วัดนางสาว


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพรหมจารีย์ราม, วัดน้องสาว

ที่ตั้ง : ม.7 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน

ตำบล : ท่าไม้

อำเภอ : กระทุ่มแบน

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.666351 N, 100.268785 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองนางสาว, คลองวัดนางสาว

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

   -  จากถนนเพชรเกษม กม. ที่ 25 เลี้ยวซ้ายตรงแยกอ้อมน้อย เข้าไปตามถนนเศรษฐกิจ 1ไปทางกระทุ่มแบน ประมาณ 5 กม. เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 800 เมตรก็จะถึง วัดนางสาว

   - เส้นทางถนนพระราม 2 (ธนบุรี-ปากท่อ) กม. ที่ 29-30 แยกเข้าถนนเศรษฐกิจ 1 ไปทางกระทุ่มแบนระยะทางประมาณ 10 กม. เลี้ยวซ้ายขับตรงไประยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาขับตรงไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายขับตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนางสาวตั้งอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นพุทธศาสนสถานที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โบราณปูชนียสถานที่สำคัญ ได้แก่ “โบสถ์มหาอุด” ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าสมัยอยุธยาตอนปลายทรงเรือสำเภา ซึ่งปัจจุบันมีการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่, อุทยานมัจฉาริมแม่น้ำท่าจีน, มณฑปหลวงพ่อดำ, มณฑปหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์, คุ้มนางพญา ซึ่งเป็นอาคารทรงไทย ภายในจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยอดีต

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดนางสาว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันออก ด้านทิศเหนือของวัดติดกับคลองนางสาว ทิศใต้ติดกับลำคลองสาขา ทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำท่าจีน มีเนื้อที่ตั้งวัด 89 ไร่

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1-2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำท่าจีน, คลองนางสาว

สภาพธรณีวิทยา

ดินชุดบางกอก พบในที่ราบชายฝั่งทะเลน้ำท่วมไม่ถึง ลักษณะดินเป็นดินเหนียวมีดินร่วนปน เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางตำนาน

สมัยอยุธยาตอนปลาย

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดนางสาวเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวว่าในสมัยอยุธยาตอนปลายได้เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า กองทัพพม่ายกเข้ามารุกรานจนถึงบ้านบางท่าไม้ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน พวกผู้ชายออกไปรบเพื่อป้องกันบ้านเมืองกันหมด เหลือแต่ผู้หญิง เด็ก และคนชรา จึงพากันอพยพหลบหนีภัยสงคราม ในระหว่างทางได้ไปพบกับกองลาดตะเวนของทหารพม่า จึงได้พากันไปหลบซ่อนตัวในโบสถ์ของวัดร้างแห่งหนึ่ง ในจำนวนของผู้หนีภัยสงครามทั้งหมดมีพี่น้องสองสาวคู่หนึ่งได้อธิษฐานกับพระประธานว่า ถ้าพวกตนสามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือของทหารพม่าไปได้จะกลับมาบูรณะซ่อมแซมวัดแห่งนี้ หลังจากเหตุการณ์สงครามสงบ พี่น้องทั้งสองคนก็ได้กลับมายังวัดแห่งนี้ พี่สาวเห็นว่าสภาพของวัดทรุดโทรมมากควรจะสร้างวัดขึ้นใหม่ จึงได้ไปสร้างวัดใหม่ขึ้นเรียกชื่อว่า “วัดกกเตย” (ปัจจุบันวัดแห่งนี้ล่มลงในแม่น้ำหมดแล้ว) แต่น้องสาวต้องการกระทำตามสัจจาธิษฐาน จึงได้ดำเนินการบูรณะจนแล้วเสร็จ และตั้งชื่อว่า “วัดพรหมจารีย์ราม” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดน้องสาว” และได้เพี้ยนมาเป็น “วัดนางสาว” ในปัจจุบัน (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)

พระอุโบสถ มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วมุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา 1 ห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก (แต่เดิมช่อฟ้าใบระกาเป็นไม้ หน้าบันเป็นไม้ประจุเรียบ ต่อมาวัดได้ดำเนินการซ่อมแซมขึ้นใหม่) ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงประตูเดียว ด้านอื่นๆปิดทึบไม่มีหน้าต่าง แบบ “โบสถ์มหาอุด” ปัจจุบันโบสถ์หลังนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)

เจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ย่อมุมไม้สิบสองทรงระฆัง องค์ระฆังมีการตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้และพวงอุบะ ส่วนยอดเป็นบัวคลุ่มเถาและปลียอด (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข

บรรณานุกรม

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง