โพสต์เมื่อ 30 ก.ค. 2023
ที่ตั้ง : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก
ตำบล : บักดอง
อำเภอ : ขุนหาญ
จังหวัด : ศรีสะเกษ
พิกัด DD : 14.461092 N, 104.426250 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยทา
เพิงผาเขียนตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าบนภูเขาสูง ไม่มีเส้นทางรถยนต์เข้าถึงได้ จึงต้องใช้เส้นทางการเดินเท้าเข้าสู่แหล่งโบราณคดี เริ่มต้นจากการเดินทางโดยรถยนต์จากสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านสำโรงเกียรติ เดินทาง ตามเส้นทางถนนหมายเลข 2236 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านบ้านสันติสุข จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนที่มุ่งสู่หมู่บ้านทับทิมสยาม 07 และจอดรถพักไว้บริเวณเชิงเขาพนมดบทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน รวมระยะทางในการเดินทางเส้นทางรถยนต์ประมาณ 10 กิโลเมตร จากนั้นจึงเริ่มการเดินทางโดยทางเท้าไปยังแหล่งโบราณคดี โดยเดินเท้าไต่ระดับความสูงขึ้นสู่เขาพนมดบ รวมระยะในการเดินทางประมาณ 5 กิโลเมตร (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564)
แหล่งโบราณคดีอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ในเขตป่าลึก การเข้าถึงแหล่งต้องได้รับอนุญาตจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก
กรมอุทยานแห่งชาติ
เพิงผาเขียน เป็นเพิงผาหินทราย ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของเขาพนมดบ สภาพทั่วไปของเพิง ผาเขียนเป็นแนวหน้าผาสูงชัน วางตัวในแนวยาวตามแนวแกนทิศตะวันออก–ทิศตะวันตก เพิงผาหันด้านหน้าไป ทางทิศใต้ มีความยาวประมาณ 100 เมตร มีเพดานขนานกับพื้นของแนวหน้าผา เพดานของเพิงผาสูงจากพื้น ตั้งแต่1-3 เมตร ยื่นออกออกมาจากแนวหน้าผา ประมาณ 5–10 เมตร (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564)
พื้นด้านล่างเป็นหินทรายและดินลาดเอียง เป็นพื้นที่ที่สามารถเดินเท้าได้ตลอดแนวหน้าผา ที่ผนังด้านในของเพิงผามีร่องรอยของช่องโพรงปากถ้ำ 1 จุด ซึ่ง ปัจจุบันมีหินที่แตกหักพังลงมาปิดทับปากถ้ำไว้ คนสามารถเข้าไปสู่ภายในได้ แต่ไม่ปลอดภัยในการที่จะเข้าไปสำรวจเพื่อศึกษาหาหลักฐาน บริเวณพื้นหินของเพิงผาตำแหน่งทางด้านตะวันตก มีช่องตาน้ำไหลออกมาจาก ภายในถ้ำ 1 จุด บริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เพิงผาเขียนนั้น แบ่งออกเป็น 2 จุด (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564) ได้แก่
จุดที่ 1 ตั้งอยู่พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเพิงผา พบภาพเขียนสีรูปมือสีแดง ตำแหน่งที่พบนั้นอยู่ บริเวณกลางเพดานและบริเวณผนังของเพิงผา พื้นที่ในการเขียนภาพมีความยาวประมาณ 5 เมตร
จุดที่ 2 ตั้งอยู่พื้นที่ด้านทิศตะวันออกของเพิงผา ห่างจากจุดที่ 1 ไปประมาณ 70 เมตร ตำแหน่งที่ พบนั้นอยู่บริเวณผนังของเพิงผา พบที่ตำแหน่งติดกับพื้นดินและตำแหน่งที่สูงจากพื้นประมาณ 1.50 เมตร ภาพที่พบ นั้นมีภาพสลักลายเส้น เป็นภาพเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ พื้นที่ในการเขียนภาพมีความยาวประมาณ 4 เมตร
ห้วยทา, แม่น้ำมูล
หินทรายในหมวดหินเสาขัว กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส (กรมทรัพยากรธรณี, 2553)
ชื่อผู้ศึกษา : กิตติพงษ์ สนเล็ก, นิตยา สาระรัตน์, นภสินธุ์ บุญล้อม, วรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา, ทัศนีย์ ศรีจรัสวัฒนชัย, วินัย หาญสุวรรณ, อมรวุฒิ สังข์ศิลป์ชัย, ธันยธรณ์ วรรณโพธิ์พร, เวนิช ศรีมันตะ, มานิตย์ วรรณพฤกษ์, วีระ ศรีนามะ, เอกรักษ์ โพธิ์ชัย, ธีภัทร งอยแพง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2564
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ, องค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง
ผลการศึกษา :
เจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ร่วมกับ เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง สำรวจเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564จากการสำรวจศึกษาของนักโบราณคดีและเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ร่วมกับ เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 พบว่าบริเวณเพิงผาเขียน เขาพนมดบ ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต โดยเฉพาะที่ผนังเพิงผา ทั้งร่องรอยภาพเขียนสี และร่องรอยภาพสลัก รวมทั้งสิ้น 2 จุด มีรายละเอียด (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564) ดังนี้
จุดที่ 1 ภาพเขียนสีแดงรูปฝ่ามือ โดยใช้เทคนิคการระบายสีแดงลงบนฝ่ามือ เเล้วนำไปกดประทับหรือทาบลงบริเวณผนังเพิงผาและเพดาน ขนาดฝ่ามือที่พบ มีขนาดความสูง เฉลี่ย 17-19 เซนติเมตร นับจำนวนได้ ทั้งสิ้น 16 มือ เป็นมือขวา 8 มือ มือซ้าย 6 มือ และไม่สามารถระบุข้างได้ 2 มือ โดยมีทั้งสิ้น 7 กลุ่ม (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564) ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณผนังเพิงผา สูงจากพื้น 2.26 เมตร พบภาพเขียนสีเเดง รูปฝ่ามือขวา จำนวน 2 ภาพ ห่างกัน 15 เซนติเมตร ปัจจุบันมีสภาพเลือนราง แต่ปรากฏนิ้วมือค่อนข้างชัดเจน
กลุ่มที่ 2 ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณผนังเพิงผา สูงจากพื้น 1.80 เมตร พบภาพเขียนสีเเดง รูปฝ่ามือซ้าย จำนวน 1 ภาพ ปัจจุบันมีสภาพเลือนราง แต่ปรากฏนิ้วมือค่อนข้างชัดเจน
กลุ่มที่ 3 ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณผนังเพิงผา สูงจากพื้น 2.00 เมตร พบภาพเขียนสีเเดง รูปฝ่ามือ ซึ่งนอกจากจะกดประทับหรือทาบมือลงบนผนังแล้วยังลงสีบริเวณที่ไม่ติดสีด้วย จึงทำให้รูปฝ่ามือของ กลุ่มที่ 3 มีสภาพสมบูรณ์พบ จำนวน 2 ภาพ ห่างกัน 10 เซนติเมตร ปัจจุบันมีสภาพเลือนราง โดยภาพที่ 1 ปรากฏรูปฝ่ามือซ้าย แต่นิ้วโป้งไม่ชัดเจน ภาพที่ 2 ปรากฏรูปฝ่ามือขวา แสดงนิ้วมือครบถ้วน
กลุ่มที่ 4 ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณผนังเพิงผา สูงจากพื้น 1.80 เมตร พบภาพเขียนสีเเดง รูปฝ่ามือ จำนวน 4 ภาพ ห่างกันภาพละ 5-10 เซนติเมตร ภาพที่ 1 เป็นรูปฝ่ามือซ้าย แต่สภาพนิ้วมือไม่ชัดเจน ภาพที่ 2 มีสภาพชัดเจนที่สุด โดยเป็นรูปฝ่ามือขวา ภาพที่ 3 เป็นรูปฝ่ามือซ้าย และนิ้วมืออีก 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยนิ้วโป้งของภาพที่ 3 ซ้อนทับกับนิ้วโป้งของภาพที่ 4 สำหรับภาพที่ 4 เป็นรูปฝ่ามือขวา ซึ่งวาดแตกต่างจากภาพอื่นในกลุ่มเดียวกันคือกดประทับหรือทาบมือลงบนผนังแล้วยังลงสีบริเวณที่ไม่ติดสีด้วย เช่นเดียวกับภาพกลุ่มที่ 3
กลุ่มที่ 5 ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณเพดาน สูงจากพื้น 2.10 เมตร พบภาพเขียนสีเเดงรูป ฝ่ามือขวา ปรากฏครบทั้ง 5 นิ้วจำนวน 1 ภาพ ปัจจุบันมีสภาพเลือนลาง แต่ปรากฏนิ้วมือค่อนข้างชัดเจน
กลุ่มที่ 6 ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณเพดาน สูงจากพื้น 2.00 เมตร พบภาพเขียนสีเเดงรูป ฝ่ามือขวา จำนวน 2 ภาพ อยู่ในลักษณะกลับด้านกัน โดยภาพที่ 1 มีสภาพเลือนลาง แต่ ปรากฏเค้าโครงฝ่ามือนิ้ว มือขวาค่อนข้างชัดเจน และภาพที่ 2 มีสภาพเลือนลางเช่นเดียวกันเพราะผนังหินมีการกะเทาะหลุดร่อนไป แต่ยังคงเห็นเค้าโครงฝ่ามือและนิ้วมือบางส่วน จึงสันนิษฐานว่าเป็นฝ่ามือขวา
กลุ่มที่ 7 ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณผนังเพิงผา และเพดาน สูงจากพื้น 1.90 เมตร พบภาพเขียนสีแดงรูปฝ่ามือ จำนวน 4 ภาพ โดยภาพที่ 1 มีสภาพเลือนลาง แต่ยังปรากฏเค้าโครงฝ่ามือและนิ้วมือ สันนิษฐานว่าเป็นภาพฝ่ามือซ้าย ภาพที่ 2 มีสภาพเลือนลาง แต่ยังปรากฏเค้าโครงฝ่ามือและนิ้วมือ สันนิษฐานว่าเป็นภาพฝ่ามือซ้าย ภาพที่ 3 มีสภาพเลือนลาง หลงเหลือเฉพาะบริเวณฝ่ามือเท่านั้น จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็น มือข้างใด และภาพที่ 4 มีสภาพเลือนลาง ปรากฏเฉพาะนิ้วมือ 3 นิ้ว จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นมือข้างใด
จุดที่ 2 ภาพสลักลายเส้น (การทำรูปรอยลงบนหิน - Petroglyph) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ของบริเวณที่พบภาพเขียนสี จุดที่ 1 เป็นระยะห่างประมาณ 70 เมตร โดยสันนิษฐานว่า ใช้เครื่องมือเหล็กในการ ขูดขีดผนังเพิงผา โดยมีทั้งสิ้น 4 กลุ่ม (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564) ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ตำแหน่งที่พบอยู่สูงจากพื้น 1.30 เมตร มีความกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 94 เซนติเมตร ขูดขีดเส้นเป็นเส้นตรง เรียงขนานกันในแนวตั้ง และแนวทแยง
กลุ่มที่ 2 ตำแหน่งที่พบอยู่ติดพื้น มีความกว้าง 40 เซนติเมตร ขูดขีดเส้นเป็นเส้นตรง เรียงขนานกันในแนวตั้ง
กลุ่มที่ 3 ตำแหน่งที่พบอยู่สูงจากพื้น 16 เซนติเมตร มีความกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร ขูดขีดเส้นเป็นเส้นตรง เรียงขนานกันในแนวตั้งและแนวทแยง
กลุ่มที่ 4 ตำแหน่งที่พบอยู่สูงจากพื้น 1.10 เมตร มีความกว้าง 60 เซนติเมตร และยาว 90 เซนติเมตร ขูดขีดเส้นเป็นเส้นตรง เรียงขนานกันในแนวตั้งและแนวทแยง แต่มีความหนาเเน่นน้อยกว่าภาพ กลุ่มที่ 1-3
ข้อสันนิษฐานความหมายของภาพเขียนสีและภาพสลัก
คณะสำรวจ (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564) ได้สันนิษฐานว่า การเขียนสีรูปฝ่ามือด้วยวิธีการทาสีลงบนฝ่ามือและกดประทับลงผนังหิน และอาจระบายสีเพิ่มเติมในจุดที่สีไม่ติดเพื่อให้ฝ่ามือมีความสมบูรณ์ โดยการเขียนในลักษณะนี้เป็นวิธีการเขียนภาพมือวิธีหนึ่งที่พบในแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำ เพิงหิน หรือเพิงผา หลายแห่งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยพบทั้งภาพฝ่ามือซ้ายและขวา เช่น แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำผาฆ้อง 2 จังหวัดเลย แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำกวาง จังหวัดขอนแก่น แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำเงิบ 2 จังหวัดชัยภูมิ และแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำแต้มโงนจะพะ จังหวัดอุบลราชธานี (สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2539)
ภาพฝ่ามือสีแดงที่พบนี้ สันนิษฐานว่ามนุษย์โบราณทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์การเดินทางมาถึง เพิงหิน เพิงผา หรือถ้ำ ซึ่งเป็นจุดพักชั่วคราว หรืออาจเป็นสัญลักษณ์แสดงตำแหน่งจุดที่ตาน้ำธรรมชาติไหลผ่าน เพราะที่เพิงผาเขียนพบตาน้ำธรรมชาติอยู่ไม่ไกลกับภาพเขียนสีแดงรูปฝ่ามือ โดยภาพเขียนสีรูปฝ่ามือที่พบสมบูรณ์นั้น มีความสูง 17-19 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อวัดกับฝ่ามือของมนุษย์สมัยปัจจุบัน ก็สามารถจัดจำแนกเบื้องต้นว่าเป็นฝ่ามือของมนุษย์ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564)
สำหรับภาพสลักหินที่พบมีลักษณะการขูดขีดเป็นเส้นตรงในแนวขนานกันและแนวทแยง ไม่เป็นสัญลักษณ์หรือรูปทรงที่ชัดเจน ดังนั้น จึงไม่สามารถสันนิษฐานหรือตีความภาพสลักดังกล่าวได้อย่างชัดเจน (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564)
การกำหนดอายุสมัยเบื้องต้น
คณะสำรวจ (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564) กำหนดอายุในเบื้องต้นว่า ภาพเขียนสีแดงรูปฝ่ามืออาจทำขึ้นในช่วง 2,500 - 1,500 ปีมาเเล้ว ตรงกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก และภาพสลักลายเส้น อาจอยู่ในช่วง 2,500 - 1,500 ปีมาเเล้ว ตรงกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก เช่นเดียวกัน เนื่องจากการขูดขีดลายหรือขัดฝนไปบนผนังหินนั้น ต้องใช้เครื่องมือเหล็ก เพราะเหล็กมีความเเข็งแรงและทนทานกว่าวัสดุประเภทอื่น ซึ่งมนุษย์มีพัฒนาการเริ่มสามารถผลิตเครื่องมือเหล็กได้ในช่วงเวลานี้เป็นต้นมา ทั้งนี้ การกำหนดอายุสมัยยังเป็นข้อจำกัด สำหรับการกำหนดอายุภาพเขียนและภาพสลักบนเพิงหินหรือเพิงผา เพราะจากการสำรวจบริเวณเพิงผาเขียน ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ได้ จึงไม่สามารถกำหนดอายุสมัยที่ชัดเจนได้
สำหรับแหล่งโบราณคดีประเภทเพิงหิน เพิงผา และถ้ำ ที่พบภาพเขียนสีแดงรูปฝ่ามือร่วมกับภาพสลักของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการสำรวจและคัดลอกข้อมูลไว้ในประเทศไทย พบทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้ แก่ 1. ถ้ำมิ้ม (ถ้ำเรขาคณิต) ภูเก้า อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู 2. เพิงหินภูอ่าง อำเภอน้ำยืน จังหวัด อุบลราชธานี และ 3. เพิงผาเขียน เขาพนมดบ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
การใช้งานพื้นที่
พื้นที่ด้านทิศใต้ของเพิงผาเขียน เขาพนมดบ เป็นเพิงผาขนาดใหญ่ และมีเพดานส่วนยื่นที่มีความยาวกว่า 10 เมตร สามารถกันแดดกันฝน และบางจุดมีลานหินราบเรียบที่สะดวกต่อการพักค้างแรม และมีตาน้ำธรรมชาติไหลตลอดฤดูกาล จึงสันนิษฐานว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่พักชั่วคราว ระหว่างการเดินทางเพื่อหาของป่าล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าเพราะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของมนุษย์ในอดีต (นภสินธุ์ บุญล้อม และคณะ, 2564)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณีจังหวัดศรีสะเกษ. กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2553.
นภสินธุ์ บุญล้อม และวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา. รายงานผลการสำรวจแหล่งโบราณคดีเพิงผาเขียน เขาพนมดบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ. (ออนไลน์). นครราชสีมา: กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา, 2564. เข้าถึงเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, เข้าถึงจาก https://www.finearts.go.th/storage/contents/2021/11/file/idlx9VwdQe8VFhFoXjd4ZB6mOtEDgzxXqistTVq6.pdf
สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ: สำนัก โบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2539.