โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : ถ้ำศิลป์, ถ้ำศิลป
ที่ตั้ง : ม.2 บ้านบันนังลูวา
ตำบล : หน้าถ้ำ
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ยะลา
พิกัด DD : 6.522165 N, 101.233363 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี
จากตัว จ.ยะลา ใช้ทางหลวงหมายเลข 409 มุ่งหน้า ต.หน้าถ้ำ (มุ่งหน้าทางทิศตะวันตก) ประมาณ 6 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสู่วัดคูหาภิมุข เลยวัดคูหาภิมุขไปประมาณ 4.5 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนประมาณ 1.1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนลาดยางขนาดเล็กประมาณ 100 เมตร จะพบทางขึ้นสู่ถ้ำศิลป์
ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวัน
กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ
ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3695 ประกาศวันที่ 8 มีนาคม 2478
ถ้ำศิลป์ตั้งอยู่ทางทิศใต้บน “เขาถ้ำพระนอน” ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน (เขาถ้ำพระนอนตั้งอยู่ห่างจากเขายะลามาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร) ถ้ำอยู่สูงจากเชิงเขาประมาณ 28.2 เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก โถงถ้ำอยู่ในแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ เพดานถ้ำด้านทิศใต้ช่วงที่สูงสุดมีช่องค่อนข้างใหญ่ ทำให้แสงสว่างสามารถส่องเข้าภายในถ้ำได้ในบางช่วง ถัดขึ้นไปด้านทิศเหนือเป็นโถงถ้ำที่ต่ำกว่าเล็กน้อย มีภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ 2 ด้าน คือ ผนังถ้ำด้านตะวันออก เป็นภาพเขียนสีดำ เป็นกลุ่มภาพคนเป่าลูกดอกและยิงธนู และมีภาพเขียนสีสภาพค่อนข้างลบเลือนมาก เป็นภาพสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ และผนังถ้ำด้านทิศตะวันตกเป็นภาพเขียนสีแสดงภาพพระพุทธเจ้าและพุทธประวัติบางตอน แหล่งโบราณคดีใกล้เคียงได้แก่ เพิงผาถ้ำศิลป์ ที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยและประกอบกิจกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านล่างของเขาถ้ำพระนอนถัดลงมาจากถ้ำศิลป์ (ชาญรุ่งโรจน์ 2548)
แม่น้ำปัตตานี
ถ้ำศิลป์ตั้งอยู่ทางทิศใต้บน “เขาถ้ำพระนอน” ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน ล้อมรอบด้วยพื้นที่ทับถมจากตะกอนตะพักลำน้ำ เขาถ้ำพระนอนมีความสูงตั้งแต่ประมาณ 30-200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ชื่อผู้ศึกษา : หะยี วังกะจิ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2468
ผลการศึกษา :
นายหะยี วังกะจิ ค้นพบถ้ำศิลป์ และได้แจ้งไห้กำนัน ต.หน้าถ้ำ ทราบว่าภายในถ้ำมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้นและเครื่องถ้วยแบบต่างๆ ขุนศิลปกรรมพิเศษจึงมีคำสั่งให้นายถ่อง (ย่อง) แก้วนิตย์ ผู้ควบคุมกองลูกเสือหาโอกาสไปสำรวจถ้ำดังกล่าวชื่อผู้ศึกษา : ถ่อง แก้วนิตย์ (ย่อง แก้วนิตย์)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
นายถ่อง แก้วนิตย์ (ย่อง แก้วนิตย์) สำรวจถ้ำศิลป์อย่างละเอียด และพบภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาสำรวจเพิ่มเติม และเพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนศิลปกรรมพิเศษ ทารการจึงตั้งชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำศิลป์” มาจนถึงทุกวันนี้ชื่อผู้ศึกษา : ธนิตย์ อยู่โพธิ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
นายธนิตย์ อยู่โพธิ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร สำรวจ บันทึกภาพ และเผยแพร่ข้อมูลภาพเขียนสีที่ถ้ำศิลป์ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ หนึ่งในนั้นคือ “ภาพเขียนสีเป็นพระพุทธรูป” หรือถ้ำศิลป์ชื่อผู้ศึกษา : ศิลป์ พีระศรี, เขียน ยิ้มศิริ, ชิน อยู่ดี, จำรัส เกียรติก้อง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2501
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศ.ศิลป์ พีระศรี และนายเขียน ยิ้มศิริ จาก ม.ศิลปากร ร่วมกับ ศ.ชิน อยู่ดี และนายจำรัส เกียรติก้อง จากกรมศิลปากร วิเคราะห์แปลความภาพจิตรกรรมฝาผนังยุคประวัติศาสตร์ โดยเสนอบทความเกี่ยวกับภาพเขียนสีในถ้ำ จ.ยะลา และสันนิษฐานอายุของศิลปกรรมบนผนังหินเบื้องต้นจากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะศิลปกรรมบนผนังหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบเช่นเดียวกับในทวีปยุโรป อีกทั้งยังศึกษาเปรียบเทียบกับลักษณะศิลปกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูที่พบในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชื่อผู้ศึกษา : อมรา ศรีสุชาติ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
นางอมรา ศรีสุชาติ กรมศิลปากร วิเคราะห์และแปลความสภาพสังคมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำชื่อผู้ศึกษา : ต่อสกุล ถิระพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์, สมภพ พงษ์พัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผลการศึกษา :
นายต่อสกุล ถิระพัฒน์ นายภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และนายสมภพ พงษ์พัฒน์ จัดทำเอกสารประกอบการสัมมนาในหัวข้อ “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” เพื่อเสนอสำหรับสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือเพื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของภาพเขียนสีรูปคนและศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนสี ที่พบในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงภาพเขียนสีที่ถ้ำศิลป์ จ.ยะลาชื่อผู้ศึกษา : ชาญรุ่งโรจน์ (บริษัทจำกัด), กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2548 มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำศิลป์ 3 หลุม และที่เพิงผาถ้ำศิลป์ อีก 1 หลุม โดย บริษัท ชาญรุ่งโรจน์ จำกัด ภายใต้การควบคุมของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ใน “โครงการอนุรักษ์โบราณสถานถ้ำศิลป์ จ.ยะลา” รวมพื้นที่ 31 ตารางเมตรชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรบูรณะจิตรกรรมบนผนังถ้ำภายในถ้ำศิลป์ โดยได้รับงบประมาณสันบสนุนจากงบประมาณพัฒนาจังหวัดยะลาชื่อผู้ศึกษา : อัตถสิทธิ์ สุขขำ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
อัตถสิทธิ์ สุขขำ ศึกษาศิลปะถ้ำหรือศิลปกรรมบนผนังหินที่พบในภาคใต้ของไทย เพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อ “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือเพื่อประมวลข้อมูลเบื้องต้นและประมวลแนวคิดในการกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหิน รวมทั้งเรียบเรียงข้อมูลและกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินในสมัยโบราณในภาคใต้ของไทย ซึ่งรวมถึงศิลปะถ้ำที่พบที่ถ้ำศิลป์ด้วยพื้นที่ภายในถ้ำศิลป์รวมถึงพื้นที่โดยรอบถ้ำภายในเขาถ้ำพระนอนปรากฏร่องรอยการใช้พื้นที่ของคนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญได้แก่ ภาพเขียนสี และหลักฐานที่ได้จากการขุดค้น
ภาพเขียนสี แบ่งออกได้ตามตำแหน่งของภาพได้ดังนี้
ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพเขียนสีดำ เขียนเป็นรูปกลุ่มคนประมาณ 8 คน ขอบเขตของภาพขนาด 65 เซนติเมตร และ 60 เซนติเมตร วางตำแหน่งของภาพแบบสามเหลี่ยม ภาพคนสันนิษฐานว่าเป็นนักล่าสัตว์ด้วยไม้ซางเป่าลูกดอกที่ใช้ในการล่าสัตว์จากระยะไกล สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ตอนเหนือคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนยืนสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ด้านหน้าคนเป่าลูกดอกเป็นคนยืนแอ่นท้อง สูงประมาณ 16 เซนติเมตร ด้านหลังคนเป่าลูกดอกเป็นคนยืนโก่งคันธนู สูงประมาณ 19 เซนติเมตร ด้านล่างคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนนั่งหรือคนขนาดเล็กย่อส่วนสูงประมาณ 12 เซนติเมตร 15 เซนติเมตร และ 16 เซนติเมตร ด้านหลังริมสุดของภาพคนยืนมีสภาพเลอะเลือน โดยภาพคนทั้งหมดเป็นภาพหันหน้าตรงและหันข้างในภาพเดียวกัน (Half-profile style) ทำภาพด้วยเทคนิคเซาะร่อง (Engraving) เป็นเส้นโครงร่างก่อนแล้วจึงระบายสีทึบภายในโครงร่างนั้น (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553 ; อมรา ศรีสุชาติ 2532 : 49 ; ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์ 2540) สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (กรมศิลปากร 2555)
ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำด้านทิศตะวันออก อยู่ถัดจากภาพกลุ่มคนเป่าลูกดอก เป็นภาพเขียนสีแดงรูปภาพสัญลักษณ์และพุทธประวัติ สีลบเลือนเห็นเพียงรอยสีน้ำตาล อยู่ผนังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และจากรอยที่เหลืออยู่พอจะมองเห็นเป็นภาพต่างๆ คือ บนสุดเป็นภาพดวงตราแปดดวง ถัดมาเป็นภาพคนสองคนนั่งหันหน้าเข้าหากัน ภาพล่างสุดตอนกลางเป็นภาพคนนั่งสามคน (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)
ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำด้านทิศตะวันตก ภาพเขียนสีเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพุทธประวัติ เขียนด้วยเทคนิคการลงสีดำ แดง และขาว กลุ่มภาพสูงจากพื้นประมาณ 2-4 เมตร ประกอบด้วยภาพบนสุดเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงกันประมาณ 15 พระองค์ ยังคงชัดเจนอยู่ 3 พระองค์ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวก 2 องค์ขนาบข้าง ด้านล่างลงมาเป็นภาพพระพุทธรูปปางนาคปรก ปางสมาธิ ธิดาพญามารทั้ง 3 คือ ตัณหา ราคา และอรดี ถัดไปเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางลีลา รัตนจงกลม และพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนบัลลังก์สูง มีพระโพธิสัตว์หรือพระสาวกขนาบข้าง ด้านล่างของภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นภาพขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นภาพของพลมาร ด้านล่างของภาพพระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกันเป็นภาพเทวดาเหาะเขียนด้วยสีแดง (ศิลป์ พีระศรี 2501) พระพุทธรูปปางลีลาที่พบบนผนังถ้ำด้านนี้มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปแบบสุโขทัย (กรมศิลปากร 2555 : 605)
หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้น
มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพียงครั้งเดียวคือในปี พ.ศ.2548 โดยสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ บจ. ชาญรุ่งโรจน์ โดยขุดค้นทั้งหมด 4 หลุม อยู่ภายในถ้ำศิลป์ 3 หลุม และที่เพิงผาถ้ำศิลป์ 1 หลุม (เป็นเพิงผาที่ตั้งอยู่ต่ำลงมาจากถ้ำศิลป์) พื้นที่ขุดค้นรวม 31 เมตร หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ (ชาญรุ่งโรจน์ 2548 ; อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553) ได้แก่
1.เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) มีทั้งแบบผิวภาชนะผิวเรียบและที่ตกแต่งด้วยลายกดประทับแบบเส้นตรงและลายคล้ายดอกไม้ ลายเชือกทาบ สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะดินเผายุคประวัติศาสตร์ และเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน ผลิตในแหล่งเตาพื้นเมือง นอกจากนี้ เศษภาชนะผิวเรียบบางชิ้นมีเนื้อละเอียด ภายนอกและในมีสีขาว-นวล ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาประเภทกุณฑีจากแหล่งเตาปะโอ โดยเป็นสิ่งของที่นำเข้ามาพร้อมกับติดต่อกับชุมชนอื่นบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย
2.เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) ตกแต่งด้วยเคลือบใสแตกราน สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องถ้วยจีน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-20 และเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยเก่า อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งอาจจะเป็นการการนำเข้ามาพร้อมกับการติดต่อกับชุมชนอื่นตามชายฝั่งอ่าวไทยและตามเส้นทางข้ามคาบสมุทร
3.กระดูกสัตว์ ได้แก่ สัตว์จำพวกกวาง เก้ง หมู นก กบ สันนิษฐานว่าเป็นสัตว์ที่ถูกล่ามาเป็นอาหารของมนุษย์ในอดีตจากพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดี เนื่องด้วยชั้นดินที่ขุดพบนั้นมีการปะปนของโบราณวัตถุหลายสมัย จึงไม่สามารถวิเคราะห์อายุสมัยของกระดูกสัตว์ได้
4.เครื่องมือกระดูกสัตว์ปลายแหลม
5.ชิ้นส่วนเขากวาง
6.ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินดิบ
7.ก้อนแร่เหล็ก
8.ขวานหินขัด
การแปลความศิลปกรรม หลักฐานทางโบราณคดี และการกำหนดอายุเบื้องต้น (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ศิลปกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ศิลปกรรมบนผนังหินของภาพกลุ่มคนล่าสัตว์ด้วยธนูและคนเป่าไม้ซาง บริเวณผนังถ้ำด้านตะวันออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาพเขียนสีแดงกับการเซาะร่องแบบธรรมชาติ (Naturalistic) หรือภาพเสมือนจริง (Realistic) หรือภาพรูปลักษณ์ (Figures) ภาพคนในท่ายืนกำลังเป่าไม้ซางอยู่ตรงกลางโดยมีรูปคนกำลังยิงธนูและรูปสัตว์อยู่รายรอบเป็นลักษณะวงกลม ถัดไปเป็นภาพคนและสัตว์เป็นแนวตรง ทั้งสองด้านของภาพที่เป็นวงกลม แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งที่เป็นเรื่องราวของการดำเนินชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เห็นถึงความเชื่อออกมาเป็นภาพสัญลักษณ์ เทคนิควิธีการเขียนภาพเขียนสีจะเขียนสีด้วยถ่านผสมยางไม้ ดร.อมรา ศรีสุชาติ (2532) สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า-ล่าสัตว์ และเป็นลักษณะพิเศษของคน คือ การเขียนภาพแขนทั้งสองข้างมาบรรจบกันโดยการใช้เส้นโค้งและการวาดภาพส่วนศีรษะยื่นแหลมคล้ายหัวนก อาจแสดงถึงลักษณะการนับถือโทเท็มประจำเผ่า และ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม (2546) กล่าวว่าเป็นลักษณะสืบทอดมาจนถึงพวกเซมังซาไกหรือพวกเงาะที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลาและประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี จากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ บจ.ชาญรุ่งโรจน์ (2548) บริเวณถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์ พบหลักฐานการอยู่อาศัยของกลุ่มคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 ปีมาแล้ว จึงกำหนดอายุภาพเขียนสีรูปกลุ่มคนล่าสัตว์ด้วยธนูและเป่าไม้ซางถูกเขียนขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว
หลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากการขุดค้นบริเวณถ้ำศิลป์ (หลุมขุดค้นที่ 1-3) ประกอบด้วยลูกปัดเปลือกหอยและเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ส่วนบริเวณเพิงผาถ้ำศิลป์ (หลุมขุดค้นที่ 4) ประกอบด้วยเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เปลือกหอยกาบ เปลือกหอยเลียบ เปลือกหอยทาก กระดูกสัตว์ เครื่องมือกระดูกปลายแหลม เปลือกหอยเจาะรู เครื่องมือหินขัด และก้อนแร่เหล็ก หลักฐานเหล่านี้สะท้อนถึงความเป็นหลักฐานในชั้นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติสาสตร์อย่างชัดเจน (ภายในถ้ำศิลป์มีการรบกวนชั้นในมาก อาจเป็นสาเหตุให้พบหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์น้อย) ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์มีการเข้ามาใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งศิลปกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา โดยพื้นที่บริเวณเพิงผาถ้ำศิลป์นั้นมีการใช้เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะยุคก่อนประวัติศาสตร์เท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นเพียงระยะเวลาไม่นานนัก หลังจากนั้นจึงถูกทิ้งร้างไป บริเวณถ้ำศิลป์ยังคงมีการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ แต่เปลี่ยนจากการใช้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยเป็นการใช้พื้นที่เพื่อเป็นศาสนสถานที่สำคัญในพุทธศาสนา
รายละเอียดบางประการของหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่
เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ทาน้ำดิน รมควันที่ผิว
ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์และเครื่องมือกระดูกสัตว์ปลายแหลม จากการจัดจำแนกพบชิ้นส่วนของหนู นก หมู กวาง วัว/ควาย เป็นต้น ซึ่งทำให้ทราบว่าน่าจะมีการล่าสัตว์มาจากบริเวณใกล้ๆกับแหล่งโบราณคดี เนื่องจากชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ที่พบมีหลายชิ้นส่วนปะปนกัน ทั้งส่วนขาและลำตัว ทั้งกระดูกสันหลัง ซึ่โครง กะโหลก จากประเภทของสัตว์ที่พบทำให้ทราบถึงลักษณะพื้นที่ของแหล่งอาหารว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยเป็นป่าเบญจพรรณและทุ่งหญ้า นอกจากนั้นยังมีการจับสัตว์น้ำ เช่น ปลา จากแหล่งน้ำใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดี โดยเศษกระดูกสัตว์บางส่วนนำเอาชิ้นส่วนกระดูกชิ้นยาวมาขัดฝนให้แหลมคมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ต่อไป จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ และแหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก จ.ตรัง พบเครื่องมือปลายแหลมทำจากกระดูกสัตว์ ที่กำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบได้ราว 3,020±230 ปีมาแล้ว (สุรินทร์ ภู่ขจร 2539 : 25) นอกจากนี้การขุดค้นเพิงผาหลังโรงเรียนก็พบเครื่องมือกระดูกที่มีลักษณะคล้ายกัน (Anderson 1990 ; รัศมี ชูทรงเดช 2545) จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์มีอายุอยู่ในช่วง 3,000 ปีมาแล้ว
สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการล่าสัตว์น่าจะประกอบไปด้วยเครื่องมือปลายแหลม ซึ่งอาจจะทำเป็นลูกศรสำหรับยิงธนู หรืออาจเปรียบเทียบได้กับภาพเขียนสีบันทึกเหตุการณ์การล่าสตัว์ภายในถ้ำศิลป์
หลักฐานประเภทเปลือกหอยทำให้ทราบได้ว่ามีการหาหอยน้ำจืดชนิดต่างๆมาเป็นอาหาร สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่มีแนวลำน้ำธรรมชาติขนาดเล็กไหลผ่านด้านทหน้าของแหล่งโบราณคดี นอกจากนี้ยังอาจจะมีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลที่อยู่ห่างออกไป เนื่องจากพบเปลือกหอยทะเลอยู่ในชั้นวัฒนธรรมเดียวกับเปลือกหอยน้ำจืด
ลูกปัดเปลือกหอย พบเพียงชิ้นเดียวที่ถ้ำศิลป์ มีลักษณะกลมแบน น่าจะทำมาจากเปลือกหอยทะเลที่มีความหนาค่อนข้างมาก จึงเป็นไปได้ว่าเป็นของที่มาจากการติดต่อกับแหล่งโบราณคดีที่อยู่ห่างไกลออกไป
เปลือกหอยเจาะรู เป็นสิ่งที่สามารถผลิตขึ้นภายในแหล่งโบราณคดีเนื่องจากมีวัตถุดิบอยู่ในพื้นที่ โดยอาจจะนำใช้เปลือกหอยที่เก็บมาเป็นอาหารเจาะรูด้วยเครื่องมือปลายแหลม ส่วนหน้าที่การใช้งานเปลือกหอยเจาะรูทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องประดับลักษณะเดียวกับลูกปัด
เครื่องมือหินขัด ทำจากหินเชิร์ท (Chert) เนื้อละเอียด แต่ไม่พบร่องรอยหลักฐานการผลิตเครื่องมือหิน จึงมีความเป็นไปได้ว่าขวานหินขัดนี้อาจนำมาจากพื้นที่อื่นด้วยการนำติดตัวเข้ามาหรืออาจเป็นสิ่งที่ทำขึ้นภายในแหล่งโบราณคดี
จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ และแหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก จ.ตรัง โดย ศ.สุรินทร์ ภู่ขจร (2539) พบเครื่องมือปลายแหลมที่ทำจากกระดูกสัตว์และขวานหินขัดอยู่ในชั้นวัฒนธรรมเดียวกัน ซึ่งกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบได้ราว 3,020±230 ปีมาแล้ว จึงเป็นได้ว่าวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์ มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว
ศิลปกรรมยุคประวัติศาสตร์ เป็นศิลปกรรมบนผนังหินเกี่ยวกับพุทธศาสนา ศ.ศิลป์ พีระศรี และ อ.เขียน ยิ้มศิริ (2501) กำหนดอายุจากการเปรียบเทียบได้ไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 15 เขียนด้วยศิลปินช่างท้องถิ่นตามศิลปะสมัยศรีวิชัย สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ตามแบบศิลปะสมัยสุโขทัย มีอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งสอดคล้องกับการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณถ้ำศิลป์ที่พบหลักฐานการใช้พื้นที่เป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ราวพุทธศตวรรษที่ 14-20 สมัยศรีวิชัยและใช้สืบเนื่องมาจนสมัยสุโขทัย
หลักฐานทางโบราณคดียุคประวัติศาสตร์ พบจากการขุดค้นเฉพาะแหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์(หลุมขุดค้นที่ 1-3) เท่านั้น ประกอบด้วย เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ชิ้นส่วนปูนฉาบปิดทอง และชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินดิบ รวมไปถึงหลักฐานที่เป็นภาพเขียนสีเกี่ยวกับพุทธประวัติลงสีดำ สีแดง และสีขาว อยู่ทางผนังด้านทิศตะวันตก
หลักฐานประเภทภาชนะดินเผา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ตกแต่งด้วยลายกดประทับ ลักษณะคล้ายดอกไม้ น่าจะเป็นภาชนะที่ผลิตขึ้นจากแหล่งเตาพื้นเมือง ส่วนที่มีผิวเรียบไม่มีการตกแต่ง สีของภาชนะมีสีขาว/นวล เนื้อละเอียด น่าจะเป็นภาชนะที่ของแหล่งเตาปะโอจากบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ โดยนำเข้ามาพร้อมกับการติดต่อระหว่างชุมชนและนำเข้ามาใช้ในหน้าที่เฉพาะ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ (2527) กล่าวไว้ว่า ลักษณะเนื้อดินของหม้อกุณฑีที่พบในคาบสมุทรภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อค่อนข้างหยาบ มักจะพบในพื้นที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และกลุ่มเนื้อละเอียด พบบริเวณคาบสมุทรสทิงพระในเขต จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ผลิตออกขายเป็นจำนวนมากในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 19-20
สำหรับเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยเก่า กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 18-20 และ 19-20 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศหรืออาจเป็นการส่งผ่านมาจากชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่ไม่ห่างจากแหล่งโบราณคดีมากนัก เช่น เมืองโบราณยะรัง ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทรระหว่างเส้นทางสายรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ผ่าน จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี (อมรา ศรีสุชาติ 2530)
ในด้านความเชื่อของชุมชนบริเวณถ้ำศิลป์ พบหลักฐานจากการขุดค้น คือ ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผา แต่จากสภาพของพระพิมพ์ที่พบไม่สมบูรณ์ เหลือเฉพาะบริเวณมุมเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นพระพิมพ์รูปแบบใด อย่างไรก็ตาม รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม (2546) ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีวัดถ้ำคูหาภิมุข ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขากลุ่มเดียวกับถ้ำศิลป์ โดยกล่าวถึงว่า พระพิมพ์ดินดิบแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบพระพิมพ์ขนาดใหญ่ มีรูปพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท พระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปนั่งขนาบข้างด้วยสถูปทั้งสองข้าง ลักษณะคล้ายกับศิลปะสมัยทวารวดีในภาคกลางของไทย และพระพิมพ์ขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นรูปพระโพธิสัตว์บางองค์มีจารึกกำกับอยู่ด้านหลัง ลักษณะเป็นแบบศรีวิชัย นอกจากพระพิมพ์ดินดิบแล้วยังพบพระพุทธรูปสำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และพระพุทธรูปรุ่นหลังลงมา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมาจนถึงสมัยอยุธยา
จากการลำดับสมัยวัฒนธรรมของแหล่งโบราณคดีในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้โดย ดร.อมรา ศรีสุชาติ (2530) ได้กล่าวถึงในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 มีการค้าขายกับจีน โดยเฉพาะการค้าขายเครื่องถ้วยชาม อิทธิพลของพุทธศาสนามหายานกลับมาฟื้นฟู มีการนำพระพิมพ์ฝังตามถ้ำ ซึ่งถือเป็นศาสนสถานระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 ยังคงทำการค้าขายกับสุโขทัยและอยุธยา เนื่องจากพบหลักฐานที่สำคัญ คือ เครื่องถ้วยชามสังคโลก จากการลำดับสมัยวัฒนธรรมของแหล่งโบราณคดีในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้นี้ จะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์ ในพื้นที่หลุมขุดค้นที่ 1-3 ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เป็นต้นมา (ชาญรุ่งโรจน์ 2548 : 79-84)
กรมศิลปากร. ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). สงขลา : สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา, 2555.
ชาญรุ่งโรจน์, บริษัทจำกัด. รายงานเบื้องต้นโครงการอนุรักษ์โบราณสถานถ้ำศิลป : งานขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำศิลปและแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำศิลป ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา. รายงานเสนอสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร, 2548.
ต่อสกุล ถิระพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์, และนายสมภพ พงษ์พัฒน์. “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” เอกสารประกอบการสัมมนาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.
ผาสุข อินทราวุธ. “หม้อกุณฑีในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย” เมืองโบราณ 10, 1 (มกราคม-มีนาคม 2527) : 103-111.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2539.
พิสิฐ เจริญวงศ์. ศิลปะถ้ำในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2531.
พิสิฐ เจริญวงศ์. ศิลปะถ้ำในอีสาน. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532.
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. รายงานการสำรวจและจัดทำข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดยะลา. ยะลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, 2539.
รัศมี ชูทรงเดช. “โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของกระบี่” วารสารดำรงวิชาการ 1, 2 (2545) : 45-73.
ศรีศักร วัลลิโภดม. อู่อารยธรรมแหลมทองคาบสมุทรไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2546.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “งานโบราณคดีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีต-ปัจจุบัน” ศิลปวัฒนธรรม 26, 5 (มีนาคม 2548) : 58-61.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ศิลป์ พีระศรี. “ภาพเขียนสีในถ้ำ จ.ยะลา” (เขียน ยิ้มศิริ, แปล). ศิลปากร 2, 3 (กันยายน 2501) : 41-45.
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา. แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา. เอกสารกลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร, ม.ป.ป.
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา. โครงการการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าการตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ ลุ่มแม่น้ำปัตตานี-สายบุรี. สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมสิลปากร, 2543.
สุรินทร์ ภู่ขจร. รายงานขั้นสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่, ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไก จังหวัดตรัง. กรงุเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.
อมรา ขันติสิทธิ์. “การศึกษาแนวความคิดจากภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521.
อมรา ศรีสุชาติ. “โบราณคดีชายฝั่งทะเลอันดามัน : ข้อมูลเก่า-ใหม่” ศิลปากร 31, 3 (2530) : 15-27.
อมรา ศรีสุชาติ. “ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย : ภาพสะท้อนของคนในสังคมแห่งบรรพกาล” ศิลปากร 33, 4 (2532) : 44-62.
อัตถสิทธิ์ สุขขำ. “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
Anderson, Douglas D. Lang Rongrien rockshelter : a Pleistocene – early Holocene archaeological site from Krabi, Southwestern Thailand. Philadelphia : The University Museum, 1990.