วัดใหญ่ดงรัก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดส้มใหญ่, วัดใหญ่

ที่ตั้ง : ม.11 บ้านรางจั่น ต.หนองขาว (เทศบาลตำบลหนองหญ้าดอกขาว) อ.ท่าม่วง

ตำบล : หนองขาว

อำเภอ : ท่าม่วง

จังหวัด : กาญจนบุรี

พิกัด DD : 14.039023 N, 99.626088 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดใหญ่ดงรังตั้งอยู่ภายในเทศบาลตำบลหนองดอกหญ้าขาว หากเดินทางจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ให้ใช้ถนนอู่ทอง (ทางหลวงหมายเลข 324) มุ่งหน้าตำบลหนองขาว (อำเภอท่าม่วง) ประมาณ 10.9 กิโลเมตร พบสามแยก ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 3084 ประมาณ 350 เมตร จะพบสำนักงานเทศบาลตำบลหนองขาวและซอยวัดใหญ่ที่ติดกับสำนักงานอยู่ทางขวามือ เลี้ยวขวาเข้าซอยวัดใหญ่ ประมาณ 240 เมตร พบถนนเลียบคลองชลประทานและสี่แยก ให้ตรงข้ามสะพานข้ามคลองชลประทาน พบสามแยกและถนนเลียบคลองอีกเส้นหนึ่ง ให้เลี้ยวซ้าย ตรงไปประมาณ 800 เมตร จะพบวัดใหญ่ดงรังทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดใหญ่ดงรังเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของชุมชน โบราณสถานภายในวัดบางส่วนได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และดูแลเป็นอย่างดี สภาพภายในวัดมีความสงบร่มรื่น

นอกจากพระพุทธรูปต่างๆ วัดใหญ่ดงรังยังประดิษฐานรูปเคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ของชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เช่น เจ้าแม่กวนอิม ปู่จักรกรด หลวงพ่อยอด รวมถึงพญานาค ซึ่งจะเห็นรูปปั้นอยู่ตามจุดต่างๆ ของวัด

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใข้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดใหญ่ดงรัง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดใหญ่ดงรังตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหนองดอกหญ้าขาว หรือตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวตำบลหนองขาว สภาพพื้นที่ตั้งวัดเป็นเนินดินขนาดยาวประมาณ 300 เมตร (ทิศเหนือ-ใต้) กว้างประมาณ 200 เมตร (ทิศตะวันออก-ตะวันตก) ล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรม บางส่วนของเนินในอดีตอาจถูกไถปรับเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ วัดตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำแม่กลองมาทางทิศเหนือประมาณ 7.5 กิโลเมตร

เนินดินที่ตั้งวัดอยู่ห่างจากเนินดินใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของตัวตำบลหนองขาวในปัจจุบันมาทางทิศใต้ประมาณ 400-500 เมตร ทางทิศใต้ของเนินมีลำน้ำโบราณสายเล็กๆ ไหลผ่าน ปัจจุบันตื้นเขินมาก และถูกปรับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในบางจุด ด้านทิศตะวันออกของวัดเป็นคลองชลประทาน (บางส่วนของคลองชลประทานสายนี้ อาจขุดขึ้นตามลำน้ำธรรมชาติสายเดิม)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

28 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำแม่กลอง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โบราณสถานภายในวัดใหญ่ดงรังยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตามประวัติวัดระบุว่าเดิมมีโบราณสถานภายในวัดหลายแห่งอันได้แก่ วิหาร โบสถ์ เจดีย์ และหอระฆัง รวมถึงบ่อน้ำ มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2538

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ข้อมูลของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า วัดใหญ่ดงรังเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2529 น่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นระบุว่าวัดเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเส้นทางเดินทัพ ในขณะนั้นตำบลหนองขาวประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านดงรัง (มีวัดประจำหมู่บ้านคือวัดส้มใหญ่หรือวัดใหญ่ดงรัง) และหมู่บ้านดอนกระเดื่อง (มีวัดโบสถ์เป็นวัดประจำหมู่บ้าน)

การศึกกับพม่าในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านได้รวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกอย่างกล้าหาญ (ยังมีหลักฐานพื้นที่สู้รบอยู่ที่ทุ่งคูในตำบลหนองขาวปัจจุบัน) จนหมู่บ้านถูกทำลายเสียหาย เหลือเพียงซากวัดและเจดีย์ หลังสงครามยุติชาวบ้านได้พากันหลบหนีมารวมตัวกันที่บริเวณหนองน้ำใหญ่ ตั้งเป็นหมู่บ้าน “บ้านหนองหญ้าดอกขาว”

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จยังบ้านหนองดอกหญ้าขาว เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านไปยังกาญจนบุรี เช่น รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จยังเมืองกาญจน์และผ่านหนองขาวดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงค์ กล่าวว่า รุ่งขึ้นวันศุกร์ แรม 14 ค่ำ เสด็จจากพลับพลาเมืองกาญจน์ถึงพลับพลาบ้านหนองขาว ประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี และได้ทรงพระราชนิพนธ์ในกลอนไดอารี่ซึมซาบตอนหนึ่งว่า

“ราษฎรพากันดาษดื่นเห็นแต่นั่งหน้าพลับพลากว่าห้าร้อย มีเขียนโต๊ะ ขันหมาก ขันพานบ้านนอก ข้าวหลามสี่ห้ากระบอก ขนมไหม้ จัดตามมีตามจนกันคนละเล็กละน้อยมานั่งคอยถวายล้อมอยู่พร้อมเพรียง ทรงปราศรัยไปทุกหน้าที่มานั้นก็ทูลกันสนองออกซ้องเสียง ฟังเหน่อหน่าตามประสาแปร่งสำเนียง บางขึ้นเสียงทานขัดคอกัน”

ชาวหนองขาวเชื่อกันว่าเป็นวัดส้มใหญ่หรือวัดใหญ่ดงรังหรือวัดใหญ่นี้ เป็นวัดที่ขุนไกร พ่อของขุนแผนมาเรียนวิชา และเป็นที่วัดพลายแก้วหรือขุนแผนมาบวชเณร (วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน)

หมู่บ้านหนองขาวได้เจริญขึ้นตามลำดับจวบจนปัจจุบัน วัดใหญ่ดงรังซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านดงรังที่ถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่หลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้รับการปฏิสังขรณ์และตั้งเป็นวัดใหม่อีกครั้งราว พ.ศ.2525 ในขณะที่วัดโบสถ์วัดประจำหมู่บ้านดอนกระเดื่องถูกทิ้งร้างไปจนปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งโรงเรียนหนองขาวโกวิทพิทยาคม สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีเพียงเจดีย์เท่านั้น

โบราณสถานภายในวัดใหญ่ดงรังยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตามประวัติวัดระบุว่าเดิมมีโบราณสถานภายในวัดหลายแห่งอันได้แก่ วิหาร โบสถ์ เจดีย์ และหอระฆัง รวมถึงบ่อน้ำ มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2538

วัดใหญ่ดงรัง บางครั้งชาวบ้านเรียกว่าวัดใหญ่ มีชื่อเดิมว่าวัดส้มใหญ่ ตามประวัติระบุว่ามีโบราณสถานภายในวัดหลายแห่ง ได้แก่ วิหาร โบสถ์ เจดีย์ หอระฆัง และบ่อน้ำ แต่จากการสำรวจปัจจุบันเหลือเพียงหอระฆัง วิหาร และบ่อน้ำ

หอระฆัง ตั้งอยู่ในแนวรั้วด้านหน้าวัดหรือทางทิศตะวันออกของวัด ติดกับถนนและคลองชลประทานเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 3 ชั้น ปัจจุบันทาด้วยสีแดง ชั้นล่างเป็นชั้นฐานสูง ก่อทึบทุกด้าน ด้านทิศใต้มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้น 2 ชั้น 2 และชั้น 3 ลักษณะเป็นมณฑป

ที่ชั้น 2 ก่อเป็นห้อง มีช่องประตูทั้ง 4 ด้าน กรอบช่องประตูด้านนนอกปั้นปูนเป็นลวดลายพญานาค ภายในในอดีตคงใช้แขวนระฆัง แต่ปัจจุบันไม่มี ระเบียงของชั้น 2 ก่อเป็นรั้วเตี้ยๆ เจาะช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งตลอดแนว ช่องประตูชั้น 2

ชั้น 3 ก่อเป็นชั้นทึบ เจาะช่องทั้ง 4 ด้าน แต่ตัน ไม่ทะลุถึงกัน เหนือช่องทั้งสี่ก่อเป็นจั่วซ้อนชั้น 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่ทำเป็นเจดีย์ทรงระฆังองค์เล็ก

ชาวบ้านเชื่อกันว่าหอระฆังนี้สร้างขึ้นเมื่อคราวไทยรบพม่า สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้รับการบุรณปฏิสังขรณ์ครั้งหลังสุดเมื่อ 29 มกราคม 2538

วิหารเก่า อยู่ทางทิศตะวันตกของหอระฆัง ลักษณะเป็นซากของฐานวิหารก่ออิฐ ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านกว้างไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก กว้างประมาณ 11 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร (วัดอย่างคร่าวๆ ด้วยการนับก้าว) ด้านทิศตะวันออกมีศาลไม้และป้าย “วิหารเก่า” ด้านทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปปัจจุบันประทับนั่ง (ปางป่าเลไลยก์?) ด้านทิศเหนือมีรูปปั้นพญานาคเล็กๆ 2 ชิ้น กระถางธูป และอ่างน้ำ

รอบฐานวิหารเก่ามีการล้อมรั้วที่ทำจากสายโซ่ มีชิ้นส่วนอิฐและกองดินเล็กๆ อยู่โดยรอบ น่าจะเป็นร่องรอยที่เกิดจากการขุดแต่งวิหารเก่านี้

บ่อน้ำ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารเก่า ผังค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25 เมตร มีรูปปั้นพญานาคยาวล้อมรอบ มีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมและศาลปู่จักรกรดอยู่ทางทิศตะวันออก (ด้านที่ติดกับวิหารเก่า)

นอกเหนือจากโบราณสถานแล้ว ภายในวัดยังมีวิหารที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ่อน้ำ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อโลหะและรูปปั้นหลวงพ่อยอด พระเกจิอาจารย์สำคัญของวัด ฐานพระพุทธรูปมีการจารปีที่ผู้มีจิตศรัทธาถวาย นั่นคือ พ.ศ.2540? และ 2549 ฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกวาดเป็นภาพเจดีย์ประจำปีเกิดของไทย พร้อมทั้งข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ประวัติและคำบูชาพระธาตุ

ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหารกำลังมีการก่อสร้างอุโบสถและหล่อพระประธานคือพระพุทธรูปปางนาคปรก

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 กันยายน 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี