วัดราษฎร์บำรุง


โพสต์เมื่อ 7 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : วัดหงอนไก่

ที่ตั้ง : เลขที่ 43 ม.2 บ้านคลองมะเดื่อ

ตำบล : คลองมะเดื่อ

อำเภอ : กระทุ่มแบน

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.646175 N, 100.276227 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองกระทุ่มแบน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ใช้ถนนเศรษฐกิจ 1 (ทางหลวงหมายเลข 3091 สมุทรสาคร-กระทุ่มแบน) เลี้ยวซ้ายก่อนเข้าตัวอำเภอกระทุ่มแบน ตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบวัดราษฎร์บำรุงหรือวัดหงอนไก่ตั้งอยู่ทางขวามือตั้งอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดราษฎร์บำรุงเป็นพุทธศาสนสถานที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แต่โบราณสถานคืออุโบสถหลังเก่าเป็นอาคารร้าง มีสภาพทรุดโทรมาก 

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดราษฎร์บำรุง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 117 ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 1 ไร่ 86.5 ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่เป็นราบลุ่มริมแม่น้ำ ติดกับคลองกระทุ่มแบน อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน ด้านทิศเหนือของวัดติดกับที่เอกชน ด้านทิศใต้ติดกับคลองกระทุ่มแบน ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดที่เอกชน  วัดอยู่ห่างจากแม่น้ำท่าจีนมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1.9 กิโลเมตร พื้นที่ตั้งวัดมี 35 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1-2 เมตร

ทางน้ำ

คลองกระทุ่มแบน, แม่น้ำท่าจีน

สภาพธรณีวิทยา

ดินชุดบางกอก พบในที่ราบชายฝั่งทะเลน้ำท่วมไม่ถึง ลักษณะเป็นดินเหนียวมีดินร่วนปน ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง จัดเป็นดินชั้นหนึ่งสำหรับปลูกข้าว ถั่วต่างๆ ข้าวโพด ฯลฯ(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2438

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดราษฎร์บำรุง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ในหนังสือที่พิมพ์ขึ้นแจกในพิธีปิดทองฝังลูกนิมิตพระอุโบสถหลังใหม่เมื่อปี พ.ศ.2512 กล่าวว่า วัดหงอนไก่ตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ.2438 มีท่านสมภารเทียนเป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้าง นางพวง รอดสมหวัง เป็นผู้มอบที่ดินให้วัดจำนวน 16 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา หมื่นยงค์ มักสันต์ และกำนันแก้ว จันทร์เต็มดวง เป็นผู้อุปถัมภ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2444 พระอุโบสถหลังเก่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปีใดไม่มีหลักฐานระบุ แต่มีพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตในปี พ.ศ.2450 (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 139 )

อุโบสถหลังเก่า อาคารก่ออิฐถือปูนขนาดค่อนข้างเล็ก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าว มีพาไลมุงสังกะสียื่นออกมาทั้งด้านหน้าและหลังด้านละ 1 ห้อง รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ช่อฟ้าไม้ชำรุด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ และรวยระกาไม้แบบมอญ หน้าบันปูนปั้นตกแต่งลวดลายแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านบนเป็นรูปเทพนม ถัดลงมาเป็นหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากัน มีลวดลายดอกไม้ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบสี และเครื่องลายครามแบบจีน ด้านล่างของหน้าบันเป็นรูปมังกรคู่หันหน้าชนกัน อิทธิพลศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันเป็นอาคารร้าง สภาพทรุดโทรมมาก

ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านหน้าและหลังด้านละ 2 ประตู ซุ้มประตูและหน้าต่างปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ภายในพระอุโบสถมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป “หลวงพ่อโต” ปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถหลังใหม่ และศาลาการเปรียญจำนวนทั้งสิ้น 10 องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในจำนวนนี้มีพระพุทธรูปที่ทำจากหินทรายแดง ศิลปะอยุธยาตอนปลาย 1 องค์ และมีพระพุทธรูปสององค์มีจารึกที่ฐานระบุปี พ.ศ.2475 พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งมีจารึกเป็นตัวอักษรคล้ายอักษรขอมและตัวเลข 2440 (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 139)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี