โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : เมืองเสมาร้าง, เมืองโบราณเสมา
ที่ตั้ง : ต.เสมา อ.สูงเนิน
ตำบล : เสมา
อำเภอ : สูงเนิน
จังหวัด : นครราชสีมา
พิกัด DD : 14.92263 N, 101.79792 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยไผ่
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (มิตรภาพ) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2161 ประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอสูงเนิน เมืองเสมาตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอสูงเนินไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร โดยข้ามทางรถไฟผ่านบ้านหินตั้ง เมืองเสมาจะอยู่ทางขวามือ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของห้วยไผ่
การเดินทางเข้าสู่ภายในเมืองเสมาสามารถเดินทางเข้าทางกำแพงเมืองด้านทิศใต้ซึ่งเป็นถนนลูกรังผ่านเข้าไปกึ่งกลางเมือง นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกของเมืองจากทางบ้านหินตั้ง หรือจากบ้านทะเล หรือเดินทางเข้าจากทางด้านทิศตะวันตกโดยมาจากบ้านแก่นท้าว
เมืองเสมาได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในเมือง โดยการเสริมความมั่นคงให้แก่โบราณสถาน ปลูกหญ้ารอบโบราณสถาน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ภายในเมืองโบราณมีป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ความสำคัญของแหล่งโบราณคดี และมีป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานแต่ละหลัง อย่างไรก็ตามควรมีการปรับปรุงสภาพของป้ายให้ข้อมูลเนื่องจากตัวหนังสือบรรยายมีสภาพเลือนลางมาก นอกจากนี้ภายในเมืองโบราณยังมีห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยว
ในประเพณีลอยกระทงของทุกปีจะมีการจัดงานประเพณีลอยกระทง “พระประทีบพระราชทาน” บริเวณคูเมืองเสมา ซึ่งทางอบต.เสมาได้รับพระราชทานกระทง พร้อมพระประทีปส่วนพระองค์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประจำทุกปี
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงซึ่งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน คือ วัดธรรมาจักรเสมารามซึ่งประดิษฐานพระนอนหินทราย และธรรมจักรศิลาสมัยทวารวดี ปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ซึ่งเป็นโบราณสถานแบบเขมร
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลเสมา
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2479
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 69 ตอนที่ 60 วันที่ 30 กันยายน 2495
เมืองเสมาเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 2,475 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับกลางถึงสูงล้อมรอบด้วยพื้นที่นา ลักษณะของเมืองเสมามีผังเมืองเป็นรูปกลมรี มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางตามแนวทิศเหนือ-ใต้ 1,755.68 เมตร และตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก 1,845.99 เมตร (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534:61) คูน้ำกว้างประมาณ 10-20 เมตร ลำน้ำสำคัญที่ไหลผ่าน คือ ลำตะคองซึ่งไหลผ่านทางทิศใต้ของเมือง และห้วยไผ่ไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมือง
เมืองเสมามีลักษณะการสร้างเมืองซ้อนกัน 2 ชั้น เรียกว่า เมืองนอก-เมืองใน เมืองนอกมีขนาดใหญ่กว่าอยู่ทางทิศเหนือ มีถนนตัดผ่านกลางเมืองในแนวตะวันออก-ตะวันตก พบร่องรอยโบราณสถานจำนวน 3 แห่ง บริเวณด้านทิศใต้ของเมือง กลางเมืองมีการขุดคูน้ำหรือสระน้ำเป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีเนินดินรูปวงกลมอยู่ภายใน ส่วนเมืองในมีคูน้ำคันดินล้อมรอบรูปร่างไม่สม่ำเสมอ บริเวณกลางเมืองพบร่องรอยโบราณสถานจำนวน 6 แห่ง และบ่อน้ำขนาดเล็กซึ่งชาวบ้านเรียกว่า บ่ออีกา ซึ่งเป็นบริเวณที่พบจารึกบ่ออีกา
สภาพภายในเมืองโบราณเป็นป่าโปร่ง มีพื้นที่ว่างเป็นหย่อมๆ ในบริเวณใกล้เคียงโบราณสถาน ภายในเมืองในไม่มีราษฎรอาศัยอยู่เนื่องจากกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ บริเวณใกล้กับคันดินกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกพบว่ามีราษฎรเข้ามาจับจองพื้นที่อยู่อาศัยและปรับพื้นที่เพื่อปลูกพืชไร่ ทำนา
สภาพคูน้ำคันดินของเมืองเสมาสามารถสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะคูน้ำคันดินของเมืองชั้นใน บริเวณคันดินและริมคูน้ำมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นเป็นบางช่วง คูเมืองด้านทิศใต้และทิศตะวันตกมีน้ำขังอยู่ ส่วนคูเมืองด้านทิศเหนือของเมืองชั้นในมีสภาพตื้นเขินเป็นบางช่วงแนวคันดินทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกสังเกตเห็นได้ไม่ค่อยชัดเจนนักเนื่องจากมีชาวบ้านมาจับจองพื้นที่อยู่อาศัย ไถดินเพื่อทำการเพาะปลูก และมีการตัดถนนผ่าน
ลำตะคอง, แม่น้ำมูล, ลำน้ำสาขา ได้แก่ ห้วยไผ่
ลักษณะธรณีวิทยาของเมืองเสมาเกิดจากการทับถมของดินตะกอนน้ำ หินกรวดแม่น้ำ ซิลท์ และดินเหนียวในยุคควอเทอร์นารี ลักษณะดินของเมืองเสมาเกิดจากตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถมเป็นเวลานาน จัดอยู่ในชุดดินวาริน (Wn)
ชื่อผู้ศึกษา : Etienne Aymonier
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2428
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
Etienne Aymonier นักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาสำรวจแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยและตีพิมพ์ผลการสำรวจชื่อ Khmer Heritage in the Old Siamese Provinces of Cambodia with Special Emphasis on Temples, Inscriptions, and Etymology โดยบันทึกไว้ว่าเมืองเสมาเป็นเมืองในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลอีสาน และได้ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับบ้านเมืองโบราณในเขตอ.สูงเนินว่าเป็นที่ตั้งของเมืองนครราชสีมาเก่า โดยในบันทึกระบุว่ามีเมืองโบราณตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำตะคองชื่อว่า “เมืองเสมาร้าง” ผู้สร้างเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์และเป็นเมืองในสมัยขอมชื่อผู้ศึกษา : George Caedés
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2487
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
George Caedés อ่านและแปลจารึกหลักหนึ่งซึ่งค้นพบในเนินดินใกล้กับเทวสถานบริเวณสะพานชีกุน อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ. 2482 และนำเสนอผลการศึกษาชื่อ “Une nouvelle inscription d’Ayuddhya” ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสยามสมาคมเมื่อปีพ.ศ.2487 (George Caedés 1944 : 73-76) ต่อมาเมื่อมีการนำผลการอ่านและแปลมาพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งแรกในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดให้ศิลาจารึกนี้เป็นหลักที่ 117 ศิลาจารึกค้นพบในพระนครศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันเรียกจารึกหลักนี้ว่า จารึกศรีจนาศะตามชื่อบ้านเมืองที่ปรากฏในจารึกชื่อผู้ศึกษา : George Caedés
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2497
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
George Caedés อ่านและแปลจารึกหลักหนึ่งที่พบบริเวณ บ่ออีกา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VI โดยกำหนดเป็นหลัก K. 400 (George Caedés 1954 : 83-85) ต่อมาเมื่อมีการนำผลการอ่านและแปลมาพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดให้เป็นหลักที่ 118 ศิลาจารึกบ่ออีกาชื่อผู้ศึกษา : อำไพ คำโท
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
อำไพ คำโท อ่านและแปลจารึกที่พบบริเวณเมืองเสมาเมื่อพ.ศ.2526 เรียกว่า จารึกเมืองเสมา และตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 6 กรมศิลปากรทำการสำรวจ ทำผัง และปักหมุดโบราณสถานภายในเมืองเสมาพร้อมทั้งขุดทดสอบทางโบราณคดี จำนวน 1 หลุม ขนาด 3x3 เมตร บริเวณเมืองชั้นในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ชื่อผู้ศึกษา : หจก. ปุราณรักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หจก. ปุราณรักษ์ได้ทำการขุดแต่ง บูรณะและเสริมความมั่นคงให้แก่โบราณสถานภายในเมืองเสมาจำนวน 9 แห่ง และได้ขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 1 หลุม พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในเมืองชื่อผู้ศึกษา : เขมิกา หวังสุข
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เขมิกา หวังสุข เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา” โดยศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณเมืองเสมาและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณเมืองเสมากับชุมชนโบราณร่วมสมัยในบริเวณลุ่มน้ำมูล จากหลักฐานข้อมูลทุกประเภท ได้แก่ โบราณวัตถุประเภทต่างๆ โบราณสถาน และเอกสาร จารึกชื่อผู้ศึกษา : มยุรี วีระประเสริฐ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
มยุรี วีระประเสริฐ นำเสนอบทความเรื่อง “ศรีจนาศะ หรือ จนาศะปุระ : ข้อสันนิษฐานเก่า-ใหม่” โดยทำการศึกษาเชิงวิเคราะห์ข้อสันนิษฐานเดิมและข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับบ้านเมืองที่ชื่อ ศรีจนาศะ ซึ่งนักโบราณคดีส่วนใหญ่เชื่อว่าอาจมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมาชื่อผู้ศึกษา : ชลิต ชัยครรชิต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
ผลการศึกษา :
ชลิต ชัยครรชิต นำเสนอบทความเรื่อง “เมืองเสมาคือศูนย์กลางศรีจนาศะ” โดยศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในบริเวณลุ่มลำน้ำมูลตอนบนว่ามีความสัมพันธ์กับการค้นพบแหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณ และเสนอว่าชุมชนบริเวณเมืองเสมามีการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างภูมิภาคกับชุมชนบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ส่งผลต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองเสมาในระยะแรกที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรม ทวารวดีจากที่ราบภาคกลางเมืองเสมาเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีลักษณะการสร้างเมืองซ้อนกัน 2 ชั้น เรียกว่า เมืองนอก และ เมืองใน แผนผังเมืองเป็นรูปกลมรีไม่สม่ำเสมอ ลำน้ำสำคัญที่ไหลผ่าน คือ ลำตะคองซึ่งไหลผ่านทางทิศใต้ของเมือง และห้วยไผ่ไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมือง
เมืองเสมามีคูน้ำ-คันดิน กำแพงเมืองชั้นเดียว มีความยาวจากด้านทิศเหนือไปทิศใต้ ประมาณ 1,700 เมตร และจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ประมาณ 1,500 เมตร กำแพงหรือคันดินสูงเฉลี่ย 3-4 เมตร คูน้ำกว้างประมาณ 10-20 เมตร
กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจ ขุดค้น และขุดแต่งเมืองเสมามาในปี พ.ศ.2533 และ พ.ศ.2542 พบโบราณสถานในเขตเมืองชั้นในจำนวน 6 แห่ง (โบราณสถานหมายเลข 1 หมายเลข 2 หมายเลข 3 หมายเลข 4 หมายเลข 5 และหมายเลข 6) และในเขตเมืองชั้นนอกจำนวน 3 แห่ง (โบราณสถานหมายเลข 7 หมายเลข 8 และหมายเลข 9) แต่ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะได้เพียง 8 แห่ง (หจก.ปุราณรักษ์ 2542 : 9-15) นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองอีก 2 แห่ง คือ เจดีย์บ้านแก่นท้าวและวิหารพระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม
พัฒนาการทางวัฒนธรรม
ผลการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่เมืองโบราณเสมาได้ข้อสรุปว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนโบราณในภูมิภาคอื่นๆ โดยสามารถแบ่งพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณเสมาได้เป็น 3 ระยะดังนี้ (เขมิกา หวังสุข 2543 : 157-182; มยุรี วีระประเสริฐ 2545 : 109-110; ชลิต ชัยครรชิต 2545 : 140-147)
ระยะที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 พบหลักฐานว่ามีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเริ่มแรก โดยเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมสืบต่อมาจากชุมชนในวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับชุมชนโบราณร่วมสมัยบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลและชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมันหรือแบบพิมายดำ ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะดินเผาที่พบแพร่หลายในชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนและพบการแพร่กระจายไปยังชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ดซึ่งเป็นภาชนะดินเผาที่พบหนาแน่นบริเวณตอนกลางของแม่น้ำมูล
ระยะที่ 2 ราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 เป็นช่วงที่ชุมชนมีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น มีหลักฐานแสดงถึงการรับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางอย่างเด่นชัด คือ การนับถือพุทธศาสนา (เถรวาทและมหายาน) ในช่วงเวลานี้ชุมชนได้สร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธขึ้นทั้งภายในเมืองชั้นในและชั้นนอก ได้แก่ เจดีย์ วิหาร ใบเสมาหินทราย พระพุทธรูป ธรรมจักรศิลา ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดีผสมศิลปะพื้นเมือง ส่วนหลักฐานโบราณคดีอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ หม้อน้ำมีพวยซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมือนกับที่พบในชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย ลูกปัดแก้วสีเดียว ตะคันดินเผา เบี้ยดินเผา หม้อมีสัน ฯลฯ
ระยะที่ 3 ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ชุมชนโบราณแห่งนี้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมทวารวดี เนื่องจากพบหลักฐานของสถาปัตยกรรมและประติมากรรมในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร และมีร่องรอยการปรับเปลี่ยนพุทธสถานเป็นเทวสถาน ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่าศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ศาสนาพุทธ สอดคล้องกับหลักฐานศิลาจารึกที่พบในเมืองเสมา นอกจากนี้ยังปรากฏรูปแบบภาชนะดินเผาแบบเขมรหรือเครื่องเคลือบแบบเขมรแทนที่ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะดินเผาที่พบแพร่หลายในชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงเวลานี้มีการขยายชุมชนขึ้นไปทางทิศเหนือของเมืองชั้นในและมีการขุดคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมขึ้นในส่วนของเมืองที่ขยายออกไป หลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณนอกภูมิภาคที่พบในช่วงเวลานี้ คือ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นไป เมืองเสมาจึงถูกทิ้งร้างไป
แบบแผนการดำรงชีวิตและคติความเชื่อ
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชุมชนโบราณแห่งนี้ดำรงชีพด้วยการทำกสิกรรมและประกอบกิจกรรมด้านต่างๆ ดังนี้
กิจกรรมด้านการผลิตภาชนะดินเผา พบหลักฐานในชั้นการอยู่อาศัยระยะที่ 2 เป็นลานดินเผาไฟแต่ไม่หนาแน่นมากนักและก้อนอิฐขนาดใหญ่มีแกลบข้าวเป็นส่วนผสมโดยมีการบากที่มุมทั้ง 2 ด้าน ซึ่งอาจใช้เป็นที่กันไฟเนื่องจากมีรอยไหม้ นอกจากนี้ยังพบก้อนดินเผาจำนวนหนึ่งมีร่องรอยโครงไม้ไผ่ทาบติดเนื้อดิน สันนิษฐานว่าอาจเป็นโครงสร้างหลังคาเตาเผา และยังพบหลักฐานที่เป็นอุปกรณ์ในการผลิตภาชนะดินเผา คือ หินดุ อีกด้วย แต่จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่าเป็นการผลิตเพื่อใช้ในชุมชน (เขมิกา หวังสุข 2543 : 155-156)
กิจกรรมด้านโลหกรรม พบหลักฐานเป็นตะกรันเหล็กซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทุกชั้นดินในชั้นการอยู่อาศัยระยะที่ 1-2 แต่ไม่หนาแน่นมากนักจึงสันนิษฐานว่าเป็นการผลิตเพื่อใช้ในชุมชนเองเท่านั้น เป็นเครื่องใช้ประเภทอาวุธ เช่น ใบหอกขนาดเล็ก ขวาน/พลั่วมีบ้อง เป็นต้น (เขมิกา หวังสุข 2543 : 156)
ประเพณีการปลงศพ พบประเพณีการปลงศพ 2 แบบ แบบที่ 1 เป็นการปลงศพแบบฝังนอนหงายเหยียดยาวในวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีการอุทิศของให้แก่ศพ ได้แก่ สร้อยลูกปัดแก้วและจี้ลูกปัดกระดูกที่คอและข้อมือขวา แหวนสำริด เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากเหล็ก และภาชนะดินเผาสีดำขัดมันหรือภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ แบบที่ 2 เป็นการปลงศพฝังในภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมสมัยทวารวดี เป็นการบรรจุโครงกระดูกเด็กในภาชนะดินเผาแบบหม้อมีสัน พบของอุทิศให้แก่ศพ คือ เมล็ดข้าวสารดำและกระดูกปลา (เขมิกา หวังสุข 2543 : 150)
ศาสนาและคติความเชื่อ จากร่องรอยของโบราณสถานและหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในเมืองเสมาแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนาพุทธ (เถรวาทและมหายาน) และศาสนาพราหมณ์ (ไศวนิกาย) ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร
- ศาสนาพุทธ
หลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาในเมืองเสมานี้แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลพุทธศาสนาจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลาง และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธคงเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 13 เป็นต้นมา (มยุรี วีระประเสริฐ 2545 : 108) โดยพบศาสนาสถานกระจายอยู่ภายในเมืองชั้นในและชั้นนอก ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข 2 โบราณสถานหมายเลข 3 โบราณสถานหมายเลข 4 โบราณสถานหมายเลข 5 โบราณสถานหมายเลข 7 โบราณสถานหมายเลข 8 และโบราณสถานหมายเลข 9 ลักษณะของศาสนสถานมีทั้งประเภทเจดีย์ วิหาร และอาคารทรงปราสาท (หจก.ปุราณรักษ์ 2542 : 241-242, เขมิกา หวังสุข 2543 : 44-46) นอกจากนี้ยังพบศาสนสถานนอกเมือง คือ พระนอนที่วัดธรรมจักรเสมาราม และเจดีย์ที่วัดแก่นท้าว
ศาสนสถานประเภทเจดีย์ที่พบมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม (โบราณสถานหมายเลข 2) ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส (โบราณสถานหมายเลข 5) ผังรูปแปดเหลี่ยม (โบราณสถานหมายเลข 3) และผังกลม (โบราณสถานหมายเลข 8) ส่วนศาสนสถานประเภทวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (โบราณสถานหมายเลข 4 โบราณสถานหมายเลข 3 หลังที่ 2 และโบราณสถานหมายเลข 9) มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งที่เป็นรูปสัตว์และรูปดอกไม้ ศาสนสถานอีกประเภทหนึ่ง คือ อาคารทรงปราสาท มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนฐานประดับลวดลายปูนปั้น (โบราณสถานหมายเลข 7)
เทคนิคการก่อสร้าง โบราณสถานทุกหลังก่อด้วยอิฐขนาดค่อนข้างใหญ่มีแกลบข้าวปนไม่สอปูนอันเป็นลักษณะของศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดี
ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธที่พบในเมืองเสมาสามารถเทียบได้กับโบราณสถานหลายแห่งในเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์
ประติมากรรมเนื่องในพุทธศาสนาที่พบส่วนใหญ่เป็นใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายสลัก โดยปักอยู่เป็นคู่โดยรอบศาสนสถานประเภทวิหาร นอกจากนี้จากการขุดแต่งโบราณสถานได้พบประติมากรรมหลายชิ้น ที่สำคัญได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 1 โดยถูกนำมาทำเป็นฐานกำแพงแก้ว มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ (เขมิกา หวังสุข 2543 : 172-173) ชิ้นส่วนธรรมจักร ทำจากหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 2 สลักทึบทั้งสองด้าน บริเวณขอบโดยรอบสลักลวดลายผักกูด ถัดเข้ามาเป็นลายดอกวงกลมสลับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมจักรศิลาพบที่วัดธรรมาจักรเสมาราม (เขมิกา หวังสุข 2543 : 173)
ศาสนาพราหมณ์
พบหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาเมื่อชุมชนโบราณเมืองเสมาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร และพบจารึกที่กล่าวถึงกิจกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ระบุอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15-ต้นพุทธศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ตามข้อความในจารึกทำให้ทราบว่ามีการนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธควบคู่กัน
ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่พบในเมืองเสมา คือ โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในเมือง ประกอบด้วยปราสาทประธานแบบเขมรก่อด้วยอิฐ 1 หลัง ขนาบข้างด้วยวิหาร 2 หลัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เทคนิคการก่อสร้างมีการใช้อิฐเนื้อค่อนข้างละเอียดไม่มีแกลบข้าวปนอันเป็นลักษณะของอิฐที่ใช้ก่อสร้างศาสนสถานในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร โดยไม่สอปูน (หจก.ปุราณรักษ์ 2542 : 11-12) จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 พบประติมากรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนศิวลึงค์ศิลา เศียรเทวรูป ชิ้นส่วนรูปเคารพ ฐานรูปเคารพ ชิ้นส่วนโคนนทิ ท่อโสมสูตร (หจก.ปุราณรักษ์ 2542 : 25-37)
จารึกที่เกี่ยวข้องกับเมืองเสมา
ศิลาจารึกที่เกี่ยวข้องกับเมืองเสมาที่มีการอ่านและแปลแล้วมีจำนวน 3 หลัก และมีจารึกที่ค้นพบใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 เมื่อพ.ศ.2542 ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการอ่าน-แปล มีรายละเอียดดังนี้
1. จารึกบ่ออีกา อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ระบุพ.ศ.1411 พบที่บ้านบ่ออีกา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มีสองด้าน
ด้านที่ 1 กล่าวถึงพระราชาแห่งอาณาจักรศรีจนาศะทรงอุทิศปศุสัตว์และทาสทั้งหญิงและชายแก่พระภิกษุสงฆ์ ส่วนด้านที่2 กล่าวสรรเสริญพระอิศวรและอังศเทพผู้ได้รับดินแดนที่ถูกละทิ้งไปนอกกัมพุเทศ (กรมศิลปากร 2529 : 23-29)
2. จารึกศรีจนาศะ อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ระบุพ.ศ.1480 พบบริเวณเทวสถานใกล้สะพานชีกุน อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จารึกหลักนี้เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระศังกร (ศิวะ) และสรรเสริญพระนางปารพตีซึ่งรวมกับพระศิวะภายใต้รูปอรรถนารี ต่อจากนั้นกล่าวถึงรายพระนามพระราชาแห่งอาณาจักรจนาศปุระ (กรมศิลปากร 2529 : 42-49)
3. จารึกเมืองเสมา อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร พบที่เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ระบุมหาศักราช 893 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1514
จารึกเริ่มต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม พระอุมา และพระสรัสวดี จากนั้นกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 หรือพระบาทบรมวีรโลกว่าทรงเป็นโอรสของพระเจ้าราเชนทรวรมัน และทรงสืบเชื้อสายมาจากจันทรวงศ์ และกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 สุดท้ายกล่าวถึงข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้สร้างเทวรูปและพระพุทธรูปไว้หลายองค์ พร้อมทั้งถวายทาสและสิ่งของต่างๆ แด่ศาสนสถาน (กรมศิลปากร 2529 : 42-49)
4. จารึกหลักที่ 4 เป็นจารึกพบใหม่ระหว่างการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศใต้ โดยจารึกถูกนำมาเป็นฐานของกำแพงแก้ว อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ยังไม่มีผลของการอ่านและแปล ระบุมหาศักราช 849 ตงกับพ.ศ.1470 (เขมิกา หวังสุข 2543 : 42)
ข้อความในจารึกเหล่านั้นกล่าวถึงบ้านเมืองที่ชื่อ “ศรีจนาศะ” หรือ “จนาศะปุระ” และกล่าวถึงรายพระนามของพระราชาที่ปกครองบ้านเมืองนี้ ซึ่งศ.ยอร์จ เซเดย์ สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของบ้านเมืองที่ชื่อศรีจนาศะหรือจนาศะปุระนี้คงตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช และนักวิชาการหลายท่านก็เชื่อว่าคงมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา โดยพิจารณาจากหลักฐานโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองเสมา (มยุรี วีระประเสริฐ 2545 : 102-113)
กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529.
เขมิกา หวังสุข. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.
ชลิต ชัยครรชิต. “เมืองเสมาคือศูนย์กลางศรีจนาศะ.” ใน ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง, 125-151. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
ทนงศักดิ์ หาญวงศ์. “พระนอนวัดธรรมาจักรเสมาราม” ศิลปากร 34, 6 (2534) : 60-75.
ปุราณรักษ์, หจก. รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานเมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. รายงานเสนอต่อสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา, 2542. (อัดสำเนา)
มยุรี วีระประเสริฐ. “ศรีจนาศะ หรือ จนาศะปุระ : ข้อสันนิษฐานเก่า-ใหม่.” ใน ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง, 87-122. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง, 2545.
Aymonier, Etienne. Khmer Heritage in the Old Siamese Provinces of Cambodia with Special Emphasis on Temples, Inscriptions, and Etymology. Walter E. J. Tips (Translated). Bangkok : White Lotus, 1999.
Cœdès, Goerge. “Une nouvelle inscription d’Ayuddhya” Journal of Siam Society. Vol.35 No.1 (February 1944) : 73-76.
Cœdès, Goerge. “Stèle de Bô Ika (K. 400).” in Inscriptions du Cambodge vol. VI, 83-85. Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1954.