โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022
ที่ตั้ง : เลขที่ 33 ม.2 บ้านทุ่งค่าย ถ.ตรัง-ปะเหลียน
ตำบล : ทุ่งค่าย
อำเภอ : ย่านตาขาว
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.451199 N, 99.633919 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, ปะเหลียน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองทุ่งค่าย
จากตัวจังหวัดตรัง บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ให้ใช้ถนนวิเศษกุล มุ่งหน้าลงใต้ หรือมุ่งหน้าไปทางสนามบินตรัง ประมาณ 1.6 กิโลเมตร ถึงสี่แยกสาริกา ให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวง 4045 ประมาณ 550 เมตร ถึงสี่แยกต้นสมอ ให้เลี้ยวขวา ใช้ทางหลวงหมายเลข 404 (ถ.ตรัง-ปะเหลียน) มุ่งหน้าไปอำเภอย่านตาขาว ประมาณ 10.5 กิโลเมตร จะพบบ้านตระกูลคีรีรัตน์อยู่ทางขวามือ
ปัจจุบันบ้านตระกูลคีรีรัตน์เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดตรังและตระกูลคีรีรัตน์ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน แต่ต้องติดต่อนัดหมายล่วงหน้า โดยสามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วัฒนธรรมจังหวัดตรัง โทร.075-217-586, คุณนันท์ธีรา จันทรังสิกุล โทร. 088-895-1241, คุณรัตนา ชูนุ่น โทร.089-594-6809
ตระกูลคีรีรัตน์, จังหวัดตรัง
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 119ง หน้า 4 วันที่ 4 ธันวาคม 2545 พื้นที่โบราณสถาน 1 ไร่ 1 งาน
ปัจจุบันบ้านตระกูลคีรีรัตน์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพมั่วคงแข็งแรง และปรับปรุงเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่นจังหวัดตรัง
แม้น้ำปะเหลียน, คลองทุ่งค่าย, ทะเลอันดามัน
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน โดยอิทธิพลของทะเลอันดามันและแม่น้ำปะเหลียน
บ้านตระกูลคีรีรัตน์ (กรมศิลปากร 2565 ; ภาณวัุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 140) เป็นบ้านของนายกีวด คีรีรัตน์ หรือ พันวด ชาวจีนฮกเกี้ยนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากและค้าขายอยู่ในตำบลทุ่งค่าย ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 และได้ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นคหบดีในสมัยนั้น เป็นเจ้าของโรงเลื่อย โรงอิฐ เตาถ่าน ตลาด และรถรับส่งสินค้า บ้านหลังนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2490 ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี 7 เดือน ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 360,000 บาท
เมื่อนายกีวดถึงแก่กรรม บ้านหลังนี้ก็ตกเป็นมรดกแก่ลูกหลาน ซึ่งได้มอบบ้านหลังนี้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ทางจังหวัดจึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะตามหลักวิชาการจนแล้วเสร็จในปี 2554 และได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น
ลักษณะบ้านเป็นอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น ตัวบ้านล้อมรอบด้วยกำแพง 4 ด้าน โครงสร้างอาคารก่ออิฐสอปูน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก มีลายฉลุไม้แบบจีนผสมไทยมุสลิม หลังคาจั่วมะนิลามุงกระเบื้องว่าว โครงสร้างหลังคาเป็นไม้พะยอม ภายในอาคารชั้นล่างเป็นห้องกว้างพื้นปูนขัดมัน ชั้นบนปูพื้นด้วยไม้ตะเตียนทอง กั้นห้องด้วยไม้ทัง ใช้ลายฉลุแบบไม้จีนตกแต่งช่องลม มีโต๊ะบูชาภาพเขียนเทพเจ้ากวนอูตั้งชิดผนังห้องโถง ด้านนอกเป็นระเบียงเปิดโล่งมีบันไดลงสู่ชั้นล่างใกล้ประตูทางเข้า
ภายนอกเดิมมีกำแพงล้อมรอบบ้านทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันมีการขยายถนนเป็น 4 ช่องทาง ทำให้ปัจจุบันด้านหน้ามีถนนติดกับตัวบ้านพอดี
รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอาจได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม แบบที่พบเห็นตามหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคชายทะเลตะวันตก เช่น เมืองภูเก็ต เมืองตรัง ปีนัง เป็นต้น เมื่อนำมาผสมผสานกับหลังคาเรือนไทยมุสลิมแล้วจึงทำให้บ้านหลังนี้กลายเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของชุมชนอย่างชัดเจน
กรมศิลปากร. "บ้านตระกูลคีรีรัตน์" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.