โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดเจาะ, วัดกระเจาะ
ที่ตั้ง : เลขที่ ม.7 บ้านกระเจาะ ถ.เพชรเกษม
ตำบล : นาโยงเหนือ
อำเภอ : นาโยง
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.563203 N, 99.710616 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง, ทะเลอันดามัน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองนางน้อย
จากตัวจังหวัดตรัง บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ใช้ ถ.วิเศษกุล มุ่งหน้าทิศเหนือหรือมุ่งหน้า ถ.เพชรเกษม ประมาณ 1.7 กิโลเมตร จะพบสี่แยก ให้เลี้ยวขวาใช้ ถ.เพชรเกษม มุ่งหน้าอำเภอนาโยง ประมาณ 11.6 กิโลเมตร จะพบซุ้มประตูทางเข้าวัดจอมไตรทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายขับไปตามถนนอีก 250 เมตร จะถึงวัดจอมไตร
สามารถเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด และเยี่ยมชมโบราณสถานได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ท่านเจ้าอาวาส พระครูศรีปัญญาภรณ์ โทร. 0-7529-9312
วัดจอมไตร, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 17ง หน้า 3 วันที่ 17 มีนาคม 2542 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 งาน 58 ตารางวา
วัดจอมไตรเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันอุโบสถที่เป็นโบราณสถานได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี สภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาบรรทัด ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7 กิโลเมตร พื้นที่โดยรอบวัดโดยทั่วไปเป็นสวนและบ้านเรือนของชาวบ้าน ด้านหน้าวัดหรือด้านทิศใต้ติดโรงเรียนวัดจอมไตร ด้านทิส่วนอื่น ๆ ติดพื้นที่สวนและบ้านเรือนของชาวบ้าน
คลองนางน้อย, แม่น้ำตรัง, ทะเลอันดามัน
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2550)
วัดจอมไตร เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เดิมชื่อ “วัดเจาะ” หรือ “วัดกระเจาะ” สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2393 และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดจอมไตร” เมื่อ พ.ศ.2484 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2485 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 24 เมตร ยาว 30 เมตร ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2486 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565; ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561)
สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถ ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานทำเป็นฐานลูกแก้วอกไก่ เครื่องบนเป็นไม้ หลังคาซ้อนชั้นกัน 3 ชั้น ประตูทางเข้าอยู่ตรงกลางด้านหน้า (ด้านตะวันออก) เพียงประตูเดียว โดยมีบันไดทางขึ้นสู่ประตู ขนาบทั้ง 2 ข้างของประตูด้ายบานหน้าต่าง ส่วนด้านข้างทั้ง 2 ด้าน มีหน้าต่างด้านละ 6 ช่อง ส่วนด้านหลังมีช่องหน้าต่าง 2 ช่องที่ด้านข้าง ทำซุ้มพระพุทธรูปแบบศิลปะพื้นถิ่นภาคใต้อยู่ตรงกลาง และทำเป็นบันไดที่สามารถเดินขึ้นไปยังพระพุทธรูปในซุ้มได้ บานประตูหน้าต่างทั้งหมดเป้นบานไม้
รูปแบบสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้างอุโบสถหลังนี้ เป็นลักษณะของช่างพื้นเมืองอย่างแท้จริง ไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน คันทวย เหมือนอย่างอุโบสถโดยทั่วไป ซึ่งอุโบสถรูปแบบนี้พบกระจายอยู่หลายแห่งในเขตภาคใต้ มีอายุประมาณ 70 ปีมาแล้ว
ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชื่อ "พระพุทธจอมไตร" สร้างเมื่อ พ.ศ.2488 หน้าตักกว้าง 3 ศอก 4 นิ้ว สูง 4 ศอก 6 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่ทำพิธีหล่อด้วยโลหะองค์แรกของจังหวัดตรัง (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561; กรมศิลปากร 2565)
ด้านนอกมีเสมาและกำแพงแก้วล้อมรอบ ฐานเสมาทำเป็นรูปดอกบัวซ้อนกัน 2 ชั้น
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.
กรมศิลปากร. "วัดจอมไตร" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx