โพสต์เมื่อ 11 ม.ค. 2025
ชื่ออื่น : เจดีย์เขาล้างบาศ, เจดีย์เขาล้างบาตร
ที่ตั้ง : ซ.มนตรี ถ.เพชรเกษม (เทศบาลเมืองพังงา)
ตำบล : ท้ายช้าง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : พังงา
พิกัด DD : 8.459680 N, 98.529068 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : อ่าวพังงา, คลองพังงา
เขตลุ่มน้ำรอง : ทะเลอันดามัน
เจดีย์ล้างบาตร์ตั้งอยู่บนยอดเขาหินปูนด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของโรงเรียนสตรีพังงา ในซอยมนตรี ถนนเพชรเกษม ในตัวเมืองพังงาและในเขตเทศบาลเมืองพังงา
เจดีย์เขาล้างบาตร์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโบราณปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองพังงา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์จากท้องถิ่น (เทศบาลเมืองพังงา) และกรมศิลปากร มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มาเยือน เช่น ลานจอดรถ ศาลานั่งพักผ่อน บันไดขึ้นลง สภาพพื้นที่บนเขาที่ได้รับการปรับแต่งปูหญ้า เหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อนหย่อนใจ แต่ทั้งนี้อาจมีการละเลยไปบ้าง เห็นได้จากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนองค์เจดีย์หลายต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อโครงสร้างความแข็งแรงของเจดีย์
ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมเจดีย์เขาล้างบาตร์ได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม นอกจากจะได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแห่งหนึ่งของเมืองพังงาแล้ว บริเวณเจดีย์ยังเป็นจุดชมวิวซึ่งสามารถชมทิวทัศน์ตัวเมืองพังงาได้โดยรอบ
เทศบาลเมืองพังงา, กรมศิลปากร
เจดีย์เขาล้างบาตร์ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50ง วันที่ 18 ธันวาคม 2439
เจดีย์ล้างบาตร์เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนยอดเขาหินปูนลูกเตี้ยๆ ชื่อว่า เขาวง อยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของโรงเรียนสตรีพังงา ในซอยมนตรี ถนนเพชรเกษม ด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองพังงาและในเขตเทศบาลเมืองพังงา บริเวณเชิงเขาวงด้านทิศตะวันออกเป็นซอยมนตรีและเป็นทางขึ้นสู่เจดีย์เขาล้างบาตร์ มีลานจอดรถขนาดเล็กและศาลาโถงก่ออิฐถือปูน 2 หลัง สำหรับนั่งพักผ่อน และมีป้ายให้ข้อมูลโบราณสถาน ศาลาหลังด้านทิศเหนือประดิษฐานรูปปั้นหลวงปู่ทวด พระเกจิชื่อดังของภาคใต้ เพราะเคยพบต้นไม้ลักษณะคล้ายหลวงปู่บนเขาวง บริเวณเจดีย์เขาล้างบาตร์
บันไดทางขึ้นสู่เจดีย์บนยอดเขาตั้งอยู่ด้านหลังศาลาด้านทิศใต้ เป็นบันไดปูนซีเมนต์ปูอิฐ เจดีย์ตั้งอยู่บนยอดเขาหินปูนลูกเล็ก ๆ หรืออาจเป็นก้อนหินปูนขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งบนเขาวง ความสูงจากพื้นถนนซอยมนตรีด้านล่างประมาณ 20 เมตรเศษ
คลองพังงา, อ่าวพังงา
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต บูรณะและจัดทำแบบเจดีย์เขาล้างบาตร์ อ.เมือง จ.พังงาชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : สำรวจ, บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต สำรวจขึ้นทะเบียน บูรณะและจัดทำแบบเจดีย์เขาล้างบาตร์ อ.เมือง จ.พังงาเจดีย์เขาล้างบาตร์ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง ผู้ค้นพบคนแรกคือพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) หรือเจ้าคุณงา เจ้าเมืองพังงาคนแรก (เป็นเจ้าเมืองพังงาราว พ.ศ.2383-2404)
จากการสำรวจของกรมศิลปากรพบว่า เจดีย์ดังกล่าวสูงประมาณ 8 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 5.50 เมตร เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองซ้อนกันสามชั้นประดับด้วยลายเครือเถาแกนกลางเป็นไม้แก่นยาวต่อเนื่องถึงยอดเจดีย์
ลักษณะเจดีย์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่ออิฐถือปูน การย่อมุมค่อนข้างใหญ่ องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานสิงห์ซ้อนกัน 3 ชั้น และมีชั้นบัวคั่นก่อนถึงองค์ระฆังย่อมุม เหนือองค์ระฆังซึ่งเดิมชำรุดหักหาย เหลือเพียงปล้องไฉนอยู่ 2 ปล้องนั้น ปัจจุบันมีการต่อเติมขึ้นใหม่จนสมบูรณ์ ทั้งส่วนปล้องไฉนและส่วนยอด
รอบองค์เจดีย์ล้อมรอบไปด้วยลานประทักษิณแคบๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รั้วก่ออิฐถือปูน ทำเป็นช่องในแนวตั้ง มีช่องทางเข้าสู่ลานทางทิศเหนือ มีการติดไฟหรือสปอตไลท์ส่ององค์เจดีย์ในตอนกลางคืนอยู่ทั้ง 4 มุมรั้ว พื้นลานมีร่องรอยการปูอิฐ แต่สภาพชำรุดไปมาก มีโต๊ะวางเครื่องสักการะอยู่ทางทิศเหนือประชิดองค์เจดีย์ ส่วนฐานเจดีย์มีผ้าพันอยู่โดยรอบ มีพืชขึ้นอยู่บนองค์เจดีย์หลายต้น
จากรูปแบบศิลปะสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น