เมืองชัยบุรี


โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021

ชื่ออื่น : เมืองชัยบุรี พัทลุง, ชัยบุรี

ที่ตั้ง : ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง, ต.มะกอกเหนือ และ ต.พนมวังก์ อ.ควนขนุน

ตำบล : ชัยบุรี

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : พัทลุง

พิกัด DD : 7.687144 N, 100.055903 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลสาบสงขลา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง, คลองท่าสำเภา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เดินทางจากบริเวณตัวเมืองพัทลุงไปทางทิศเหนือตามถนนสายควนขนุน–พัทลุง ถึงเขาชัยสนและเขาพูลระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เดินทางต่อไปทางทิศตะวันออกระยะทาง 6 กิโลเมตร และย้อนกลับมาทางทิศใต้เข้าตัวเมืองพัทลุงโดยผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 เป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง และสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ใช้งบประมาณพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบๆเขาวัดเขาและประกาศให้เป็นวนอุทยานเมืองเก่าชัยบุรี ปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีกิจกรรมการเดินป่าสู่จุดชมวิววัดเขา มีการสร้างถนนบริเวณรอบเขาสามารถเดินทางได้โดยสะดวก ผู้สนใจสามารถไปชมกำแพงเมืองเก่า พระอุโบสถร้าง บ่อน้ำศักสิทธิ์ แท่นท่านยอ ลานอโศก ถ้ำพระนอน เสาหลักเมืองได้ ส่วนแหล่งโบราณคดีบางแหล่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้ข้อมูลจากการสำรวจจึงไม่ได้พัฒนากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, วัดเขาเมืองเก่า

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถานเจดีย์บนเขาชัยบุรี ในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม 102 ตอนที่ 180 หน้า 139 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2528

(เมืองชัยบุรี ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ภูเขา

สภาพทั่วไป

เมืองโบราณชัยบุรีมีลักษณะเป็นเมืองป้อมปราการ คือสร้างเมืองโดยเลือกทำเลที่ตั้งติดภูเขาและอาศัยภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ ส่วนบริเวณพื้นที่ราบเป็นพื้นที่ตั้งเมือง มีการขุดคูเมืองล้อมรอบ 3 ด้านยกเว้นทางด้านทิศใต้ที่มีเขาชัยบุรีเป็นปราการธรรมชาติและมีสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบเชื่อมภูเขาและปิดช่องเขาเอาไว้

เมืองตั้งอยู่พื้นที่ราบน้ำท่วมถึงท่ามกลางหุบเขา 3 ลูก คือ เขาชัยบุรีทางด้านทิศใต้ เขาพลูทางด้านทิศตะวันออก และเขาบ่อลาทางด้านทิศตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ในตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุงและ ตำบลมะกอกเหนือและ ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุนในปัจจุบัน

เมืองโบราณชัยบุรีมีลักษณะขอบเขตของเมืองดังนี้  

ด้านทิศเหนือ เป็นส่วนกำแพงที่ก่อเชื่อมจากเขาวัดไปยังเขาบ่อลาทางด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้เป็นสวนยางแต่ยังปรากฏร่องรอยของคูเมืองและแนวอิฐอยู่บ้าง คูเมืองทางด้านทิศเหนือมีความยาว 1,000 เมตร มีขนาดกว้าง 20 – 30 เมตร

ด้านทิศตะวันออก เป็นส่วนกำแพงเมืองจากเขาชัยบุรีไปยังเขาพูลและเขาวัดเขาทางด้านทิศเหนือ ยังคงเห็นร่องรอยคูเมืองอยู่บ้าง โดยคูเมืองทางทิศตะวันออกมีความยาวประมาณ 900 เมตร

ด้านทิศตะวันตก เป็นส่วนกำแพงเมืองจากเขาชัยบุรีไปยังเขาบ่อลา คูเมืองทางทิศตะวันตกมีความยาว  800 เมตร

ด้านทิศใต้มีเขาชัยบุรีเป็นปราการธรรมชาติ

บนภูเขามีการสร้างป้อมป้องกันบนเชิงเขาที่เชื่อมกับกำแพงเมืองและบริเวณคูเมืองที่ปิดกั้นช่องเขา พื้นที่โดยรอบของเมืองเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก มีลำน้ำหลายสายไหลหล่อเลี้ยงตัวชุมชน ลำน้ำสายสำคัญได้แก่ คลองเมืองและคลองท่าสำเภา ลำน้ำทั้งสองสายนี้จะไหลไปรวมกับลำน้ำสายอื่นก่อนจะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

10 เมตร

ทางน้ำ

เป็นกลุ่มเมืองที่อยูในเขตอิทธิพลลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีคลองสำคัญที่ไหลผ่าน คือ คลองเมืองไหลผ่านกลางเมืองและคลองท่าสำเภาไหลผ่านทางทิศใต้ของเขาชัยบุรี โดยคลองเหล่านี้จะไหลไปรวมกับลำน้ำสายอื่นๆและไหลลงลงทะเลสาบสงขลา (อมรรัตย์ พิยะกูล  2551 : 182)

สภาพธรณีวิทยา

เมืองโบราณชัยบุรีมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงที่เกิดจากตะกอนแม่น้ำ มีภูเขาเป็นป้อมปราการ 3 ลูก คือ เขาชัยบุรีหรือเขาเมืองเป็นเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน วางตัวในแนวเหนือใต้มีความยาวประมาณ 3 กม. สูงจากน้ำทะเลปานกลาง 399 เมตร  เขาพลูเป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาชัยบุรีสูงจากระดับน้ำทะเล 178 เมตรและเขาบ่อลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาชัยบุรี สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 138 เมตร นอกจากนี้ยังมีเขาหินปูนลูกโดดกระจายตัวอยู่ทัวไปทางตะวันตกของเขาชัยบุรี ได้แก่ เขาวัดลิง เขารุน เขานางชี เขาพนมวังก์ ระหว่างเขาเหล่านี้มีเส้นน้ำที่สำคัญหลายสายไหลผ่านและสามารถเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา (อมรรัตน์ พิยะกูล 2551 : 90)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21-24

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 22–24 (พงศาวดารเมืองพัทลุง)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ในหนังสือ “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมาลายู ร.ศ.121” กล่าวถึงร่องรอยกำแพงเมืองเก่าที่เขาชัยบุรี สันนิษฐานว่าคือเมืองพัทลุงเดิม

ชื่อผู้ศึกษา : สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาเอกสาร

ผลการศึกษา :

เสนองานวิจัยเรื่อง “พุทธศาสนาแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกสมัยกรุงศรีอยุธยา” โดยศึกษาแผนที่ภาพวัดในลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกที่เขียนในสมัยอยุธยาและทำการสำรวจวัดต่างๆ กล่าวว่ามีการย้ายเมืองพัทลุงมาตั้งที่เขาชัยสนราว พ.ศ.2185 ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ 2523 : 18 -19)

ชื่อผู้ศึกษา : ชัยวุฒิ พิยะกูล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจโบราณวัตถุและโบราณในเมืองพัทลุงตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง “โบราณวิทยาเมืองพัทลุง” กล่าวถึงเมืองชัยบุรีว่าน่าจะเป็นเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากพบร่องรอยกำแพงเมืองและคูเมือง พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปสำริด เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงและเครื่องถ้วยสังคโลก

ชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีประเทศไทย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจแหล่งโบราณคดีในพัทลุง โดยกล่าวถึงแหล่งโบราณคดีถ้ำพระเขาชัยบุรี พบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ พระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ประดับผนังถ้ำ พระพุทธรูปปางสมาธิและประทับยืนสำริด กำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยา

ชื่อผู้ศึกษา : พิริยะ ไกรฤกษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศึกษาโบราณวัตถุที่พบในเมืองพัทลุงและแบ่งศิลปกรรมออกเป็น 2 ยุคกว้างๆ คือ 1.ศิลปกรรมที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ.1200-1450 2.ศิลปกรรมที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ.1850–2310 แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ - ในช่วงพ.ศ.1850–1950 แสดงให้เห็นถึงอิทธิผลของอยุธยาตอนต้นและพบเครื่องถ้วยจีน - ในช่วง พ.ศ.2000-2150 เป็นช่วงที่ความเจริญอยู่ที่วัดเขียนบางแก้ว -ในปี พ.ศ.2150-2310 ความเจริญจึงย้ายไปบริเวณเมืองชัยบุรี ศิลปกรรมที่พบมีความสัมพันธ์กับนครศรีธรรมราชและอยุธยา ศิลปกรรมที่พบ ได้แก่ เจดีย์ที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูปสำริดและใบเสมาหินทราย

ชื่อผู้ศึกษา : ทิวา ศุภจรรยา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “สภาพภูมิศาสตร์และการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา” กล่าวถึงเมืองโบราณเขาชัยสนว่ามีความคล้ายคลึงกับเมืองโบราณที่หัวเขาแดง โดยเรียกเมืองทั้งสองว่าเมืองป้อมปราการที่เลือกทำเลติดภูเขาและอาศัยแนวภูเขาป้องกันทางธรรมชาติ เมืองโบราณเขาชัยบุรีตั้งอยู่ในบริเวณไม่ไกลจากช่องเขาไปสู่ทะเลอันดามัน เมืองทั้ง 2 สร้างขึ้นพร้อมๆกันและมีความสัมพันธ์กันทางด้านการค้าและการป้องกันเมือง (ทิวา ศุภจรรยา 2540 : 8-9)

ชื่อผู้ศึกษา : ชัยวุฒิ พิยะกูล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

เสนอผลงานวิจัยเรือง “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองพัทลุงเก่าเขาชัยสน อำเภอเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง” กล่าวว่าเมืองพัทลุงเก่าเขาชัยบุรีมีความสัมพันธ์กับเมืองสงขลาหัวเขาแดงที่สร้างโดยดาโต๊ะ โมกอลล์ เมื่อประมาณ พ.ศ.2153 – 2155 ตรงกับสมัยพระเอกาทศรส โดยเมืองชัยบุรีน่าจะสร้างขึ้นราว พ.ศ.2192 เมื่อเมืองสงขลายึดเมืองพัทลุง แล้วเมืองสงขลาได้ส่งคนใกล้ชิดมาปกครองตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 จนกระทั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ราว พ.ศ.2310

ชื่อผู้ศึกษา : อมรรัตน์ พิยะกูล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์เรื่อง “พัฒนาการของชุมชนโบราณในจังหวัดพัทลุงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24” โดยศึกษาและสำรวจแหล่งโบราณคดีทั้งหมดในจังหวัดพัทลุงตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 โดยมีการกล่าวถึงหลักฐานที่พบภายในเมืองพัทลุงและกำหนดอายุสมัยของเมืองโบราณชัยบุรีให้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-24

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองโบราณชัยบุรี สันนิษฐานว่ามีการใช้พื้นที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-24 โดยช่วงหนึ่งอาจใช้เป็นศูนย์กลางของเมืองพัทลุง ดังที่ปรากฎหลักฐานทางด้านเอกสาร เช่นในจดหมายเหตุของ De Lamane (เขียนขึ้นราว พ.ศ.2229) กล่าวถึงเมืองพัทลุงโดยบันทึกถึงการสร้างกำแพงและแบบแปลนของป้อมปราการของเมืองพัทลุง จากลักษณะของผังเมืองที่ปรากฏในเอกสารสันนิษฐานว่าคือเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรีและในพงศาวดารเมืองพัทลุง (รวบรวมราว พ.ศ.2460) ก็กล่าวถึงการสร้างเมืองชัยบุรีช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21

ลักษณะผังเมืองเป็นเมืองป้อมปราการ คือ สร้างเมืองโดยเลือกทำเลที่ตั้งติดภูเขาและอาศัยภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ ส่วนบริเวณพื้นที่ราบมีการขุดคูเมืองและสร้างกำแพงปิดกั้นช่องเขาเอาไว้ คล้ายกับเมืองหัวเขาแดงของสงขลา  

เมืองโบราณชัยบุรีปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่สำคัญ ดังนี้

1.กำแพงเมือง เป็นเมืองที่มีกำแพงถืออิฐถือปูนล้อมรอบตัวเมือง โดยสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบเขา 3 ลูก คือ เขาชัยบุรี เขาพลู และเขาบ่อลา กำแพงเมืองมี 3 ด้าน คือ

ทิศเหนือก่อเชื่อมจากเขาวัดเขาไปยังเขาบ่อลาด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเป็นสวนยางปรากกฏแนวอิฐและคูเมือง

ทิศตะวันออกก่อกำแพงจากเขาชัยบุรีไปยังเขาพูลต่อไปยังวัดเขาทางด้านทิศเหนือ ปัจจุบันยังเห็นคูเมืองทางด้านทิศเหนืออยู่

ทิศตะวันตกก่อกำแพงจากเขาชัยบุรีไปยังเขาบ่อลา

ทิศใต้มีเขาชัยบุรีเป็นป้อมปราการธรรมชาติ

ปัจจุบัน สภาพกำแพงเมืองชัยบุรี เหลือเพียงส่วนฐานสามารถเห็นร่องรอยได้ชัดเจนบริเวณช่วงเขาพูลไปจดเขาวัดเขาด้านทิศเหนือซึ่งมีซากอิฐเหลืออยู่บางช่วงและกำแพงเมืองด้านทิศเหนือห่างจากเขาบ่อลาประมาณ 50-100 เมตร

2.วัดเขา ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.ชัยบุรี ตั้งอยู่บนเขาวัดเขาซึ่งอยู่บริเวณกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ คือ พบว่ามีการก่ออิฐเป็นชั้นจำนวน 3 ชั้นล้อมรอบเขาวัดเขาไว้ทั้ง 4 ด้าน(ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงยอดเขา) บนยอดเขาวัดเขามีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนซึ่งมีส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ 5 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร  รูปแบบลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรมกำหนดอายุอยู่อยุธยาตอนปลายจนถึงช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สภาพปัจจุบันได้รับการบูรณะหลายครั้ง  

นอกจากนี้พบซากวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นอยู่ตรงบริเวณชั้นสองเขาวัดเขา แต่เหลือเพียงซากอิฐ ส่วนพระพุทธไสยาสน์ถูกทำลายเหลือเพียงพระเศียร มีขนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  โบราณวัตถุประเภทอื่นที่พบบริเวณวัดเขา ได้แก่ แผ่นเงินดุนลายรูปพระพุทธรูปจำนวน 7 แผ่นพบภายในเจดีย์วัดเขา และชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้น เป็นต้น

3.ถ้ำพระเขาเมือง หรือถ้ำพระนอน ตั้งอยู่หมู่ 1 ต.เขาชัยบุรี ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ปั้นด้วยปูนขาวติดผนังทางด้านทิศตะวันตก พระเศียรหันไปทางทิศใต้ มีขนาดยาว 17 เมตร ปัจจุบันพระเศียรและพระพักต์ถูกกะเทาะออกไป ภายในถ้ำพบเศษภาชนะดินเผาและพระพุทธรูป

4.วัดในยอ (ร้าง) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ต.ชัยบุรี เป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป บริเวณนี้เคยพบใบเสมาหินทรายสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันอยู่ที่อุโบสถวัดแจ้ง

5.ในตึก ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของคลองเมือง มีคูน้ำหรือห้วยหรั่งล้อมรอบ บริเวณนี้มีเนินดินและเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป สันนิษฐานว่าเป็นซากอาคาร

6.เสื้อเมือง ตั้งอยู่ทางขวาของคลองเมือง หรือ ทางทิศใต้จากบริเวณในตึก มีคลองเมืองกั้น มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร กลางเนินมีการสร้างศาลาขนาดเล็กคร่อมหลักไม้ตะเคียนทอง ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณนี้คือที่ตั้งของเสื้อเมือง

7.วัดใหม่(ร้าง) ตั้งอยู่ที่ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน บริเวณนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ เป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากอาคาร พบโบราณวัตถุประเภทกระเบื้องเชิงชายคล้ายกับกระเบื้องเชิงชายที่พบที่วัดหลวงธรรมิกราชในสมัยพระเจ้าปราสาททองช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ,กระเบื้องกาบกล้วย กระปุกสีขาว, พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์  ขนาด 36 ซม.กำหนดอายุสมัยอยุธยาตอนปลาย,กระพรวนสำริด,ชิ้นส่วนกล้องยาสูบ เป็นต้น

8.ถ้ำเขาวัดลิงค์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 อ.ควนขนุน บริเวณนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้  ทางทิศตะวันตกของเขาวัดลิงค์ ลักษณะเป็นเพิงหิน เดิมมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่จำนวน 5 องค์ แต่ปัจจุบันได้ถูกทำลาย โบราณวัตถุที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ พระพุทธรุปสำริด เงินและทองคำ เงินนโม เงินพดด้วงทำด้วยปูนขาว (ชัยวุฒิ พิยะกูล 2541 : 160)

9.ราพระ ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง ทางด้านทิศตะวันออกของเขาชัยบุรี มีลักษณะเป็นเพิงหิน อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 100 เมตร ภายในเพิงหินมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย สภาพชำรุดเสียหายและมีร่องรอยการพอกปูนทับในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย

10.ถ้ำพระเขานางชี ตั้งอยู่บนเขานางชีทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักปฏิบัติธรรมของแม่ชี ภายในถ้ำมีภาพเขียนสีอยู่ทางด้านซ้ายมือ ภาพเขียนสีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นภาพพระเจดีย์องค์ใหญ่และองค์เล็ก ภาพที่สองตอนบนเป็นภาพเจดีย์คล้ายเจดีย์องค์ใหญ่ในภาพแรก ด้านข้างมีต้นไม้ ตอนล่างของภาพเป็นภาพพระพุทธรูปประทับนปางมารวิชัย ด้านข้างมีพระพุทธรูปประทับยืนแสดงปางประทานอภัยหลายองค์ซึ่งอาจหมายถึงเหล่าสาวก

นอกจากนี้ เมืองโบราณชัยบุรียังพบโบราณวัตถุอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในความครอบครองของรัฐและเอกชนอีกจำนวนมาก โบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ปืนใหญ่หล่อจากเหล็กจำนวน 2 กระบอก มีความยาวจากปากถึงท้ายกระบอก 256 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 22 เซนติเมตร บริเวณเหนือรังปืนมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของบริษัทอีสต์อินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือ V.O.C กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ปัจจุบันย้ายไปเก็บรักษาที่ฐานเสาธงโรงเรียนพัทลุง, ปืนใหญ่ขนาดเล็ก 4 กระบอก ปัจจุบันย้ายไปเก็บรักษาที่หน้าเรือนจำพัทลุง 2 กระบอกและค่ายอภิบริรักษ์ 2 กระบอก ชิ้นส่วนตุ๊กตาเคลือบขาวรูปคนสองคนจูงมือกัน กำหนดอายุอยู่ในสมัยราชวงศ์ชิง ราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้น

สรุปความสำคัญของเมืองโบราณชัยบุรี จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีสันนิษฐานว่าเมืองชัยบุรีเป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-24 สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของเมืองพัทลุงในช่วงหนึ่ง จากการมีชัยภูมิที่ดีในการป้องกันคือมีป้อมปราการทางธรรมชาติ สามารถเข้าออกบริเวณทะเลสาบสงขลาได้สะดวกและอยู่ไม่ไกลจากช่องเขาที่ข้ามไปทางตะวันตก ทำให้เมืองชัยบุรีกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย

 

ตำนานที่เกี่ยวข้อง

จดหมายเหตุของ De Lamane วิศวกรชาวฝรั่งเศสที่ได้รับพระราชโองการจากสมเด็จพระนารายณ์ให้เดินทางไปทำแผนที่และแบบแปลนสำหรับสร้างป้อมปราการเมืองยุทธศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยา เช่น เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เป็นต้น โดยออกเดินทางจากบางกอกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2229 จากรายงาน เดอ ลามาร์เรียกพัทลุงว่า “Bourdelun” กล่าวถึงเมืองพัทลุงว่า “เมืองพัทลุงตั้งอยู่ด้านหลังของเมืองสงขลาซึ่งเป็นเกาะ มีสภาพเหมาะสมสำหรับเป็นที่มั่นป้องกันเนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบอยู่ 3 ลูกทำให้เข้าถึงตัวเมืองได้ยาก ภูเขาเหล่านี้ยังเป็นหินแข็งแรงยากแก่การโจมตี มีประชากรอาศัยอยู่พอสมควร นอกจากนี้ยังแสดงตัวแผนที่และแบบแปลนสำหรับการสร้างป้อมปราการที่เมืองพัทลุง กล่าวถึงเส้นประที่แสดงแนวกำแพงเดิมที่ทำด้วยไม้ ส่วนแนวเส้นสีดำ คือ แนวกำแพงและป้อมปราการที่เขาร่างแปลนไว้พร้อมแนะนำว่าให้สร้างด้วยอิฐ และสำรวจป้อมเล็กๆป้อมหนึ่งที่มีการลงมือสร้างแล้วและก่อสร้างเสร็จก่อนเขาจะเดินทางกลับ โดยแนะนำให้กำแพงเมืองมีความหนา 12 ฟุต” จากแผนผังสันนิษฐานว่าเมืองพัทลุงในจดหมายเหตุฉบับนี้น่าจะหมายถึงเมืองชัยบุรี (ชัยวุฒิ พิยะกูล  2541 : 125)

พงศาวดารเมืองพัทลุง เรียบเรียงโดยหลวงศรีวรฉัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เมื่อ ปี พ.ศ. 2460 มีเนื้อหาทั้งหมด 6 ตอน ตอนที่ 1 -4 เป็นเรื่องราวของเมืองพัทลุงตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 5 -6 เป็นสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเรื่องของการปกครองสมัยโบราณ ในส่วนตอนแรกจะมีลักษณะเนื้อหาคล้ายตำนานนางเลือดขาวกล่าวการตั้งเมืองพัทลุงและตอนที่สองจะกล่าวถึงเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา โดยเนื้อหาในตอนนี้จะเรียบเรียงจากหนังสือพระราชทานที่กัลปนาให้แก่วัดในลุ่มทะเลสาบสงขลา ส่วนที่กล่าวถึงเมืองไชยบุรี คือ กล่าวถึงเพรีชีผัว เพรีมุยเมียได้รับการโปรดเกล้าจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่ตั้งบริเวณเขาไชยบุรีโดยย้ายจากบริเวณหัวเขาแดงปากน้ำเมืองพัทลุงเนื่องจากเหมาะแก่การป้องกันข้าศึกและโจรสลัด  ต่อมาในปี พ.ศ. 2291 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าให้พระยาราชบังสัน (ตะตาที่เป็นแขกอิสลาม) ให้ออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุงที่เขาไชยบุรี สมัยนี้ได้สร้างป้อมกำแพงเชื่อมกับเขาล้อมไว้ทั้งเมือง มีปืนบาเหรี่ยมสองกระบอก กล่าวถึงเมืองขึ้นของเมืองพัทลุงว่ามีเมืองจัตวาสี่เมือง คือเมืองปะเหลี่ยน จะนะ สงขลา เทพา เมืองพัทลุงตั้งอยู่บนเขาไชยบุรี จน พ.ศ. 2310 ที่กรุงศรีอยุธยาแพ้สงครามกับพม่า (หลวงศรีวรวัตร  2462 : 26)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 5 (ภาคใต้). กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534.

ชัยวุฒิ พิยะกูล. โบราณวิทยาเมืองพัทลุง. พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, 2525.

ชัยวุฒิ พิยะกูล. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองพัทลุงเก่าเขาชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง. สงขลา : สถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2541.

ทิวา ศุภจรรยา. “สภาพภูมิศาสตร์และการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา” ใน เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 2 เรือง พัทลุงศึกษา : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมบริเวณลุ่มทะเทสาบสงขลา ณ ลำปำรีสอร์ท อำเภอเมือง พัทลุง วันที่ 23 -25 สิงหาคม พ.ศ. 2536 . (เอกสารอัดสำเนา), 2536.

พิริยะ ไกรฤกษ์. “ประวัติศาสตร์ศิลปะพัทลุง (ระหว่างพ.ศ. 1200 – 2310)” ใน รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีพัทลุง. พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, 2531.

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์. จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมาลายู ร.ศ. 121. พระนคร : กรมศิลปากร, 2517.

สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. พุทธศาสนาแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกสมัยกรุงศรีอยุธยา. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์, 2523.

ศรีวรวัตร (พิณ จันทรโรจนวงศ์). พงศาวดารเมืองพัทลุง ประชุมพงศาวดารเล่มที่ 12. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2507.

อมรรัตน์ พิยะกูล. “พัฒนาการของชุมชนโบราณในจังหวัดพัทลุงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง