โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดละมอ
ที่ตั้ง : เลขที่ 46 ม.2 บ้านละมอ ถ.เพชรเกษม
ตำบล : ละมอ
อำเภอ : นาโยง
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.555788 N, 99.730065 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง, ทะเลอันดามัน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองนางน้อย
จากตัวจังหวัดตรัง บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ใช้ ถ.วิเศษกุล มุ่งหน้าทิศเหนือหรือมุ่งหน้า ถ.เพชรเกษม ประมาณ 1.7 กิโลเมตร จะพบสี่แยก ให้เลี้ยวขวาใช้ ถ.เพชรเกษม มุ่งหน้าอำเภอนาโยง ประมาณ 14 กิโลเมตร จะพบวัดมงคลสถานทางขวามือ
สามารถเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด และเยี่ยมชมโบราณสถานได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ท่านเจ้าอาวาส พระครูมงคลวีรธรรม โทร. 0-7529-9089
วัดมงคลสถาน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 199 ตอนพิเศษ 117ง หน้า 8 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 พื้นที่โบราณสถาน 3 งาน 59 ตารางวา
วัดมงคลสถานเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ส่วนด้านหลังวัด (ด้านทิศใต้) ติดคลองนางน้อย ปัจจุบันอุโบสถที่เป็นโบราณสถานได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ไม่มีการใช้งาน เนื่องจากมีอุโบสถหลังใหม่อีก 1 หลังที่อยู่ติดกัน
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาบรรทัด ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4.5 กิโลเมตร พื้นที่โดยรอบวัดโดยทั่วไปเป็นสวนและบ้านเรือนของชาวบ้าน ด้านหน้าวัดหรือด้านทิศเหนือ ติดถนนเพชรเกษม, ด้านทิศตะวันตกติดกับโรงเรียนวัดมงคลสถาน, ทิศใต้และทิศตะวันออกติดคลองนางน้อย พื้นที่สวน และบ้านเรือนของชาวบ้าน
คลองนางน้อย, แม่น้ำตรัง, ทะเลอันดามัน
ดินตะกอนเศษหินเชิงเขาตะกอนที่ผุพังอยู่กับที่ (กรมทรัพยากรธรณี 2550) โดยอิทธิพลของเทือกเขาบรรทัดที่อยู่ทางทิศตะวันออกของแหล่ง
วัดมงคลสถาน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2449 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่อว่า “วัดละมอ” โดยตั้งตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดมงคลสถาน หลังจากได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 136) เมื่อ พ.ศ.2480 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565)
โบราณสถานสำคัญ (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 136) คือ อุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2480 ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 8 เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าทั้งหมด 4ช่อง โดยอยู่ตรงกลางด้านหน้า (ด้านสกัด) 1 ช่อง เป็นช่องประตูที่ใหญ่กว่าด้านอื่น และที่ผนังอุโบสถด้านข้าง (ด้านยาว) ทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 1 ช่อง ในตำแหน่งตรงกลาง และประตูที่ด้านหลัง (ด้านสกัด)อีก 1 ช่อง โดยประตูจะอยู่ชิดผนังทางด้านทิศเหนือ ลักษณะประตูหน้าต่างเป็นบานเปิดคู่แบบเรียบง่าย ช่องแสงเหนือบานหน้าต่างทุกบานประดับเป็นรูปดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้น มีรัศมีเป็นแฉกอยู่ในกรอบครึ่งวงกลม ทุกช่วงเสาจะมีช่องแสงเป็นรูปวงกลมคล้ายลายดอกพิกุลอยู่โดยรอบ ผนังด้านทิศใต้หลังพระประธาน เจาะช่องแสงบางเป็นซี่ลูกกรงเล็ก ๆ สวยงาม เพื่อเพิ่มความสว่างด้านหลังพระประธาน รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้างอุโบสถหลังนี้ เป็นลักษณะของช่างพื้นเมืองอย่างแท้จริง ไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน คันทวย เหมือนอย่างอุโบสถแถบภาคกลาง ซึ่งอุโบสถรูปแบบนี้พบกระจายอยู่หลายแหล่งในเขตภาคใต้ ปัจจุบันอุโบสถหลังนี้ไม่ได้ใช้งาน เพราะวัดมีอุโบสถใหม่อีก 1 หลัง
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.
กรมศิลปากร. "วัดมงคลสถาน" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx