ถ้ำเพิง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.5 บ้านทุ่งไพล ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย

ตำบล : คูหา

อำเภอ : สะบ้าย้อย

จังหวัด : สงขลา

พิกัด DD : 6.575826 N, 100.840378 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลสาบสงขลา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลำทับ, คลองลำเปา, คลองเคียน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัว อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4095 (มุ่งหน้า ต.คูหา) ประมาณ 14 กิโลเมตร (เลยวัดคูหาไปประมาณ 2.7 กิโลเมตร) แหล่งโบราณคดีถ้ำเพิงตั้งอยู่เกือบติดริมถนนทางขวามือ (ก่อนถึงมัสยิดบ้านทุ่งไพลใต้)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระพุทธรูปภายในถ้ำเพิงเป็นที่สักการะของชาวบ้านในพื้นที่

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3715 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีถ้ำเพิงตั้งอยู่ในพื้นที่เขาและภูเขาหินปูน (Hill and Mountain) ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเขาคลองโกน ลักษณะเป็นเพิงผาที่มีลานกว้างใต้เพิงและมีทางน้ำไหลผ่าน ขนาดเพิงผากว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 80 เมตร สภาพปัจจุบันถูกขุดรบกวนไปบางส่วนจากกิจกรรมของคนในปัจจุบัน (กรมศิลปากร 2553 : 134)

ลักษณะพื้นที่ใต้เพิงผาเป็นพื้นราบ มีความลาดเอียงลงไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเล็กน้อย รวมทั้งลาดเอียงลงทางทิศใต้สู่ทางน้ำไหลใต้เพิงผา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านนางชื่น พงศ์สุวรรณ (กรมศิลปากร 2553 : 134)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

48 เมตร

ทางน้ำ

ทะเลสาบสงขลา, คลองลำทับ, คลองลำเปา, คลองเคียน

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีถ้ำเพิงตั้งอยู่ในพื้นที่เขาและภูเขาหินปูน (Hill and Mountain) ชื่อ “เขาโกน” ซึ่งเป็นหินปูนตกผลึกใหม่ (หินชุดราชบุรี) ยุคเพอร์เมียน อายุประมาณ 270 ล้านปีมาแล้ว (คณะกรรมการฯ 2545 : 3) 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยหินใหม่, สมัยหิน

อายุทางวิทยาศาสตร์

TL : ค่าอายุน้อยที่สุด 2831±139 B.P. ค่าอายุที่เก่าสุด 7313±495 B.P. ค่าอายุในชั้นดินที่เริ่มปรากฏการใช้พื้นที่เด่นชัด 3657±360 B.P. ; C-14 : 1490±620 B.P., 1380±540 B.P. และ 9630±750 B.P.

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3715 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 จากทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร (กรมศิลปากร 2516) ทำให้สันนิษฐานได้ว่า หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขณะนั้นน่าจะมีเฉพาะหลักฐานในยุคประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้น

ชื่อผู้ศึกษา : ชื่น พงศ์สุวรรณ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

ผลการศึกษา :

นางชื่น พงศ์สุวรรณ เจ้าของที่ดิน ขุดปรับสภาพพื้นที่หน้าเพิงผาเพื่อใช้สร้างบ้าน พบหลักฐานทางโบราณคดี อาทิ โครงกระดูกมนุษย์จำนวน 5 โครง กำไลเปลือกหอย และเศษภาชนะดินเผา (สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 134)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

29 มกราคม 2553 สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร สำรวจทางโบราณคดีพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน กระดูกสัตว์ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ กำไลเปลือกหอย และได้กำหนดอายุว่าถ้ำเพิงเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ (สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 71)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาการปลงศพ, ขุดทดสอบ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร ขุดทดสอบทางโบราณคดีตามโครงการศึกษาวิจัยการตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีวิตของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสสตร์ในจังหวัดสงขลาและสตูล ระยะที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2553 (กรมศิลปากร 2555 : 442 ; สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 134-144) โดยขุดค้นจำนวน 3 หลุม หลุมขุดค้นที่ 1 พบหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ กระดูกสัตว์ กระดูกสัตว์เผาไฟ เปลือกหอย (หอยเจดีย์ หอยหอม หอยกาบ) เครื่องมือหินขัด เครื่องมือหินกะเทาะ เขี้ยวสัตว์ โครงกระดูกมนุษย์ 1 โครง (เป็นโครงกระดูกมนุษย์เพศชาย อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป มีโรคเหงือกร่น และโรคกระดูกบริเวณปลายขา โดยโครงกระดูกถูกฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มือทั้ง 2 ข้าง วางอยู่บนสะโพก พบโบราณวัตถุที่ฝังร่วมกับศพ คือ เครื่องมือหินและเศษภาชนะดินเผา) เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินเนื้อหยาบ พบส่วนปากและลำตัว ผิวนอกสีดำ มีลายเชือกทาบ และคล้ายลายจักสาน รมควันและขัดมันในบางชิ้น ความหนาภาชนะ 0.2-1.2 เซนติเมตร หลุมขุดค้นที่ 2 พบเปลือกหอยเจดีย์และเปลือกหอยกาบ หลุมขุดค้นที่ 3 เปลือกหอย (หอยเจดีย์ หอยหอม และหอยกาบ) กระดูกสัตว์ กระดูกสัตว์เผาไฟ เครื่องมือหินกะเทาะ (เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เนื้อหยาบ ผิวภาชนะภายนอกสีดำ ผิวเรียบ มีการรมควันและขัดมัน)

ชื่อผู้ศึกษา : ประพิศ พงศ์มาศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกมนุษย์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นางประพิศ พงศ์มาศ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ขุดค้นพบในปี พ.ศ.2553 โดยพบว่าเป็นโครงกระดูกของมนุษย์เพศชาย อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป ปรากฏโรคเหงือกร่น และโรคกระดูกบริเวณปลายขา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 174)

ชื่อผู้ศึกษา : กฤษณ์ วันอินทร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลการศึกษา :

ดร.กฤษณ์ วันอินทร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดอายุตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence Dating) ได้ค่าอายุที่สำคัญ (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553) ดังนี้ ค่าอายุน้อยที่สุด 2831 ± 139 B.P. ค่าอายุที่เก่าสุด 7313 ± 495 B.P. ค่าอายุในชั้นดินที่เริ่มปรากฏการใช้พื้นที่เด่นชัด 3657 ± 360 B.P.

ชื่อผู้ศึกษา : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการวัดกัมมันตรังสีของคาร์บอน (carbon14) ได้ค่าอายุ 1490±620 B.P., 1380±540 B.P. และ 9630±750 B.P. (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553)

ชื่อผู้ศึกษา : ดวงกมล อัศวมาศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ผลการศึกษา :

ดร.ดวงกมล อัศวมาศ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศึกษาตัวอย่างเศษภาชนะดินเผาด้วยวิธีศิลาวรรณนา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 221-225) พบว่า 1.วัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นภาชนะของแหล่งโบราณคดีถ้ำเพิง มีวัตถุต้นกำเนิดคือ หินอัคนีจำพวกหินแกรนิต ซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่ทางธรณีวิทยาของภาคใต้ มีลักษณะเป็นหินตะกอนชนิดดินดานเป็นส่วนใหญ่สลับดัวหินตะกอนอื่นบ้าง 2.แหล่งดินที่นำมาผลิตภาชนะดินเผามาจาก 2 พื้นที่ คือ (1) แหล่งวัตถุดิบของดินน่าจะเป็นดินชั้นบน (เนื่องจากพบอินทรียวัตถุกระจายอยู่ในเนื้อดิน) ของพื้นที่บริเวณใกล้กับแหล่งภูเขาหรือแหล่งต้นกำเนิดดิน (เพราะพบเศษแร่ต่างๆอยู่เป็นจำนวนมาก) (2) แหล่งดินวัตถุดิบมีการทับถมตกตะกอนในบริเวณที่มีน้ำนิ่ง โดยดินไม่ได้ถูกพัดพาหรือเคลื่อนย้ายไปที่อื่น จากแร่ที่พบคือ ไมกากำลังสลายตัวเป็นดินและก้อนแร่เหล็กออกไซด์ที่จับตัวเป็นมวลพอกขนาดใหญ่ ชี้ให้เห็นถึงการตกตะกอนทับถมเป็นอย่างดี โดยแหล่งดินนี้เป็นดินที่อยู่บริเวณปลายเชิงเขาห่างจากทิศทางการพัดพาจากแหล่งต้นกำเนิดไม่ไกล ทำให้ดินมีเนื้อหยาบ 3.จากผลการวิเคราะห์เนื้อดินสามารถตีความได้ถึงความรู้ของช่างปั้นภาชนะดินเผาที่รู้จักคัดเลือกและนำดินที่นำมาผลิตภาชนะดินเผาของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มาจากคนละพื้นที่กัน อย่างน้อย 2 พื้นที่ โดยที่ไม่ใช้ดินที่อยู่บริเวณเพิงผาที่อยู่อาศัย 4.การขึ้นรูปภาชนะมีทั้งแบบขึ้นด้วยมืออย่างอิสระและขึ้นด้วยแป้นหมุนช้า 5.อุณหภูมิการเผาภาชนะไม่เกิน 400-550 องศาเซลเซียส (เนื่องจากแร่ควอตซ์เม็ดเดี่ยวที่มีจุดหลอมละลาย 573 องศาเซลเซียส รวมถึงแร่ชนิดอื่นๆที่ปะปนอยู่ในเนื้อดิน เช่น เฟลด์สปาร์ ไมกา เหล็กออกไซด์ ไม่หลอมละลายหรือเปลี่ยนโครงสร้าง) สันนิษฐานว่าเป็นการเผากลางแจ้ง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการศึกษาของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร (กรมศิลปากร 2516 ; 2555 ; สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553) พบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงากรใช้พื้นที่ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานการใช้พื้นที่เป็นที่ประกอบพิธีศพและพักอาศัยชั่วคราว หลักฐานที่สำคัญคือ

หลุมฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 1 หลุม ภายในหลุมฝังศพประกอบไปด้วย โครงกระดูกมนุษย์ 1 โครง เป็นโครงกระดูกมนุษย์เพศชาย อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป ปรากฏโรคเหงือกร่นและโรคกระดูกบริเวณปลายขา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 137, 174) โครงกระดูกถูกฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มือทั้ง 2 ข้างวางอยู่บนสะโพก โบราณวัตถุที่ฝังร่วมกับศพหรือวัตถุอุทิศ ได้แก่ เครื่องมือหินและเศษภาชนะดินเผา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553) เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) เนื้อหยาบ พบส่วนปากและลำตัว ผิวนอกสีดำ การตกแต่งผิวด้านนอกมีทั้งลายเชือกทาบและคล้ายลายจักสาน รวมทั้งรมควันและขัดมันในบางชิ้น ความหนาภาชนะ 0.2-1.2 เซนติเมตร จากการวิเคราะห์ด้วยวิธีศิลาวรรณนา ทำให้ได้ข้อมูลว่า

1.วัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นภาชนะของแหล่งโบราณคดีถ้ำเพิง มีวัตถุต้นกำเนิดคือ หินอัคนีจำพวกหินแกรนิต ซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่ทางธรณีวิทยาของภาคใต้ มีลักษณะเป็นหินตะกอนชนิดดินดานเป็นส่วนใหญ่สลับดัวหินตะกอนอื่นบ้าง

2.แหล่งดินที่นำมาผลิตภาชนะดินเผามาจาก 2 พื้นที่ คือ (1) แหล่งวัตถุดิบของดินน่าจะเป็นดินชั้นบน (เนื่องจากพบอินทรียวัตถุกระจายอยู่ในเนื้อดิน) ของพื้นที่บริเวณใกล้กับแหล่งภูเขาหรือแหล่งต้นกำเนิดดิน (เพราะพบเศษแร่ต่างๆอยู่เป็นจำนวนมาก) (2) แหล่งดินวัตถุดิบมีการทับถมตกตะกอนในบริเวณที่มีน้ำนิ่ง โดยดินไม่ได้ถูกพัดพาหรือเคลื่อนย้ายไปที่อื่น จากแร่ที่พบคือ ไมกากำลังสลายตัวเป็นดินและก้อนแร่เหล็กออกไซด์ที่จับตัวเป็นมวลพอกขนาดใหญ่ ชี้ให้เห็นถึงการตกตะกอนทับถมเป็นอย่างดี โดยแหล่งดินนี้เป็นดินที่อยู่บริเวณปลายเชิงเขาห่างจากทิศทางการพัดพาจากแหล่งต้นกำเนิดไม่ไกล ทำให้ดินมีเนื้อหยาบ

3.จากผลการวิเคราะห์เนื้อดินสามารถตีความได้ถึงความรู้ของช่างปั้นภาชนะดินเผาที่รู้จักคัดเลือกและนำดินที่นำมาผลิตภาชนะดินเผาของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มาจากคนละพื้นที่กัน อย่างน้อย 2 พื้นที่ โดยที่ไม่ใช้ดินที่อยู่บริเวณเพิงผาที่อยู่อาศัย

4.การขึ้นรูปภาชนะมีทั้งแบบขึ้นด้วยมืออย่างอิสระและขึ้นด้วยแป้นหมุนช้า

5.อุณหภูมิการเผาภาชนะไม่เกิน 400-550 องศาเซลเซียส (เนื่องจากแร่ควอตซ์เม็ดเดี่ยวที่มีจุดหลอมละลาย 573 องศาเซลเซียส รวมถึงแร่ชนิดอื่นๆที่ปะปนอยู่ในเนื้อดิน เช่น เฟลด์สปาร์ ไมกา เหล็กออกไซด์ ไม่หลอมละลายหรือเปลี่ยนโครงสร้าง) สันนิษฐานว่าเป็นการเผากลางแจ้ง

หลักฐานอื่นๆในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ร่องรอยกองไฟ เปลือกหอย (หอยเจดีย์ หอยหอม และหอยกาบ) กระดูกสัตว์ กระดูกสัตว์เผาไฟ เครื่องมือหินกะเทาะ กำไลเปลือกหอย

ยุคประวัติศาสตร์ พบหลักฐานการใช้พื้นที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยอาจใช้เป็นศาสนสถาน จากทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักรกล่าวว่า บริเวณถ้ำเพิงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นก่อด้วยปูนปั้นจำนวน 16 องค์ ขนาดหน้าตักตั้งแต่ 1 ศอกคืบลงมา (กรมศิลปากร 2516 : 538) แต่สภาพปัจจุบันมีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานที่ถ้ำเพิง 5 องค์ และเจดีย์จำลอง 2 องค์ วางขนาบองค์พระพุทธรูปอยู่ทั้งสองด้าน พุทธลักษณะของพระพุทธรูปเป็นสกุลช่างพื้นถิ่น พระพักตร์เรียวรูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำ เม็ดพระศกเป็นหนามแหลม (กรมศิลปากร 2555 : 442)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

พิมพ์ชนก พงษ์เกษตร์กรรม์ เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516.

กรมศิลปากร. ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). สงขลา : สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา, 2555.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2545.

ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 27 August 2013. Available from http://www.gis.finearts.go.th

ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร. รายงานผลการดำเนินงานในโครงการวิจัยการตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีวิตของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดสงขลาและสตูล ระยะที่ 2. สงขลา : หจก.ทรีโอ ครีเอชั่น, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง