โพสต์เมื่อ 3 เม.ย. 2023
ที่ตั้ง :
ตำบล : ไม้ฝาด
อำเภอ : สิเกา
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.518781 N, 99.296506 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน
จากที่ว่าการอําเภอสิเกา มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปตามทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 4046 ระยะทางประมาณ 50 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสิเกา–ปากเมง มุ่งหน้าตรงไประยะทางประมาณ 3.4 กิโลเมตร จะพบทางแยกให้เบี่ยงซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4162 ตรงไประยะทางประมาณ 6.4 กิโลเมตร ถึงหาดปากเมง จากนั้นนั่งเรือจากหาดปากเมง ผ่านเกาะเมง แล้วอ้อมเขาเมง ก็จะถึงอ่าวบุญคง แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ที่เพิงผาและโพรงถ้ำบริเวณภูเขาไม่มีชื่อด้านฝั่งตรงข้ามของเขาเมง (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 64)
แหล่งโบราณคดีอ่าวบุญคงได้รับการดูแลอนุรักษ์โดยองค์การบริหารส่วนตําบลไม้ฝาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กับหาดปากเมง หาดราชมงคล และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม (สํานักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต (ก), 2556: 3)
องค์การบริหารส่วนตําบลไม้ฝาด
แหล่งโบราณคดีอ่าวบุญคง มีลักษณะเป็นเพิงผาและโพรงถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลตามธรรมชาติ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบุญคง ระหว่างเขาเมงและหาดราชมงคล ซึ่งเป็นอ่าวปิด ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง การเดินทางจึงต้องใช้เรือ หรือเดินตัดผ่านป่าชายเลนเข้าไปบริเวณโพรงถ้ำ ในพื้นที่อ่าวนี้มีคูหาแบ่งเป็นหลายห้องต่อเนื่องกันไปหลายบริเวณซึ่งสังเกตได้จากเวลาที่ระดับน้ำทะเลลดลง (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 64)
ตําแหน่งถ้ำที่พบหลักฐานทางโบราณคดี มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำสองคูหาซึ่งมีทางเดินเชื่อมถึงกัน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล น้ำจึงขึ้นไม่ถึงพื้นถ้ำ เพดานถ้ำมีขนาดไม่สูงนัก (พอสําหรับคนเดินก้มเข้าไปได้) ที่พื้นภายในถ้ำพบโบราณวัตถุและเปลือกหอยกระจายตัวอยู่ทั่วไป สภาพหลักฐานถูกลักลอบขุดรื้อทําลาย ส่วนใหญ่จึงเหลือเพียงชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผา และเปลือกหอยกองอยู่และกระจัดกระจายเป็นจํานวนมาก (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 64-65)
ทะเลอันดามัน
เป็นหินปูนในกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมียน (กรมทรัพยากรธรณี, 2550)
ชื่อผู้ศึกษา : สํานักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556, พ.ศ.2557
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สํานักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต สํารวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 และสํารวจพบภาพเขียนสีเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 จากการสัมภาษณ์นายวินัย ชูเสียงแจ้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ได้ความว่า ชาวบ้านในแถบนั้นรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพบโครงกระดูกมนุษย์และภาชนะดินเผาอยู่ภายในถ้ำบริเวณอ่าวบุญคง แต่เนื่องจากการเดินทางเข้าถึงแหล่งเป็นไปได้โดยยากลําบาก แต่ก็ได้มีการออกข่าวทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2556 (ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 65)ชื่อผู้ศึกษา : ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2557
วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศึกษาและกําหนดอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีชายฝั่งและหมู่เกาะของจังหวัดตรัง ศึกษาลักษณะการใช้พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะในอดีตของจังหวัดตรัง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีชายฝั่งและหมู่เกาะของจังหวัดตรังกับชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ในภาคพื้นทวีปแหล่งโบราณคดีอ่าวบุญคงเป็นแหล่งที่ตั้งอยู่ในอ่าว สภาพพื้นที่จึงเหมาะสมสําหรับการจอดเรือเพื่อพักระหว่างการเดินทาง หรือใช้หลบกระแสคลื่นลมแรง อีกทั้งภายในยังมีถ้ำหลายคูหาต่อเนื่องกันไป ซึ่งน่าจะเกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลตามธรรมชาติ จนเกิดเป็นโพรงถ้ำและเพิงผา (สํานักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต (ข), 2556: 1-2)
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ (สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต (ข), 2556; ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์, 2557: 69-80) ได้แก่
ภาพเขียนสี พบบริเวณเพิงผาของอ่าวบุญคง ห่างจากโพรงถ้ำที่พบหลักฐานทางโบราณคดีไปประมาณ 5 เมตร ลักษณะภาพเป็นกลุ่มภาพเขียนด้วยลายเส้นสีแดงคล้ายสัตว์ทะเลและสัตว์บก แบ่งเป็นภาพต่าง ๆ คือ
(1) ภาพลายเส้นสีแดงรูปปลาที่ระบายสีแดงทึบบริเวณครีบและหาง
(2) ภาพลายเส้นสีแดงรูปปลา ด้านในมีเส้นมีแดงตกแต่งทั้งแบบเส้นแนวตั้งหลายเส้นหรือแบบลายเส้นแนวขวางทั้งตัว ส่วนหัว ครีบ และหาง ระบายสีทึบ
(3) ภาพลายเส้นสีแดงคล้ายรูปหอยสังข์ และภาพลายเส้นสีแดงคล้ายลิง? ส่วนหัวและหางระบายสีทึบ
ลักษณะภาพที่พบมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีที่แหล่งโบราณคดีเขาแบนะ ในเขตอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ตําบลไม้ฝาด อําเภอสิเกา จังหวัดตรัง อายุประมาณ 4,000 – 2,000 ปี มาแล้ว
ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ พบจํานวนมาก อยู่ในสภาพแตกหัก ได้แก่ ชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ ฟันกราม กระดูกแขน กระดูกขา และกระดูกซี่โครงจํานวนมาก จึงไม่สามารถระบุจำนวนผู้ตายได้อย่างชัด จากการกำหนดอายุของเจ้าของโครงกระดูกโครงหนึ่งจากตัวอย่างกระดูกกรามล่าง (Mandible) ของประพิศ พงศ์มาศ พบว่าเป็นกระดูกกรามล่างของเพศชาย อายุประมาณ 15 – 20 ปี เนื่องจากลักษณะคางเป็นเหลี่ยม และร่องรอยสึกของฟันกรามที่ 3 (3rd Molar) ที่เพิ่งขึ้นไม่นาน รวมถึงฟันมีรอยขีดเป็นเส้นคล้ายเป็นลักษณะทางพันธุกรรม
เปลือกหอย พบเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ดังนี้
(1) เปลือกหอยเลีย (Cyclophorus aurantiacus) ที่อาศัยอยู่บริเวณภูเขา ป่าละเมาะ หรือพื้นดินที่มีป่าชื้นหรือภูมิอากาศแบบลมมรสุม
(2) เปลือกหอยแครง (Anadara granosa) ที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน หรือพื้นที่น้ำกร่อย ไม่ชอบน้ำลึก
(3) เปลือกหอยสังข์กระโดด หรือหอยชักตีน (Strombus canarium) เป็นหอยทะเลฝาเดียว พบอาศัยอยู่บริเวณพื้นทรายปนโคลน บริเวณหญ้าทะเลในเขตน้ำขึ้นน้ำลง
เปลือกหอยเหล่านี้อาจเป็นนิเวศวัตถุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนหอยเลียเป็นหอยบกที่อยู่ในสภาอากาศแบบมรสุม จึงอาจถูกนํามาเป็นอาหาร
ภาชนะดินเผา พบทั้งภาชนะดินเผาเนื้อดิน ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) และภาชนะดินเผาเนื้อกระเบื้อง (Porcelain) ทั้งที่นําเข้าจากต่างภูมิภาค และผลิตจากแหล่งเตาในภูมิภาค ดังนี้
(1) ภาชนะดินเผาจากต่างภูมิภาค ทั้งภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง และภาชนะดินเผาเนื้อกระเบื้อง ได้แก่
- เครื่องถ้วยจีนจากเตาหย่งชุน เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 17 สมัยราชวงศ์สุ้งใต้ เครื่องถ้วยเคลือบสีขาว มีลักษณะเป็นตลับ เนื้อดินสีขาวละเอียด นํ้าเคลือบสีขาวใส มีรอยแตกราน บริเวณก้นภาชนะด้านนอกไม่เคลือบ สภาพชํารุดแตกหัก และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่มีการตกแต่งด้านในโดยการเซาะเป็นร่อง
- เครื่องถ้วยจีนจากเตาหลงเฉวียน เมืองลี่สุ่ย มณฑลเจ้อเจียง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 สมัยราชวงศ์สุ้งใต้ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนชาม น้ำเคลือบสีเขียวคล้ำหรือเขียวอ่อน ค่อนข้างใส เนื้อดินสีเทาแกร่ง ตัวชาม ด้านนอกมักไม่ตกแต่งลวดลาย ด้านในขูดสลักลายกอบัว และลายซี่หวี อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ปลายสมัยราชวงศ์สุ้งใต้ ถึงต้นสมัยราชวงศ์หยวน เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนปากชาม เนื้อดินสีเทา ละเอียด น้ำเคลือบสีเขียว
- เครื่องถ้วยจีนจากเตาถงอัน เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยราชวงศ์สุ้งใต้ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว มีลักษณะเป็นชาม เนื้อดินสีเทาหรือเทาอมเหลือง น้ำเคลือบสีเขียวอมเทา มีรอยแตกราน เคลือบไม่ถึงเชิง ชิ้นส่วนปากชามบริเวณปาก ผิวด้านนอกและด้านในเรียบ เคลือบสีเขียวอมเทาบริเวณส่วนปาก ส่วนถัดลงมาไม่เคลือบ เศษเครื่องถ้วยจีนส่วนลําตัว และส่วนก้นมีลักษณะก้นลึก เชิงสูง ขอบเชิงหนา เคลือบสีเขียวอมเทาส่วนลําตัวบางส่วน ส่วนก้นไม่เคลือบ ทั้งด้านนอกและด้านใน
- เครื่องถ้วยจีนจากเตาอีซิ่ง เมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู อายุราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 19 สมัยราชวงศ์หยวน เครื่องถ้วยเคลือบน้ำตาล ลักษณะเป็นภาชนะทรงขวด เนื้อดินสีน้ำตาลหยาบ น้ำเคลือบสีน้ำตาลอมดํา สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะบรรจุดินปืนสําหรับใช้ในเรือ หรือส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(2) ภาชนะดินเผาในภูมิภาค ได้แก่
- แหล่งเตาปะโอ ปัจจุบันตั้งอยู่ในตําบลวัดขนุนและตําบลม่วงงาม อําเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 ซึ่งผลิตภาชนะดินเผาเนื้อสีขาวละเอียด ประเภท กุณฑีและกุณโฑ เศษภาชนะดินเผาที่พบเป็นชิ้นส่วนลําตัวภาชนะมีพวย เนื้อดินละเอียดสีขาว ทาน้ำดินสีขาวนวล และขัดมัน
- แหล่งเตาพื้นเมือง เป็นเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ชิ้นส่วนปากและลําตัวภาชนะ เนื้อหยาบเผาไม่สุก บางชิ้นตกแต่งด้วยการขูดลาย รมควัน และไม่มีลวดลาย
เศษภาชนะดินเผาต่าง ๆ ที่พบสามารถกําหนดอายุได้ว่าอยู่ในช่วงยุคประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจากประเทศจีนที่พบว่าเป็นเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งใต้ ลักษณะเป็นเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวอมเทาทั้งสองด้าน ตกแต่งด้วยลายขุดหรือลายซี่หวี เป็นเส้นโค้งอ่อนช้อย และชิ้นส่วนตลับเคลือบใสสีขาว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 เครื่องถ้วยจีนเคลือบเขียว ปาดน้ำดินทั้งด้านในและด้านนอกภาชนะ เครื่องถ้วยจีนเคลือบน้ำตาล สมัยราชวงศ์หยวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19
เครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในภูมิภาค ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินจากแหล่งเตาปะโอ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 เป็ นภาชนะดินเผาเนื้อละเอียดมีพวย และภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีแหล่งผลิตจากแหล่งเตาท้องถิ่นในภาคใต้ของไทย โดยเศษภาชนะเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนในสมัยนั้นนําติดตัวมาเป็นเครื่องใช้สําหรับอุปโภคบริโภคในการเดินเรือมาค้าขาย หรือมีการแลกเปลี่ยนเป็นสินค้ากับชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเล และเข้ามาหลบพักอาศัยในบริเวณถ้ำภายในอ่าว หรืออาจเป็นสิ่งของอุทิศในพิธีกรรมการฝังศพ ในช่วง
ประมาณ 700 – 1,000 ปี มาแล้ว
แหวน เป็นแหวนพลอยสีชมพู สภาพชํารุด เป็นพลอยเนื้ออ่อน หายไป 1 เม็ด เหลือ 8 เม็ด ตัวเรือนทําด้วยโลหะเคลือบด้วยสีทอง มีสนิมสีเขียว พิจารณาจากรูปแบบ สันนิษฐานว่าเป็นแหวนสมัยปัจจุบัน
โดยสรุปแล้ว แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ น่าจะถูกใช้งานใน 2 ยุคสมัย ได้แก่ เป็นที่พักพิงชั่วคราวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานถาวร แต่เหมาะแก่การหลบคลื่นลมของคนเดินเรือ ส่วนในยุคประวัติศาสตร์ ช่วงพุทธศตวรรษที 16 – 19 พื้นที่นี้ถูกใช้เป็นแหล่งฝังศพ
กรมทรัพยากรธรณี. การจําแนกเขตเพื่อการจดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2550.
กรมศิลปากร. ก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้ ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร , 2534.
ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์. "การศึกษาแหล่งโบราณคดีบริเวณชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะในจังหวัดตรัง." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.
สํานักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต (ก). รายงานการสํารวจแหล่งโบราณคดีเกาะเมง หมู่ 4 ตําบลไม้ฝาด อําเภอสิเกา จังหวัดตรัง. ม.ป.ท.: โครงการสํารวจแหล่งโบราณคดี ปีงบประมาณ 2556, 2556.
สํานักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต (ข). รายงานการสํารวจแหล่งโบราณคดีอ่าวบุญคง ตําบลไม้ฝาด อําเภอสิเกา จังหวัดตรัง. ม.ป.ท.: โครงการสํารวจแหล่งโบราณคดี ปีงบประมาณ 2556, 2556.