โพสต์เมื่อ 22 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดใหญ่สาครบุรี, วัดใหญ่, วัดจอมปราสาท
ที่ตั้ง : ซ.ท่าจีนซอย 1 ถ.พระรามที่ 2 บ้านท่าจีน
ตำบล : ท่าจีน
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สมุทรสาคร
พิกัด DD : 13.540895 N, 100.247806 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองสุนัขหอน
วัดใหญ่จอมปราสาท มีประเพณี/งานประจำปี ดังนี้
- ทุกวันที่ 1 มกราคม ทำบุญวันขึ้นปีใหม่
- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ทำบุญวันมาฆบูชา
- แรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ทำบุญประเพณีวันตรุษไทย
- วันที่ 13-16 เมษายน ทำบุญประเพณีวันสงกรานต์
- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทำบุญวันวิสาขบูชา
- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญวันอาสาฬหบูชา
- แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญวันเข้าพรรษา
- 12 สิงหาคม ทำบุญวันแม่แห่งชาติ
- แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ทำบุญเทศกาลวันสารทไทย
- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ทำบุญวันออกพรรษา
- แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
- 15 ค่ำ เดือน 12 ทำบุญวันลอยกระทง
- 5 ธันวาคม บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ในวันเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- 31 ธันวาคม พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี
- ปฏิบัติธรรมทุกวันธรรมสวนะ
วัดใหญ่จอมปราสาท, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, กรมศิลปากร
สถานที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนทางตะวันตก ลักษณะเป็นพื้นที่บริเวณท้องคุ้ง เนื้อที่ตั้งวัดประมาณ 42 ไร่
วัดใหญ่จอมปราสาท (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553) เป็นวัดเก่าแก่ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.2091-2111) ในอดีตบริเวณด้านหน้าวัดเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีฐานะเป็นเมืองท่าตลาดริมน้ำ มีพ่อค้าจากทางทะเลและพ่อค้าจากเมืองที่อยู่ลึกเข้าใปในแผ่นดินมาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าชาวจีน ดังนั้นจึงได้เรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า “บ้านท่าจีน” ปัจจุบันน้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้าไปจนถึงบริเวณหน้าวัด ทำให้พื้นที่ของชุมชนบ้านท่าจีนรุ่นแรก ๆ ถูกทำลายล่มลงแม่น้ำจนหมด
วัดใหญ่จอมปราสาทมีหลักฐานตราตั้ง ปี พ.ศ.2441 ระบุในชื่อว่าวัดใหญ่เมืองสมุทรสาคร (คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร 2534: 120) แต่ชาวบ้านจะเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป เช่น วัดใหญ่ วัดจอมปราสาท หรือวัดใหญ่จอมปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานชื่อว่า “วัดใหญ่สาครบุรี” และได้พระราชทานพระไตรปิฎกบรรจุตู้ละจบ จำนวน 39 เล่ม ให้มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ในฐานะที่เป็นพระอารามหลวง
รายนามเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบที่ปกครองวัดติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คือ รูปที่ 1 พระครูสมุทรคุณากร (พระปลัดชื่น) รูปที่ 2 พระอธิการฉ่ำ รูปที่ 3 พระอธิการเช้า รูปที่ 4 พระครูประสาทสาครกิจ รูปที่ 5 พระครูใบฎีกาบุญส่ง โฆสโก รูปที่ 6 พระอธิการสมคิด รกฺขิตจิตฺโต (พ.ศ.2556 - ปัจจุบัน)
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่
พระวิหารเก่า
ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานบัวโค้งแอ่นคล้ายท้องเรือสำเภา สภาพปรักหักพัง ผนังด้านทิศใต้และหลังคาพังลายหมด ฟนังพระวิหารก่ออิฐถือปุนสอบเข้า ด้านบนทางด้านหน้ามีซุ้มประตูรงมณฑปประดับลวดลายปูนปั้น 1 ช่อง ด้านหลังทึบ ผนังทางด้านเหนือมีเสาประดับผนังแบ่งออกเป็น 5 ห้อง โดยห้องแรกและห้องสุดท้ายจะย่อมุมเช้าไป ส่วนอีก 3 ช่อง เป็นผนัเรียบบ ผนังห้องกลางมีช่องหน้าต่าง 2 ช่อง ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มหน้านาง ประดับลวดลายปูนปั้น ที่หัวเสาของผนังในแต่ละช่องประดับปูนปั้นเป็นลายกรวยเชิง สันนิษฐานว่าพระวิหารหลังนี้คงจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระวิหาร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาจำนวน 1 ห้อง ผนังก่ออิฐถือปูนด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูปูนปั้นประดับกระจกทรงมณฑป บานประตูเป็นไม้แกะสลักลวดลายพันธุ์พฤกษาและสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ แกะสลักลึกเข้าไปในเนื้อไม้ เป็นฝีมือช่างโบษณที่มีความงดงามในเชิงช่างและศิลปะเป็นอันมาก ลักษณะลวดลายมีอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาปะปนอยู่ด้วยทั้งสองบาน ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 6 ช่อง ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มหน้านางปูนปั้นประดับด้วยลายกระหนกเปลว บานหน้าต่างไม้แกะสลักเป็นลวดลายต้นไม้ ภูเขา รูปสัตว์ และบุคคลแบบศิลปะจีน บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถนี้แต่เดิมเป็นบานประตูหน้าต่างของพระวิหารเก่านำมาซ่อมแซม และติดไว้ที่พระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อปู่" บนเพดานและชื่อมีลวดลายเชียนสีเป็นรูปดอกไม้และลายประจำยาม
ศาลาการเปรียญ
ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นทาสีขขาว หน้าบันไม้แกะสลักลวดลายก้านขดและพุ่มข้าวบิณฑ์ โดยแบ่งออกเป้น 3 ส่วน เป็นหน้าบันไม้แกะสลักที่มีความงดงาม
ลักษณะที่ตั้งของอาคารทั้งสามหลังที่กล่าวมานี้ อยู่ในแนวะนาบเดียวกัน และหันหน้าไปทางเดียวกันคือหันหน้าออกแม่น้ำท่าจีน ที่อยู่ด้านทิศตะวันออก แต่พระวิหารเก่าและพระอุโบสถจะอยู่ในเขตกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเดียวกัน โดยจะมีซุ้มประตูทางเข้าของกำแพงแก้วอยู่ที่ด้านหน้า 1 ซุ้ม โดยเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนทรงมณฑป ส่วนศาลาการเปรียญตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วทางด้านเหนือของพระอุโบสถ
เจดีย์ราย
ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงมณฑป เรือนธาตุมีซุ้มทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดเป็นปรางค์ สภาพชำรุดทรุดโทรมมาก มีรากไม้พันอยู่ทั้งองค์
คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร. ประวัติวัดในเขตจังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ: ดีไซน์การพิมพ์, 2534.
สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. (เอกสารอัดสำเนา). ราชบุรี, สำนักฯ, 2553.