โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดบ้านก้านเหลือง
ที่ตั้ง : วัดบ้านก้านเหลือง ถ.เลี่ยงเมือง-ตระการ ม.3 บ้านก้านเหลือง ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี
ตำบล : ขามใหญ่
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : อุบลราชธานี
พิกัด DD : 15.278368 N, 104.85533 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังนอง
วัดก้านเหลืองตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลขามใหญ่ ทางตอนเหนือของตัวจังหวัดอุบลราชธานี โดยจากตัวบริเวณแยก ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ในตัวจังหวัดและในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ใช้ถนนชยางกูร มุ่งหน้าขึ้นทิศเหนือ ประมาณ 3.3 กิโลเมตร ถึงสี่แยกที่ตัดกับถนนเลี่ยงเมือง เลี้ยวขวา (ใช้ถนนเลี่ยงเมือง หรือทางหลวงหมายเลข 231) แล้วตรงไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบวัดก้านเหลืองอยู่ทางซ้ายมือ
แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ในอดีตถูกขุดทำลายเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการตั้งถิ่นฐาน การสร้างหมู่บ้านจัดสรร การขยายตัวของชุมชนเมืองอุบลราชธานี และการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ มีเพียงพื้นที่ภายในวัดบ้านก้านเหลืองที่ยังไม่ถูกรบกวน กรมศิลปากรร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นจึงได้ร่วมกันขุดค้นศึกษาและจัดแสดงหลุมขุดค้นเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสำหรับท้องถิ่นและบุคคลทั่วไป
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะวัดบ้านก้านเหลือง เทศบาลตำบลขามใหญ่ และกรมศิลปากร ได้ดูแล อนุรักษ์ และเสริมความมั่นคงหลักฐานทางโบราณคดีในหลุมขุดค้นจนอยู่ในสภาพดี แม้ว่าจะจัดแสดงมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม มีการสร้างอาคารคลุมหลุม ปรับภูมิทัศน์รอบหลุมขุดค้นให้เหมาะแก่การท่องเที่ยวเยี่ยมชม บริเวณหลุมขุดค้นมีการจัดนิทรรศการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่นิทรรศการจะมีสภาพค่อนข้างเก่า อย่างไรก็ตาม เทศบาลตำบลขามใหญ่ได้ก่อสร้างอาคารหอพิพิธภัณฑ์วัดบ้านก้านเหลืองหลังใหม่ที่ด้านข้างหลุมขุดค้น ปัจจุบันยังไม่มีการจัดแสดงใดๆ
ทางวัดได้ก่อสร้างอาคารถาวรต่างๆ บนเนินดิน โดยเฉพาะอาคารประดิษฐานพระพุทธรูป พระเกจิ รวมถึงรูปเคารพอื่นๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้สักการะ นอกจากนั้น เนินดินบางส่วน (ด้านทิศตะวันออก) ยังอยู่ในความครอบครองของเอกชน มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เพื่อการค้าและอยู่อาศัย การก่อสร้างอาคารดังกล่าว (ทั้งของวัดและเอกชน) อาจทำให้หลักฐานทางโบราณคดีใต้ดินเสียหายจากการตอกเสาเข็ม
ผู้สนใจสามาถเข้าเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีภายในวัดบ้านก้านเหลืองได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดก้านเหลือง, เทศบาลตำบลขามใหญ่, กรมศิลปากร, เอกชน (เช่น หจก. ต.อะไหล่อุบล)
แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเป็นที่ราบลูกคลื่นที่เกิดจากการทับถมของตะพักลำน้ำ
แหล่งโบราณคดีห่างจากหลุมขุดค้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 350 เมตร มีลำน้ำขนาดเล็กซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของห้วยวังนองไหลผ่าน ส่วนห้วยวังวังนองไหลผ่านด้านทิศเหนือและตะวันออกของเนินดิน โดยห่างจากหลุมขุดค้นไปทางทิศเหนือประมาณ 1.1 กิโลเมตร และไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.7 กิโลเมตร ขณะที่แม่น้ำมูลอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร
เนินดินของแหล่งโบราณคดีมีขนาดใหญ่ สูงจากพื้นดินโดยรอบประมาณ 3-4 เมตร บนเนินดินในปัจจุบันนอกเหนือจากหลุมขุดค้นแล้ว ยังมีต้นไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป และเป็นที่ตั้งของหอพิพิธภัณฑ์วัดบ้านก้านเหลือง (เพิ่งสร้างแล้วเสร็จประมาณปีเศษ เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐฉาบปูน ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของหลุมขุดค้น สร้างโดยเทศบาลตำบลขามใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีการจัดแสดง) หอพระบาตสวรรค์ (พระบาทสวรรค์ เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหลุมขุดค้น ถัดจากหอพิพิธภัณฑ์วัดบ้านก้านเหลือง สร้างเมื่อ พ.ศ.2537-2538) กุฎิสงฆ์ (ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและตะวันออกของหลุมขุดค้น) ร้านขายอะไหล่รถยนต์ออโต้มาร์ท (หจก. ต.อะไหล่อุบล อยู่ถัดออกไปทางทิศตะวันออก นอกเขตวัด) พุทธสถานหลวงพ่อบุญมี โชติปาโล กุฏีพรหมวิหาร อาคารก่ออิฐฉาบปูนขนาดเล็กประดิษฐานรูปเคารพต่างๆ และห้องน้ำ (ตั้งอยู่ทางใต้ของหลุมขุดค้น)
ส่วนด้านนอกเนินดินด้านทิศเหนือปัจจุบันเป็นสระน้ำ ด้านทิศตะวันออกเป็นกุฏิสงฆ์และที่ดินเอกชน ด้านทิศใต้เป็นถนนเลี่ยงเมือง (ทางหลวงหมายเลข 231) ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นอาณาเขตของวัดบ้านก้านเหลือง (พื้นที่โล่ง)
ห้วยวังนอง, แม่น้ำมูล
หมวดหินภูทอก กลุ่มหินโคราช
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
การค้นพบโบราณวัตถุจากการขุดไถปรับพื้นที่เพื่อทำบ้านจัดสรร (หมู่บ้านอุบลการเคหะ) ในบริเวณบ้านก้านเหลือง และเมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปได้มีกลุ่มชาวบ้านพากันมาขุดหาโบราณวัตถุเพื่อไปขาย ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ถูกทำลายเสียหายเป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงได้จัดทำโครงการเพื่อหางบประมาณมาสำรวจ ศึกษา และเก็บข้อมูลทางวิชาการไว้ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : ขุดค้น
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย กองโบราณคดี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ในขณะนั้น ได้ทำการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและศึกษาหลักฐานต่างๆ พร้อมกับจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดี ในระยะแรกของการศึกษาสำรวจพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผาที่กระจัดกระจายอยู่อย่างหนาแน่นบนเนินดินด้านทิศตะวันออกของวัดบ้านก้านเหลือง อีกทั้งพื้นที่นี้ยังไม่เคยถูกขุดทำลายมาก่อน กรมศิลปากรจึงเลือกขุดค้นบนเนินดินด้านทิศตะวันออกของบ้านก้านเหลืองแห่งนี้ 2 หลุม ขนาด 4x6 เมตร (Pit-I) และ 5x6 เมตร (Pit-II)ตามรายงานของกรมศิลปากรระบุว่า แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองมีเนื้อที่ประมาณ 3 กิโลเมตร (?) โดยในอดีตบ้านก้านเหลืองเป็นมีดงต้น “ก้านเหลือง” ไม้ยืนต้นประเภทไม้เนื้อแข็ง แก่นของลำต้นมีสีเหลืองขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
จากประวัติการค้นพบระบุว่าพื้นที่บ้านก้านเหลืองพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายจุด แต่ถูกขุดทำลายไปจากการตั้งถิ่นฐานของคนสมัยปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงได้เลือกขุดค้นที่เนินดินด้านทิศตะวันออกของวัดบ้านก้านเหลืองจำนวน 2 หลุม ปัจจุบันได้จัดแสดงหลุมขุดค้นหนึ่งเป็นหลุมขุดค้นเปิด โดยมีการสร้างศาลาโปร่ง หลังคาสังกะสีคลุมหลุมขุดค้น รวมถึงการจัดนิทรรศการติดตั้งป้ายบรรยายให้ความรู้และภาพโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้น ภายในศาลา (ติดตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของหลุมขุดค้น) ปากหลุมมีการสร้างรั้วเหล็กบนฐานก่ออิฐล้อมรอบ เพื่อประโยชน์ในการเยี่ยมชมหลุมขุดค้น
ภายในหลุมขุดค้นมีภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ (ที่ในอดีตเคยบรรจุกระดูกมนุษย์) จำนวนอย่างน้อย 15 ใบ วางตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ขุดค้นพบ สภาพหลุมขุดค้นได้รับการดูแล อนุรักษ์และเสริมความมั่นคง จนอยู่ในสภาพดีและมั่นคงแข็งแรง
แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ มีหลักฐานการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่ประมาณ 2,800-2,500 ปีมาแล้ว
ผลจากการขุดค้นของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2535 สรุปได้ว่าบริเวณบ้านก้านเหลืองมีประวัติการใช้พื้นที่ 2 สมัยใหญ่ๆ ดังนี้
ชั้นวัฒนธรรมที่ 1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยเหล็ก อายุประมาณ 2,800-2,500 ปีมาแล้ว หลักฐานที่สำคัญคือ เศษสำริด เศษเหล็ก ตะกรันที่เหลือจากการถลุงโลหะ กระพรวนสำริด ลูกปัดแก้ว ดินเผาไฟ แท่งดินเผาไฟ แกลบข้าว ถ่านไม้ มีกิจกรรมการใช้ไฟ หินดุ เศษภาชนะดินเผาที่กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างและซ้อนกันเป็นชั้นๆ พบว่าใต้เศษภาชนะดินเผาลงไปเป็นชั้นของภาชนะดินเผาใบใหญ่ที่น่าจะบรรจุกระดูกมนุษย์อยู่ภายใน พบจำนวน 11 ใบ 7 รูปแบบ โดยภาชนะในกลุ่มรูปทรงรีพบอยู่ในชั้นดินลึกที่สุด (เก่าที่สุด) ต่อมาเปลี่ยนแปลงไปใช้ภาชนะรูปทรงกลมแทน เพราะพบอยู่ในชั้นดินที่สูงกว่า (ใหม่กว่า) ภาชนะทั้ง 2 ทรง เป็นภาชนะที่มีฝาปิด
แม้ในว่าในภาชนะขนาดใหญ่ดังกล่าวจะไม่พบชิ้นส่วนกระดูกอยู่ภายในก็ตาม แต่กรมศิลปากรได้นำตัวอย่างดินที่พบในภาชนะไปให้นักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบว่าดินในภาชนะมีปริมาณของฟอสเฟตและแคลเซียมมากกว่าดินนอกภาชนะ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากการสลายตัวผุพังของกระดูกคน เนื่องจากกระดูกมีองค์ประกอบหลักทางเคมีคือฟอสเฟตและคาร์บอเนตของแคลเซียม
ประเพณีการปลงศพโดยการบรรจุกระดูกผู้ตายลงในภาชนะดินเผาหรือการฝังศพครั้งที่ 2 ที่บ้านก้านเหลืองนี้ พบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี
การดำรงชีวิตสมัยนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนเกษตรกรรมและมีช่างชำนาญเฉพาะทาง รู้จักการเพาะปลูกข้าว การถลุงโลหะ และการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเหล็กและสำริด รู้จักการปั้นภาชนะดินเผา
ชั้นวัฒนธรรมที่ 2 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องกับสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หลักฐานสำคัญได้แก่ พวยกาดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แวดินเผา เศษเหล็ก ตะกรันหรือขี้แร่ หินดุ แท่งดินเผา ลูกปัดดินเผา กระพรวนสำริด และขวานเหล็ก
ชั้นวัฒนธรรมที่ 3 เป็นการใช้พื้นที่ของคนปัจจุบัน
หลังจากการขุดค้นเสร็จสิ้นแล้ว กรมศิลปากรและท้องถิ่นได้ร่วมกันจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งจัดทำอาคารคลุมหลุมและนิทรรศการชั่วคราวภายในอาคารดังที่ปรากฏในปัจจุบัน แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
ทรรศนะ โดยอาษา. “บ้านก้านเหลือง แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย.” ศิลปากร 35, 6 (2535) : 48-67.
สมชาย นิลอาธิ. “แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดอนดงเมือง บ้านก้านเหลือง - บ้านดงเมือง อุบลราชธานี.” เมืองโบราณ 16, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2533) : 10-13.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. “ข้อมูลใหม่เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ในเขตลำมูลล่าง : แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี.” ศิลปากร 34, 6 (2534) : 23-34.
เอกรินทร์ พึ่งประชา. “แอ่งอารยธรรมบ้านก้านเหลือเมืองอุบลฯ.” ศิลปวัฒนธรรม 13, 10 (ส.ค.2535) : 32-34.