โพสต์เมื่อ 15 ส.ค. 2021
ชื่ออื่น : วัดเขายี่สาร
ที่ตั้ง : ม.1 บ้านเขายี่สาร
ตำบล : ยี่สาร
อำเภอ : อัมพวา
จังหวัด : สมุทรสงคราม
พิกัด DD : 13.301597 N, 99.902362 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง
ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถ.พระราม 2) เลี้ยวซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 72 เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ข้ามสะพานคลองขุดยี่สาร วัดเขายี่สารตั้งอยู่ขวามือ
วัดเขายี่สาร, กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3679-3717
วัดเขายี่สารตั้งอยู่บนเนินเขายี่สาร ซึ่งเป็นภูเขาที่เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยและซากสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งจมอยู่ใต้ทะเลเป็นเวลานาน มีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่เศษ อาคารต่างๆของวัดจะสร้างลดหลั่นกันไปตามไหล่เขา พื้นที่โดยรอบนอกจากจะมีชุมชนเขายี่สารแล้ว ยังล้อมรอบไปด้วยป่าโกงกางและนากุ้ง ปัจจุบันวัดเขายี่สารตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลมาทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร
คลองขุดยี่สาร
เขายี่สารเป็นเนินเขาหรือภูเขาหินปูนขนาดเล็ก เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยและซากสัตว์ทะเลต่างๆเป็นระยะเวลายาวนาน พื้นที่โดยรอเขายี่สารเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำเค็มและน้ำจืดริมอ่าวไทย
วัดเขายี่สาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ.2246 ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2448 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลักฐานทางโบราณคดีทึ่สำคัญ ได้แก่
พระอุโบสถ
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกโดยรอบรองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หัวเสาประดับด้วยลวดลายปูนปั้น หน้าบันปูนปั้นเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา ตกแต่งด้วยเครื่องลายคราม ผนังด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ระหว่างกลางมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ประทับยืนแสดงปางประทานอภัย ผนังด้านหลังทึบด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ 5 บาน ซุ้มหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้น บานหน้าต่างไม้ด้านนอกเขียนลายลงรักปิดทอง ด้านในเป็นภาพจิตรกรรมรูปการต่อสู้ของนักรบชาวจีนและภาพเขียนต่างๆ
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง ปางมารวิชัย ผนังด้านหลังพระประธานมีภาพจิตรกรรม ที่เขียนขึ้นใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ.2534 บนขื่อไม้ของพระอุโบสถมีจารึกภาษาไทย กล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ รอบพระอุโบสถด้านนอกมีซุ้มใบเสมาหินทรายแดงคู่ ศิลปะอยุธยา ลักษณะคล้ายใบเสมาวัดสระบัว จ.เพชรบุรี ภายนอกเขตกำแพงแก้วด้านหน้าพระอุโลสถมีเจดีย์ราย รูปแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระวิหาร
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ทำด้วยปูนปั้น หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้น ผนังด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูเป็นซุ้มหน้านางประดับลวดลายปูนปั้น บานประตูเป็นไม้แกะสลัก บานแรกสลักเป็นลายก้านขดและลายพันธุ์พฤกษา ส่วนอีกบานสลักลายประจำยาม มีความละเอียดและสวยงาม ระหว่างซุ้มประตูมีซุ้มจระนำขนาดเล็กสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
ภายในพระวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธรูปจำลอง 4 รอย มีศาลาเครื่องไม้ทรงไทยขนาดเล็กสร้างครอบอยู่ หน้าบันของศาลาไม้มีลวดลายจำหลักไม้เป็นลายพันธุ์พฤกษา ติดกับผนังด้านในสุดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ลงรักปิดทอง ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว แสดงปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา ด้านหน้าของพระวิหารมีเจดีย์รายย่อมุมไม้สิบสองและเจดีย์ทรงปรางค์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย-สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อยู่จำนวน 4 องค์
ศาลาธรรมสังเวช
ศาลาธรรมสังเวช ใช้เป็นสถานที่สำหรับตั้งศพก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจ ลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทย เป็นอาคารโล่ง ไม่มีผนัง หลังคาเครื่องไม้กาบกล้วย ที่แผ่นไม้คอสองภายในศาลา เขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพระมาลัยเสด็จเมืองสวรรค์และนรก มีตัวหนังสือระบุชื่อขุมนรกต่างๆ ลักษณะเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น เขียนด้วยสีเอกรงค์ใช้สีน้ำเงินเป็นส่วนใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น
ศาลาการเปรียญ
เป็นศาลาไม้หลังใหญ่ใต้ถุนสูง เดิมมีภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้คอสองเป็นเรื่อง ปฐมสมโพธิกถา จำนวน 16 แผ่น วางพาดอยู่บนขื่อ มีผู้สันนิษฐานว่าแผ่นไม้ดังกล่าวคงเป็นคอสองของศาลาขนาดย่อมในบริเวณวัด เพราะมีตัวอักษรจารึกนามผู้บริจาคทรัพย์ ซึ่งเป็นชาวบ้านยี่สารทั้งสิ้น เมื่อสังเกตจากการแต่งกายของบุคคลในภาพ ซึ่งสวมหมวก ใส่เสื้อราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน และสวมถุงน่องรองเท้าแล้ว สันนิษฐานว่าคงเจียรขึ้นในรัชสมัยพนะบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หอระฆัง
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก 2 ชั้น หลังคาเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายปิรามิด ผนังก่ออิฐถือปูนทั้ง 4 ด้าน เจาะเป็นช่องโค้งแหลม มีบันไดขึ้นลง ปัจจุบันหอระฆังหลังนี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่มีการใช้สอย
เจดีย์ราย
มีจำนวนหลายองค์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด เป็นเจดีย์ที่สร้างมาแต่ครั้งโบราณ ลักษณะก่ออิฐถือปูน ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ทรงระฆังย่อมุม ฐานเจดีย์เป็นฐานสิงห์ซ้อนกันหลายชั้น องค์ระฆังขนาดค่อนข้างเล็ก มีบัวรองรับปากระฆัง ส่วนยอดเป็นชุดบัวคลุ่มเถาซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่พบมีลักษณะแตกต่างออกไป 2 องค์ คือ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ฐานสิงห์ซ้อนกันเป็นชั้น บริเวณเรือนธาตุมีซุ้มหน้านางซ้อนกัน 2 ชั้น ทั้ง 4 ด้าน ที่มุมของเรือนธาตุมีครุฑแบกและเทพพนมยอดปรางค์ สันนิษฐานว่าเจดีย์เหล่านี้คงจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 4-5 ซึ่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่
ศาลาพระฉัน
ลักษณะเป็นอาคารโถงทรงไทย หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง อาคารหลังนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งแต่เดิมเสาเป็นเสาไม้ ปัจจุบันเป็นเสาคอนกรีต พื้นอาคารเป็นพื้นไม้ยกสูงพอประมาณ เพื่อใช้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหาร
นิติ แสงวัณณ์ และคณะ. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานจังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างปี พ.ศ.2539-2541. (เอกสารอัดสำเนา) ราชบุรี : ฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 30 March 2011. Available from http://www.gis.finearts.go.th