โพสต์เมื่อ 16 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : เรือเมล์
ที่ตั้ง : ทะเลอ่าวไทย
ตำบล : กร่ำ
อำเภอ : แกลง
จังหวัด : ระยอง
พิกัด DD : 12.505528 N, 101.707194 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : อ่าวไทย
แหล่งเรือจมเกาะมันนอก ตั้งอยู่ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ห่างจากเกาะมันนอกมาทางทิศใต้ประมาณ 4 ไมล์ทะเล หรือ 7.4 กิโลเมตร เดินทางถึงได้โดยทางเรือเท่านั้น
กรมศิลปากร
เรือเกาะมันนอก จมอยู่ใต้ท้องทะเลอ่าวไทย อยู่ห่างจากเกาะมันนอกมาทางทิศใต้ประมาณ 4 ไมล์ทะเล หรือ 7.4 กิโลเมตร ได้รับการสำรวจเบื้องค้นจากกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร แต่ยังไม่ได้รับการขุดค้น
อ่าวไทย
ตะกอนใต้พื้นท้องทะเลสะสมในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : วิเชียร สิงห์โตทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
คุณวิเชียร สิงห์โตทอง เจ้าของกิจการและเรือเช่าท่องเที่ยวดำน้ำ ตกปลา ชื่อ The Toy Tourโดยคุณวิเชียรได้เล่าว่าพบแหล่งเรือจมเกาะมันนอกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ระหว่างการไปตกปลา จากนั้นได้ลงดำน้ำสำรวจพบซากเรือเหล็ก และชิ้นส่วนโลหะกระจัดกระจายอยู่ภายในลำเรือ แหล่งเรือจมเกาะมันนอก อยู่ที่ความลึกประมาณ 18 – 20 เมตร ต่อมาจึงได้แจ้งให้กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำทราบเพื่อดำเนินการสำรวจแหล่งเรือดังกล่าว ปัจจุบันแหล่งเรือเกาะมันนอกเป็นที่รู้จักทั่วไปในหมู่ชาวประมงที่ลากอวนจับปลาอยู่ในบริเวณนั้น (กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ 2564)ชื่อผู้ศึกษา : กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำรวจ ทำแผนผังเรือ โดยสำรวจพบโบราณวัตถุจำนวนมาก พร้อมทั้งจัดทำรายงานสำรวจเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมศิลปากร https://www.finearts.go.th/promotion/categorie/general?dropdown_1=9ข้อมูลจากกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร (2564) ระบุว่า กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับแหล่งเรือจมเกาะมันนอก จากคำบอกเล่าของคุณวิเชียร สิงห์โตทอง เจ้าของกิจการและเรือเช่าท่องเที่ยวดำน้ำ ตกปลา ชื่อ The Toy Tour โดยคุณวิเชียรได้เล่าว่าพบแหล่งเรือจมเกาะมันนอกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ระหว่างการไปตกปลา จากนั้นได้ลงดำน้ำสำรวจพบซากเรือเหล็ก และชิ้นส่วนโลหะกระจัดกระจายอยู่ภายในลำเรือ แหล่งเรือจมเกาะมันนอก อยู่ที่ความลึกประมาณ 18 – 20 เมตร ต่อมาจึงได้แจ้งให้กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำทราบเพื่อดำเนินการสำรวจแหล่งเรือดังกล่าว ปัจจุบันแหล่งเรือเกาะมันนอกเป็นที่รู้จักทั่วไปในหมู่ชาวประมงที่ลากอวนจับปลาอยู่ในบริเวณนั้น
จากการสำรวจเบื้องต้นของกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เมื่อปี 2551 พบว่าแหล่งเรือจมเกาะมันนอกเป็นเรือเหล็ก หัวเรืออยู่ทางทิศใต้ ท้ายเรืออยู่ทางทิศเหนือ ขนาดของตัวเรือ ยาว 41.20 เมตร กว้าง 6.50 เมตร ที่ใช้เทคนิคการต่อเปลือกเรือหรือแผ่นเหล็กเข้าด้วยกันโดยการเจาะรูย้ำหมุด แนวกราบเรือขวาหายไปบางส่วน ชิ้นส่วนแผ่นเหล็กตัวเรือที่ผุพังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พบอิฐที่ใช้ปูพื้นดาดฟ้าเรือกระจายทั่วไป พบชิ้นส่วนไม้บ้างเล็กน้อย และท่อที่ทำจากทองแดง นอกจากนี้ยังมีเศษอวนลากมาติดบริเวณซากเรือโดยทั่วไป สภาพตัวเรือที่เหลืออยู่สูงจากพื้นทรายประมาณ 1 เมตร และส่วนที่ยังจมอยู่ในพื้นทรายอีกประมาณ 1 เมตร โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจเมื่อปี 2551 จำแนกได้ดังนี้ (กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ 2564)
1. ส่วนประกอบของตัวเรือ
- วัสดุเป็นโลหะเหล็ก เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ไอน้ำ, ช่องกระจกเรือ, ชิ้นส่วนประตู ชุดกุญแจ รอก ฯลฯ
- วัสดุเป็นไม้ เช่น แผ่นไม้มีร่องรอบไหม้ไฟ เป็นต้น
- วัสดุอื่นๆ เช่น ผ้ากันความร้อน, ซิลิโคนยาเรือ, อิฐ เป็นต้น
2. เหรียญเงินกษาปณ์
- เหรียญกษาปณ์ของไทยสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ปะปนกัน จำนวน 430 เหรียญ
- เหรียญกษาปณ์ของฝรั่งเศส จำนวน 2เหรียญ
- เงินพดด้วงของไทยจำนวน 3 ชิ้น
3. โบราณวัตถุประเภทโลหะ พบอยู่หลากหลายประเภท
- ส่วนประกอบต่างๆของตู้เซฟยี่ห้อ CHUBB เช่น ประตูตู้เซฟ, ป้ายยี่ห้อCHUBB} ฝาบานพับตู้, กรอบตู้, แป้นยึดน็อต, และโลหขาตู้
- นาฬิกาพกทรงกลม
- กระดุมทองขนาดเล็กจำนวน 3 เม็ด
4.โบราณวัตถุอื่น
- จุกปิดขวดน้ำหอมรูปทรงหยดน้ำ, ชิ้นส่วนแก้วมีอักษร “GAPOR”
- อิฐดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
5.เศษภาชนะดินเผา มี 2 ประเภท คือ
- เศษภาชนะดินเผาแบบ Stone ware จำนวน 5 ชิ้น
- เศษภาชนะดินเผาแบบ Porcelain จำนวน 11 ชิ้น
กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ (2564) แปลความในเบื้องต้นว่า จากหลักฐานต่าง ๆ ที่คาดว่าน่าจะเป็นโครงสร้างของหม้อไอน้ำ อีกทั้งพบชิ้นส่วนหลักเดวิด ที่ใช้สำหรับชักหย่อนเรือบด ประกอบกับชื่อเรียกเรือลำนี้ที่ใช้เรียกขานกันมานานว่า เรือเมล์ ซึ่งอาจจะหมายความถึงเรือโดยสาร จึงสันนิษฐานว่าเรือลำนี้น่าจะเป็นเรือจักรกลไอน้ำที่อาจจะใช้เป็นเรือโดยสารที่แล่นขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองท่าต่าง ๆ เนื่องจากในอดีตการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง อีกทั้งจันทบุรีมีหลักฐานเอกสารระบุว่าในอดีตเคยเป็นเมืองท่าของป่าและเครื่องเทศ จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นเรือโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ และจันทบุรี นอกจากนี้การพบประตูตู้นิรภัยและเหรียญกษาปณ์จำนวนมากซึ่งอาจจะเป็นที่เก็บรักษาเงินค่าโดยสารและสิ่งของมีค่าอื่นๆ ที่มากับเรือลำนี้
การกำหนดอายุแหล่งเรือจมนี้จากเหรียญกษาปณ์ไทยที่สามารถทราบปีที่เริ่มต้นผลิตจนถึงปีที่สิ้นสุดการผลิต (เหรียญที่อายุเก่าสุด ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2412) และเหรียญกษาปณ์ฝรั่งเศสที่ระบุปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) แหล่งเรือจมเกาะมันนอกน่าจะมีอายุประมาณ 100 ปี อย่างไรก็ตามเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป หากได้มีการการขุดค้นตลอดทั้งลำเรือเพื่อเก็บข้อมูลโดยละเอียด คาดว่าน่าจะได้หลักฐานเพิ่มเติมที่จะช่วยในการวิเคราะห์แปลความมากยิ่งขึ้น (กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ (2564)
กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร. แหล่งเรือจมเกาะมันนอก หรือเรือเมล์ ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ12 ธันวาคม 2564. เข้าถึงจาก https://www.finearts.go.th/promotion/view/7477-%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%8C-%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B3-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%87