โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดหน้าเมือง, วัดสุวรรณคีรีทารา
ที่ตั้ง : เลขที่ 8 ชุมชนสะพานยูงชาติเฉลิม เทศบาลเมืองระนอง
ตำบล : เขานิเวศน์
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ระนอง
พิกัด DD : 9.979293 N, 98.637482 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองด่าน, คลองสะพานยูง, คลองรื้อ
วัดสุวรรณคีรีวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง ริมถนนบำรุงสถานและถนนชาติเฉลิม ห่างจากถนนเพชรเกษมมาตามถนนชาติเฉลิม ประมาณ 600 เมตร
วัดสุวรรณคีรีวิหารเป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง อีกทั้งภายในวัดยังมีบรรยากาศที่เงียบสงบแม้จะตั้งอยู่ในเขตเทศบาล จึงมีผู้นิยมไปนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์กลางวัด นอกจากนี้ภายในวัดยังมี “วิหารหลวงพ่อติ้ว สุวณฺโณ” พระเกจิชื่อดังรูปหนึ่งของจังหวัดระนอง ที่ได้รับการเคารพสักการะเป็นอย่างมากของลูกศิษย์ลูกหา
ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลเป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้า
วัดสุวรรณคีรีวิหาร ยังได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม ที่เริ่มสอนมาตั้งแต่ พ.ศ.2480 นอกจากนี้ภายในวัดยังมีห้องสมุดประชาชน หน่วยอบรมของจิตตภาวัน และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)
วัดสุวรรณคีรีวิหาร, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 33ง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2544
วัดสุวรรณคีรีวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขาที่ทับถมจากตะกอนหินเชิงเขา บริเวณโดยรอบวัดเป็นพื้นที่ชุมชนในเขตเมืองระนอง โดยมีอาณาเขตติดต่อกับสถานที่ต่างๆ คือ ทิศเหนือติดต่อกับถนนบำรุงสถาน ทิศใต้ติดต่อกับที่ดินของนายจันทร์ นางศรี ทิศตะวันออกติดต่อกับคลองสะพานยูง และทิศตะวันตกติดต่อกับถนนชาติเฉลิม
คลองสะพานยูง, คลองรื้อ, คลองด่าน, ทะเลอันดามัน
ตะกอนหินเชิงเขา จากแนวเทือกเขาหินอัคนีและหินโคลนที่อยู่ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ (กรมทรัพยากรธรณี 2550)
วัดสุวรรณคีรีวิหาร (วัดหน้าเมือง) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2433 โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดสุวรรณคีรีวิหาร ได้ชื่อว่าเป็น “วัดแห่งแรกของเมืองระนอง” เดิมตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ริมหาดส้มแป้นใกล้กับสนามกีฬาจังหวัดระนองปัจจุบัน ชื่อ “วัดสุวรรณคีรีทาราม” (ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างอยู่ในราว พ.ศ.2420-2433) แต่ต่อมาได้ประสบภัยที่ทรายและน้ำจากภูเขาทางทิศเหนือที่ทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งมีสภาพขุ่นข้นรวมทั้งขี้ดินทรายไหลมาท่วมทับบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พระภิกษุสามเณรจำวัดไม่ได้ จึงกลายเป็นวัดร้าง
ต่อมา พ.ศ.2433 (ร.ศ.109) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก ทรงเห็นว่าวัดสุวรรณคีรีเป็นวัดร้างเนื่องจากประสบภัยธรรมชาติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง ดำเนินการสร้างวัดสุวรรณคีรีที่ถนนชาติเฉลิมขึ้นมาแทน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้อาราธนาพระสงฆ์สวดถอนพัทธสีมาจากวัดสุวรรณคีรีทาราม มาผูกพัทธสีมาในอารามนี้ และได้พระราชทานนามว่า "วัดสุวรรณคีรีวิหาร" ดังเอกสารหลักฐานที่ปรากฎให้เห็นในประกาศพระบรมราชโองการ ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม ร.ศ.113 (พ.ศ. 2437) แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดหน้าเมือง"
วัดสุวรรณคีรีวิหารได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2437 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 17 เมตร ยาว 29 เมตร และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 33ง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2544
สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในวัดส่วนใหญ่เป็นศิลปะพม่า มีศิลปะไทยและจีนปะปนอยู่บ้าง สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ พระเจดีย์และศาลาการเปรียญ
พระเจดีย์ดาธุ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพม่า เป็นเจดีย์ทรงกลมยกฐานสูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม จากฐานถึงยอดฉัตรสูงประมาณ 13 เมตร มีลานประทักษิณและกำแพงล้อมรอบโดยรอบทั้งสี่ด้าน กำแพงเป็นกำแพงปูนทึบสูงประมาณ 1 เมตร แต่ละด้านของกำแพงมีประตูทางเข้ากว้างประมาณ 2 เมตร ส่วนฐานเจดีย์และกำแพงฉาบด้วยปูนทาสีขาว ส่วนองค์เจดีย์และส่วนยอดเป็นสีทอง ส่วนยอดฉัตรเจดีย์ทำด้วยทองเหลืองและประดับหินสีแบบสถาปัตยกรรมแบบพม่า
ผู้สร้างพระเจดีย์ดาธุคือนางพั่วไซ่ข่าย สามีชื่ออูอาวเม ซึ่งเป็นโหรในราชสำนักพม่า ต่อมาได้อพยพมาอยู่ในจังหวัดระนอง ปัจจุบันทายาทของท่านรวมทั้งพุทธศาสนิกชนชาวพม่าที่ได้อพยพมาจากพม่า จะช่วยกันทำความสะอาดและบูรณะสภาพมาโดยตลอด
ด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์ เป็นที่ตั้งของ “อนุสรณ์สถานพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอยู่ปิ๋ว ณ ระนอง)” ลักษณะคล้ายโกศ 8 เหลี่ยม ทำด้วยปูนทาสีขาว ตั้งอยู่บนฐานสูง ยอดบนเป็นเจดีย์ระฆัง ภายในบรรจุอัฐิ? ของบุคคลในตระกูล ณ ระนอง
ศาลาการเปรียญ เป็นศาลาโปร่ง มีรั้วเตี้ยๆกั้นอยู่โดยรอบ ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทางเข้ายื่นออกมาทางด้านหน้า (ด้านทิศตะวันตก) เสาเป็นเสาปูน เครื่องบนเป็นไม้ หลังคาทรงปั้นหยามุงแผ่นกระเบื้องลอน ปูนทับสันหลังคาเป็นรูปพญานาค พื้นภายในปูด้วยกระเบื้อง
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.
กรมศิลปากร. "วัดสุวรรณคีรีวิหาร" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx