วัดตรังคภูมิพุทธาวาส


โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดกันตัง

ที่ตั้ง : เลขที่ 309 บ้านกันตัง ถ.รัษฎา

ตำบล : กันตัง

อำเภอ : กันตัง

จังหวัด : ตรัง

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง, ทะเลอันดามัน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดตรังคภูมิพุทธาวาส ตั้งอยู่ในตัวอำเภอกันตัง ริมถนนรัษฎา (ทางหลวงหมายเลข 403) ใกล้กับต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย หรือหากไปจากที่ว่าการอำเภอกันตัง ใช้ถนนรัษฎษ มุ่งหน้าตัวจังหัดตรัง ประมาณ 1.2 กิโลเมตร จะพบทางเข้าสู่วัดตรังคภูมิพุทธาวาสทางขวามือ 

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดตรังคภูมิพุทธาวาสได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บข้าวของของทางวัดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ไม่เปิดให้เข้าชมเป็นการทั่วไป หากต้องการติดต่อทางวัดล่วงหน้า สามารถโทรได้ที่เบอร์ 0-7525-1240.

ในละแวกวัดยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของกันตัง เช่น สยาวพาราต้นแรกของประเทศไทย สวนสาธารณะควนตำหนักจันทน์ เป็นต้น

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดตรังคภูมิพุทธาวาส, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 33ง หน้า 6 วันที่ 9 เมษายน 2544 พื้นที่โบราณสถาน 1 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพโดยทั่วไปของที่ตั้งวัดเป็นที่ราบทางตอนเหนือของภูเขาที่เป็นที่ตั้งของควนตำหนักจันทน์ สภาพแวดล้อมจัดอยู่ในเขตชุมชนเมืองกันตัง โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัด ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี แต่ก็มีการเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

11 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำตรัง, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2550) โดยอิทธิพลของแม่น้ำตรังและทะเลอันดามัน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2436

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดตรังคภูมิพุทธาวาส สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2436 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในขณะนั้นย้ายจากเมืองควนธานีไปอยู่กันตังจึงสร้างวัดนี้ให้ชื่อว่า “วัดกันตัง” ต่อมาใน พ.ศ.2455 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์และประทับที่วัดกันตัง เห็นว่าเป็นวัดที่มีภูมิประเทศเหมาะสมดี จึงได้ประทานนามวัดใหม่ว่า “วัดตรังคภูมิพุทธาวาส” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2457 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565; ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 134)

โบราณสถานสำคัญคือ อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2476 อุโบสถมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร หลังคามุงกระเบื้อง บริเวณหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร และด้านล่างเขียน “พ.ศ.๒๔๗๖” ซึ่งเป็นปีที่สร้างพระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลัก หน้าตักกว้าง 43 นิ้ว ปางมารวิชัยซึ่งพระยารัษฎาฯ นำมาจากพม่า พร้อมกับพระสาวก 2 องค์ มีช้างและสิงห์อย่างละคู่ (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 134) ภายในอุโบสถยังมีสังเค็ด หรือ ธรรมาสน์ ที่มีปรมาภิไธยย่อ จปร (ได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 5) นอกจากนั้นยังมีตู้พระธรรม ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ทีจัดเก็บอยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาส

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.

กรมศิลปากร. "วัดตรังคภูมิพุทธาวาส" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ,  และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.

เมธี เมืองแก้ว. "วัดตรังคภูมิพุทธาวาส โบราณสถานคู่เมืองตรัง" สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/86/iid/4217

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี