โพสต์เมื่อ 7 เม.ย. 2022
ที่ตั้ง : เลขที่ 15 บ้านโคกขาม ม.2 บ้านโคกขาม
ตำบล : โคกขาม
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สมุทรสาคร
พิกัด DD : 13.568379 N, 100.343093 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองมหาชัย, คลองโคกขาม
- จากถนนพระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) เลี้ยวซ้ายเข้าทางวัดพันท้ายนรสิงห์ มุ่งหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามถนนหมายเลข สค2004 ประมาณ 2.2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงชนบท สค5031 ประมาณ 2.6 กิโลเมตร วัดตั้งอยู่ทางซ้ายมือ
- จากตัวเมืองสมุทรสาครใช้ถนนเส้นทางไปโรงพยาบาล เลี้ยงขวาข้ามสะพานข้ามคลองมหาชัย ตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณทางไปวัดเจษฎาราม ขับตรงไประยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เลยหมู่บ้านสารินซิตี้ วัดโคกขามจะตั้งอยู่ทางขวามือ
เป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งชาวพุทธนิยมมาเยี่ยมชมโบสถ์เก่าสมัยอยุธยา และกราบไหว้หลวงพ่อสัมฤทธิ์ (พระพุทธสิหิงค์) มีงานปิดทองประจำปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดโคกขาม
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ด้านทิศเหนือของวัดติดทางหลวงชนบท สค.5031 ด้านทิศใต้ติดกับถนนโคกขาม-สันดาบ ด้านทิศตะวันออกติดกับคลองโคกขาม ด้านทิศตะวันตกติดกับทางหลวงชนบท สค.5031 บรรจบกับถนนโคกขาม-สันดาบ มีเนื้อที่ตั้งวัด 58 ไร่ 2 งาน ห่างจากคลองมหาชัยมาทางทิศใต้ประมาณ 350 เมตร
คลองมหาชัย, คลองโคกขาม, แม่น้ำท่าจีน
ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)
วัดโคกขามปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2222 สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 11) มีหลักฐานสิ่งก่อสร้างที่สำคัญประกอบด้วย
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาไม้แกะสลัก ด้านหน้าพระอุโบสถซ่อมแซมต่อเติมขึ้นในภายหลังโดยพระครูมหาชัยบริรักษ์ เจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสาคร ทำเป็นมุขยื่นออกมา 1 ห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยม 2 ต้น รองรับโครงหลังคา หน้าบันของมุขด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปนก ค้างคาว และมังกรสองตัวเกาะและเลื้อยอยู่ในหมู่ต้นไม้ ด้านล่างเป็นไม้ฉลุลายทรงสี่เหลี่ยม ลวดลายของหน้าบันนี้ได้รับอิทธิพลของศิลปะจีน ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ด้านหลังทึบ ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง บานประตูหน้าต่างทาสีแดง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืน และนั่ง แสดงปางต่างๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยรอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังกลม 2 องค์ สภาพชำรุดยอดหักหาย ภายในเขตกำแพงแก้วมีใบเสมาหินทรายแดงตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน พระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 56-57)
พระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์คล้ายกับพระพุทธสิหิงค์ ที่ฐานมีจารึกซึ่งได้มีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านไว้ มีใจความว่า “พุทธศักราช 2232 พระสา กับเดือน 1 กับ 25 วันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย โทศก พระยาเมชัยก็ได้สถาปนาพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นทอง 37 ชั่ง จงเป็นปัจจัยแก่นิพพานฯ” ซึ่งปีพุทธศักราช 2232 นั้นตรงกับรัชสมัยของพระเพทราชา(พ.ศ. 2231-2246) (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 57)
ศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นศาลาการเปรียญไม้ยกพื้นสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาสี บันไดทางขึ้นก่ออิฐถือปูน มีอาคารขนาดเล็กสร้างขวางทางด้านทิศตะวันออก ศาลาการเปรียญหลังนี้ พระสุนทรศีลสมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหนัง ธนบุรี เป็นผู้ทำการก่อสร้างไว้(สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 57)
จารึกที่เกี่ยวข้อง : ที่ฐานพระพุทธรูป “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” มีจารึก ซึ่งได้มีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านไว้ มีใจความว่า “พุทธศักราช 2232 พระสา กับเดือน 1 กับ 25 วันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย โทศก พระยาเมชัยก็ได้สถาปนาพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นทอง 37 ชั่ง จงเป็นปัจจัยแก่นิพพานฯ” ซึ่งปีพุทธศักราช 2232 นั้นตรงกับรัชสมัยของพระเพทราชา(พ.ศ. 2231-2246) (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 57)
กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.
ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.
สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.