พระธาตุตาดทอง


โพสต์เมื่อ 22 พ.ย. 2021

ชื่ออื่น : พระธาตุถาดทอง, พระธาตุก่องข้าวน้อย, ธาตุลูกฆ่าแม่

ที่ตั้ง : ถ.ธรรมาภินันท์

ตำบล : ตาดทอง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ยโสธร

พิกัด DD : 15.763606 N, 104.207092 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยทม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดยโสธร ในตัวเมืองยโสธร ใช้ถนนแจ้งสนิท หรือทางหลวงหมายเลข 23 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าตำบลตาดทอง (หรือมุ่งหน้าจังหวัดอุบลราชธานี) ประมาณ 9.3 กิโลเมตร จะพบถนนธรรมาภินันท์ทางซ้ายมือ (มีซุ้มธาตุก่องข้าวน้อย อยู่ปากถนน) ไปตามถนนประมาณ 750 เมตร จะพบลานจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยวของพระธาตุ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระธาตุตาดทองเป็นโบราณสถานสำคัญมากของท้องถิ่น ทั้งในตำบลตาดทอง และจังหวัดยโสธร ปัจจุบันได้รับการปฏิสังขรณ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดี และได้รับการประชาสัมพันธ์ในนาม "ธาตุก่องข้าวน้อย" ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสาธารณูปโภครองรับเพียบพร้อม ทั้งลานจอดรถขนาดใหญ่ ห้องน้ำ ทั้งยังมีร้านค้าของท้องถิ่นจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง และเนื่องจากเรื่องเล่าของพระธาตุที่เชื่อมโยงกับนิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ผู้มาสักการะ มักจะบนบานด้วยรูปปั้นควาย

พระธาตุตาดทอง เปิดให้เข้าสักการะและชมโบราณสถาน้ทุกวัน ระหว่างเวลา 8.00-17.00 น.โดยไม่เสียค่าเข้าชม โทร.045711510

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลตาดทอง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน (ธาตุถาดทอง) ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1533 วันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (ธาตุถาดทอง หรือธาตุก่องข้าวน้อย) ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 6ง วันที่ 15 มกราคม 2552 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา  


ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พระธาตุตาดทอง ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช สภาพพื้นที่เป็นที่ราบที่ก่อตัวขึ้นจากตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน ในเขตลุ่มแม่น้ำชี (ปัจจุบันแม่น้ำชีอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของพระธาตุราว 7 กิโลมตร) มีลำน้ำสำคัญที่อยู่ใกล้คือ ห้วยทม (ห้วยทมอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของพระธาตุประมาณ 500 เมตร)โดยห้วยทมเป็นลำน้ำที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำชี กับลำเซบาย 

พระธาตุตาดทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองโบราณบ้านตาดทอง โดยอยู่ห่างจากคูน้ำด้านทิศตะวันออกของเมืองไปประมาณ 300 เมตร ปัจจุบันบริเวณโดยรอบพระธาตุตาดทองเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โอบล้อมชุมชนด้วยพื้นที่เกษตรกรรมนาข้าว  ส่วนสภาพโบรษณสถานก็ได้รับการปฏิสังขรณ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดี

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

130 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี, ห้วยทม

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน ภายใต้อิทธิพลของลุ่มแม่น้ำชี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยธนบุรี, สมัยอยุธยาตอนปลาย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 24

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : หจก.สุรศักดิ์ก่อสร้าง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

บูรณปฏิสังขรณ์ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 29 กรกฎาคม 2545

ชื่อผู้ศึกษา : กา เวชกามา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2468. พ.ศ.2469, พ.ศ.2470

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โดยการนำของพ่อกำนันกา เวชกามา (ขณะนั้นเรียกกำนันว่าตาแสง) และพระครูอุปัชฌาย์คำสิงห์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส พร้อมกับชาวบ้าน ได้พากันถากถางต้นไม้เถาวัลย์ที่ปกคลุมธาตุออก ธาตุอยู่ในสภาพทรุดโทรม ยอดหักพังเหลือพอเป็นเค้าโครงไว้เท่านั้น จึงได้พากันปั้นอิฐ เมื่อเผาอิฐเสร็จก็ถึงฤดูทำนาการทำงานซ่อมแซมจึงชะงักไว้ พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็เริ่มทำการซ่อมแซมต่ออีก โดยมอบหมายให้พ่อทิดน้อย น้องชายของพ่อกำนันกา ซึ่งเป็นช่าง อุปกรณ์การซ่อมก็เอาวัสดุพื้นบ้าน มีหิน ปูน ยางบง น้ำแช่หนังควายผสมน้ำอ้อยทรายเท่านั้น ซ่อมเสร็จในปี 2470 ทำบุญฉลอง 3 วัน 3 คืน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2506

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ปี 2506 เกิดพายุดีเปรสชั่นพัดแรงฝนตกหนัก ต้นไม้หักพังบ้านเรือนราษฎร ได้รับความเสียหาย จึงทำให้ยอดธาตุก่องข้าวน้อยหักลง ได้รายงานให้กรมศิลปากรทราบ ทางกรมศิลปากรจึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมมาซ่อมแซมยอดธาตุก่องข้าวน้อยใหม่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พระธาตุตาดทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองโบราณบ้านตาดทอง โดยอยู่ห่างจากคูน้ำด้านทิศตะวันออกของเมืองไปประมาณ 300 เมตร 

ตำนานการสร้างพระธาตุตาดทองแห่งนี้ ผูกเข้ากับตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานการสร้างพระธาตุพนม โดยมีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อผู้คนในแถบรัตนบุรี ทราบข่าวการบูรณะพระธาตุพนมก็เกิดจิตศรัทธา จึงพร้อมใจกันรวบรวมวัตถุมงคลและข้าวของเครื่องใช้มีค่าต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องเงิน เครื่องทอง เพื่อนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่เมื่อเดินทางถึงบ้านตาดทองกลับได้พบกับชาวบ้านสะเดา ตำบลตาดทอง ที่ไปช่วยบูรณะพระธาตุเดินทางกลับมาบ้านเพราะการบูรณะพระธาตุพนมเสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนเหล่านั้นจึงไม่คิดจะเดินทางต่อ และได้ตกลงหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับของที่ขนมา ในที่สุดก็ได้ข้อยุติว่า จะสร้างธาตุหรือเจดีย์ขึ้นที่บ้านตาดทอง 1 องค์ และจะนำข้าวของเหล่านี้บรรจุไว้ในเจดีย์องค์นี้ ชาวบ้านสะเดาจึงนำถาดทองที่อัญเชิญของมีค่านำไปบรรจุในพระธาตุพนม มารองรับของมีค่าที่ชาวรัตนบุรีจะนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่กำลังสร้าง จึงเรียก “พระธาตุถาดทอง” หรือ “พระธาตุตาดทอง”

ในการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรในปี 2479 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแยกระหว่าง “ธาตุถาดทอง” กับ “ธาตุลูกฆ่าแม่ หรือธาตุก่องข้าวน้อย” ที่ต่างก็อยู่ในอำเภอยะโสธร ตำบลตาดทอง จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) อย่างไรก็ดี ในการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในปี 2552 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน “พระธาตุถาดทอง หรือพระธาตุก่องข้าวน้อย” (นัยว่าเป็นแห่งเดียวกัน)

อย่างไรก็ดี ชื่อ “ธาตุก่องข้าวน้อย” เป็นชื่อที่ท้องถิ่นได้ใช้เรียกธาตุตาดทองในภายหลัง ซึ่งเดิมเป็นชื่อที่ใช้เรียกธาตุที่บ้านทุ่งสะเดา ธาตุที่บ้านทุ่งสะเดาที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นธาตุที่สร้างขึ้นตามเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ลูกฆ่าแม่” หรือ “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” ซึ่งมีสังเขปเนื้อเรื่องว่า ลูกชายที่ออกไปทำนา โดยมีแม่เป็นผู้นำอาหารไปส่งให้กินทุกวัน วันหนึ่ง แม่ไปส่งอาหารให้ช้า ลูกชายเกิดหน้ามืดโมโหหิว เห็นภาชนะที่ใส่ข้าวที่เรียกว่า ก่องข้าว มีขนาดเล็ก กลัวจะไม่พอกิน จึงได้ทำร้ายแม่ของตนจนถึงแก่ความตาย แต่เมื่อได้กินจนอิ่ม ข้าวก็ยังไม่หมด จึงเกิดความรู้สึกเสียใจและสำนึกผิด จึงได้สร้างธาตุหรือเจดีย์ที่มีรูปร่างคล้ายก่องข้าว และนำอัฐิของแม่บรรจุไว้เพื่อเป็นการขอขมาและไถ่บาปในการกระทำมาตุฆาต ซึ่งเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ธาตุที่บ้านสะเดากลับไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระธาตุตาดทอง เป็นแบบศิลปะล้านช้างที่พบอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดดอกบัวเหลี่ยม ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 7 เมตร ก่ออิฐถือปูน มีความสูงประมาณ 12.7 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนฐาน ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียง รองรับชั้นชุดฐานบัวท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ (เอวขันหรือแอวขัน)

ส่วนมณฑปหรือเรือนธาตุ อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำเป็นย่อเก็จมีซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน เดิมคงจะประดับด้วยพระพุทธรูปยืนปูนปั้นทั้งสี่ทิศ แต่ปัจจุบันหลุดหลายไปหมดแล้ว ยอดซุ้มโค้งแบบซุ้มหน้านางภายในประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา เสาซุ้มทำลายแสงตาเวน (ตะวัน) ประดับกระจก

ส่วนยอด เป็นบัวเหลี่ยมย่อเก็จ โดยทำเป็นรูปเรียวจากด้านล่างขึ้นสู่ส่วนยอด หรืออาจเรียกได้ว่าลักษณะเป็นแบบทรงหีบหรือทรงบัวเหลี่ยมสี่ด้าน ตรงโคนหรือตีนหีบทำเป็นกลีบบัวสูงชะลูดไปสู่ส่วนปลาย แล้วหยักเป็นเอวขันคั่นกับส่วนยอดสุด ทำซ้อนกัน 3 ชั้น ยอดบนสุดเป็นฉัตรสูงประมาณ 1 เมตร

บริเวณรอบธาตุทั้งหมดทำเป็นกำแพงแก้วเตี้ย ๆ โอบรอบอยู่ทั้ง 4 ด้าน กว้างยาวประมาณด้านละ 11.20 เมตร สูงประมาณ 75 เซนติเมตร หนา 70 เซนติเมตร มีช่องประตูเข้าออกทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กว้างช่องละประมาณ 70 เซนติเมตร

พื้นที่บริเวณโดยรอบธาตุมีใบเสมาปักอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ลักษณะเป็นใบเสมาหินทรายแดง ตรงแกนกลางสลักเป็นสันแกนนูนแบบศิลปะทวารวดี เสมาเหล่านี้อาจเป็นเสมาที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนหน้า ในบริเวณบ้านตาดทอง ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบ สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ที่อยู่ห่างจากพระธาตุออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร นอกจากนี้โดยรอบพระธาตุยังมีธาตุขนาดเล็กที่สร้างในสมัยหลังเพื่อเก็บอัฐิตามคตินิยมของชาวอีสาน

บริเวณด้านตะวันออกของธาตุติดกับกำแพงแก้วมีอูบมุงก่ออิฐหลังเล็ก ๆ แบบพื้นถิ่นอีสาน ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมหลังคาโดมเอนลาดสอบเข้าหากัน สันหลังคาประดับปูนปั้นรูปนาค ยอดหลังคาในตอนหลางเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน ก่อขึ้นใน พ.ศ.2495 โดยช่างบ้านตาดทอง

ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมและอายุสมัยของพระธาตุแล้ว จึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า พระธาตุแห่งนี้อาจสร้างขึ้นโดยชุมชนเชื้อสายลาวล้านช้างที่อพยพมาจากเวียงจันทร์ในสมัยธนบุรี ที่มาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดยโสธรในปัจจุบัน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี