พระราชวังรัตนรังสรรค์


โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : พระราชวังรัตนรังสรรค์, อาคารศาลากลางจังหวัดระนอง, นิเวศน์คีรี

ที่ตั้ง :

ตำบล : เขานิเวศน์

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ระนอง

พิกัด DD : 9.965353 N, 98.636632 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองระนอง, คลองโรงหัด, คลองหาดส้มแป้น

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่บนเขานิเวศน์กลางเมืองระนอง ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง ริมถนนลุวัง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระราชวังรัตนรังสรรค์ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง ปัจจุบันเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมภายในพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ (จำลอง) ได้วันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) โดยวันอังคาร-พฤหัสบดี เปิดให้เข้าชมเวลา 9.00-15.00 น. ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์ เปิดให้เข้าชมเวลา 9.00-19.30 น. ค่าเข้าชม 20 บาท

ส่วนพื้นที่ภายในพระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) รอบองค์พระที่นั่ง เป็นสวนสาธารณะสำหรับให้ประชาชนทั่วไปได้พักผ่อนออกกำลังกาย โดยเปิดให้เข้าได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 5.00-20.30 น. ทั้งนี้ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามทิ้งขยะ และห้ามนำรถเข้าไปภายในสวน

นักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองระนอง โทร. 077-811-422

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

เทศบาลเมืองระนอง, จังหวัดระนอง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเนินประวัติศาสตร์ ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 94 ตอนที่ 39 วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2520

ภูมิประเทศ

ที่ลาดเชิงเขา

สภาพทั่วไป

พระที่นั่งรัตนรังสวรรค์ อยู่ภายในพระราชวังรัตนรังสรรค์ ปัจจุบันพื้นที่ภายในพระราชวังเป็นสวนสาธารณะ ดูแลโดยเทศบาลเมืองระนองและจังหวัดระนอง ตั้งอยู่บนเขานิเวศน์คีรี ซึ่งเป็นเขากลางเมืองระนอง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

46 เมตร

ทางน้ำ

คลองโรงหัด, คลองหาดส้มแป้น, คลองระนอง, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนหินเชิงเขา จากแนวเทือกเขาหินอัคนีและหินโคลนที่อยู่ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5, สมัยรัชกาลที่ 9

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2433, พ.ศ.2545

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

พระราชวัง/วัง, สถานที่ราชการ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พระราชวังรัตนรังสรรค์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2433 โดยพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก และเป็นครั้งแรกที่เสด็จยังเมืองระนอง (เสด็จระหว่างในวันที่ 23-25 เมษายน พ.ศ.2433) พระยารัตนเศรษฐีจึงได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จที่บนเนินควนอันอยู่ใจกลางเมือง         

ตามประวัติคือเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2433 (ร.ศ.109) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบแหลมมลายู โดยทางเรือพระที่นั่งสุริยมณฑลจากกรุงเทพฯ แล้วทรงช้างพระที่นั่งเสด็จทางสถลมารคจากเมืองชุมพรข้ามแหลมมลายูไปลงเรือที่เมืองกระบุรี มีเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ออกไปรับเสด็จที่เมืองระนอง

ในครั้งนั้น พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ได้จัดสร้างพลับพลาที่ประทับไว้บนยอดเขากลางเมืองระนองเพื่อรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพลับพลาที่รับเสด็จไว้อย่างละเอียดในหนังสือเสด็จประพาสแหลมมลายูว่า

            "...ที่เขานี้เขาว่าสูงร้อยสิบฟิต แต่เป็นเนินลาดๆ มีที่กว้างใหญ่โตกว่าเขาสัตนาถมาก พลับพลาที่ทำนั่นก็ทำเสาไม้จริง เครื่องไม้จริง กรอบฝาและบานประตูใช้ไม้จริง แต่กรุใช้ไม้ระกำทั้งลำเข้าเป็นลายต่างๆ หลังคานั้นมุงไม้เกล็ดแล้วสองหลัง นอกนั้นมุงจากดาดสี ใช้สีน้ำเงินจะให้เหมือนกันกับหลังคาไม้ซึ่งทาสีไว้ มีท้องพระโรงหลังหนึ่งที่อยู่ข้างในใหญ่หลังหนึ่งยกเป็นห้องนอนสูงขึ้นไปหลังหนึ่ง มีคอนเซอเวเตอรี่ยาวไปจดหลังแปดเหลี่ยมอีกหลังหนึ่งที่หลังเล็ก ซึ่งเป็นที่นอน และที่หลังแปดเหลี่ยม แลดูเห็นเมืองระนองทั่วทั้งเมืองหน้าต่างทุกๆ ช่องเมื่อยืนดูตรงนั้นก็เหมือนหนึ่งดูปีกเซอแผ่นหนึ่งๆ ด้วยแลเห็นทุ่งนาออกไปจนกระทั่งถึงภูเขาซึ่งอยู่ใกล้ชิด ได้ยินเสียงชะนีร้องเนืองๆ สลับซับซ้อนกันไปด้านหนึ่งก็เป็นได้อย่างหนึ่ง ด้านหนึ่งก็เป็นอย่างหนึ่งไม่เคยอยู่ที่ใด ซึ่งตั้งอยู่ในที่และเห็นเขาทุ่งป่าและบ้านเรือน คนงามเหมือนอย่างที่นี่เลยการตบแต่งประดับประดาและเครื่องที่จะใช้สอยพรักพร้อมบริบูรณ์อย่างปีนังตามข้างทางและชายเนินก็มีเรือนเข้านายและข้าราชการหลังโตๆ มีโรงบิลเลียด โรงทหาร พรักพร้อมจะอยู่สักเท่าใดก็ได้ วางแผนที่ทางขึ้นทางลงข้างหน้าข้างในดีกว่าเขาสัตนาถมากเสียแต่ต้นไม้บนเนินไม่มีต้นใหญ่ ที่เหลือไว้ก็เป็นต้นไม่สู้โต ต้นเล็กๆ ที่ตัดก็ยังเป็นตอสะพรั่งอยู่โดยรอบแต่ในบริเวณพลับพลาปลูกหญ้าขึ้นเขียวสดบริบูรณ์ดีทั่วทุกแห่งพระยายุทธการโกศลมาคอยรับอยู่ที่เมืองระนองนี้ 5 วันมาแล้ว เดิมคิดว่าต้องมานอนที่เกาะเขมาเกินโปรแกรมวันหนึ่ง จะย่นวันเมืองระนองเข้าอยู่แต่สองคืน แต่ครั้นไปเห็นที่เขาทำไว้ให้อยู่ลงทุนรอนมากและการต้อนรับนั้นโดยความเต็มใจ แข็งแรงจริงๆ จึงได้ผ่อนวันออกไปอีกวันหนึ่งเวลาเย็นได้ลงดูตามเนินนั้นโดยรอบ แล้วขึ้นเขาหนึ่งซึ่งอยู่หน้าท้องพระโรง คล้ายเขาหอพระปริคที่เพชรบุรีปลูกศาลาไว้ในหมู่ร่มไม้เป็นที่เงียบสงัด เวลากลางวันนี้ไม่ร้อนด้วยครึ้มฝนเวลากลางคืนหนาวปรอทถึง 75

ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2433 ได้ทรงโปรดพระราชหัตถเลชาความตอนหนึ่งว่า “...พระยาระนองขอให้ตั้งชื่อพลับพลาเป็นพระที่นั่ง ด้วยเขาจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและขอให้ตั้งชื่อถนนด้วย จึงได้ให้ชื่อพระที่นั่งว่า รัตนรังสรรค์ เพื่อจะได้แปลกล้ำๆ พอมีชื่อผู้ทำเป็นที่ยินดี เขาที่เป็นที่ทำวังนี้ให้ชื่อว่า นิเวศน์คีรี...”  

เนื่องด้วยนานครั้งจะเสด็จประพาสเมืองระนองครั้งหนึ่ง จะทิ้งวังไว้ก็จะชำรุดทรุดโทรม รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระที่นั่งนั้นเป็นศาลารัฐบาลและทำพิธีสำหรับบ้านเมือง หากมีการเสด็จประพาสเมื่อใดจึงให้จัดเป็นที่ประทับ ซึ่งนอกจากรัชกาลที่ 5 แล้ว พระมหากษัตริย์อีก 2 พระองค์คือรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็ได้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับแรมเมื่อครั้งเสด็จประพาสเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกเช่นกัน

ต่อมาองค์พระที่นั่งได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่ ณ ระนอง) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น จึงได้ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมา

กระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2507 พ.ต.อ.บุญณรงค์ วัฒฑนายน ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองในขณะนั้น ได้รื้อถอนองค์พระที่นั่งเพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์จึงสูญหายไปจากจังหวัดระนองตั้งแต่บัดนั้น แต่ก็ยังคงมีร่องรอยเป็นบันไดและบริเวณให้เห็นบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (บนเนินประวัติศาสตร์)

พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ได้รับการประกาศในพระบรมราชโองการให้ยกขึ้นเป็นพระราชวัง 1 ใน 19 แห่งของประเทศไทย และเป็นพระราชวัง 1 ใน 6 แห่งที่สร้างขึ้นตามหัวเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ.2545 จังหวัดระนองได้มีโครงการก่อสร้างพระที่นั่งรัตนรังสรรค์จำลองขึ้น บนเนินเขานิเวศน์คีรี ใกล้เคียงกับบริเวณเดิม (อยู่คนละฝั่งของถนนลุวัง)

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2547 คณะกรรมการบริหารพระที่นั่งรัตนรังสรรค์จำลอง มีมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2547 ว่าให้เรียกชื่อพระที่นั่งรัตนรังสรรค์จำลองเป็น “พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง)”  และสามารถเรียกได้ทั้งสองชื่อ  เนื่องจากคำว่าพระที่นั่งหมายถึงอาคารหนึ่งภายบริเวณในพระราชวังนั่นเอง  โดยเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการได้ในปี พ.ศ.2548

พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) ประกอบไปด้วยพระที่นั่งรัตนรังสรรค์และพื้นที่สวนโดยรอบพระที่นั่ง ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจเป็นสวนสาธารณะ

พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ตะเคียนทอง โครงสร้างคอนกรีตสูงสามชั้น ชั้นล่างโล่ง ชั้นที่สองเป็นรูปเหลี่ยมแปดด้าน ปัจจุบันประดิษฐานโต๊ะทรงพระอักษรพร้อมพระเก้าอี้ทำด้วยหนังแท้ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระที่นั่งวิมานเมฆพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และพระเก้าอี้ทรงพักผ่อนแกะสลักลวดลายเป็นรูปดอกกุหลาบ เพื่อให้สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงใช้เป็นที่ประทับและบรรทม ส่วนหลังคาชั้นที่สามทรงปั้นหยา มีดั้งประดับไม้ลวดลายฉลุอย่างสวยงาม

นอกจากนี้ก็ยังมีหอแปดเหลี่ยมที่มีความสูงประมาณ 17 เมตร คล้ายคลึงกับหอวิฑูรทัศนา พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน คือหลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยประดับเชิงชายไม้ฉลุซ้อนกันอย่างพม่า

ส่วนบริเวณชั้นสองมีระเบียงไม้ประดับกันตก สามารถเดินชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ พื้นเฉลียงปูกระเบื้องดินเผา มีหลังคาคลุม ช่องประตูเป็นรูปโค้งทั้งแปดด้าน จากชั้นสองถึงชั้นสาม มีบันไดเวียนภายในขึ้นไปบนชั้นสาม ซึ่งมีหน้าต่างสามารถชมทัศนียภาพบริเวณหน้าพระที่นั่ง ตัวเมืองระนองด้านทิศตะวันตก ชายแดนประเทศไทยและสหภาพพม่า นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณทะเลอันดามันได้อย่างสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองระนองด้วย

ด้านหน้าพระที่นั่งมีปืนใหญ่ตั้งอยู่ที่หน้าทางเข้า

สวนภายในพระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) รอบพระที่นั่งมีการจัดตกแต่งสวนและภูมิทัศน์ มีทางเท้าสำหรับเดิน-วิ่ง เก้าอี้นั่งพักผ่อน รวมทั้งมีประติมากรรมโลหะรูปคนร่อนแร่ ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญของคนระนยอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.

กรมศิลปากร. "อาคารศาลากลางจังหวัดระนอง (พระที่นั่งรัตนรังสรรค์)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี