เขาขาว


โพสต์เมื่อ 3 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : ถ้ำโนราห์, ถ้ำมโนราห์, เพิงผาช้างนอก, ถ้ำช้างนอก, ถ้ำเขาหินเหล็กไฟ

ที่ตั้ง : ม.2 บ้านเหนือคลอง

ตำบล : บ้านกลาง

อำเภอ : อ่าวลึก

จังหวัด : กระบี่

พิกัด DD : 8.347791 N, 98.811106 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, อ่าวลึก

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบ้านกลาง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสี่แยกอ่าวลึก ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าลงทิศใต้ หรือมุ่งหน้าตัวจังหวัดกระบี่ ประมาณ 8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างโรงเรียนบ้านกลางมิตรภาพที่ 44 ไปตามทางประมาณ 1.1 กิโลเมตร พบสามแยกเลี้ยวขวา ไปตามทางประมาณ 800 เมตร พบทางหลวงหมายเลข 44 ให้เลี้ยวซ้ายวิ่งไปตามถนนเพื่อกลับรถ หลังจากกลับรถประมาณ 1.1 กิโลเมตร ให้เลี้วซ้ายเข้าใช้ถนนที่มุ่งหน้าบ้านเขากลม ไปตามทางอีกประมาณ 3.3 กิโลเมตร จะพบเขาขาวอยู่ทางซ้ายมือ กลางสวนยางพราราและสวนปาล์มของชาวบ้าน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ยังไม่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว  และที่ผ่านมาอยู่ในพื้นที่ของสัมปทานโรงโม่หิน ทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการจะอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของพื้นที่ไว้ (ข่าว)

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมป่าไม้

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 79ง วันที่ 4 เมษายน 2559

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

เขาขาวเป็นกลุ่มเขาหินปูนลูกโดดจำนวน 3 ลูก พบหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ 5 จุดตามถ้ำและเพิงผา ประกอบด้วย แหล่งโบราณคดีเขาขาว 1 (ภาพเขียนสีถ้ำโนราห์ หรือถ้ำมโนราห์) เขาขาว 2 (เพิงผาช้างนอก) เขาขาว 3 (ภาพเขียนสีถ้ำช้างนอก) เขาขาว 4 (ถ้ำเขาหินเหล็กไฟ) เขาขาว 5 (ถ้ำต้นเหรียง) โดยมีคลองบ้านกลางไหลผ่านบริเวณกลางกลุ่มเขา พื้นที่บนเขาเป็นป่าไม้ ส่วนพื้นที่โดยรอบเป็นสวนของชาวบ้าน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

90 เมตร

ทางน้ำ

คลองบ้านกลาง, อ่าวลึก, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

ภูเขาหินปูนลูกโดด กลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมืยน อายุประมาณ 245-286 ปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2556)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินใหม่

อายุทางโบราณคดี

3,000-5,000 ปีมาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, แหล่งศิลปะถ้ำ, ที่พักชั่วคราว, ที่พัก

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เขาขาวตั้งอยู่บริเวณกลุ่มเขาหินปูนลูกโดดจำนวน 3 ลูก สำรวจพบแหล่งโบราณคดี 5 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งโบราณคดีเขาขาว 1 (ภาพเขียนสีถ้ำโนราห์หรือถ้ำมโนราห์) เขาขาว 2 (เพิงผาช้างนอก) เขาขาว 3 (ภาพเขียนสีถ้ำช้างนอก) เขาขาว 4 (ถ้ำเขาหินเหล็กไฟ) เขาขาว 5 (ถ้ำต้นเหรียง) โดยมีคลองบ้านกลางไหลผ่านบริเวณกลางกลุ่มเขา (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์  และคณะ 2561:109)

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบล้วนแต่อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ภาพเขียนสีโบราณที่ผนังถ้ำ พบที่ถ้ำโนราห์ (ถ้ำมโนราห์) และถ้ำช้างนอก เขียนด้วยสีแดงเป็นภาพบุคคล สัญลักษณ์ และรูปเรขาคณิต เช่น ลายเส้นโค้ง ลายเส้นตรงตัดกันไปมา และลายจุด อายุราว 5,000-3,000 ปีมาแล้ว หรือในสมัยหินใหม่ คล้ายคลึงกับกลุ่มภายเขียนสีที่อ่าวลึก จ.กระบี่ และที่เขาขุนกระทิง อ.เมืองชุมพร โดยน่าจะเขียนในลักษณะความหมายเชิงสัญลักษณ์ เป็นภาพลายเส้นรูปเรขาคณิต และที่สำคัญคือภาพบุคคลเพศชายที่ถ้ำช้างนอก (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์  และคณะ 2561:109)

โบราณวัตถุสำคัญที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องมือหินและสะเก็ดหินจำนวนมาก เศษภาชนะดินเผา เศษเถ้าถ่าน ลูกปัดหิน กระดูกสัตว์ เปลือกหอย แสดงถึงการดำรงชีพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้อยู่อาศัย ผลิตเครื่องมือหิน และประกอบกิจกรรมหรือพิธีกรรมต่าง ๆ (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์  และคณะ 2561:109)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดกระบี่. กรุงเทพฯ: บริษัท ออนป้า จำกัด, 2556.

กรมศิลปากร. "เขาขาว" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 13 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ,  และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี