โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : บ้านมะลิวัลย์
ที่ตั้ง : เลขที่ 39 ถ.พระอาทิตย์
ตำบล : ชนะสงคราม
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.762495 N, 100.493467 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
อยู่ริมถนนพระอาทิตย์ ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ
รถประจำทาง : 3 , 6 , 9 , 15 , 19 , 30 , 32 , 33 , 39 , 53 , 64 , 65 , 68 , 82
รถปรับอากาศ : 3 , 32 , 68 , 506
ท่าเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าพระอาทิตย์
ปัจจุบันเป็นที่ทำการของสำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations - FAO)
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 140ง วันที่ 25 กันยายน 2552
โบราณสถานได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ปัจจุบันเป็นที่ทำการของสำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations - FAO)
แม่น้ำเจ้าพระยา
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท พีเนสส์ ชอยส์ เทสติ้ง จำกัด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2557, พ..ศ.2558
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดตรวจ, อนุรักษ์โบราณสถาน
ผลการศึกษา :
ในระหว่างปี พ.ศ.2557 - 2558 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินงานอนุรักษ์วังมะลิวัลย์ ในโครงการยกปรับระดับอาคารบ้านมะลิวัลย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้ว่าจ้างบริษัท พีเนสส์ ชอยส์ เทสติ้ง จำกัด ดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
สำรวจและจัดทำผังแนวเขตโบราณสถานวังมะลิวัลย์ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ศึกษาและตรวจสอบข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ศิลปกรรมและวัฒนธรรม บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกองโบราณคดีดำเนินการสำรวจโบราณสถานและอาคารเก่าในเขตรัตนโกสินทร์ รวมถึงวังมะลิวัลย์วังมะลิวัลย์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกบริเวณป้อมอิสินธร ป้อมปราการกรุงรัตนโกสินทร์ที่สร้างแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ด้านทิศใต้ติดวังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช ถัดไปเป็นวังของกรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์ (ปัจจุบันคือ ศูนย์ข้อมูลและกองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร) และด้านทิศเหนือติดท่าเรือจ้างของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ถัดไปเป็นวังกรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ (ปัจจุบันเรียกว่า บ้านเจ้าพระยา) หน้าวังหันออกริมแม่น้ำ หลังวังออกถนนพระอาทิตย์ เป็นวังหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวังริมแม่น้ำเลียบถนนพระอาทิตย์ ที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ที่เริ่มต้นตั้งแต่ใต้ท่าช้างวังหน้าสิ้นสุดถึงป้อมพระสุเมรุ (กรมศิลปากร 2564)
เดิมที่ดินในบริเวณวังมะลิวัลย์นี้เป็นของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย, ทอเรียะ หรือ ทองชื่นคชเสนี) ขุนนางมอญที่ได้อพยพตามบิดา คือ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่งคชเสนี) เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อราว พ.ศ. 2318 ซึ่งที่ดินในบริเวณวังมะลิวัลย์ในสมัยนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญ และมีเจ้าพระยามหาโยธาเป็นหัวหน้า และที่ดินได้ตกทอดเป็นมรดกต่อมายังทายาทในเวลาต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดากลิ่น ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลิ่น (ซึ่งเป็นเหลนโดยตรง) ในปี พ.ศ. 2398 โดยได้รับที่ดินและเรือนไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมอิสินธรเพื่อเป็นของขวัญถวายแก่พระราชกุมารตั้งแต่แรกประสูติ เมื่อพระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์) ได้เสด็จเข้าในพิธีโสกันต์ ใน พ.ศ.2410 ได้กราบถวายบังคมลาออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวังตามโบราณราชประเพณี พร้อมกันกับเจ้าจอมมารดากลิ่น โดยออกมาประทับ ณ วังริมถนนพระอาทิตย์
สิ่งก่อสร้างเมื่อแรกสร้าง ประกอบด้วย พระตำหนักก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นหลังคาทรงปั้นหยา เรือนไทยขนาด 3 ห้องของเจ้าจอมมารดากลิ่นซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระตำหนักเรือนแพริมแม่น้ำหลายหลังและเรือนบริวารสำหรับผู้รับใช้หญิงทางทิศเหนือของพระตำหนัก ส่วนเรือนของเจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี มหาดเล็ก คนรับใช้ฝ่ายชาย และโรงม้า โรงรถม้า โรงรถยนต์อยู่ในตรอกวัดชนะสงคราม เจาะกำแพงเมืองเป็นประตูเข้าออกวังพระตำหนักและเรือนต่างๆ ไม่ปรากฏสภาพแล้ว แต่สันนิษฐานว่าพระตำหนักเดิมนี้ตั้งอยู่บริเวณอาคารสำนักงาน FAO 4 ชั้น ในปัจจุบัน (กรมศิลปากร 2564)
สำหรับพระตำหนักที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นพระตำหนักที่สร้างในขณะที่กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษาโดยทรงได้รับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างพระตำหนักใหม่ให้เหมาะสมแก่การใช้รับเสด็จในงานต่างๆโดยมีนายเออ โคล มันเฟรดี (เอกฤทธิ์ หมั่นเฟ้นดี หรือมีชื่อเดิม แอร์โกเล ปีเอโตร มันเฟรดี, Ercole Pietro Manfredi) สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างถวายจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2460 (กรมศิลปากร 2564) (ป้อมอิสินธรและกำแพงเมืองน่าจะถูกรื้อลงในช่วงสร้างวังมะลิวัลย์ในระหว่าง พ.ศ.2458 - 2460)
ลักษณะพระตำหนักใหม่นี้ มีการตกแต่งภายในท้องพระโรงเลียนแบบศิลปะขอมตามพระประสงค์ในพระองค์ โดยได้ความคิดจากการเสด็จเยือนนครวัด นอกจากนี้บริเวณระหว่าง 2 พระตำหนักมีกรงนกเหล็กขนาดใหญ่สูงเท่าตึก 2 ชั้น มีเขามอ น้ำตก บ่อน้ำ ต้นไม้นานาพันธุ์ มีนกกะเรียนหลายตัวอยู่ร่วมกับกระต่าย อีกทั้งมีรถไฟไอน้ำขบวนเล็กสำหรับเด็กวิ่งบนราง อยู่ภายในกรงนกด้วย
ภายหลังจากกรมพระนเรศรวรฤทธิ์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2468 ที่ดินพร้อมตำหนักนั้นอยู่ในความดูแลของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร พระโอรสองค์ใหญ่เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งต่อมาได้ทูลเกล้าฯ ถวายขายที่ดินรวมเนื้อที่ 879 ตารางวา แก่พระคลังข้างที่ใน พ.ศ. 2469 และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับมอบมาปกครองดูแลและจัดประโยชน์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา
วังมะลิวัลย์ ได้ถูกทิ้งร้างไว้จนกระทั่งในตอนต้นรัชกาลที่ 8 จึงใช้เป็นที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมเสนาธิการทหารบกได้จัดตั้งโรงเรียนสืบราชการลับขึ้น ณ บ้านมะลิวัลย์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2479 และในภายหลังที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งควบคุมดูแลสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่นายปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ จึงใช้บ้านมะลิวัลย์เป็นฐานลับสำหรับกลุ่มเสรีไทยที่ลอบเข้ามาจากต่างประเทศ และใช้ห้องลับใต้หลังคาเป็นที่หลบซ่อนและติดต่อทางวิทยุกับหน่วยราชการลับของสหรัฐอเมริกา (กรมศิลปากร 2564)
ต่อมาหลังจากที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในการประชุมใหญ่ในปี พ.ศ. 2496 ที่ประชุมได้มีมติ ให้ตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียเป็นการถาวรที่กรุงเทพมหานคร อันนำไปสู่การจัดทำความตกลงระหว่าง FAO และรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและตะวันออกไกล (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก)โดยที่รัฐบาลไทยมีหน้าที่จัดหาที่ตั้งสำนักงาน FAO กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ขอเช่าบ้านมะลิวัลย์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่อาคารสำนักงาน โดยได้มีการติดต่อขอเช่ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ต่อมาได้มีการขยายงานโดยได้สร้างตึกทำการ 4 ชั้นขึ้นใหม่ทางด้านเหนือของตำหนัก ใน พ.ศ. 2511 และสร้างตึกงานโครงการทางด้านทิศใต้ใน พ.ศ. 2539 ส่วนตำหนักเดิมได้จัดให้เป็นห้องสมุดสำหรับค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการเกษตร วังมะลิวัลย์จึงเปลี่ยนหน้าที่เป็นที่ทำการระหว่างประเทศตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (กรมศิลปากร 2564)
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ตำหนักวังมะลิวัลย์ เป็นอาคารแบบยุโรป ก่ออิฐถือปูน 2ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว ภายในอาคารท้องพระโรงเป็นห้องโถงสูงใหญ่ มีเฉลียงรายรอบชั้นล่าง และระเบียงรายรอบชั้นบน บนเพดานห้องโถงและตามหัวเสาปั้นลายปูนเลียนแบบศิลปะขอมอย่างวิจิตรบรรจง ด้วยกรมพระนเรศวรฤทธิ์ได้เสด็จทอดพระเนตรนครวัดในเขมรมาก่อนออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยนายเออ โคล มันเฟรดีหรือนายเอกฤทธิ์หมั่นเฟ้นดีสถาปนิกชาวอิตาเลียน ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่กระทรวงโยธาธิการ หลังคาเป็นหลังคาทรงมะนิลามุงกระเบื้องว่าวมีการตกแต่งเป็นพิเศษบนชั้นหลังคา มีการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าลูการ์น (lucarne) หรือ Dormer window ซึ่งเป็นช่องหน้าต่างเล็ก ๆ บริเวณหลังคาในการระบายไอแดดในห้องใต้ชั้นหลังคา โดยลูการ์นมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมยื่นออกมาจากชั้นหลังคา ตัวห้องทำเป็นบานหน้าต่างคู่มีหลังคาคลุมเป็นปีกสองข้าง เรียก ลูการ์นทรงบันไดขาหยั่งการตกแต่งภายในอาคารแบ่งลักษณะออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของท้องพระโรง และส่วนของที่ประทับภายในท้องพระโรง (กรมศิลปากร 2564)
ในระหว่างปี พ.ศ.2557 - 2558 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินงานอนุรักษ์วังมะลิวัลย์ ในโครงการยกปรับระดับอาคารบ้านมะลิวัลย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้ว่าจ้างบริษัท พีเนสส์ ชอยส์ เทสติ้ง จำกัด ดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2562)
หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ
วังมะลิวัลย์เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดากลิ่น ตัวอาคารสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโดยนายเออโคล มันเฟรดี สถาปนิกชาวอิตาเลียน สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2460 ในพระตำหนักตกแต่งท้องพระโรงเลียนแบบศิลปะขอมตามพระประสงค์ ระหว่างตึกมีสวนเขามอ น้ำตก บ่อน้ำ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2468 วังมะลิวัลย์จึงเป็นของพระคลังข้างที่ในเวลาต่อมา ปัจจุบันวังมะลิวัลย์เป็นที่การของสำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบสิ่งก่อสร้างสำคัญ ดังนี้
1. ป้อมอิสินธร
จากการขุดค้นพบฐานรากบางส่วนของป้อมอิสินธรอยู่ภายใต้อาคารวังมะลิวัลย์ ฐานรากนี้เริ่มพบที่ระดับลึกจากผิวดิน 140 เซนติเมตร ก่อเป็นแนวอิฐ อิฐที่ใช้มีขนาด 15x30x5 เซนติเมตร มีเสาไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 - 4 นิ้ว ปักเรียงกันเป็นระยะขนานตามแนวอิฐทั้งสองฝั่ง โดยปักเป็นคู่ๆ เพื่อกันดินเคลื่อนตัว
2. ถนนโบราณนอกกำแพงเมือง
ถนนโบราณพบใต้ท้องพระโรง เป็นถนนอิฐก่อขอบทั้งสองข้างเรียงขนานกับแนวกำแพงเมือง พื้นถนนก่ออิฐตะแคงหนา 1 ชั้นอิฐ ด้านล่างรองด้วยอิฐหักหนาประมาณ 45 เซนติเมตร ขอบถนนก่อด้วยอิฐวางนอนหนา 4- 5 ชั้นอิฐ
ถนนโบราณที่พบขนานไปกับกำแพงเมืองด้านนอก สันนิษฐานว่าเป็นถนนนอกกำแพงเมืองที่มีมาตั้งแต่คราวสร้างป้อมและกำแพงเมืองในรัชกาลที่ 1
กรมศิลปากร. "วังมะลิวัลย์ (วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.
ชิดชนก กฤดากร, พลโท หม่อมเจ้า. นิทานชีวิตจริงบางตอนของข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, 2541.ธำรงศักดิ์อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีและราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น) .นครหลวง: บรรณกิจ,2515
บริษัท พีเนสส์ ชอยส์ เทสติ้ง จำกัด. รายงานผลการดำเนินงาน โครงการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณวังมะลิวัลย์. เอกสารอัดสำเนา, 2558.
ผุสดี ทิพทัส. ช่างฝรั่งในกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.
เพ็ญสุภา สุขคตะ. ใจอินทร์ นามาสถาปัตย์.กรุงเทพฯ: สารคดี,2547.
วุฒิชัย มูลศิลป์ และกนกวลี ชูชัยยะ. เจ้านายในราชวงศ์จักรีเล่ม 1. กรุงเทพฯ: คอมแพคพริ้นท์, 2542.
วีรวัฒน์ หงสกุล. ตำนานบ้านมะลิวัลย์. กรุงเทพฯ: องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค, 2541.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ: มติชน,2546.
อุดม ประมวลวิทยา. 100 เจ้าฟ้าและเสนาบดี. พระนคร: คลังวิทยา, 2505.