โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021
ที่ตั้ง : บ้านท่าเรือ
ตำบล : ท่าเรือ
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : นครศรีธรรมราช
พิกัด DD : 8.359574 N, 99.982617 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : คลองท่าเรือ, คลองหัวตรุด
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองวังวัว
จากตัวเมืองใช้ถนนราชดำเนิน (ทางหลวงหมายเลข 4017) มุ่งหน้าไปทางใต้ (สู่ ต.ท่าเรือ) ไปตามเส้นทางประมาณ 6 กิโลเมตร จะพบคลองท่าเรือ หรือคลองหัวตรุด แหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรืออยู่สองฝั่งคลองท่าเรือ
แหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้ข้อมูลจากการสำรวจ ไม่พบโบราณสถานเหนือพื้นดิน พบเพียงโบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป จึงไม่ได้มีการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบัน
กรมศิลปากร
แหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่บนริ้วสันทรายนครศรีธรรมราชมีคลองท่าเรือ (คลองหัวตรุด) ไหลผ่านทางตะวันออก และคลองวังวัว ซึ่งเป็นสาขาย่อยของคลองท่าเรือ ไหลผ่านทางทิศตะวันตก แหล่งโบราณคดีตั้งห่างจากทิศใต้ของเมืองโบราณนครศรีธรรมราชประมาณ 4-5 กิโลเมตร
มีอาณาเขตโดยรอบ (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ 2542 : 3302) ดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับบ้านหัวมีนา–วัดโพธิ์ร้าง (ร้าง)
ทิศตะวันออก ติดกับคลองท่าเรือ
ทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ราบลุ่ม
ทิศใต้ ติดกับบ้านพังห์สิง
ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือเป็นพื้นที่เกษตรกรรม วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช หมู่บ้านจัดสรร กุโบร์ และบ้านเรือนราษฎร โดยมีทางหลวงหมายเลข 4017 ตัดผ่านแหล่ง
อยู่ในเขตอิทธิพลของลุ่มแม่น้ำคลองท่าเรือและถือเป็นลำน้ำสายหลักโดยไหลผ่านทางทิศตะวันออกและใต้ของแหล่ง โดยมีคลองวังวัว (ลำน้ำสาขาของคลองท่าเรือ) เป็นลำน้ำสายรอง ไหลผ่านทางทิศตะวันตก
แหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือตั้งอยู่บนสันทรายนครศรีธรรมราช สันทรายนครศรีธรรมราชมีลักษณะเป็นแนวยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเลตามแนวทิศเหนือ–ใต้ เริ่มตั้งแต่อำเภอสิชล ท่าศาลาไปจนถึงอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและอำเภอเชียรใหญ่ เกิดขึ้นในสมัย Holocene มีอายุราว 6,000 ปีที่ผ่านมา สันทรายเกิดจากการกระทำของคลื่น โดยกระแสน้ำพัดพาเอาทรายขึ้นไปกองสะสมจนกลายเป็นสันทราย จากการศึกษาการเคลื่อนตัวของทรายตามแนวชายฝั่งภาคใต้พบว่า คลื่นบริเวณชายฝั่งตั้งแต่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชไปจนถึงนราธิวาสโดยเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้นอกฝั่งเวียดนามและมีทิศทางจากทิศตะวันออก เมื่อเคลื่อนตัวเข้าหาฝั่งจะกลายเป็นคลื่นหัวแตกในบริเวณที่ตื้น มีทิศทางวิ่งไปตามชายฝั่งทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือและมีความปั่นปวนของกระแสน้ำสูง ทำให้ทรายตามแนวชายฝั่งฟุ้งขึ้นมาจากพื้นทราย กระแสน้ำตามชายฝั่งจะพัดพาทรายเคลื่อนตัวไปตามชายฝั่ง ชั้นล่างของสันทรายเป็นโคลนตม ตะกอนจากแม่น้ำและสันทรายทะเลพัดพามาทับถมจนเกิดเป็นสันทราย (อมรา ขันติสิทธิ์ และธราพงศ์ ศรีสุชาติ 2529 : 1011)
ชื่อผู้ศึกษา : พิริยะ ไกรฤกษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ทำการตีพิมพ์หนังสือชื่อ “ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” ในหนังสือตีพิมพ์รูปภาพโบราณวัตถุที่พบแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือชื่อผู้ศึกษา : ณัฎฐภัทร จันทวิช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “เครื่องถ้วยจีน : ที่พบในภาคใต้” ได้กล่าวถึงเครื่องถ้วยจีนที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ โดยกล่าวว่าแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ เป็นแหล่งที่พบเครื่องถ้วยจีนมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ชื่อผู้ศึกษา : ณัฎฐภัทร จันทวิช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “เครื่องถ้วยกับเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราช” กล่าวถึงเครื่องถ้วยจีนที่พบบริเวณคลองท่าเรือและบ้านท่าเรือว่าเป็นแหล่งที่พบเครื่องถ้วยจีนที่สำคัญของนครศรีธรรมราช และยังพบเครื่องถ้วยอันหนาน (ญวน) บริเวณคลองท่าเรือ ตีพิมพ์รูปเครื่องถ้วยต่างๆที่พบในคลองท่าเรือชื่อผู้ศึกษา : ประทีป ชุมพล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “นครศรีธรรมราช ตำนาน โบราณคดี ประวัติศาสตร์” กล่าวถึงบ้านท่าเรือว่าเป็นเมืองโบราณที่สำคัญ พบโบราณวัตถุจำนวนมาก อาจถูกทำลายในสมัยพระเจ้าราเชนทระโจฬะในปี พ.ศ.1569ชื่อผู้ศึกษา : ปรีชา นุ่นสุข
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
ผู้เขียนได้ทำรายงานการวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยทำการรวบรวมแหล่งโบราณคดีทั้งหมดในภาคใต้ ในทีนี้ได้กล่าวถึงแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ฝ่ายวิชาการโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดทำโครงการ “การศึกษาแหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำคลองท่าเรือ” โดยวิธีการสำรวจบริเวณคลองท่าเรือ ขุดค้นบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านเกียกกายและแหล่งโบราณคดีวัดหัวมีนา (ร้าง) สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีบริเวณต้นน้ำของคลองท่าเรือ (รวมถึงแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ) เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์จนถึงประวัติศาสตร์ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5–18 มีความเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-18 เนื่องจากพบโบราณวัตถุในชั้นดินนี้หนาแน่น ซึ่งน่าจะเป็นชุมชนร่วมสมัยกับเมืองพระเวียง(กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-18) และเมืองนครศรีธรรมราชบริเวณตำบลในเมือง(กำหนดอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 16) ชุมชนบริเวณต้นน้ำคลองท่าเรือค่อยหมดความสำคัญลงราวพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดความเจริญขึ้นที่บริเวณปลายน้ำของคลองท่าเรือหรือบริเวณเมืองนครศรีธรรมราช (บ้านในเมือง) แทนชื่อผู้ศึกษา : บรรจง วงศ์วิเชียร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.254-?
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
บรรจง วงศ์วิเชียร และคณะจากฝ่ายวิชาการโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ โบราณคดีนครศรีธรรมราช” โดยกล่าวถึงหลักฐานที่พบทั้งหมดในจังหวัดนครศรีธรรมราชและแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือว่า ในคลองท่าเรือเคยมีผู้ใช้เครื่องมือตรวจหาโบราณวัตถุและพบเครื่องถ้วยจีนจำนวนมากจมอยู่ใต้คลอง ได้แก่ เครื่องถ้วยถัง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 และเครื่องถ้วยซ้องกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 สันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าค้าขายแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ ตั้งอยู่บนสันทรายนครศรีธรรมราชริมฝั่งคลองท่าเรือ บริเวณ ต.ท่าเรือ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน จัดเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีของกลุ่มชุมชนโบราณคลองท่าเรือ จากการศึกษาสันนิษฐานว่าชุมชนอาจมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ แต่หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่บ้านท่าเรือจะเด่นชัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบบริเวณแหล่งโบราณคดีท่าเรือที่สำคัญ ได้แก่ ขวานหินขัด กำไลหิน ลูกปัดแก้วหรือลูกปัดมีตา เครื่องถ้วยจีนเคลือบสีเขียวมะกอกแบบยั่ว (Yue ware) สมัยราชวงศ์ถังกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เครื่องถ้วยจีนจากเตาฉีหวัน สมัยราชวงศ์ถัง ไหเคลือบสีเขียวมะกอกอ่อนเคลือบไม่เต็มใบ คล้ายแบบที่พบในอินโดนีเซียพุทธศตวรรษที่ 13-16 จาน ตลับ แจกันเซลาดอนเคลือบเขียว จากเตาหลงฉวน มณฑลซีเกียงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตลับ กระปุก แจกันเคลือบสีขาวจากเตาเต๋อฮั้ว มณฑลฟูเจี้ยน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้น (กรมศิลปากร ม.ป.ป. : 17)
ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ จัดเป็นแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องถ้วยจีนที่สำคัญ นักวิชาการจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายในอดีตเนื่องจากมีแม่น้ำคลองท่าเรือไหลออกทะเลได้สะดวก หลักฐานปรากฏเด่นชัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 โดยพบเครื่องถ้วยจีนจำนวนมากในคลองท่าเรือและบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือค่อยๆหมดความสำคัญลงหลังพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อเกิดความเจริญขึ้นปลายน้ำของคลองท่าเรือหรือบริเวณตัวเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยต่อมา
กรมศิลปากร. รายงานการศึกษา ขุดค้น แหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำลำคลองท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช : ฝ่ายวิชาการโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร (เอกสารประกอบการประเมินหมายเลข 1), ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
ชวลิต อังวิทยาธร. เงินตรานโม. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538.
พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2523.
ณัฎฐภัทร จันทวิช. “เครื่องถ้วยจีน : ที่พบในภาคใต้” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2529 : 389–396
ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ท่าเรือ – เมืองพระเวียง: ชุมชนโบราณ” ในสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 7. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, 2542 : 3301–3311.
บรรจง วงศ์วิเชียรเรียบเรียง. ประวัติศาสตร์โบราณคดีนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ (254-?).
ประทีป ชุมพล. นครศรีธรรมราช ตำนาน โบราณคดี ประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2536.
ปรีชา นุ่นสุข. รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2539.
สุดาพร มณีรัตน์ เรียบเรียง. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2543.
อมรา ขันติสิทธิ์ และธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในภาคใต้.” ใน สารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 3. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2529 : 1011.