ คนแรก ได้ย้ายมาที่โรงเรียนสุนันทาลัยชั่วคราวระหว่างปี พ.ศ. 2442 จนกระทั่งย้ายไปที่พระราชวังเดิมในปี พ.ศ. 2443 ในปี พ.ศ.2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ ณ พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับ วังจึงได้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี เป็นสถานที่ตั้ง โรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2443 เป็นต้นมา และได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449

พ.ศ. 2444 การตรวจสอบบัญชีของสุนันทาลัยตั้งแต่ได้รับเงินบำรุงโรงเรียนครั้งแรกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีในปี พ.ศ. 2430 พบว่ามีผลประโยชน์ของโรงเรียนที่หายไปจากการโกงของเจ้าหน้าที่บางคน ขณะนั้นโรงเรียนมีทรัพย์สมบัติดังนี้ ตึกที่เป็นโรงเรียน ตึกกระทรวงธรรมการ ตึกที่กรมแผนที่เช่าอยู่ ห้างบีกริมแอนด์โก และที่ฝั่งแม่น้ำหน้าโรงเรียนที่มีคนเช่าจอดแพ

พ.ศ. 2445 พระยาวุฒิการบดี ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ถวายรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับความไม่เจริญรุ่งเรืองของสุนันทาลัย เช่น สอนไม่ดี นักเรียนน้อยลงคือปัจจุบันเหลือนักเรียนเพียง 17 คน การปกครองภายในไม่เรียบร้อย จึงเสนอว่าควรปิดโรงเรียนระยะหนึ่ง เลิกครูผู้จัดการ และครูรองให้หมด ซ่อมโรงเรียน แล้วจัดระบบ หาครูผู้จัดการใหม่ทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปิดโรงเรียนสุนันทาลัย

พ.ศ. 2449 ขณะที่สุนันทาลัยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษอยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าพระราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ต้องการใช้ที่สุนันทาลัยจัดตั้งเป็นโรงเรียนหญิงตามเดิม คือโรงเรียนราชินี ดังนั้นในช่วงปลายปีที่สุนันทาลัยจึงกลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินีซึ่งเป็นโรงเรียนหลวง มีสมเด็จพระนางเจ้าพระราชินนีนาถเป็นผู้สนับสนุน

นับตั้งแต่สุนันทาลัยจึงได้ถือกำเนิดขึ้น อาคารหลายหลังที่ตั้งอยู่ในสุนันทาลัยนั้นเป็นสถานที่ตั้งของสถานที่ราชการตลอดจนห้างร้านที่มีความสำคัญหลายแห่งด้วยกัน คือ

ห้างบีกริม แอนด์โก เป็นห้างร้านที่นำสมัยมากในยุคนั้น มีที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังของพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับอาคารสุนันทาลัย (หอนาฬิกา)

ห้าง บี กริม แอนด์โก ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2421 โดยนายแบร์นเ ฮาร์ต กริม เภสัชกรชาวเยอรมัน กับนายแอร์วิน มึลเลอร์ พ่อค้าชาวออสเตรียน สำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่ข้างโรงแรมโอเรียลเต็ล จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2524 จึงย้ายมาอยู่ที่ปากคลองตลาด รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมาที่ห้างนี้หลายครั้ง จนกระทั่งพ.ศ. 2455 ย้ายไปอยู่ที่ตึกใหญ่ข้างประตูสามยอด ตราห้างคือตราพระปรางค์วัดอรุณ (เอนก นาวิกมูล 2541, 146-147) เป็นห้างแรกที่ปักเสาโทรศัพท์เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่ถนนเจริญกรุง และได้นำเครื่องโทรศัพท์เครื่องแรกในเมืองไทยถวายพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อ 3 มีนาคม 2420 ปรากฏว่า นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีโทรศัพท์ใช้ ในขณะที่โตเกียวเริ่มมีโทรศัพท์ใช้ เมื่อ พ.ศ. 2442 นอกจากนั้นได้นำเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขเครื่องแรกเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2447 เมื่อ ห้าง บี.กริมม์ นำผู้แทนบริษัทวิทยุโทรเลข เทเลฟุงเก็น เข้ามาตั้งเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขทดลองในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นทางราชการกองทัพเรือและกองทัพบกจึงได้นำเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขขนาดเล็ก ๆ มาใช้ราชการในเรือรบและในงานสนามเป็นต้นมา

กระทรวงธรรมการ เป็นชื่อเดิมของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กระทรวงธรรมการในระยะแรกมีหน้าที่จัดการพระศาสนา การศึกษา การพยาบาลและพิพิธภัณฑ์ มีกรมในสังกัด 5 กรมคือ กรมธรรมการกลาง กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล การพิพิธภัณฑ์ และกรมสังฆการี ที่ทำการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันนี้ได้มีการย้ายมาหลายแห่งด้วยกัน ในสมัยแรกก่อตั้งในปีพ.ศ. 2435 นั้น ที่ทำการกระทรวงธรรมการตั้งอยู่ที่ตึกริมประตูพิมานไชยศรี(ปัจจุบันเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่) มีเสนาบดีคน แรกคือ พระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) ในปีพ.ศ. 2441 ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่อาคารสุนันทาลัย ในปีพ.ศ. 2448 ได้ย้ายไปอยู่ที่ตึกสร้างใหม่ที่พระราชวังบวรฯ (ที่ตั้งโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน) นับรวมอายุที่ทำการอยู่ในสุนันทาลัย 8 ปี ต่อมาในปีพ.ศ. 2452 ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ริมปากคลองโอ่งอ่าง (ปัจจุบันเป็นที่ทำการกรมการข้าว) พ.ศ.2483 ได้ย้ายมาอยู่ที่วังจันทรเกษม จนถึงปัจจุบัน

ออฟฟิตแผนที่ เป็นหน่วยงานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นภายหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับจากต่างประเทศทางเกาะชวา แหลมมลายู และอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2416 ได้ทรงนำ นายเฮนรี่ อาละบาสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นราชทูตอังกฤษ เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ นายอะลาบัสเตอร์ได้ถวายคำแนะนำให้จัดตั้งกองทำแผนที่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2418 โดยเริ่มทำแผนที่ผังเมืองกรุงเทพฯ ต่อมานายอาละบาสเตอร์ได้ทูลขออนุมัติ ว่าจ้างนายเจมส์ นายแมคคาธี ให้รับราชการการทำแผนที่ในประเทศไทย นายแมคคาธีได้รับการบรรจุในสังกัดฝ่ายกลาโหม ทั้งนี้เพราะราชการแผนที่จะต้องทำ ในเวลานั้นอยู่ในเขตปกครองของสมุหกลาโหม พ.ศ. 2426 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนแผนที่ขึ้นในพระบรมมหาราชวังอยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อผลิตนักแผนที่ได้บ้างแล้วจึงโปรดเกล้าให้จัดตั้งกรมแผนที่ขึ้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428 มีพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาธี) เป็นเจ้ากรมคนแรกคงสังกัดอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก รักษาพระองค์ พ.ศ. 2435 กรมแผนที่ได้ย้ายไปสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วังสระปทุม ที่ซึ่งเป็นกรีฑาสถานแห่งชาติในปัจจุบัน และได้ขยายกิจการกรมแผนที่ทหารไปในมณฑลต่างๆ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2452 กรมแผนที่ได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงกลาโหมแล้วย้ายสำนักงานมาอยู่บริเวณปากคลองตลาด และต่อมาประมาณกลางปี พ.ศ. 2474 จึงย้ายมาอยู่เชิงสะพานช้างโรงสี ข้างกระทรวงกลาโหม

2. การใช้พื้นที่ภายหลังการเป็นโรงเรียนราชินี

การใช้พื้นที่ของโรงเรียนราชินีในช่วงเวลานี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 เป็นต้นมา เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายโรงเรียนราชินีจากตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์และถนนจักรเพชรมาอยู่บริเวณสุนันทาลัย จนกระทั่งปัจจุบัน

ประวัติโรงเรียนราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไดhพระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินี ที่มุมตึกอัษฎางค์ และถนนจักรเพชร ตำบลปากคลองตลาด จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2447 โดยได้ทรงจ้างครูมาจากประเทศญี่ปุ่น 3 คนได้สอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปัก และการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ครูทั้งสามคนนี้อยู่ประจำโรงเรียน คนหนึ่งชื่อ มิสยาซูอิ เททสุ (YASUI TETSU) สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เป็นอาจารย์ใหญ่ และสอนวิชาภาษาอังกฤษ คำนวณ และวิทยาศาสตร์ มิสคิโยะ โคโน่ เป็นอาจารย์รอง สอนวิชาวาดเขียน และเย็บปัก มิสโทมิ นางาจิมะ เป็นอาจารย์รอง สอนวิชาการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง อีกทั้งยังได้ทรงจัดจ้างสตรีไทยมาเป็นครูสอนภาษาไทยและการตัดเย็บเสื้อผ้าอีกคนหนึ่ง

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถได้พระราชทานโครงการศึกษาไว้คือ ให้มีความรู้ทางการช่างฝีมือขนาดสามารถประกอบอาชีพได้ ให้อ่านออกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสามารถเขียนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ มีการอบรมศีลธรรม จรรยา และมารยาท พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆในโรงเรียน ตลอดจนเงินเดือนครู นักเรียนโรงเรียนราชินีเลขประจำตัว 1 คือ คุณหญิงอนุชิตชาญชัย (อิง สวสดิ์ชูโต) บุตรี พระตำรวจเอกเจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) และคุณทรัพย์ คุณหญิงอนุชิตชาญชัย เป็นผู้เชิดชูพระเกียรติคุณของสมเด็จพระพันปี ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนเป็นอย่างดี โดยที่ได้เป็นมารดาของสตรีที่ได้รับตำแหน่งปลัดเทศบาลเป็นคนแรกของโลก คือ คุณนันทกา สุประภาตะนันทน์

ส่วนนักเรียนรุ่นแรกที่จบชั้นของโรงเรียนสมัยนั้น สอบไล่ได้ 4 คน คือ เลขประจำตัว 2 หม่อมหลวงแฉล้ม บุตรี หลวงราชดรุณรักษ์ เลขประจำตัว 7 หม่อมหลวงปก บุตรี พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เลขประจำตัว 17 นิล บุตรี หลวงจันทรามาตย์ เลขประจำตัว 35 หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ พระธิดาใน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงรับพระราชภารกิจแทนสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พระยาสุรินทราชา-นกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและให้สอนวิชาภูมิศาสตร์ในชั้นใหญ่เพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่ง

สมัยแรกโรงเรียนแบ่งเป็น 2 ภาค ในภาคเรียนที่สองของปีแรกที่ก่อตั้งนั้น โรงเรียนได้ย้ายไปอยู่ตึกริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองคูเมืองเดิมข้างเหนือ บริเวณท่าช้างวังหน้า ข้างวังมะลิวัลย์ของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ถนนพระอาทิตย์ (ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งขององค์การยูนิเซฟ) สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้หม่อมเจ้า มัณฑารพ กมลาศน์มาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนชั้นใหญ่ หม่อมเจ้าเฉลียววรรณมาลา กมลาศน์ สอนนักเรียนชั้นเล็กและให้เปิดรับนักเรียนกินนอน ในปี พ.ศ.2448

ปี พ.ศ.2449 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนราชินีได้ย้ายมาอยู่ ณ สถานที่สุนันทาลัย ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครูญี่ปุ่นทั้งสามทำการสอนอยู่จนหมดสัญญาจ้างแล้วจึงกลับประเทศของตน ขณะนั้นโรงเรียนมีนักเรียนจำนวน 105 คน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นอาจารย์พิเศษ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี - หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการแทนพระยาสุรินทราชาซึ่งกราบถวายบังคมลาไปรับราชการหัวเมือง พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี - สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้มาช่วยเหลือกิจการของโรงเรียนอยู่ด้วย เพราะพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี มีงานราชการมากไม่สามารถมาดูแลโรงเรียนได้สม่ำเสมอ

ต่อมาหม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ และหม่อมเจ้าเฉลียววรรณมาลา กมลาศน์ กราบถวายบังคมลาออกจากโรงเรียน จึงโปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นอาจารย์ใหญ่ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2450 โรงเรียนเริ่มใช้หลักสูตรของกระทรวงธรรมการตั้งแต่ครั้งนั้น แต่วิชาประดิษฐ์ดอกไม้แห้งชึ่งไม่มีในหลักสูตรยังคงจัดสอนแก่นักเรียนชั้นใหญ่ต่อไป

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินบริเวณที่ตั้งของป้อมมหาฤกษ์ที่อยู่หน้าโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนมีอาณาเขตกว้างขวางออกไป ทางโรงเรียนจึงได้จัดการรื้อป้อมออก

ปี พ.ศ.2457 ได้เปิดแผนกการช่างขึ้นอีกแผนกหนึ่ง สอนภาษาไทยถึงชั้นประถม 3 (จบระดับประถมศึกษาสมัยนั้น) สอนวิชาเย็บปักถักร้อย ทำดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง และประกอบอาหาร สอนให้มีความรู้ถึงขั้นเป็นครูได้ แต่นักเรียนส่วนมากเป็นนักเรียนในบำรุง ซึ่งไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แผนกนี้มีอันต้องยุบเลิกไปเมื่อปี พ.ศ.2470 เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ปรากฏว่านักเรียนที่สำเร็จจากแผนกการช่างนี้หลายคนได้ไปสอนการฝีมือในโรงเรียนสตรีต่างๆ ของกรมศึกษาธิการ

ปี พ.ศ.2460 โรงเรียนได้เปิดชั้นมัธยมวิสามัญขึ้นสอนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาวาดเขียน มีครูชาวต่างประเทศ ที่สำเร็จวิชาเหล่านี้มาสอนร่วมกับครูไทย และในปีนี้โรงเรียนได้รับใบรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ

ปี พ.ศ.2462 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จสวรรคต นับแต่นั้นโรงเรียนได้รับความอุปการะจากเจ้านายหลายพระองค์ ซึ่งประทานเงินบำรุงโรงเรียนบ้าง ตั้งทุนสำหรับนักเรียนที่เรียนดีบ้าง ปี พ.ศ.2465 ได้ตั้งหน่วยอนุกาชาด (ยุวกาชาด) ขึ้น ปี พ.ศ.2466 เปิดแผนกอนุบาลทารกขึ้นอีกแผนกหนึ่ง รับเด็กอายุ 3-5 ขวบ โดยไม่เก็บเงินบำรุง

ปี พ.ศ.2471 โรงเรียนแบ่งภาคเรียนเป็น 3 ภาค และปิดในวันเทศกาลต่างๆ ตามปฏิทินหลวง และให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบอย่างที่แต่งอยู่ทุกวันนี้ ชั้นเรียนมีมัธยมวิสามัญ 2 ห้อง มัธยมสามัญ 6 ห้อง ประถม 3 ห้อง เตรียมประถม 1 ห้อง รวม 12 ห้องเรียน การเรียนของมัธยมวิสามัญแบ่งเป็น 2 สาย ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ คือ แผนกภาษาและแผนกวิทยาศาสตร์

ปี พ.ศ.2472 สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงสร้างโรงเรียนราชินีบนขึ้น ได้ย้ายชั้นมัธยมวิสามัญศึกษาจากโรงเรียนราชินีไปเรียนที่โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนราชินีจึงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 เป็นชั้นสูงสุด ต่อมาได้ตั้งแผนกวิสามัญการเรือนขึ้น ซึ่งได้ยุบเลิกไปในปี พ.ศ.2486 และได้เริ่มเปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นในปี พ.ศ.2489

ปี พ.ศ.2483 สมาคมนักเรียนเก่าราชินีในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ปี พ.ศ.2484 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "ราชินีมูลนิธิ" ขึ้น มีหม่อมเจ้า พิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นผู้จัดการโรงเรียนและเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 ท่าน

ปี พ.ศ.2486 หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล อาจารย์ใหญ่ถึงชีพิตักษัย หม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่สืบต่อมา หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล เป็นผู้จัดการโรงเรียนและเป็นประธานกรรมการ "ราชินีมูลนิธิ"

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2487 - วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2488 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนได้อพยพไปทำการสอนชั่วคราวที่วัดชีโพน ตำบลแควน้อย อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้เพราะกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนในเขตชั้นในเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งกลับมาทำการสอน ณ ที่เดิม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2488 จึงได้ย้ายกลับมาทำการสอน ณ ที่เดิม นับแต่นั้นมาโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การดำเนินกิจการของโรงเรียน การสอน การวัดผลการศึกษา เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการทุกประการ

ในปี พ.ศ.2494 โรงเรียนราชินีปิดชั่วคราว เนื่องจากเกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้น เมื่อเย็นวันที่ 29 มิถุนายน มีการยิงต่อสู้กันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายปฏิวัติ ตึกนาฬิกา ตึกมัธยม ตึกประชุม ตึกอนุบาล และเรือนพยาบาลถูกกระสุนและระเบิดเสียหายเป็นอันมาก การเสียหายคราวนั้น รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยและกระทรวง ศึกษาธิการร่วมกันพิจารณาจัดการซ่อมสร้างให้ใหม่จนสำเร็จและดำเนินการเปิดเรียนได้ในเวลาต่อมา ในเวลานี้น่าจะมีการรื้อถอนอาคารสุนันทาลัย (หอนาฬิกา) และมีการสร้างอาคารเรียนใหม่หลายหลังด้วยกัน ปี พ.ศ.2512 หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ถึงชีพพิตักษัย หม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล จึงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน และประธานกรรมการ "ราชินีมูลนิธิ"

ปี พ.ศ.2516 นางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี ทำหน้าที่รักษาการครูใหญ่ เพราะหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล ทรงพระชรา ไม่สามารถบริหารงานได้ ปี พ.ศ.2517 นางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี ลาออก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ผู้จัดการโรงเรียน ทรงทำหน้าที่รักษาการครูใหญ่

ปี พ.ศ.2518 หม่อมราชวงศ์ผกาแก้ว จักรพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่ และลาออกเมื่อปี พ.ศ.2523 นางประยงค์ศรี อุณหธูป ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน ปี พ.ศ.2533 นางประยงค์ศรี อุณหธูป เกษียณอายุ หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ปี พ.ศ.2541 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภาผู้จัดการโรงเรียนสิ้นพระชนม์ ราชินีมูลนิธิจึงแต่งตั้งให้ หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการอีกหนึ่งตำแหน่ง ปี พ.ศ.2547 หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ยังคงดำรงตำแหน่งผู้จัดการ นางเรืองศิริ สิงหเดช ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่

พระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี มีอาทิ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์นรินทรเทพยกุมารีกรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

ประวัติการศึกษาของนักเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนนั้นมีมากมาย เช่น คุณสายหยุด เก่งระดมยิง เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาวิชาแพทย์ สหรัฐอเมริกา คุณฉลบชลัยย์ (มหานีรานนท์) พลางกูร สอบชิงทุนรัฐบาลได้ที่ 1 แผนกภาษาศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ คุณจันทร์แจ่ม อินทุโสภณ ได้ทุนกรมพัสดุศึกษาวิชาการค้า สหรัฐอเมริกา คุณชุมสิน ณ นคร สอบชิงทุนไปศึกษาวิชาการเรือน ประเทศญี่ปุ่น คุณภาณี แก้วเจริญ นักเรียนหญิงคนแรกที่สอบคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คะแนนสูงสุด รับรางวัล 500 บาท คุณประอรนุช จันทรสมบูรณ์ ได้ทุนไปศึกษาประเทศอังกฤษ คุณพิมพ์ใจ วิสูตรโยธาภิบาล คุณสหัทยา หงสกุล คุณสุวพิตร เทียนทอง คุณวิสาขา บัณฑิตย์ คุณภัสสร สิงคาลวณิช ได้ทุนเอเอฟเอส และคุณนันทนา เภกะนันทน์ ได้ทุนอเมริกันฟิลด์เซอร์วิล คุณสุกัญญา ชลศึกษ์ หรือ กฤษณา อโศกสิน นักเขียนนวนิยายชื่อดัง และปราศรัย (แสงชูโต) รัชไชยบุญ หรือ นิดา นักแปล เป็นต้น

ประวัติอาคารสุนันทาลัย อาคารสุนันทาลัย เป็นอนุสรณ์สถานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2423-2425 เพื่อเป็นสิ่งแสดงความอาลัยรักถึงพระมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี1 ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มพร้อมพระราชธิดา สมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระชันษา 3 พรรษา และเจ้าฟ้าในพระครรภ์ ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในคราวโดยเสด็จพระราชดำเนินประพาสบางปะอิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2423 (ศันสนีย์ วีระศิลปชัย 2537 : 147-150)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นสมควรที่จะสร้างสถานศึกษาและอบรมกุลสตรีขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หลังจากได้เตรียมการต่างๆพร้อมแล้ว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์สถานศึกษาที่จะสร้างเป็นอนุสรณ์นี้ เมื่อปีมะโรง จุลศักราช 1242 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2423 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถานศึกษาสำหรับกุลสตรีว่า “สุนันทาลัย” แต่ยังไม่ได้เปิดทำการเรียนการสอน จากเอกสารชั้นต้นสันนิษฐานได้ว่า เป็นการก่อฤกษ์เพื่อสร้างอาคารสุนันทาลัยหลังเดิม คือ ตึกที่มีตราพระเกี้ยวและนาฬิกาบนแผงหน้าจั่ว ต่อมา ใน พ.ศ.2425 ได้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมที่ฝั่งเหนือของตึกสุนันทาลัยหลังเดิม ดังข้อความในจดหมายราชกิจรายวัน วันที่ 4ฯ4 ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จ.ศ.1244

“...เวลาบ่าย 2 โมงเศษ เสด็จออกรถทรงพระที่นั่งไปทางหน้าวัดพระเชตุพน ไปประทับที่ประตูช่องกุด ออกสุนันทาลัย เสด็จขึ้นทรงพระราชยาน ไปประทับโรงพิธีซึ่งจะก่อพระฤกษ์ตึกหลวงข้างด้านเหนือ ในที่สุนันทาลัย ทรงจุดเทียนนมัสการพระมงคลเทพมุนี ถวายศีล แล้วเสด็จมาทรงจับแท่งศิลาฤกษ์โรยรอยวางได้ที่ มีประโคมตามธรรมเนียมแล้วทรงก่อด้วยอิฐ เงิน ทอง นาก และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงก่อองค์ละแผ่น ครั้งพระสงฆ์ถวายอดิเรกแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงเรียนของสมเด็จพระนางเจ้า หลังข้างใต้คู่กับหลังที่ก่อใหม่นี้...”

เหตุการณ์นี้สันนิษฐานว่าเป็นการสร้าง Royal Seminary หรือที่เรียกว่า ตึกสุนันทาลัย หลังปัจจุบัน (ตึกที่มีตราแผ่นดินประดับบนแผงหน้าจั่ว) เพราะเอกสารได้บันทึกว่า พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโรงเรียนหลังข้างใต้คู่กับหลังก่อใหม่นี้ ซึ่งตึก Royal Seminary ได้ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของตึกสุนันทาลัยหลังเดิม (หลังที่มีตราพระเกี้ยวและนาฬิกาบนแผงหน้าจั่ว) โดยทั้ง 2 หลังสร้างเป็นตึกใหญ่ 2 ชั้น 2 หลัง ตามสถาปัตยกรรมยุโรป จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า ตึกสุนันทาลัยหลังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน (Royal Seminary) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2425 โดยก่อสร้างเสร็จและเปิดทำการเรียนการสอนเมื่อ พ.ศ.2435

“โรงเรียนสุนันทาลัย” หรือที่เรียกกันสมัยแรกตั้งว่า “โรงสกูลสุนันทาลัย” นอกจากตั้งขึ้นในการพระราชกุศลเพื่ออุทิศต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว ยังมีพระประสงค์จะให้ตึกแห่งนี้เป็นที่บำรุงสาธารณศึกษาแก่เหล่าสตรี เนื่องจากขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นทรงสนพระทัยด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการศึกษาของชาวบ้านสามัญ ดังพระราชปรารภเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนม์ ที่ว่า “สตรีนั้นไร้ที่ศึกษาอบรม จะมีอยู่ก็เพียงแต่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสตรีชาวบ้านก็มิอาจเข้าไปศึกษาอบรมได้ ถ้ามีสถานที่ศึกษาอบรมสำหรับสตรี ฐานะของกุลสตรีไทยคงจะดีขึ้น” และตำราเรียนส่วนหนึ่งของโรงเรียนนี้ได้มาจาก โคลงฉันท์กาพย์กลอนซึ่งโปรดให้แต่งขึ้นเนื่องในการพระเมรุ (โรงเรียนราชินี 2528 : 15)

การใช้งานอาคารสุนันทาลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาก่อฤกษ์อาคารสถานศึกษาที่จะสร้างเป็นอนุสรณ์สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2423 (โรงเรียนราชินี 2528 : 15) เมื่อแล้วเสร็จได้ย้ายโรงเรียนนันทอุทยาน ซึ่งสอนภาษาอังกฤษ มาตั้งที่สถานที่แห่งนี้ในปี พ.ศ.2429 (แต่หลักฐานดวงกำเนิดโรงเรียนคือ พ.ศ.2423) จากเรื่องความจำจากโรงเรียนสุนันทาลัยในหนังสืออนุสรณ์สาส์น 75 ปี มีข้อความบางส่วนจาก “บันทึกความทรงจำ” ของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 และจากการสัมภาษณ์ของ ส.ศิวรักษ์ ในหนังสือ “สัมภาษณ์หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล” ซึ่งมีข้อความที่คล้ายกัน ได้กล่าวถึงจำนวนนักเรียนของโรงเรียนสุนันทาลัยและการใช้อาคารสุนันทาลัยในอดีตว่า

“...ความจำจากโรงเรียนสุนันทาลัยปี ร.ศ.113 (พ.ศ.2437) เสด็จพ่อโปรดให้ข้าพเจ้าเข้าไปเป็นนักเรียนโรงเรียนสุนันทาลัย ในโรงเรียนครั้งนั้นมีนักเรียนราว 25-30 คน เพราะใช้แต่ตึกประชุมหลังเดียวของโรงเรียนเท่านั้น คือ ห้องประชุมของโรงเรียนเดี๋ยวนี้ เดิมกั้นเป็น 4 ห้อง ชั้นล่างเป็นที่เรียน แลรับประทานอาหาร ห้องรับประทานอาหารครูแม่มชาติอังกฤษแยกรับประทานต่างหาก ส่วนครูไทยรับประทานอาหารอนู่กับนักเรียนจัดเป็นที่ยกพื้นสองข้าง ตั้งสำรับ ขันน้ำ กระโถน รับประทานที่ละ 2 คน...” (โรงเรียนราชินี 2522 : 35)

จากข้อความข้างต้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นตึกสุนันทาลัยหลังปัจจุบัน (Royal Seminary) เพราะมีบทความเรื่อง โรงเรียนราชินีสมัยข้าพเจ้า ในหนังสืออนุสรณ์สาส์น 75 ปี ราชินี โดยหม่อมเจ้าอัปภัศราภา เทวกุล ได้กล่าวถึงห้องประชุมของโรงเรียนราชินี คือ ตึกที่มีตราแผ่น ร.5 พ.ศ.2437 ภายหลังจากสร้างตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary) เสร็จแล้ว โรงเรียนได้ใช้ตึกนี้ในส่วนชั้นล่างเป็นที่เรียนและรับประทานอาหาร โดยกั้นเป็น 4 ห้อง และชั้นบนใช้เป็นห้องประชุม ดังข้อความข้างต้น

โรงเรียนสตรีสุนันทาลัยได้ดำเนินกิจการมาจนกระทั่ง พ.ศ.2445 เนื่องด้วยนักเรียนมีน้อยและสถานที่ชำรุดทรุดโทรมจนต้องหยุดกิจการลงในช่วงต่อมาตัวอาคารยังคงได้รับใช้แผ่นดินด้วยการเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญ ได้แก่ ในปี พ.ศ.2441-2447 กระทรวงธรรมการได้ขอย้ายมาอยู่ที่ตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary) ปี พ.ศ.2446 โรงเรียนนายเรือได้ขอยืมอาคารสุนันทาลัยเป็นที่พักของนักเรียนนายเรือชั่วคราว ในช่วงที่มีการซ่อมแซมพระราชวังเดิม ประมาณ 10 เดือน จึงได้คืนอาคารให้แก่กระทรวงธรรมการ และในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ.2448 กระทรวงธรรมการได้ใช้อาคารเป็นที่เก็บรักษาพัสดุของกระทรวง และมีการจัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษด้วย คือ โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ

กระทั่งท้ายสุดในปี พ.ศ.2449 โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษย้ายออกไปที่ตึกแม้นนฤมิตร โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส และกิจการของโรงเรียนราชินี ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ผู้พระราชทานกำเนิด ได้ขยายกิจการมากขึ้น ทำให้ห้องเรียนไม่เพียงพอ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายโรงเรียนราชินีจากตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์มาอยู่ที่โรงเรียนสุนันทาลัย (กองบรรณาธิการ 2540 : 42) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนราชินีย้ายมาตั้งอยู่ใช้สถานที่สุนันทาลัย ตามคำกราบบังคมทูล (โรงเรียนราชินี 2531 : 143) นับแต่นั้นมาโรงเรียนสุนันทาลัยที่สมัยแรกตั้งเรียกว่า โรงสกูลสุนันทาลัย ดังที่ปรากฏคำว่าโรงสกูลสุนันทาลัยบนหน้าจั่วอาคารสุนันทาลัย ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อโรงเรียนราชินีจนถึงปัจจุบันนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินบริเวณที่ตั้งของป้อมมหาฤกษ์ ที่อยู่หน้าโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนมีอาณาเขตกว้างขวางออกไป ทางโรงเรียนจึงได้จัดการรื้อป้อมมหาฤกษ์ที่อยู่ภายในพื้นที่ออก พ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการมอบตึกสุนันทาลัย และที่ดินรวมทั้งสมบัติของสุนันทาลัย ถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อทำนุบำรุงเป็นโรงเรียนราชินีสืบไป เพราะแต่เดิมนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยเป็นเพียงที่สอนวิชา ยังไม่ได้พระราชทานให้เป็นสมบัติของโรงเรียน

พ.ศ.2454-2463 จากบทความเรื่อง ”โรงเรียนราชินีสมัยข้าพเจ้า” ในหนังสืออนุสรณ์สาส์น 75 ปี ราชินี โดยหม่อมเจ้าอัปภัศราภา เทวกุล ซึ่งเข้าเรียนในปี พ.ศ.2454 และจบชั้นมัธยมในปี พ.ศ.2463 ได้กล่าวถึงการใช้งานของตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary) ในเวลานั้นว่า 

“...โรงเรียนนั้นตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง เจาะกำแพงเมืองเป็นประตู ไม่มีป้ายชื่อโรงเรียนเหมือนเดี๋ยวนี้ กำแพงตลอดแนวทางใต้ก็เป็นตึกวิทยาศาสตร์ กำแพงด้านเหนือก็กลายเป็นตึกพยาบาลตลอดจนเป็นตึกอนุบาล ในโรงเรียนแต่เดิมมีเรือนไม่สำหรับเด็กเรียนชั้นมัธยม และชั้นประถม มีตึกสร้างขึ้นตั้งแต่เป็นโรงเรียนสุนันทาลัย 2 หลัง ตึกหนึ่งเรียกว่า ตึกนาฬิกา เพราะมีนาฬิกาอยู่ที่หน้าจั่ว ชั้นบนเป็นที่อยู่ของแม่บ้าน และที่นอนสำหรับนักเรียนและครูที่อยู่ประจำโรงเรียน ชั้นล่างปูพื้นไม้ มีม้ายาวๆ สำหรับนักเรียนชั้นมูลวางหนังสือ และกระดานชนวน ส่วนตัวนักเรียนนั่งกับพื้นไม้นักเรียนที่ไม่รู้หนังสือจะต้องมาตั้งต้นในห้องนี้ เช่นตัวข้าพเจ้า เดี๋ยวนี้รื้อแล้ว เพราะปูนหมดอายุ สร้างใหม่กลายเป็นตึกประชุม มีเวทีชั้นบน ชั้นล่างเป็นห้องสมุด หน้าตึกเคยเป็นสนามเด็กเล่น ก็กลายเป็นสระว่ายน้ำสำหรับออกกำลังกาย และหัดว่ายน้ำ ไม่ต้องอาศัยแม่น้ำ อีกตึกหนึ่งนั้นหน้าจั่วมีตราแผ่นดิน ร.5 ข้างใต้มีอักษรจารึกว่า โรงเรียนสุนันทาลัย...ฯลฯ ข้างบนเป็นห้องประชุม ข้างล่างเป็นห้องรับประทานอาหาร ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น แต่เราเรียกว่าตึกแหม่ม จะเป็นเพราะแหม่มเคยอยู่ หรือเรียกตามที่มีตุ๊กตาแหม่มติดอยู่ที่หน้าตึกก็ไม่ทราบ...”

เพราะฉะนั้นในช่วง พ.ศ.2454-2463 ตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary) ได้ถูกใช้ชั้นล่างเป็นที่รับประทานอาหารและชั้นบนเป็นห้องประชุม ตั้งแต่สมัยนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน และเช่นเดียวกับเมื่อครั้งยังเป็นโรงเรียนสุนันทาลัยในปี พ.ศ.2437 นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดการตกแต่งอาคารของตึกสุนันทาลัย ที่ได้รับจากการบอกเล่าโดยศิษย์เก่าโรงเรียนราชินี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอนุรักษ์ตึกสุนันทาลัย ดังที่สำนวน อมาตยกุล ศิษย์เก่าโรงเรียนราชินี แผนกภาษา ที่ได้เข้ามาศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2465 กล่าวไว้ในเรื่อง รำลึกถึงความหลัง จากหนังสืออนุสรณ์สาส์น 75 ปี ราชินี ไว้ว่า

“...นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 รุ่นข้าพเจ้าเป็นพวกที่โชคดีมาก เพราะท่านอาจารย์รับสั่งให้นักเรียนทั้ง 10 คน ขึ้นไปนอนตึกสุนันทาลัย ซึ่งเรียกกันว่า ตึกแหม่ม เป็นตึกที่สวยงามมาก...”

“...ตึกสุนันทาลัยซึ่งนักเรียนราชินีทุกรุ่นต้องรู้จัก และคุ้นเคยเป็นอย่างดี มีชื่อว่าเป็นตึกที่สวยที่สุดในโรงเรียน ตามผนังห้อง ตามเสา มีลวดลายกนกผนึกอยู่ โดยเฉพาะลายบนเพดานเป็นรูป ๑ เป็นลวดลายที่งดงามชวนดูยิ่งนัก ชาวต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยียนมิสกวินน์ ได้มาเห็นตึกนี้แล้วต่างออกปากชมด้วยกันทุกคน...”

จากข้อความที่กล่าวถึงการประดับบริเวณผนังห้อง เสา มีลายกนกผนึกอยู่นั้น อาจจะเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเสาอิงและกรอบซุ้มประตู-หน้าต่าง ซึ่งลายพรรณพฤกษาแบบฝรั่ง ฝ้าเพดานมีลายเป็นรูปเลข ๑ และตามมุมเพดานนั้นได้มีประติมากรรมรูปเทวดาเด็กฝรั่งแบบคิวปิด (Cupid) ประดับอยู่ โดยนงลักษณ์ โกษากุล กล่าวไว้ในเรื่อง ตัวเธอสิดอกหนึ่ง ณ อุทยานราชินี ในหนังสืออนุสรณ์สาส์น 75 ปี ราชินี ความว่า

“...ก็มีที่ตึกสุนันทาลัยใช้เป็นที่ประชุมใหญ่ ตึกสุนันทาลัยนี้เพดานสวยงามมาก เป็นลายปูนปั้นวิจิตรพิศดาร ตามมุมเพดานปั้นเป็นรูปเทวดาเด็กฝรั่งแบบคิวปิดที่เราเคยเห็นๆกันชะโงกง้ำอกมาน่าเอ็นดู อีกทั้งสีสันก็สวยงามมาก เวลาเราขึ้นไปสวดมนตร์ หรือประชุมพอง่วงๆ ก็ได้อาศัยรูปลายบนเพดานเหล่านี้แหละเป็นเครื่องแก้ง่วง...”

แต่ปัจจุบันลวดลายบนฝ้าเพดานและรูปเทวดาเด็กฝรั่งไม่มีแล้ว เนื่องจากในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ได้เคยมีอุบัติเหตุที่แผ่นลวดลายประดับบนเพดานได้ตกลงมา ทำให้หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งครูใหญ่ในขณะนั้น สั่งให้เอาแผ่นลวดลายประดับบนเพดานออกเสียให้หมด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

ประวัติการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารสุนันทาลัย หลังจากการก่อสร้างอาคารสุนันทาลัยจนแล้วเสร็จ ในเวลาต่อมาอาคารสุนันทาลัยทั้งสองหลังได้มีการซ่อมแซมและปรับปรุงมาโดยตลอด ดังนี้ ระหว่างปี พ.ศ.2439-2440 ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีสุนันทาลัย อยู่ในการดูแลของกระทรวงธรรมการ โดยมีพระยาภาสกรวงศ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ มีข้อมูลปรากฏอยู่ในเอกสารของกระทรวงธรรมการ ตามลำดับดังนี้ (เอกสารของของกรมศึกษาธิการรัชกาลที่ 5 กระทรวงธรรมการ เอกสารเลขที่ ศธ 50.18/22)

“…เดือนมีนาคม พ.ศ.2439 ช่วงโรงเรียนมีการปิดภาคเรียน มีการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนโดยการก่อระเบียงใหม่ ที่ได้ทำการร่างแบบแล้วของตึกใหม่…”

ตึกใหม่ หมายถึง ตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary) แสดงว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบระเบียงใหม่ ในปัจจุบันบางส่วนยังคงทำด้วยหินอ่อน

“...เดือนธันวาคม พ.ศ.2439 ได้ทำการซ่อมแซมบันไดและหลังคาตึกหลังเหนือที่รั่วให้ดี โดยทำการสั่งให้หลวงภักดีนฤเบศรไปทำการตรวจสอบในครั้งนี้...”

“...เดือนมีนาคม พ.ศ.2440 มีการซ่อมโดยผู้รับเหมาก่อสร้างชื่อ ซิฮันบเล ซ่อมตึกสุนันทาลัยหลังด้านเหนือ รื้อหลังคาซึ่งทำด้วยหินชนวนแล้วเปลี่ยนเป็นสังกะสี และได้มุงใหม่ด้วยเหล็กวิลาดให้แน่นหนาและเรียบร้อยและให้เหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ จัดทำสิ่งจำเป็นโดยเรียบร้อย คือทำรางน้ำ ทำด้วยเหล็กวิลาดและสังกะสี ซ่อมแซมด้วยปูนซีเมน และหุ้มด้วยตะกั่ว และทำสิ่งจำเป็นที่จะทำด้วยตะกั่วทั้งหมด และที่ต่อพับช่องรางสังกะสีซึ่งทำด้วยเหล็กวิลาดนั้นต้องทำใหม่ให้ดีไม่ให้รั่วได้...”

ตึก(สุนันทาลัย)หลัง(ด้าน)เหนือ คือ ตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary) การซ่อมแซมในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการซ่อมแซมครั้งใหญ่ มีการเปลี่ยนหลังคาจากหินชนวนเป็นสังกะสี (ให้เหมือนกับตึกสุนันทาลัยหลังด้านใต้) ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเปลี่ยนหลังคาทั้งหมดหรือเฉพาะหลังที่มุขส่วนหน้า (ยอดโดม) มีการเทปูนซีเมนต์บนพื้นกระเบื้องระเบียงด้านหน้าทั้ง 2 ปีก ดังเช่นในสภาพปัจจุบัน และที่กล่าวว่าหุ้มด้วยตะกั่วนั้น อาจหมายถึงการรองพื้นโครงสร้างไม้ด้วยแผ่นตะกั่วก่อนเทปูนทับ

“...เดือนมิถุนายน พ.ศ.2440 ซ่อมเพดาน ผนัง และหลังคาตึกหลังด้านเหนือ โดยการให้ช่างรับเหมามาตีราคา โดยจะหาผู้รับทำที่ดีที่สุดและถูกที่ในการซ่อมครั้งนี้...”

ซึ่งการซ่อมแซมในเดือนมีนาคมอาจมีปัญหาเกิดขึ้นอีก จึงระบุถึงการหาผู้รับทำที่ดีที่สุดและถูกที่ในการซ่อมในครั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2436-2440 นอกจากมีการซ่อมตึกสุนันทาลัยหลังเหนือแล้ว ยังมีการซ่อมแซมหลังด้านใต้ (ตึกนาฬิกา) ด้วย โดยอาคารด้านใต้ทรุดโทรมกว่า และได้รับการซ่อมแซมก่อน

ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2445 ได้มีการปิดโรงเรียนสุนันทาลัย เนื่องจากสถานที่ชำรุดมาก มีการซ่อมแซมโรงเรียนใหม่ จัดหาครูและผู้จัดการใหม่ เมื่อซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ใช้สถานที่นั้นเป็นที่ทำการอย่างอื่นแทน เป็นการซ่อมแซมเนื่องจากเวลาต่อมาใน พ.ศ.2446 โรงเรียนนายเรือได้ย้ายเข้ามาอยู่ชั่วคราว เป็นระยะเวลา 10 เดือน จึงได้คืนพื้นที่ให้กระทรวงธรรมการ ในเดือนกันยายน พ.ศ.2446 เดือนมีนาคม พ.ศ.2448 บริเวณสุนันทาลัยได้จัดเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ และเป็นที่เก็บรักษาพัสดุของกระทรวงธรรมการ ตัวตึกที่ใช้เก็บของนั้นชำรุดทรุดโทรม

เมื่อสมเด็จพระศรีพีชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงขอพระราชทานสถานที่สุนันทาลัยเป็นโรงเรียนราชินี และย้ายโรงเรียนราชินีจากมุมถนนอัษฎางค์มาอยู่ในสถานที่สุนันทาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 ปรากฏข้อมูลการซ่อมแซมเพื่อเตรียมการรองรับโรงเรียนราชินีที่จะย้ายมาในปีนี้ ดังนี้

“...เดือนเมษายน พ.ศ.2449 ในการซ่อมอาคารสุนันทาลัย หลังคามุงสังกะสีลูกฟูกเฉลียงหน้าชำรุดรั่วต้องซ่อม เพดานชั้นบนเป็นปูนประดับลวดลายที่ชำรุดต้องซ่อมที่กระโจมบนหลังคามุขหน้ากระจกชำรุดหลุดหายต้องทำใส่ พื้นชั้นบนปูกระเบื้องฝรั่งที่ชำรุดต้องซ่อใ พื้นชั้นล่างในรวมและมุขหลังปูกระดานไม้สักชำรุดเล็กน้อยต้องซ่อม ที่เฉลียงและมุขหน้าปูกระเบื้องฝรั่งชำรุดและทรุดมากต้องรื้อปูใหม่ให้เรียบร้อย ผนังที่ชำรุดแตกสีต้องซ่อม ที่ทรุดแยกต้องใส่เหล็กรัดแล้วทาน้ำปูนใหม่ทั่วไป บานหน้าต่างและประตูที่ชำรุดต้องซ่อมให้ดีแล้วทาสีตามของเดิม เฉลียงด้านหน้า และมุขมีบันไดอิฐขั้นปูหินอ่อน 3 บันได ที่ชำรุดต้องซ่อม หลังคามุงสังกะสีลูกฟูกชำรุดเล็กน้อยต้องซ่อม มีเพดานไม้สักทาสี พื้นชั้นบนชั้นล่างปูกระดานไม้สักชำรุดเล็กน้อยต้องซ่อม เสาไม้สักที่ชำรุดผุขาดต้องตัดต่อให้เรียบร้อย ชั้นบนมีห้องสำหรับอาบน้ำและบันได 3 บันได ตามระหว่างเสามีพนักไม้สักที่ชำรุดต้องซ่อมแล้วทาสีใหม่ให้ทั่ว...”

“...เดือนกันยายน พ.ศ.2449 นายเองเลงหยง ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำรายการซ่อมตึกสุนันทาลัยโดยทำการทาสีและฉาบน้ำปูนให้เรียบร้อยสิ่งใดที่ชำรุดก็ซ่อมใหม่ตามที่เจ้าพนักงานได้แจ้งมาแล้ว...”

ปี พ.ศ.2449 นี้มีการซ่อมแซมใหญ่ทั่วทั้งตึก โดยกระโจมบน หลังคา มุขหน้า กระจกชำรุด (ทำให้ทราบว่ายอดโดมที่อยู่บนหลังคามุขยังคงอยู่) และมุขหน้ายังคงมีบันไดหินอ่อน 3 บันได คือ ข้างมุขหน้า 2 บันได และข้างระเบียง 1 บันได ปี พ.ศ. 2460 หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ท่านอาจารย์ใหญ่ในขณะนั้น ได้ทำหนังสือถึงพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ เรื่องรายการซ่อมแซมสิ่งชำรุดเบ็ดเตล็ดภายในโรงเรียน รวมถึงอาคารสุนันทาลัยด้วย จากรายการซ่อมแซมครั้งนี้ โดยสิ่งที่ต้องซ่อมได้แก่

“...หลังคารั่วภายในห้องเรียนทางมุขด้านทิศเหนือ 2 แห่ง และที่ระเบียงซึ่งต่อจากมุขด้านทิศใต้ก็รั่วอีก 1 แห่งเช่นกัน บริเวณเพดานซึ่งมีลวดลายสวยงามก็ชำรุดเปื่อย ทั้งนี้เป็นผลมาจากหลังคารั่วจึงทำความเสียหายให้แก่เพดาน และลวดลายปูนปั้นต่างๆ จำเป็นต้องซ่อมเพื่อไม่ให้หลุดตกลงมา และสายล่อฟ้าบนหลังคา บริเวณจุดต่อที่สายลงดินก็หลุด ต้องซ่อมแก้ไขให้ถูกต้องตามวิธีของการล่อฟ้า อีกทั้งบันไดทางขึ้นขั้นบนสุดชำรุด 1 ขั้น ต้องรื้อแล้วหนุนพื้นปูแผ่นหินอ่อนดังเดิม รวมทั้งซ่อมปูนที่แตกร้าวตามลูกกรงราวบันได และขั้นบันไดที่เสียหายให้เรียบร้อย และบานหน้าต่างกระจกที่ยอดโดมบนหลังคา ตกลงมาแตก 1 บาน ต้องซ่อมโดยการติดตั้งกรอบและกระจดใหม่ และต้องใส่กุญแจติดสายยู ที่ประตูทางขึ้นด้วย...”

จากรายการซ่อมแซมนี้ทำให้ทราบว่ายอดโดมที่มุขหน้ายังคงอยู่ ดังนั้นสันนิษฐานได้ว่า ช่วงระยะเวลา พ.ศ.2460-2488 ที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง น่าจะเป็นช่วงที่มีการรื้อโดมของตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary) ออก เนื่องจากภาพถ่ายทางอากาศในปี พ.ศ.2489 นั้นไม่ปรากฏยอดโดมแล้ว ปี พ.ศ.2468 หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงสั่งให้เอาแผ่นลวดลายประดับบนเพดานออกเสียให้หมด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เพราะในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ได้มีอุบัติเหตุแผ่นลวดลายประดับบนเพดานได้ตกลงมา แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

ปี พ.ศ.2474 มีการบันทึกในจดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนว่า ตึกประชุมกำลังซ่อมใหญ่ ไม่ได้ระบุรายการซ่อม แต่มีรายจ่ายการซ่อมซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินในการซ่อมโรงเรียนราชินี คือ ซ่อมตึกสุนันทาลัย (ตึกรับแขก) 17,822.60 บาท และ ติดไฟฟ้าและพัดลมที่ตึกรับแขก 1,447.59 บาท

หลังจากปี พ.ศ.2474 ไม่ปรากฏจดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนว่ามีการซ่อมแซมอาคารสุนันทาลัย เมื่อหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล สิ้นชีพิตักษัย ในปี พ.ศ.2486 ก็ไม่ปรากฏการซ่อมแซมครั้งใหญ่อีก เพียงพบในรายงานการประชุมของคณะกรรมการราชินีมูลนิธิ เรื่องการซ่อมแซมทั่วไป เช่น การซ่อมแซมกระจกและกระเบื้องที่แตก 2-3 แผ่น จากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน การทาสีอาคาร เป็นต้น จากหลักฐานต่างๆ เหล่านี้สรุปได้ว่า อาคารสุนันทาลัยทั้งสองอาคารนี้ได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอ อาจจะเป็นเพราะใช้ช่างฝีมือชาวไทย ซึ่งมีประสบการณ์น้อยในการสร้างอาคารแบบตะวันตก จึงมีการซ่อมแซมหลายครั้ง โดยเฉพาะส่วนหลังคา สันนิษฐานว่า โดมคงถูกรื้อออกในช่วงใดช่วงหนึ่งที่มีการซ่อมแซม (ระหว่าง พ.ศ. 2460 – 2474) การซ่อมครั้งที่มีรายจ่ายที่สูงมากคือในปี พ.ศ.2474 พ.ศ.2527 มีการรื้อปีกอาคารด้านทิศเหนือเพื่อซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยได้ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์สาส์น 80 ปี ราชินี แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในการซ่อมแซมต่างๆ ในการซ่อมแซมครั้งนี้มีการรื้อบันไดเวียนขึ้นใต้หลังคาที่เคยตั้งอยู่ในระเบียงปีกเหนือ และได้นำมาวางไว้บนสนามหน้าตึกสุนันทาลัย (Royal Seminary)

ในโอกาสที่โรงเรียนราชินีมีอายุครบ 100 ปี ใน พ.ศ.2547 ทางโรงเรียนจึงมีโครงการซ่อมแซมอาคารสุนันทาลัยครั้งใหญ่ โดยได้รับเงินจากสมาคมนักเรียนเก่าราชินีในพระบรมราชินูปถัมภ์ 6 ล้านบาท และจากทางโรงเรียนอีก 3 ล้านบาท คณะกรรมการราชินีมูลนิธิมีมติให้ดำเนินการ โดยให้คุณปรียา ฉิมโฉม กรรมการราชินีมูลนิธิเป็นผู้ดูแลโครงการ และเชิญ ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานซ่อมแซมอาคารสมัยรัชกาลที่ 5 หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาโครงการ และอนุมัติแบบซ่อมแซมให้คงตามภาพที่ปรากฏเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือ มีโดมและบันไดโค้งด้านหน้าอาคารทั้งสองข้าง ใช้สีเหมือนอาคารในสมัยนั้นคืออาคารเหลือง ประตูหน้าต่างสีเขียว ตัดด้วยสีขาวที่เสาขอบปูนหรือรูปปั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และเจ้านายทุกพระองค์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่โรงเรียนราชินี

ราชินีมูลนิธิได้ดำเนินการซ่อมแซมอาคารสุนันทาลัย กำหนด 10 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 โดยให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแชฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทที่ชำนาญการซ่อมแซมอาคารเก่าบริษัทหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ การบูรณะเป็นไปได้ด้วยดีตามสัญญา จนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2548 ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่ชั้น 2 ของอาคาร ทำให้หลังคาและผนังเสียหาย โดยเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานสามารถพิสูจน์ได้ว่า เหตุเกิดจากคนงานของทางบริษัทฯไม่รอบคอบ และทางบริษัทฯยินดีชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากเกิดเหตุคณะกรรมการราชินีมูลนิธิได้มีมติให้มีการบูรณะอาคารสุนันทาลัย เสริมความแข็งแรงของอาคาร และได้ก่อสร้างยอดโดมขึ้นใหม่ โดยพิจารณาอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งทำการดีดอาคารให้สูงขึ้นอีก 1 เมตร การยกอาคารทำโดยการทำเสาเข็มและฐานรากใหม่เพื่อรองรับน้ำหนักของอาคารก่อน โดยวางเสาเข็มใหม่ตลอดแนวความยาวของผนัง ทั้งนี้เพราะน้ำหนักของอาคารถ่ายผ่านลงผนังทุกตำแหน่ง หลังจากนั้นทำแท่นรองรับน้ำหนัก (Platform) แล้วจึงตัดฐานรากเดิมให้ขาดจากตัวอาคาร จากนั้นจึงทำการยกอาคาร โดยใช้แม่แรงไฮดรอลิกขนาด 30 ตัน วางบนเสาเข็มที่เสริมแล้วดันกับแท่นรองรับผนังที่จัดทำไว้ (ประมาณ 400 ตัว) ดันแม่แรงไฮดรอลิกพร้อมๆกันทุกตำแหน่ง อาคารจะถูกดันขึ้นในลักษณะที่เป็นระนาบไม่บิดตัวแตกร้าว

ในปี 2550 โรงเรียนราชินีจะทำการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ บริเวณด้านที่ติดกับปากคลองตลาด เนื่องด้วยโรงเรียนราชินีตั้งซ้อนทับบนพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อันเคยเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น กระทรวงธรรมการ สุนันทาลัย ในสมัยรัชกาลที่ 5 โรงเรียนราชินีจึงได้สนับสนุนงานด้านโบราณคดี เพื่อศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่อยู่ใต้โรงเรียน และเมื่อการศึกษาเสร็จสิ้น โรงเรียนราชินีได้ยื่นแบบอาคารเพื่อขออนุญาตก่อสร้างต่อกรมศิลปากร (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2552)

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ

1. ฐานรากอาคารกระทรวงธรรมการ

พบฐานรากก่อด้วยอิฐ สอปูน มีความกว้าง 45 - 60 เซนติเมตร เรียงต่อกันเป็นแนวยาวและตัดกันเป็นแนวตาราง โดยเริ่มพบในความลึกจากผิวดิน 130 เซนติเมตร แนวอิฐนี้มีความลึก 70 เซนติเมตร แนวอิฐเสริมโครงสร้างด้วยไม้บางส่วน โดยแนวอิฐตั้งอยู่บนไม้ปีกหรือไม้ซีกที่เรียงห่างกันเป็นระยะและด้านข้างของแนวอิฐนั้นมีไม้หมุดหรือไม้ที่ปักลงสู่ดินในแนวดิ่งอยู่ด้านข้างเพื่อกันดินเคลื่อนตัว

เมื่อเปรียบเทียบฐานรากที่พบกับแผนที่โบราณพบว่าตำแหน่งของฐานรากอยู่ในตำแหน่งเดียวกับอาคารที่เป็นที่ตั้งของกระทรวงธรรมการเดิม สันนิษฐานได้ว่าฐานรากนี้เป็นอาคารกระทรวงธรรมการซึ่งไม่เก่าไปกว่าปี พ.ศ.2441 นอกจากนั้นได้พบกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น มีลายพิมพ์ชื่อสถานที่ผลิตว่า Craven Dunnill&Co Jackfield Salop 80 ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตที่เดียวกับกระเบื้องปูพื้นที่อาคารสุนันทาลัย รวมทั้งระบบการก่อและการเรียงอิฐและระบบฐานรากมีความคล้ายคลึงกับอาคารสุนันทาลัย สันนิษฐานว่าอาคารนี้น่าจะมีอายุใกล้เคียงกับอาคารสุนันทาลัยที่สร้างใน พ.ศ.2423

2. เครื่องถ้วยต่างประเทศ

เครื่องถ้วยต่างประเทศที่พบ ได้แก่ เครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายถึงสมัยสาธารณรัฐ ราวพุทธศตวรรษที่ 24 - 25 และเครื่องถ้วยยุโรปจากประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โครงการวิจัยทางโบราณคดี บริเวณพื้นที่โรงเรียนราชินี. เอกสารอัดสำเนา, 2550.

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

กรมศิลปากร. "โรงเรียนราชินี" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/

กองบรรณาธิการ. “อนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรักอันสุดซึ้ง : ตึกสุนันทาลัย”. ชายคา 9, 78 (กันยายน 2540).

กองบรรณาธิการ. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์วังหลวง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์น้ำฝน, 2541.

กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ "วังหน้า-วังหลัง. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2545, 2549.

งานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนราชินี. การบูรณะอาคารสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี. กรุงเทพฯ : โรงเรียนราชินี , 2548.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. . พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ.2325-2525). กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการปฏิบัติภารกิจโครงการวิจัยวิวัฒนาการของศิลปวัฒนธรรมไทยในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. . มรดกสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2537.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. ,และคนอื่น ๆ . องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์ .กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

พิพัฒน์ พงศ์รพีพร. ภาพมุมกว้างของกรุงเทพพระมหานครในสมัยรัชกาลที่ 4 : การค้นพบใหม่. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544.

ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษา ขุดค้น และขุดแต่งทางโบราณคดี ภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ถนนสนามไชย. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.

โรงเรียนราชินี. ราชินี ๘๔ ปี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2531.

โรงเรียนราชินี. อนุสรณ์สาส์น ๗๕ ปี ราชินี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2522.

โรงเรียนราชินี. อนุสรณ์สาส์น ๘๐ ปี ราชินี. กรุงเทพฯ : พลพันธ์การพิมพ์, 2528.

ศันสนีย์ วีระศิลปชัย. “พระนางเรือล่ม สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี”. ศิลปวัฒนธรรม 15, 12 (ตุลาคม 2537) :147-150.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 26 เรื่องตำนานวังเก่า. พระนคร : กรมศิลปากร, 2513.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. กรุงเทพฯ : ศิลปากร, 2546.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “เรื่องตำนานวังเก่า.” ประชุมพงศาวดารเล่ม 15 (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 26). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2507.

เอกสารของของกรมศึกษาธิการรัชกาลที่ 5 กระทรวงธรรมการ เอกสารเลขที่ ศธ 50.18/22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี