บ้านคูเมือง


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : โนนแก, อูบมุง

ที่ตั้ง : บ้านคูเมือง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ตำบล : คูเมือง

อำเภอ : วารินชำราบ

จังหวัด : อุบลราชธานี

พิกัด DD : 15.098809 N, 104.862975 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยผับ (ห้วยพับ), คลองลำตะคอง (ห้วยยอด), หนองแซง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอวารินชำราบ ใช้ถนนกันทรลักษณ์ (ทางหลวงหมายเลข 2178) มุ่งหน้าทิศใต้ (มุ่งหน้าตำบลคูเมือง หรือมุ่งหน้าอำเภอกันทรลักษณ์) ผ่านแยกที่ตัดกับถนนเลี่ยงเมืองอุบลไปประมาณ 4.7 กิโลเมตร พบสี่แยก เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเข้าหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านคูเมือง ไปตามถนนประมาณ 3.3 กิโลเมตร ถึงเมืองโบราณบ้านคูเมือง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

บ้านคูเมืองปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตัวตำบลคูเมือง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อาชีพหลักของชาวบ้านคือเกษตรกรรมและปศุสัตว์ มีประเพณีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไป มีวัดบูรพารามเป็นวัดประจำหมู่บ้าน สถานศึกษาประจำชุมชนได้แก่ โรงเรียนบ้านคูเมือง (สอนชั้นอนุบาลถึง ม.ต้น) โดยกรมศิลปากรได้เคยขุดค้นทางโบราณคดีภายในโรงเรียนแห่งนี้ในปี 2540 พบหลุมฝังศพก่อนประวัติศาสตร์ 4 หลุม

พิธีสำคัญของชุมชนได้แก่ การทำบุญที่ดอนปู่ตา ซึ่งทำกันในเดือน 6 มีการจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย เซ่นไหว้ด้วยหัวหมู บายศรี เหล้ายก น้ำอบ ดอกไม้ และผลไม้ น้ำอบจากการทำพิธีนั้น ชาวบ้านจะนำไปประพรมที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล

อย่างไรก็ตาม สภาพคูน้ำและคันดินถูกทำลายไปมากจากการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและทำการเกษตร คูเมืองเกือบทั้งหมดกลายเป็นนาข้าว บางส่วนเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและถนน มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงหลงเหลือเป็นบ่อน้ำเล็กๆ แต่จากภาพถ่ายทางอากาศยังคงสังเกตเห็นได้ถึงแนวคูเมืองที่เป็นที่ลุ่มชื้นแฉะ และคันดินที่มีต้นไม้เป็นเป็นแนว ในขณะที่โบราณสถานสำคัญของบ้านคูเมืองที่ตั้งอยู่นอกเมืองคือ โนนแก และอูบมุง ก็อยู่ในสภาพขาดการดูแลรักษาเช่นเดียวกัน ส่วนบ่อน้ำโบราณอยู่ในสภาพดี ได้รับการขุดลอก เนื่องจากยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอวารินชำราบลงมาทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตัวตำบลคูเมือง และครอบคลุมพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ ม.1 ม.4 และ ม.7

ลักษณะพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีเป็นที่ลุ่มบนตะพักลำน้ำระดับต่ำ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาของแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขา

เมืองโบราณบ้านคูเมืองตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำมูลลงมาทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีลำห้วยผับ (พับ) ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ไหลมาจากอำเภอสำโรงผ่านด้านทิศเหนือและตะวันตกของเมือง โดยที่ห้วยผับ (พับ) บางส่วนและลำน้ำสาขาของห้วยผับ (พับ) คือคลองลำตะคอง (หรือห้วยยอด) ไหลผ่านด้านทิศเหนือและเป็นคูเมืองด้านทิศเหนือของเมืองโบราณด้วย

จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณบ้านคูเมืองเป็นเมืองที่มีลักษณะของคูน้ำและคันดินซ้อนกัน 2 ชั้น โดยชั้นในมีลักษณะของเนินดินรูปร่างไม่แน่นอน ค่อนไปทางวงรี ขนาดประมาณกว้าง 300 เมตร (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) ยาว 600 เมตร (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) ส่วนชั้นนอกเป็นคูน้ำคันดิน 1 ชั้น อยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 750 เมตร (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) ยาวประมาณ 1,000 เมตร (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) โดยคูน้ำมีเพียง 3 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ใต้ และตะวันตก ส่วนด้านทิศเหนือใช้ห้วยผับ (พับ) และคลองลำตะเภา (หรือห้วยยอด) เป็นคูเมือง

แหล่งน้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในบ้านคูเมือง ได้แก่ หนองแซง (อยู่ภายในเมืองชั้นนอก ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำหรือหนองน้ำอีกหลายแห่ง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกนอกคูเมือง ได้แก่ หนองกู่ (สันนิษฐานว่าเป็นบารายสมัยเขมร ตั้งอยู่นอกเมือง ห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปปะรมาณ 250 เมตร) หนองแซว หนองคู หนองม่วง หนองสะแบง และหนองตาไท

ปัจจุบันภายในเมืองชั้นในที่เป็นเนินดินรูปวงรี มีประชากรตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น เกือบเต็มทั้งพื้นที่ รวมถึงสถานที่ราชการและวัด ในขณะที่ภายในเมืองชั้นนอกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่ประปราย แต่หนาแน่นในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดกับห้วยผับ (พับ) ส่วนพื้นที่นอกเมืองเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

สภาพคูน้ำและคันดินถูกทำลายไปมากจากการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและทำการเกษตร คูเมืองเกือบทั้งหมดกลายเป็นนาข้าว บางส่วนเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและถนน มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงหลงเหลือเป็นบ่อน้ำเล็กๆ แต่จากภาพถ่ายทางอากาศยังคงสังเกตเห็นได้ถึงแนวคูเมืองที่เป็นที่ลุ่มชื้นแฉะ และคันดินที่มีต้นไม้เป็นเป็นแนว

ส่วนบ่อน้ำโบราณ เช่น หนองแซง และหนองกู่ อยู่ในสภาพดี ได้รับการขุดลอก เนื่องจากยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

123-130 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำมูล, ห้วยผับ (ห้วยพับ), คลองลำตะคอง (ห้วยยอด), หนองแซง

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีเป็นที่ลุ่มบนตะพักลำน้ำระดับต่ำ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาของแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขา ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายแป้งและหินทรายในหมวดหินมหาสารคาม (และหมวดหินโคกกรวด?) กลุ่มหินโคราช ดินเป็นชุดดินร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นตะกอนแม่น้ำเก่าที่มักพบบนลานตะพักลำน้ำ ลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย อินทรียวัตถุต่ำ การระบายน้ำค่อนข้างเลว การไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้า และมีการซึมผ่านของน้ำได้เร็วปานกลาง เหมาะกับการเพาะปลูกข้าว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ ชูโชติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำรวจพื้นที่บริเวณโบราณสถานโนนแก พบขี้โลหะ (slag) ของทองแดง บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถานโนนแก ห่างออกไปประมาณ 20 เมตรจากโบราณสถาน ซึ่งนับว่ามีความสำคัญเนื่องจากไม่เคยพบหลักฐานเกี่ยวกับการผลิตทองแดงในภูมิภาคแถบนี้ จึงนำไปสู่การขุดค้นใน พ.ศ.2540

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ขุดแต่งโบราณสถานโนนแก และขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเนินดินภายในเมืองโฐราณบ้านคูเมือง เป็นหลุมขุดค้นขนาด 3x4 เมตร จำนวน 2 หลุม ได้แก่ 1.หลุมขุดค้นศาลากลางบ้าน (KB) ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเนินดินโบราณบ้านคูเมือง ในบริเวณที่เรียกว่า “ศาลากลางบ้าน” 2. หลุมขุดค้นในโรงเรียน (NRR) ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเนินดินในระหว่างโรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์) และสถานีอนามันคูเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ เสนอสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยศึกษาพัฒนาการของชุมชนโบราณบ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ชื่อผู้ศึกษา : สิริพัฒน์ บุญใหญ่

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สิริพัฒน์ บุญใหญ่ เสนอสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาเกี่ยวกับประเพณีการฝังศพและการเปลี่ยนแปลงของประเพณีการปลงศพที่บ้านคูเมือง และศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นที่ร่วมสมัยกัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, แหล่งผลิต

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากประวัติการศึกษาที่ผ่านมา (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ 2541) ทั้งการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่าบ้านคูเมืองมีการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานระยะแรกน่าจะเป็นชุมชนโบราณในสมัยสำริด อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว โดยเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานอยู่บนเนินดินของราบลุ่มลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ มีการเพาะปลูกข้าวและถลุงโลหะ มีประเพณีการปลงศพแบบฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว พร้อมทั้งวางวัตถุอุทิศลงไปในหลุมฝังศพด้วย

ในขณะเดียวกัน ชุมชนโบราณร่วมสมัยกับบ้านคูเมืองที่อยู่บริเวณโนนแก ห่างออกไปจากบ้านคูเมืองทางทิศตะวันออกราว 1 กิโลเมตร มีการปลงศพแบบการฝังศพครั้งที่ 2 คือการฝังศพในภาชนะดินเผาทรงไห 

ต่อมาเมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว ชุมชนมีประชากรมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น มีการสร้างคูน้ำและคันดินล้อมรอบเนินดินที่อยู่อาศัย รูปร่างค่อนไปทางวงรี (สร้างขึ้นตามรูปร่างของเนินดิน จึงมีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ) ขนาดของเนินดินประมาณ 300x600 เมตร

เมื่อวัฒนธรรมอินเดียแพร่หลายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ชุมชนอื่นเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ แต่ที่บ้านคูเมืองอาจยังคงรักษาวัฒนธรรมเดิม คือปลงศพผู้ตายด้วยการฝังศพ ไม่ได้เผาศพเหมือนชุมชนอื่นๆ ที่รับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว การพบวัตถุร่วมสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นในหลุมฝังศพที่บ้านคูเมือง แสดงให้เห็นว่ารับเอาวัฒนธรรมยุคประวัติศาสตร์มาจากชุมชนอื่นแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานการแบ่งพื้นที่ประกอบกิจกรรมภายในชุมชน กล่าวคือ บริเวณด้านทิศตะวันออกของเนินดินเป็นที่อยู่อาศัยและผลิตภาชนะดินเผา ส่วนบริเวณทางทิศตะวันตกของเนินใช้เป็นพื้นที่สุสานฝังศพ และมีกิจกรรมการอยู่อาศัยเป็นครั้งคราว

ตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเนินดินด้านทิศตะวันออก เช่น เศษภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง เศษภาชนะดินเผาสีดำ ชิ้นส่วนเครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินอาเกตและคาร์เนเลียน เมล็ดข้าว กระดูกสัตว์ ส่วนเนินดินด้านทิศตะวันตก พบหลุมฝังศพจำนวน 4 โครง อายุประมาณ 2,300-1,500 ปีมาแล้ว

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีชุมชนโบราณที่อยู่อาศัยมาก่อนการสร้างศาสนสถานโนนแก พบประเพณีการฝังศพในไหหรือการฝังศพครั้งที่ 2 ซึ่งสามารถเทียบได้กับชุมชนบ้านก้านเหลือง

ระยะเวลาต่อมาเมื่อวัฒนธรรมเขมรได้แผ่ขยายเข้ามายังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือราวพุทธศตวรรษที่ 15 เกิดการสร้างเมืองและวางผังเมืองที่เป็นแบบแผน สร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ที่บ้านคูเมืองมีการสร้างคูน้ำและคันดินล้อมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ขนาดกว้างประมาณ 750 เมตร ยาวประมาณ 1,000 เมตร) รอบเนินดินที่ตั้งของชุมชนเดิม

ในช่วงเวลาเดียวกัน ทางทิศตะวันออกของเมืองด้านนอกคูน้ำคันดิน ปรากฏการสร้างศาสนสถานขึ้น คือ โบราณสถานโนนแก (อาจเป็นชุมชนเดียวกัน?) ส่วนด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกคูเมือง มีการขุดหนองน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นบารายในสมัยวัฒนธรรมเขมร

ช่วงเวลาที่วัฒนธรรมเขมรเสื่อมสลายลง (ราวหลังพุทธศตวรรษที่ 18) บ้านคูเมืองถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่ง จนถึงช่วงที่เกิดการอพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของชาวลาวในสมัยรัตนโกสินทร์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 23-24 มีการสร้างศาสนสถานคือ ธาตุอูบมุง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านคูเมือง ด้านนอกคูน้ำ โบราณสถานโนนแกซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยวัฒนธรรมเขมรก็ถูกดัดแปลงเป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาเถรวาท และน่าจะมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 4 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533.

ทรรศนะ โดยอาษา. “แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง.” เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ เรื่อง โบราณคดีไทย ครั้งที่ 1 วันที่ 25-28 สิงหาคม พ.ศ.2535 ณ โรงแรมปทุมรัตน์ จังหวัดอุบลราชธานี, 2535.

ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. “การศึกษาพัฒนาการของชุมชนโบราณบ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบาลราชธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.

ปุราณรักษ์, หจก. รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานโนนแก บ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, 2541.

สิริพัฒน์ บุญใหญ่. “ประเพณีการฝังศพที่แหล่งโบราณคดีโนนแก บ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี. รายงานเบื้องต้น แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, 2541.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี