โคกพลับ


โพสต์เมื่อ 29 มิ.ย. 2021

ที่ตั้ง : บ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ

ตำบล : โพหัก

อำเภอ : บางแพ

จังหวัด : ราชบุรี

พิกัด DD : 13.662572 N, 100.040442 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง, ท่าจีน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอบางแพ ใช้ทางหลวงหมายเลข 325 มุ่งหน้าลงทิศใต้ประมาณ กิโลเมตร เมื่อถึงตัวตำบลหัวโพ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3236 ประมาณ กิโลเมตร จากนั้นจึงเลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 3236 ประมาณ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 4015 ไปตามคลองชลประทานประมาณ กิโลเมตร จะพบแหล่งโบราณคดีโคกพลับอยู่ริมคลองชลประทาน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน (แหล่งโบราณคดีโคกพลับ อยู่ห่างจากวัดทัพโพธิ์ทอง ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปี 2563 สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พิจารณากลบหลุมขุดค้นที่จัดแสดงตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากป้องกันหลักฐานทางโบราณในหลุมขุดค้นเสียหายเพิ่มขึ้น

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากรเทศบาลตำบลโพหัก

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีโคกพลับเป็นเนินดินขนาดใหญ่บนเนื้อที่ 9 ไร่เศษ มีรูปร่างกลมรี ยาวตามแนวทิศเหนือ-ใต้(หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้) เนินดินนี้ สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ เมตร เดิมเป็นเนินดินร้าง จนเมื่อปี พ..2520 มีการขุดคลองชลประทานผ่ากลางเนิน และพบโบราณวัตถุจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงเข้าดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน (สด แดงเอียด 2521: 19-20)

พื้นที่แหล่งโบราณคดีโคกพลับในปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกทำลาย โดยการการขุดคลองชลประทานผ่ากลางเนิน การขุดดินออกไปขายและดัดแปลงพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม เช่น นาข้าวและบ่อเลี้ยงกุ้ง ส่งผลให้เนินดินมีขนาดเล็กลงและชั้นหลักฐานทางโบราณคดีถูกทำลาย

ปัจจุบันเนินดินแหล่งโบราณคดี แบ่งออกเป็น ส่วน คือพื้นที่ฝั่งทิศเหนือและพื้นที่ฝั่งทิศใต้ โดยมีคลองชลประทานที่ไหลผ่านกลางเนินเป็นตัวแบ่ง (คลองกว้างประมาณ 10 เมตร ขุดเมื่อปี พ..2520) ริมคลองทั้งฝั่ง มีถนนขนานไปโดยตลอด โดยถนนฝั่งทิศเหนือเป็นถนนลาดยาง ส่วนถนนฝั่งทิศใต้เป็นถนนลูกรัง

พื้นที่ฝั่งทิศเหนือของเนิน ปัจจุบันเป็นที่ทิ้งและเผาขยะของเทศบาลตำบลโพหัก ส่วนพื้นที่ฝั่งทิศใต้เนินดินถูกขุดทำลายจากการขุดบ่อเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่และเป็นพื้นที่ทำนา

รอบเนินดินเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและบ่อน้ำสำหรับการทำเกษตรกรรม เช่น ทุ่งนาและบ่อเลี้ยงปลา

พื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเขตที่ราบลุ่มตอนล่างของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน (แหล่งโบราณคดีโคกพลับ ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำท่าจีน มาทางทิศตะวันตกประมาณ 18.5 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำแม่กลอง มาทางทิศตะวันออกประมาณ 24 กิโลเมตรใกล้เนินดินแหล่งโบราณคดี มีลำห้วยที่เป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำใหญ่ไหลผ่านหลายสาย 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

5 เมตร

ทางน้ำ

ลำรางเรือลำรางทองรางมะขามรางชุบหัวข่อยรางกระดานคลองดำเนินสะดวก

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีโคกพลับ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนดินในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary period) ลักษณะดินเป็นชั้นดินเหนียว (clay)หนา มีสีเทาและเทาปนเขียว มีชั้นทรายแทรกอยู่เป็นระยะ พบเปลือกหอยอยู่ในชั้นดินบ้าง

พื้นที่บริเวณนี้มีน้ำท่วมถึงทุกปี เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนเข้ามาทางปากแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน รวมทั้งคลองดำเนินสะดวก

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยโลหะ, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย

อายุทางโบราณคดี

3,000-2,000 BP, 500 ปีก่อนพุทธศักราช - พ.ศ.500

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สด แดงเอียด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2520, พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2520 กรมชลประทานค้นพบแหล่งโบราณคดีโคกพลับ ขณะขุดคลองส่งน้ำผ่านกลางเนิน พ.ศ.2520-2521 กรมศิลปากร นำโดย นายสด แดงเอียด สำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ขนาดหลุม 4x4 เมตร จำนวน 2 หลุม (เนินฝั่งทิศเหนือ 1 หลุม และเนินฝั่งทิศใต้ 1 หลุม) พบหลุมฝังศพและโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 48 โครง รวมทั้งโบราณวัตถุประเภทต่างๆ

ชื่อผู้ศึกษา : ปรียานุช จุมพรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2553 กรมศิลปากร นำโดย นางสาวปรียานุช จุมพรม นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ขุดค้นทางโบราณคดีที่เนินดินฝั่งทิศใต้ของแหล่งโบราณคดีโคกพลับ พบหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงโบราณวัตถุประเภทต่างๆ

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2563

วิธีศึกษา : อนุรักษ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พิจารณากลบหลุมขุดค้นที่จัดแสดง เนื่องจากป้องกันหลักฐานทางโบราณในหลุมขุดค้นเสียหายเพิ่มขึ้น

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีโคกพลับ มีลักษณะเป็นเนินดินธรรมชาติที่ทับถมจนสูงขึ้นจากการทำกิจกรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเฉพาะกิจกรรมการอยู่อาศัย การดำรงชีวิต และการฝังศพ มีอายุอยู่ในราว 3,000-2,000 ปีมาแล้ว ชั้นวัฒนธรรมโบราณมีความหนาประมาณ 2 เมตร

หลักฐานและข้อมูลทางโบราณคดี

การตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีวิต

ชุมชนโบราณที่แหล่งโบราณคดีโคกพลับ มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นชุมชนขนาดใหญ่บนเนิน ล้อมรอบด้วยที่ลุ่มและลำห้วยที่เป็นสาขาของลำน้ำใหญ่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรกรรม (เช่น ทำนาปลูกข้าว เพราะพบแกลบข้าวอยู่ในเนื้อภาชนะดินเผา) และการคมนาคมขนส่ง

นอกจากการเพาะปลูกพืชแล้ว คนโบราณที่โคกพลับยังดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์ (เช่น วัว ควาย หมู สุนัข เป็นต้น) ล่าสัตว์ (เช่น หมูป่า กวาง เก้ง สมัน หอย ปู ปลา เต่า เป็นต้น) และหาของป่าด้วย

การตั้งถิ่นฐานในชุมชนโบราณที่โคกพลับ อาจมีการแบ่งพื้นที่กิจกรรมภายในชุมชน ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ พื้นที่สำหรับอยู่อาศัย และพื้นที่สุสาน 

เครื่องมือ เครื่องใช้ และเทคโนโลยี

ภาชนะดินเผาที่พบส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ปั้นด้วยมืออย่างหยาบๆ ทรงก้นกลม ทรงคล้ายพานมีเชิง ภาชนะดินเผาขนาดเล็กคล้ายกับภาชนะดินเผาขนาดเล็กที่พบในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในจังหวัดราชบุรี สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาชนะที่ใช้บรรจุแร่ สำหรับการขายหรือชั่งตวงวัด อาจใช้ในการผสมสัดส่วนของแร่ที่จะนำมาหล่อหรือหลอม ส่วนภาชนะดินเผาที่มีลักษณะพิเศษ คือภาชนะรูปกลม ปากเล็กแคบไม่มีขอบปาก ผิวด้านนอกตกแต่งด้วยการขีดเป็นลวดลายฟันปลาสลับกับจุดเล็กๆ มีความประณีตกว่าภาชนะดินเผาอื่นๆ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำขึ้นเพื่อใช้งานประเภทใด (ไม่ได้พบในหลุมฝังศพ) (สมชาย ณ นครพนม 2534: 75)

กำไล มีทั้งที่ทำจากสำริด หิน กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และกระดองส่วนอกของเต่า ที่สำคัญได้แก่ กำไลหินลักษณะแบนทำจากหินชนวน มีขอบที่ด้านใน เมื่อมองจากด้านตัดจะเป็นรูปตัว T เป็นแบบที่พบอยู่ทั่วไป และอาจเป็นต้นแบบของกำไลสำริดในเวลาต่อมาด้วย (สมชาย ณ นครพนม 2534: 75) กำไลเปลือกหอย มีทั้งที่ทำจากหอยกาบและหอยทะเล ประเภทหอยมือเสือ ส่วนกำไลที่ทำจากกระดองส่วนอกของเต่าบางชิ้นมีลักษณะคล้ายดาว 6 แฉก ปลายแหลม อาจใช้สวมใส่ในบางโอกาส เนื่องจากน่าจะแตกหักง่าย กำไลลักษณะดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับกำไลที่พบในแหล่งโบราณคดี Laung บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีมีอายุอยู่ในสมัยหินใหม่ตอนปลาย (สด แดงเอียด 2521ก: 26)

ต่างหูหรือตุ้มหูขนาดต่างๆ นิยมทำจากหินเซอร์เพนทิไนต์ (Serpentinite เป็นหินเนื้อละเอียดที่มีส่วนประกอบของแร่ในกลุ่ม Serpentine มักมีสีเขียวคล้ายหยก แต่บางกลุ่มก็มีสีดำ) ที่มีสีเขียวคล้ายหยก และตั้งใจเลือกหินที่มีไมก้าอยู่ด้วย อาจเพื่อทำให้เกิดความวาวสวยงาม (สมชาย ณ นครพนม 2534: 75) นอกจากนั้นยังมีต่างหูที่ทำจากหินคาร์เนเลียน (Carnelian) สีส้ม และทำจากเปลือกหอย สำหรับต่างหูหินเซอร์เพนทิไนต์และคาร์เนเลียนนั้น ไม่พบแหล่งวัตถุดิบในจังหวัดราชบุรี จึงอาจเป็นของหายากและได้มาจากการแลกเปลี่ยนค้าขายกับชุมชนอื่น จากรูปแบบของต่างหูหินคล้ายกับตุ้มหูของจีนที่ทำขึ้นในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก (770-221 ปีก่อนคริสตกาล) (ศรีศักร วัลลิโภดม 2521)

ความเชื่อและพิธีกรรม

ความเชื่อและพิธีกรรมของคนโบราณที่โคกพลับที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ประเพณีการฝังศพ โดยเมื่อมีผู้เสียชีวิต ญาติพี่น้องหรือคนในชุมชนก็จะขุดหลุมลงไปในพื้นดินในพื้นที่สุสาน เป็นหลุมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนหรือรูปวงรี จากนั้นก็วางร่างผู้เสียชีวิตลงในก้นหลุม โดยจัดวางศพให้อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว แขนทั้งสองข้างวางแนบลำตัว ส่วนใหญ่หันศีรษะไปทางทิศเหนือ ฝังวัตถุอุทิศให้กับผู้ตาย ทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ และอาจรวมถึงอาหารการกินต่างๆ วัตถุอุทิศเหล่านี้ เช่น ชิ้นส่วนของสัตว์ (ประเภทหอย ปู ปลา สุนัข วัว ควาย กวาง เก้ง หมู เสือ กวาง เก้ง) ภาชนะดินเผาขนาดและรูปทรงต่างๆ เครื่องมือหินขัด ลูกปัด (ทำจากกระดูกและหินกึ่งมีค่าหรือหินสีต่างๆ) กำไล (ทำจากสำริด หิน กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และกระดองส่วนอกของเต่า) ต่างหู (ทำจากเปลือกหอยและหินสีต่างๆ เช่น สีเขียว เทา ส้ม เขียวไข่กา) รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริด เหล็ก และกระดูกสัตว์ เป็นต้น บางครั้งก็มีการโรยดินเทศสีแดงลงบนหน้าอกของศพ

หลุมฝังศพที่สำคัญ เช่น

-โครงกระดูกหมายเลข 8 ข้อมือขวาสวมกำไลทำจากกระดองส่วนอกของเต่า ทำเป็นรูปดาว 6 แฉก

-โครงกระดูกหมายเลข 12 ผู้ตายอยู่ในช่วงวัยรุ่น สวมกำไลข้อมือทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 3 วง มีลูกปัดทำจากหินกึ่งมีค่าสีเขียวและเทาอยู่รอบคอ รวมทั้งพบลูกปัดทำจากกระดูกสัตว์ที่คออีก 1 ชิ้น

-โครงกระดูกหมายเลข 25 ข้อมือขวาสวมกำไลคล้ายรูปดาว 6 แฉกขนาดใหญ่ ทำด้วยหินควอทไซท์ 1 วง บริเวณคอมีลูกปัดทำจากหินกึ่งมีค่าสีต่างๆ ต่างหูทำด้วยหินคาร์เนเลียน เหนือศีรษะมีภาชนะดินเผาบรรจุหอยแครง รวมทั้งยังมีเปลือกหอยแครงจำนวนมากวางกองอยู่ในบริเวณเดียวกัน

-โครงกระดูกหมายเลข 31 ใส่ต่างหูทั้ง 2 ข้าง โดยข้างหนึ่งเป็นต่างหูหินสีเทา ส่วนอีกข้างเป็นต่างหูหินสีน้ำตาล เหนือไหล่ขวามีภาชนะดินเผาคอหยักวางอยู่ 1 ใบ มีการโรยดินเทศสีแดงลงบนศพ (การโรยดินเทศลงบนศพ ยังพบในแหล่งโบราณคดีศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีถ้ำพระ จังหวัดกาญจนบุรี)

-โครงกระดูกหมายเลข 35 ใส่ต่างหูทำด้วยหิน 1 คู่ สวมกำไลข้อมือทำจากหินสีเขียว 1 วง ที่แขนข้างซ้าย มีถ้วยดินเผาขนาดเล็ก 1 ใบ วางอยู่บนฝ่ามือขวา บริเวณรอบคอพบลูกปัดหินจำนวนมาก บนส่วนลำตัวมีเปลือกหอยทะเลวางอยู่ เหนือกะโหลกศีรษะพบกะโหลกสุนัข 1 หัว (การฝังหัวสุนัขร่วมกับศพ เคยพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี)

-โครงกระดูกหมายเลข 39 พบภาชนะดินเผาทรงชามก้นมน 1 ใบ วางครอบกะโหลกศีรษะ (สด แดงเอียด 2521ก)

สภาพสังคม

การพบพื้นที่สุสานแยกออกจากพื้นที่อยู่อาศัย แสดงให้เห็นถึงการจัดการพื้นที่ภายในชุมชน และอาจมีนัยถึงการมีองค์กรทางการปกครองหรือองค์กรทางสังคมหรือความเชื่อที่ใช้เป็นกรอบในการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ในชุมชน

นอกจากนี้ ความแตกต่างของวัตถุอุทิศในหลุมฝังศพ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ อาจแสดงถึงความแตกต่างกันทางสถานะระหว่างบุคคล สถานะดังกล่าวอาจเป็นด้านใดด้านหนึ่ง เช่น สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ความเชื่อ รวมถึงสถานะทางความรู้สึกของบุคคล เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะทางสังคมของชุมชนโบราณที่โคกพลับ อาจไม่ได้เป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน (Non-egalitarian society)

คนในชุมชน

โครงกระดูกที่ขุดค้นพบในปี พ.ศ.2520 และปี พ.ศ.2553 มีทั้งเพศหญิง เพศชาย และเด็ก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการศึกษาด้านมานุษยวิทยากายภาพของโครงกระดูกที่ขุดค้นพบเหล่านั้น

สภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมในอดีตของชุมชนโบราณโคกพลับ โดยทั่วไปอาจคล้ายคลึงกับปัจจุบัน คือ ชุมชนตั้งอยู่บนที่ดอนหรือเนินดินขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยที่ลุ่มและแอ่งน้ำ รวมทั้งเนินดินขนาดต่างๆ มีลำห้วยที่เป็นสาขาของลำน้ำใหญ่ไหลผ่านหลายสาย พื้นที่ถัดออกไปมีป่าไม้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาชายฝั่งทะเลโบราณ พบว่าเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ชายฝั่งทะเลของจังหวัดราชบุรีอยู่ใกล้แหล่งโบราณคดีโคกพลับมากกว่าปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าในอดีต ชุมชนโบราณโคกพลับในอดีต จัดเป็นชุมชนชายฝั่งทะเล

การติดต่อกับชุมชนภายนอก

โบราณวัตถุที่มาจากทะเล โดยเฉพาะหอยแครงที่พบมากในชั้นดินล่าง อาจชี้ให้เห็นถึงความคุ้นเคยกับทะเล จนสามารถนำทรัพยากรจากทะเลมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดีของคนที่โคกพลับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากทะเล โดยจากการศึกษาสภาพชายฝั่งทะเลเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว พบว่าชายฝั่งทะเลของจังหวัดราชบุรีอยู่ใกล้แหล่งโบราณคดีโคกพลับมากกว่าปัจจุบัน

โบราณวัตถุบางประเภท โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่ทำจากวัตถุดิบต่างถิ่น เช่น หินกึ่งมีค่าหรือหินสีสำหรับทำเครื่องประดับ อาจแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอก ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ทั้งโดยตรงและผ่านชุมชนอื่น เช่น ชุมชนในที่ราบภาคกลางของไทย ชุมชนชายฝั่งทะเล ชุมชนในลุ่มแม่น้ำอิรวดี ชุมชนในประเทศจีน เวียดนาม และอินเดีย เป็นต้น ส่วนเส้นทางติดต่อนั้นอาจมีทั้งทางบกและทางน้ำ 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “โคกพลับ...แหล่งโบราณคดีแห่งใหม่.” ใน วันสถาปนากรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2521ก.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “ความก้าวหน้าในการค้นคว้าเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองไทย.” เมืองโบราณ 4, 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2521): 55-72.

สด แดงเอียด. “การปฏิบัติงานขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีโคกพลับ.” ศิลปากร 22, 4 (พฤศจิกายน 2521): 22-31.

สด แดงเอียด. “โคกพลับ แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์.” เมืองโบราณ 4, 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2521): 17-25.

สมชาย ณ นครพนม. “สมัยก่อนประวัติศาสตร์.” ใน ราชบุรีกรุงเทพบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2534.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี