วัดพิชยญาติการาม


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : วัดพิชัยญาติการาม, วัดพิชัยญาติ

ที่ตั้ง : ถ.สมเด็จเจ้าพระยา

ตำบล : สมเด็จเจ้าพระยา

อำเภอ : เขตคลองสาน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.733195 N, 100.496801 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองสาน, คลองวัดอนงคาราม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่ที่ 685 ถนนประชาธิปก แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600 เมื่อลงจากสะพานพระปกเกล้า มายังฝั่งธนบุรีแล้ว ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยา เข้าไปประมาณ 100 เมตร วัดจะอยู่ทางฝั่งขวามือ มีรถเมล์สาย 6 ผ่าน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

นอกจากสถานที่และโบราณสถานวัตถุที่มีความสำคัญและงดงามแล้ว วัดพิชัยญาติยังโดดเด่นในเรื่องเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม โดยสามารถติดสอบถามรายละเอียดโทร. 0-2861-4319, 0-2438-4442 หรือ https://www.facebook.com/phichaiyat/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพิชยญาติการาม, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

- ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง การกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน ประกาศในราชกิจจนุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
- ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจนุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 75 วันที่ 16 สิงหาคม 2520 

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เป็นพระอารามหลวง ที่ยังคงมีการใช้งานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองสาน, คลองวัดอนงคาราม

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 3

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2384

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจและจัดทำผังแนวเขตโบราณสถานวัดพิชัยญาติ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544, พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ขุดตรวจ, ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

1.ปรับปรุงพื้น คสล. เนื้อที่ประมาณ 430 ตารางเมตร 2.สร้างรั้วเหล็กโปร่งและประตูด้านหน้าถนนทางเข้าสถานีตำรวจสมเด็จเจ้าพระยายาวประมาณ 6.00 ม. พร้อมประตูกว้าง 3.00 ม. 3.สร้างรั้วสังกะสีสีเขียวยาวประมาณ 40.00 ม. สูงประมาณ 1.80 ม. 4.สร้างกำแพงกันดินตรงรอยตัดของป้อมฯ สูงกว่าแนวเดิมประมาณ 0.20 ม. ยาวประมาณ 6.70 ม. 5.ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณที่ปรับปรุง จำนวน 3 จุด และที่ศาลาประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำป้อมฯ จำนวน 4 จุด พร้อมทั้งปรับปรุงทางขึ้นศาลและบริเวณโดยรอบศาลฯ 6.ดำเนินงานทางโบราณคดี ได้แก่ สำรวจสภาพเบื้องต้น และจัดทำแบบแผนผังสภาพโบราณสถาน และกำหนดจุดในการขุดตรวจ จำนวน 3 หลุม เพื่อศึกษาสภาพพื้นเดิม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง และระดับพื้นเดิมของโบราณสถาน 7.บูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตพุทธาวาส ได้แก่ พระอุโบสถ เจดีย์ด้านหน้าพระอุโฐสถ ซุ้มเสมา ศาลาราย ซุ้มประตู กำแพงแก้วรวมถึงด้านนอกกำแพงแก้ว ได้แก่ ศาลาท่าน้ำ สะพาน และอาคารศาลาการเปรียญเก่า 8.บูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศในเขตสังฆาวาส ได้แก่ บริเวณหมู่กถฏิสงฆ์ จำนวน 25 หลัง 9.รื้อย้าย ออกแบบอาคารพักอาศัย ปรับปรุงสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ในบริเวณชุมชนที่อยู่ด้านหลังปรางค์ประธานและด้านหน้าวัด โดยประสานงานร่วมกับ เขตคลองสาน และการเคหะแห่งชาติ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจสภาพพื้นที่และสภาพอาคารปัจจุบันของหมู่กุฏิคณะใต้ วัดพิชัยญาติการาม ในโครงการบูรณะโบราณสถานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี : การสำรวจสภาพปัจจุบัน หมู่กุฏิคณะใต้ วัดพิชัยญาติการาม กรุงเทพมหานคร

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

อนุรักษ์พระปรางค์ วัดพิชยญาติการาม

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

ก่อสร้างสะพานสองสมเด็จฯ บริเวณหน้าวัดพิชัยญาติการาม วรวิหาร ถนนสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, ระวีวรรณ แสงวัณณ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

วัดพิชยญาติการามจะดำเนินการบูรณะอาคารภายในวัด กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการบูรณะโบราณสถานและพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยได้รับการสนับสนุนงบบประมาณบางส่วนจากตระกูลบุนนาค ทั้งนี้ การขุดค้นทางโบราณคดีจะทำให้ข้อมูลหลักฐานด้านการใช้พื้นที่ในอดีต และนำไปสนับสนุนการออกแบบการอนุรักษ์และพัฒนาวัดต่อไป

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพิชยญาติการาม หรือวัดพิชัยญาติ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2384 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จพระยาองค์น้อย เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา ได้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ทั้งวัด เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยขณะนั้นเป็นจางวางพระคลังสินค้า มีเรือสำเภาค้าขายกับจีน จึงได้นำอับเฉาเรือ กระเบื้องสี และหินมาจากจีน สถาปัตยกรรมวัดนี้มีลักษณะแบบไทยผสมจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น เมื่อบูรณะวัดเสร็จแล้ว แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระยาญาติการามพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "วัดพระยาญาติการาม" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์ และเปลี่ยนนามใหม่เป็นวัดพิชยญาติการาม หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า "วัดพิชัยญาติ" มาจนปัจจุบัน

สิ่งสำคัญ

พระอุโบสถ สร้างเป็นศิลปะแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา เนื่องจากสมัยก่อนเป็นวัดอยู่ในสวน จึงสร้างเพื่อหลบบรรดากิ่งไม้ ผลไม้ที่จะหล่นหรือหักไปกระทบหลังคาพระอุโบสถได้ องค์พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปั้น ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปโบราณรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชชินศรี โดยอัญเชิญมาจากวัดพระวิหาร หลวงเมืองพิษณุโลก นามว่า "พระสิทธารถ" หรือที่ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกท่านว่า "หลวงพ่อสมปรารถนา" ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก

พระประธานในพระอุโบสถ รูปแบบศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3-4 นามว่า "พระสิทธารถ" หรือ "หลวงพ่อสมปรารถนา" ส่วนพระพุทธรูปประดิษฐานหน้าองค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงหล่อเมื่อ พ.ศ. 2465 นามว่า พระวรวินายก

พระปรางค์ใหญ่ ขนาดโดยรอบ 33 วา 2 ศอก ส่วนสูงตลอดยอดนภศูล 21 วา 1 ศอก 10 นิ้ว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้น 4 องค์ หันพระพักตร์ไปสู่สี่ทิศ มีพระปรางค์องค์เล็ก 2 องค์ ขนาดวัดโดยรอบ 15 วา ส่วนสูงตลอดนภศูล 11 วา 1 ศอก 1 คืบ 2 กระเบียด ทิศตะวันออกเป็นที่ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอาริย์ องค์ทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง 4 รอย จำหลักด้วยแผ่นศิลา สัณนิฐานกันว่าเป็นของเก่า แต่ไม่ทราบว่านำมาจากที่ไหน

นอกจากนั้นยังมี พระเจดีย์และศาลาราย

ในปี 2549 วัดพิชยญาติการามจะดำเนินการบูรณะอาคารภายในวัด กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการบูรณะโบราณสถานและพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยได้รับการสนับสนุนงบบประมาณบางส่วนจากตระกูลบุนนาค ทั้งนี้ การขุดค้นทางโบราณคดีจะทำให้ข้อมูลหลักฐานด้านการใช้พื้นที่ในอดีต และนำไปสนับสนุนการออกแบบการอนุรักษ์และพัฒนาวัดต่อไป

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ

1. ระดับพื้นใช้งานเดิมของวัด

ระดับพื้นใช้งานเดิมของโบราณสถานภายในกำแพงวัดบริเวณตอนกลางจะอยู่ต่ำกว่าพื้นปัจจุบัน 14 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ริมกำแพงจะต่ำกว่าพื้นปัจจุบัน 21 - 22เซนติเมตร ส่วนพื้นเดิมด้านนอกกำแพงวัดอยู่ต่ำกว่าพื้นปัจจุบัน 20 เซนติเมตร

2. การปรับปรุงพื้นที่ภายในกำแพงวัด

มีการปรับปรุงพื้นที่ภายในวัดอย่างน้อย 3 ครั้งแรก ครั้งแรกพื้นลานวัดปูด้านหินชนวน ขนาด 43x43xเซนติเมตร ต่อมาเปลี่ยนพื้นใหม่โดยใช้เป็นกระเบื้องคอนกรีตขนาด 35x50x5 เซนติเมตร กระเบื้องคอนกรีตเป็นลายขีดเฉียงเป็นเส้นขนานตลอดทั้งแผ่น ต่อมาได้ปูพื้นกระเบื้องคอนกรีตทับด้านบนสุด กระเบื้องคอนกรีตนี้ มีขนาด 50x50 เซนติเมตร

3. ร่องรอยของกำแพงแก้วเดิม

จากการขุดค้นได้พบร่องรอยของกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถเดิม ซึ่งปัจจุบันรื้อทิ้งไปแล้ว ฐานรากของกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้าง 80 เมตร อยู่ห่างจากมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระอุโบสถทางตอนเหนือประมาณ 5.20 เมตร

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม


กรมศิลปากร. "วัดพิชัยญาติการาม" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

ระวีวรรณ แสงวัณณ์. การขุดค้นที่วัดพิชยญาติการาม แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร. เอกสารอัดสำเนา, ม.ป.ป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี