โพสต์เมื่อ 14 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดโพธิ์ศรีเชียงเหียน, วัดบ้านเชียงเหียน
ที่ตั้ง : ถ.แจ้งสนิท ม.3 บ้านเชียงเหียน
ตำบล : เขวา
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : มหาสารคาม
พิกัด DD : 16.155609 N, 103.372447 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยคะคาง
จากตัวจังหวัดมหาสารคาม บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มุ่งหน้าสู่ทางตะวันออกหรือมุ่งหน้าจังหวัดร้อยเอ็ด ไปประมาณ 8.4 กิโลเมตร จะพบวัดโพธิ์ศรีเชียงเหียนทางซ้ายมือ
วัดโพธิ์ศรีเชียงเหียน เป็นวัดสำคัญของบ้านเชียงเหียนและตำบลเขวา ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองโบราณบ้านเชียงเหียน เมืองโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ส่วนภายในวัดมีสถานที่สำคัญได้แก่ สิมที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2467 และพิพิธภัณฑ์ปู่ไห ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ชาวบ้านในพื้นที่ขุดพบ พร้อมทั้งประดิษฐานรูปปั้นปู่ไห สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่ปกปักร้กษาวัตถุโบราณและชุมชน
ผู้สนใจสามารถชมสิม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด และชมพิพิธภัณฑ์ปู่ไหได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 8.00-16.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้า แต่โดยปกติทางวัดจะไม่เปิดให้เข้าชมภายในสิม หากต้องการเข้าชมกรุณาติดต่อล่วงหน้าที่เบอร์ 098 117 1722
วัดโพธิ์ศรีเชียงเหียน
วัดโพธิ์ศรีเชียงเหียน ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองโบราณบ้านเชียงเหียน วัดล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนของชุมชนบ้านเชียงเหียน โบราณสถานสำคัญของวัดคือสิม ซึ่งยังคงมีสภาพแข็งแรง ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
ห้วยคะคาง, แม่น้ำชี
วัดตั้งอยู่บริเวณที่ราบตะกอนธารน้ำพาโดยอิทธิพลของลุ่มแม่น้ำชีในสมัยโฮโลซีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช
ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา สำรวจเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในโครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 12 (กรมการศาสนา 2536) ระบุว่า วัดโพธิ์ศรีเชียงเหียนตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2457 เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดบ้านเชียงเหียน เดิมวัดโพธิ์ศรีบ้านเชียงเหียนตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนบ้านเชียงเหียนบนเนินที่ดินชาวบ้านเรียกกันว่าโนนวัดเก่า ซึ่งเคยมีการขุดพบพระพุทธรูปและพระพิมพ์ดินเผาในบริเวณนี้ ต่อมากรมทางหลวงได้ก่อสร้างถนนสายมหาสารคาม - ร้อยเอ็ดตัดผ่าน ทำให้วัดและโรงเรียนแยกออกจากกัน ชาวบ้านจึงย้ายวัดมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบันซึ่งเป็นที่ดินที่ชาวบ้านบริจาคให้ ส่วนบริเวณโนนวัดเก่าในปัจจุบันกลายเป็นที่ดินทำสวนของเอกชน (กรมศิลปากร 2564) โบราณสถานภายในวัด ได้แก่ สิม
ประวัติการก่อสร้างสิม
สิมวัดโพธิ์ศรีเชียงเหียน ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2467 โดยชาวบ้านได้ว่าจ้างช่างชาวญวนที่ชื่อทอง แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า แกวทอง ที่ย้ายมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มีฝีมือในการก่อสร้างอาคาร งานปูนปั้นและงานศิลปะอื่น ๆ มาทำงานก่อสร้างในจำนวนเงินค่าจ้าง 45 บาท ใช้เวลาประมาณ 10 ปี อาคารหลังนี้จึงแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2476 เหตุที่ใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนานเนื่องจากเป็นการก่อสร้างไปเรื่อย ๆ ทีละส่วนตามกำลังทุนทรัพย์เท่าที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาค
การก่อสร้างในช่วงแรกเมื่อ พ.ศ. 2467 เป็นการก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารสิมที่ก่ออิฐฉาบปูน โครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงสังกะสี หลังจากนั้นราวปี พ.ศ.2476 จึงได้ก่อสร้างแนวระเบียงพร้อมหลังคาปีกนกต่อยื่นล้อมรอบอาคารสิมให้อยู่ภายใน ทำให้ระเบียงสามารถเดินได้โดยรอบ ปี พ.ศ.2525 ซ่อมแซมหลังคาสังกะสีโดยเปลี่ยนหลังคาเดิมที่ชำรุดออกและมุงใหม่ พร้อมทั้งประดับหลังคาด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยใช้วัสดุจากไม้ฉลุตกแต่งลวดลายพื้นบ้านอีสาน ปี พ.ศ.2538 เปลี่ยนหลังคาจากสังกะสีมาเป็นกระเบื้องลอนสีแดงแทน พร้อมทั้งทาสีตัวอาคารสิมขึ้นใหม่ และประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นรอบตัวอาคารโดยคัดลอกจากลวดลายดั้งเดิม พ.ศ. 2542 ผู้ใหญ่บ้านและปราชญ์ชาวบ้าน คือ นายบุรี ขัติยะวงศ์ ได้นำไทบ้านซ่อมใบระกาและเชิงชายไม้ซึ่งผุพัง โดยยังคงรักษาลวดลายเครือเถาแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยสิมหลังนี้ยังคงใช้งานรองรับกิจกรรมทางศาสนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
วัสดุหลักในการก่อสร้างคือก้อนอิฐได้มาจากการที่ช่างทองและชาวบ้านช่วยกันขุดดินเหนียวจากบริเวณริมฝั่งห้วยคะคางที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวผสมหินปูน แล้วนำมาหมักผสมกับแกลบหรือฟางข้าว ทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4 x 8 นิ้ว แล้วเผาในเตาเผาที่ก่อขึ้นด้วยดินเหนียวอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของเตาเผาอิฐดังกล่าวอยู่
ส่วนปูนที่ใช้ในการก่อฉาบและปั้นลวดลายประดับผนังอาคารสิมนั้น ได้จากการนำปูนขาวซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นมาเผาแล้วตำให้ละเอียดผสมกับยางบง (ชื่อต้นไม้) น้ำสะอาด และเปลือกหอยที่ตำให้แหลกละเอียด หมักส่วนผสมจนได่ที่แล้วจึงสามารถนำไปใช้งานต่อได้
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
สิมวัดโพธิ์ศรีเชียงเหียนในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง หันหน้าอาคารไปทางทิศตะวันออก ขนาดอาคารโดยประมาณ กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 5 เมตร อาคารก่ออิฐสอปูนและฉาบปูนทั้งหลัง รูปทรงอาคารโดยรวมเป็นแบบพื้นบ้าน ทรงแอวขันบนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนฐานของอาคารสิมประกอบด้วยเป็นฐานเขียง บัวคว่ำ และท้องไม้ที่ทำเป็นเป็นช่องสี่เหลี่ยมโดยรอบฐาน ถัดขึ้นไปเป็นชั้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่และหน้ากระดาน 2 ชั้น รองรับตัวอาคารที่มีการทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมโดยรอบที่ผนังด้านล่าง
หลังคามุงด้วยแป้นไม้วางซ้อนกัน หลังคาสิมเป็นทรงจั่วมะนิลาก่ออิฐรับโครงสร้างหลังคาทำเป็นผนังรับน้ำหนัก ออกแบบให้เป็นระบบอาร์คโค้ง มีช่องเปิดโค้งตามโครงสร้าง ซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่แพร่หลายของช่างชาวเวียดนามในอีสาน ที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส เครื่องประดับตกแต่งหลังคาเครื่องบนประกอบด้วย โหง่ ใบระกา และหางหงส์ ที่ทำเป็นรูปพญานาคแกะสลักด้วยไม้ แต่กลางสันหลังคาไม่มีช่อฟ้าหรือสิ่งอื่นใดมาประดับ ส่วนหน้าจั่วทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกทำลวดลายรูปดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีเชิงชายไม้แกะสลักทาสีติดตั้งอยู่ที่ปลายชายคาด้วย
ประตูทางเข้าอาคารสิมมีเพียงด้านหน้าทางตะวันออกด้านเดียว เหนือกรอบประตูเป็นปูนปั้นนูนต่ำรูปวงโค้งที่เขียนด้านในว่า สร้างปีพ.ศ.2467 มีบันไดขึ้นไปที่ประตูนี้สามขั้น ผนังด้านหลังอาคารก่อปิดทึบ ส่วนผนังด้านทิศเหนือกับทิศใต้มีช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง กรอบหน้าต่างทำด้วยไม้ โดยผนังด้านบนช่วงต่อกับหลังคาทำเป็นคิ้วบัวคล้ายแบบศิลปะตะวันตก ด้านในอาคารสิมประดิษฐานพระประธานองค์ใหม่ เนื่องจากองค์เก่าถูกโจรกรรมไปเป็นเวลานานแล้ว
ส่วนระเบียงที่สามารถเดินได้โดยรอบมีระยะห่างออกมาจากตัวอาคารสิมประมาณ 1.5 เมตร ก่อผนังด้วยอิฐฉาบปูนและมีหลังคาปีกนกที่ต่อกับหลังคาสิมมาคลุม ทำให้มีลักษณะเป็นระเบียงโถง ทำช่องประตูทางเข้าออกไว้ 2 ทาง คือด้านหลังทางตะวันออกกับด้านหลังทางตะวันตก ส่วนฐานของระเบียงนี้เป็นชั้นหน้ากระดานคั่นด้วยท้องไม้แล้วจึงเป็นบัวหงายรองรับส่วนผนังที่อยู่ถัดไปด้านบน
ผนังระเบียงทำเป็นช่องหน้าต่างใหญ่ด้านบนทำเป็นทรงอาร์คโค้งทำให้มีรูปร่างคล้ายขนมปังแบบฝรั่ง โดยด้านทิศเหนือกับทิศใต้มีด้านละ 5 ช่อง ส่วนด้านตะวันออกกับตะวันตกมีด้านละ 2 ช่อง เพราะเว้นพื้นที่ตรงกลางเป็นช่องประตูเข้าออก ซึ่งขอบล่างของช่องประตูอยู่ในระดับเดียวกับขอบล่างของช่องหน้าต่าง จึงมีการก่อทำแท่นบันไดสองขั้นเพื่อเป็นทางเดินเชื่อมต่อระหว่างประตูอาคารสิมและช่องประตูโถงระเบียง นอกจากนี้ยังมีบันไดสามขั้นที่ด้านนอกระเบียงโถงในตำแหน่งตรงกับช่องประตูของโถงระเบียง
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับโบราณสถานแห่งนี้คือการประดับตกแต่งที่ผนังระเบียงด้านนอกเหนือช่องประตูและช่องหน้าต่างด้วยลวดลายปูนปั้นนูนต่ำฝีมือช่างชาวญวนที่ชื่อทอง โดยด้านหน้าทางตะวันออกเหนือช่องประตูทำเป็นวงโค้งที่มีปีกต่อออกไปด้านข้าง และข้างในวงโค้งมีลวดลาย เหนือวงโค้งนี้ขึ้นไปเป็นรูปครุฑกางปีก ส่วนช่องหน้าต่างทั้งสองข้างของประตูทำวงโค้งเหนือช่องหน้าต่างด้วยเช่นกัน โดยลวดลายภายในวงโค้งเป็นปูนปั้นขรุขระคล้ายลายขนแกะ
ด้านหลังทางตะวันตกเหนือช่องประตูระเบียงทำปูนปั้นวงโค้ง ภายในตรงกลางเป็นรูปปลา 2 ตัว ส่วนข้างซ้ายขวาเป็นรูปดอกไม้ข้างละ 3 ดอก เหนือวงโค้งนี้ขึ้นไปเป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พนมมืออยู่ในซุ้มเรือนแก้วที่มีฐานเป็นพญานาค2ตัวเกี่ยวหางพันกัน ด้านข้างกรอบประตูทั้งสองข้างเป็นรูปเสือ และเหนือช่องหน้าต่างทั้งสองข้างที่ขนาบประตู เป็นวงโค้งที่มีรูปปลาและดอกไม้อยู่ภายใน
เหนือช่องหน้าต่างผนังระเบียงทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ทำปูนปั้นเป็นวงโค้งเช่นกัน โดยในแต่ละช่องจะทำลวดลายตกแต่งแตกต่างกันไป เริ่มจากที่ผนังระเบียงด้านทิศเหนือไล่เรียงจากทางตะวันออกไปตะวันตกดังนี้
ช่องที่ 1 ทำลวดลายภายในวงโค้งเป็นเส้นหยักแหลมคมแบบฟันปลา
ช่องที่ 2 ทำรูปลิงอยู่เหนือวงโค้ง โดยมีแจกันดอกไม้ขนาบอยู่ทั้งสองข้างวงโค้ง
ช่องที่ 3 เหนือวงโค้งทำรูปพญานาค2ตัววางตัวขนาบไปกับวงโค้ง หันหน้าออกจากกัน
แต่ปลายหางเกี่ยวพันกันไว้
ช่องที่ 4 ทำรูปนกกางปีกอยู่เหนือวงโค้ง โดยมีแจกันดอกไม้ขนาบอยู่ทั้งสองข้างวงโค้ง
ช่องที่ 5 ทำลวดลายภายในวงโค้งเป็นปูนปั้นขรุขระคล้ายลายขนแกะ
ส่วนผนังระเบียงด้านทิศใต้ไล่เรียงจากทางตะวันตกไปตะวันออกดังนี้
ช่องที่ 1 ทำลวดลายภายในวงโค้งเป็นปูนปั้นขรุขระคล้ายลายขนแกะ
ช่องที่ 2 ทำรูปพระอาทิตย์อยู่เหนือวงโค้ง โดยมีแจกันดอกไม้ขนาบอยู่ทั้งสองข้างวงโค้ง
ช่องที่ 3 เหนือวงโค้งทำรูปพญานาค2ตัววางตัวขนาบไปกับวงโค้ง หันหน้าเข้าหากัน และปลายหางเกี่ยวพันกัน
ช่องที่ 4 เหนือวงโค้งทำลวดลายพันธุ์พฤกษาเกี่ยวกระหวัดกัน
ช่องที่ 5 ทำลวดลายภายในวงโค้งเป็นเส้นหยักแหลมคมแบบฟันปลา
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 12. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2536.
กรมศิลปากร. "สิม วัดโพธิ์ศรีเชียงเหียน" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 ธันวาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีในประเทศไทย เล่ม 4 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2533.