โพสต์เมื่อ 3 เม.ย. 2022
ชื่ออื่น : วัดภูเขาทอง, วัดเขา
ที่ตั้ง : ม.1
ตำบล : น้ำผุด
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.695834 N, 99.715918 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลำภูรา
จากตัวจังหวัดตรัง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4123 มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรือมุ่งหน้าตำบลน้ำผุด ประมาณ 18 กิโลเมตร จะพบวัดน้ำผุดทางซ้ายมือ เลยทางเข้าวัดน้ำผุดไปประมาณ 1.7 กิโลเมตร จะพบวัดภูเขาทองทางขวามือ
พระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ทรงเทริดมโนราห์ ได้รับการประชาสัมพันธ์ว่าเป็น พระนอนทรงเทริดมโนราห์หนึ่งเดียวในไทย เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมชมภายในวัดภูเขาทองทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้า ติดต่อทางวัด โทร.075-259-041
วัดภูเขาทอง. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, กรมป่าไม้
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3685 วันที่ 8 มีนาคม 2478
วัดภูเขาทองเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่เชิงเขาภูเขาชุมทองหรือภูเขาทอง เป็นเขาหินปูนลูกโดด ขนาดของภูเขาโดยประมาณ ทิศเหนือ-ใต้ ยาว 250 เมตร ทิศตะวันออก-ตะวันตก กว้าง 200 เมตร ทิศเหนือของเขาติดกับทางหลวงหมายเลข 4123 และบ้านเรือน ส่วนด้านอื่นๆ เป็นสวนของชาวบ้าน มีคลองลำภูราไหลห่างออกไปทางทิศเหนือประมาณ 700 เมตร
เขาลูกนี้ตั้งอยู่ติดกับแนวเทือกเขานครศรีธรรมราชที่กั้นระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง (เขาหลักจันตั้งอยู่ทางตะวันออกของเทือกเขานครศรีธรรมราช) ส่วนคลองลำภูราที่ไหลผ่านภูเขาชุมทองก็ไหลจากเทือกเขานครศรีธรรมราชที่อยู่ทางด้านตะวันออก ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำตรังทางทิศตะวันตก
คลองลำภูรา, แม่น้ำตรัง
ภูเขาหินปูนในกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมืยน อายุประมาณ 245-286 ปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2550)
ภูเขาชุมทองเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ตั้งอยู่บริเวณวัดภูเขาทอง (วัดเขา) ซึ่งเป็นวัดราษฎร์ ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2465 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 14 พฤษภาคม 2544 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565)
บริเวณเพิงผาของเขาชุมทอง ในอาณาบริเวณของวัดภูเขาทอง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ มีลักษณะพิเศษคือ สวมเทริดมโนราห์ นับเป็นการผสมผสานระหว่างศรัทธาในพระพุทธศาสนากับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตามตำนานเมืองพัทลุงได้กล่าวว่า พระกุมารสามีนางเลือดขาวเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ในคราวที่เดินทางผ่านทางเมืองตรังไปยังลังกา (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์และคณะ 2561: 127) ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า พระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์องค์นี้ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1200-1300
บริเวณภายในถ้ำภูเขาทองแห่งนี้ ได้มีผู้พบโครงกระดูกมนุษย์ใต้ฐานพระพุทธรูป จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์และคณะ 2561: 127)
นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีพระอุโบสถที่งดงามตามศิลปะพื้นถิ่นสมัยใหม่ โดยทางวัดภูเขาทองพร้อมด้วยอุบาสก อุบาสิการ่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและเพื่อเป็นศิริมงคล ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรัชกาลที่ 9 เจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ด้านบนของพระอุโบสถ ทำเป็นเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัน และขออนุญาตอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานที่ฐานพระปางสีหไสยาสน์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ และพระนาคปรกซึ่งอยู่ด้านหลัง ตัวอุโบสถสร้างด้วยกระจกเงารอบๆ พระอุโบสถอันสวยงาม มีกำแพงล้อมรอบ และมีการจารึกเรื่องราวตำนานทางพุทธศาสนาบนกำแพงที่ทำด้วยหินอ่อน หินแกรนิต และกระจก ในตัวอุโบสถมีพระพุทธรูป (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง 2565)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.
กรมศิลปากร. "ภูเขาชุมทอง" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 9 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 9 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง. "ภูเขาชุมทอง (วัดภูเขาทอง)" โบราณสถานและวัตถุ. (ออนไลน์). 7 มกราคม 2565. เข้าถึงเมื่อ 9 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก https://www.m-culture.go.th/trang/ewt_news.php?nid=1599&filename=index