โพสต์เมื่อ 20 พ.ค. 2021
ชื่ออื่น : บ้านหนองกบ
ที่ตั้ง : บ้านหนองกบ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน
ตำบล : ทุ่งลูกนก
อำเภอ : กำแพงแสน
จังหวัด : นครปฐม
พิกัด DD : 14.055556 N, 99.880556 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง, ท่าจีน
เขตลุ่มน้ำรอง : รางหนองตัดสาก, ห้วยรางกอก
ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 (ถนนมาลัยแมน) จากนครปฐมไปยัง อ.กำแพงแสน ตรงต่อไปทางทิศเหนือ (ไปสุพรรณบุรี)ประมาณ 2.5 กิโลเมตร จากนั้น ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 3040 มุ่งไปยังพระแท่นดงรัง เป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร จากนั้น ให้เลี้ยวขวาเข้าทาง
แหล่งโบราณคดีอยู่ในบริเวณที่เป็นไร่อ้อย ซึ่งปลูกบนพื้นที่ราบ ที่มีความลาดเทบางแห่ง ไร่แห่งนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายพิชิต ช่างเสนาะ
ทางด้านเหนือของแหล่งมีรางหนองตัดสาก ส่วนทางด้านใต้นั้น มีห้วยรางกอก
จากแผนที่ธรณีสัณฐานของดินดอนสามเหลี่ยมแม่กลอง (JARUPONGSAKUL et al. 1991: 51) ตำแหน่งของแหล่งโบราณคดีบ้านหนองกบ อาจอยู่ตรงปลายสุดทางทิศตะวันออกของเขตที่เรียกว่า ที่ราบแบบดินดอนสามเหลี่ยมรูปพัดบนบก (Subaerial Fan-Deltaic Plain) ซึ่งเป็นชั้นทับถมที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 15 – 30 เมตร ชั้นทับถมดังกล่าวเกิดจากการปล่อยตะกอนของแม่น้ำแม่กลองสายเก่าที่เริ่มเปลี่ยนทิศทาง ดังนั้น ชั้นตะกอนส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยชั้นกรวดที่เจือด้วยชั้นทราย ชั้นทรายละเอียด ชั้นดินเหนียว ปะปนกันเป็นระยะ ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลดังกล่าว พื้นที่เขตนี้ จึงไม่ถูกน้ำทะเลท่วม เมื่อครั้งปรากฎการณ์น้ำทะเลขึ้นสูงสุดของสมัยโฮโลซีน (8000 – 7000 cal BP) (TANABE et al. 2003) เนื่องจาก ระดับน้ำท่วมสูงสุดในช่วงนั้นประมาณกันว่า สูงขึ้นจากระดับน้ำทะเลปานกลางปัจจุบันราว 4-5 เมตรเท่านั้น (THIRAMONGKOL 1983)
แหล่งโบราณคดีจรัญเพ็ญ ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 14 เมตร (Google Earth 2011) ซึ่งเป็นระดับที่ห่างไกลจาก การท่วมของระดับน้ำทะเลสูงสุดสมัยโฮโลซีนเมื่อราว 8000 – 7000 cal BP ที่ประมาณไว้ราว 4-5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางปัจจุบัน (TANABE et al. 2003) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดอน ซึ่งสามารถใช้เป็นที่ตั้งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้ตั้งแต่ช่วงสมัยโฮโลซีนตอนกลางเป็นต้นมา โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการท่วมถึงของน้ำทะเล
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบคือ ชิ้นส่วนขวานหินขัด ชิ้นส่วนกำไลหิน และ เศษภาชนะดินเผาลายขูดขีด และลายเชือกทาบ หลักฐานดังกล่าว ล้วนส่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับวัฒนธรรมหินใหม่ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่พบเป็นหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่ได้จากการสำรวจเก็บตัวอย่าง ดังนั้น จึงควรที่จะมีการขุดค้นทางโบราณคดีต่อไปในอนาคต เพื่อพิสูจน์ว่า แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้ เป็นชุมชนสมัยหินใหม่ หรือ ชุมชนสมัยสำริด และ ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้ มีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน หรือไม่อย่างไร
กองโบราณคดี, 2531. แหล่งโบราณคดี ไร่จรัลเพ็ญ (บ้านหนองกบ), ใน แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 1. พิมพ์ครั้งแรก, เอกสารวิชาการกองโบราณคดี หมายเลข 6/2531กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 312 หน้า.
Google Earth, 2011. 13°53'35N, 99°56'00E.
JARUPONGSAKUL S., HATTORI T., WICHAIDIT P., 1991. Salinization in the Holocene Fan-delta of Maekhlong River, Thailand. Southeast Asian Studies 29 (1), pp. 49-63.
TANABE S., SAITO Y., SATO Y., SUZUKI Y., SINSAKUL S., TIYAPAIRACH N., CHAIMANEE N., 2003. Stratigraphy and Holocene evolution of the mud-dominated Chao Phraya delta, Thailand. Quaternary Science Reviews 22,