วัดอินทาราม


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดหนองขาว

ที่ตั้ง : เลขที่ 1 ม.1 บ้านหนองขาว ต.หนองขาว (เทศบาลตำบลหนองขาว) อ.ท่าม่วง

ตำบล : หนองขาว

อำเภอ : ท่าม่วง

จังหวัด : กาญจนบุรี

พิกัด DD : 14.054698 N, 99.629382 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดอินทารามตั้งอยู่ภายในตัวตำบลหนองขาว หากเดินทางจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ให้ใช้ถนนอู่ทอง (ทางหลวงหมายเลข 324) มุ่งหน้าตำบลหนองขาว (อำเภอท่าม่วง) ประมาณ 11.5 กิโลเมตร อยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดอินทารามหรือวัดหนองขาวเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชาวตำบลหนองขาวเป็นอย่างมาก โบราณสถานภายในวัดได้นับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลเป็นอย่างดี แม้ว่าจะบางส่วนเริ่มทรุดโทรม

นอกจากประกอบพุทธศาสนกิจต่างๆ แล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของชุมชน มีทั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลหนองขาว (ของวัดอินทาราม) ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ (อยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นของเทศบาลตำบลหนองขาว) หัตถกรรมผ้าทอและกลุ่มมัดย้อม รวมถึงลานวัฒนธรรมที่มีการจัดแสดงละครพื้นบ้านประกอบแสง สี เสียง เรื่อง “ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว” ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2541 สะท้อนให้เห็นถึงการหันมาสนใจการอนุรักษ์วัฒนธรรมอย่างจริงจังของชาวหนองขาว มีการนำเอาการละเล่นพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้านและประเพณีต่างๆ เช่น พิธีทำนา พิธีแห่จุก พิธีเล่นน้ำสงกรานต์ และการร้องเพลงเหย่ย มาแสดงถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังและผู้ชม

ช่วงวันสงกรานต์ของทุกปีชาวบ้านหนองขาวจะจัดงานสมโภชน์ฉลองวัดอินทารามและองค์หลวงปู่โต (พระป่าเลไลยก์) ให้ลูกหลานบ้านหนองขาวและนักท่องเที่ยวได้มานมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี

ผู้สนใจเข้าสักการะหลวงปู่โตรวมทั้งเยี่ยมชมวัดอินทาราม สามารถไปได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 8.00-17.00 น. ภายในวัดป้ายให้ข้อมูลต่างๆ อยู่บริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดอินทาราม 034-586-003

หมายเลขโทรศัพท์พระครูวินัย อินฺทวินโย เจ้าอาวาส 081-011-5233

ส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม แต่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า โดยสามารถติดต่อได้ที่วัด หรือครูพยุง โทร. 089-910-1617 อีเมล payoong_baiyaem@hotmail.co.th หรือคุณดารณี 083-314-9973

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดอินทาราม

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดอินทารามตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง (ทางหลวงหมายเลข 324) ภายในตัวตำบลหนองขาว สภาพโดยทั่วไปเป็นชุมชนเมือง ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ติดกับถนนอู่ทอง ถัดออกไปเป็นชุมชน บ้านเรือนราษฎรหนาแน่น ด้านทิศเหนือติดกับชุมชน ด้านทิศใต้ติดกับโรงเรียนวัดอินทาราม “โกวิทอินทราทร” ส่วนทิศตะวันตกติดกับคลองชลประทาน ถัดออกไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ส่วนลักษณะพื้นที่ตัวตำบลหนองขาวเป็นเนินดินในที่ราบลุ่มแม่น้ำ รอบเนินมีร่องรอยลำน้ำสายเล็กๆ หลายสาย ปัจจุบันมีคลองชลประทานไหลผ่านตัวชุมชน (อาจขุดขึ้นตามเส้นทางลำน้ำเก่า คลองชลประทานนี้เชื่อมระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับอ่างเก็บน้ำที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ใกล้กับวนอุทยานพุม่วง) วัดตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำแม่กลองมาทางทิศเหนือประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากเจดีย์วัดรางจั่น (ร้าง) มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 650 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

28 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำแม่กลอง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ตามข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า วัดอินทรารามเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2320 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2520

วัดอินทารามหรือวัดหนองขาวเป็นที่มีความสำคัญต่อตำบลหนองขาวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัดขนาดใหญ่ประจำตำบล หลักฐานโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ภายในวัดอาจเก่าแก่ไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย อย่างไรก็ตาม โบราณสถานวัดอินทารามยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

ส่วนประวัติการตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองขาวคือ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเส้นทางเดินทัพ ในขณะนั้นตำบลหนองขาวประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านดงรัง (มีวัดประจำหมู่บ้านคือวัดส้มใหญ่หรือวัดใหญ่ดงรัง) และหมู่บ้านดอนกระเดื่อง (มีวัดโบสถ์เป็นวัดประจำหมู่บ้าน)

การศึกกับพม่าในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านได้รวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกอย่างกล้าหาญ แต่ไม่สามารถสู้ได้ (ปัจจุบันยังมีร่องรอยคูรบอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศใต้ราว 1 กิโลเมตร เรียกว่า “ทุ่งคู”) หมู่บ้านถูกทำลายเสียหายเหลือเพียงซากวัดและเจดีย์ หลังสงครามยุติชาวบ้านได้พากันหลบหนีมารวมตัวกันที่บริเวณหนองน้ำใหญ่ ตั้งเป็นหมู่บ้าน “บ้านหนองหญ้าดอกขาว”

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จยังบ้านหนองหญ้าขาว เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านไปยังกาญจนบุรี เช่น รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมาเมืองกาญจน์และผ่านหนองขาวดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงค์ กล่าวว่า รุ่งขึ้นวันศุกร์ แรม 14 ค่ำ เสด็จจากพลับพลาเมืองกาญจน์ถึงพลับพลาบ้านหนองขาว ประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี และได้ทรงพระราชนิพนธ์ในกลอนไดอารี่ซึมซาบตอนหนึ่งว่า

“ราษฎรพากันดาษดื่นเห็นแต่นั่งหน้าพลับพลากว่าห้าร้อย มีเขียนโต๊ะ ขันหมาก ขันพานบ้านนอก ข้าวหลามสี่ห้ากระบอก ขนมไหม้ จัดตามมีตามจนกันคนละเล็กละน้อยมานั่งคอยถวายล้อมอยู่พร้อมเพรียง ทรงปราศรัยไปทุกหน้าที่มานั้นก็ทูลกันสนองออกซ้องเสียง ฟังเหน่อหน่าตามประสาแปร่งสำเนียง บางขึ้นเสียงทานขัดคอกัน”

วัดอินทารามเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันพระครูสังฆรักษ์วินัย อินฺทวินโย เป็นเจ้าอาวาส

รายนามอดีตเจ้าอาวาส

1. พระอธิการกลม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2310-2325

2. พระอธิการเถื่อน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2325-2347

3. พระอธิการภู่ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2347-2397

4. พระอธิการชุบ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2397-2422

5. พระอธิการหมอน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2422-2431

6. พระอธิการเอี้ยง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2431-2436

7. พระอธิการพัด ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2436-2440

8. พระอธิการชุ่ม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2440-2444

9. พระครูวัตตสารโสภณ (หลวงพ่อดอกไม้ ปทุมรัตโน) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2444-2447 ภายหลังไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว สมัยท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ได้ รวมทั้งบูรณะเจดีย์

10. พระครูจริยาภิรัต (หลวงพ่อยันต์) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2447-2467

11. พระครูโกวิทสุตคุณ (หลวงพ่อพยอม โกวิทโท) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2467-2526

12. พระครูปลัดแน่น ปุสฺโส ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2526-2528 เป็นพระเจกิสร้างวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงมาก คือ ลูกอม

13. พระครูอินทคุณากร (หลวงพ่อฮับ เซี่ยงฉี่) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2528-2533

14. พระครูสมุธเนศ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2533-2535

14. พระครูกาญจนวิธาน (หลวงพ่อจอก สุชาโต) ระหว่าง พ.ศ.2535-2537 ภายหลังได้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดด่านมะขามเตี้ยและเจ้าคณะอำเภอด่านมะขามเตี้ย

15. พระครูถาวรกาญจนนิมิต (หลวงพ่อจีรศักดิ์ ถาวโร) ระหว่าง พ.ศ.2537-2553

16. พระครูสังฆรักษ์วินัย อินฺทวินโย พ.ศ.2553-ปัจจุบัน

สถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่

พระปรางค์ ตั้งอยู่ด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) ของอุโบสถ และด้านหลัง (ด้านทิศตะวันตก) ของวิหารพระป่าเลไลยก์ เป็นพระปรางค์ทรงไทย ก่ออิฐฉาบปูน ปัจจุบันทาสีขาว ฐานเป็นฐานเขียง 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นสู่ฐานเขียงชั้นที่ 2 ที่ด้านทิศเหนือและใต้ เหนือขึ้นเป็นชุดฐานปัทม์ (ฐานบัว 4 ชั้น) เรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ทิศ กรอบซุ้มปั้นปูนเป็นลวดลายพญานาค ถัดขึ้นเป็นชั้นอัสดง ยอดปรางค์ (ชั้นวิมานซ้อนกัน 7 ชั้น) เหนือสุดเป็นรูปบัวคลุ่มที่เป็นทรงโดมสูงและนภศูลโลหะ ความสูงจากพื้นถึงยอดประมาณ 20 เมตร จากลักษณะศิลปกรรมอาจกำหนดอายุปรางค์องค์นี้ได้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

วิหารพระป่าเลไลยก์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ สันนิษฐานว่าอาจปฏิสังขรณ์ขึ้นมาจากซากวิหารเดิม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางป่าเลไลยก์ ที่ชาวบ้านหนองขาวเรียกกันว่า “หลวงปู่โต” สร้างด้วยปูนปั้นแบบโบราณเป็นแกนไม้รวก หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 7.5 เมตร เป็นที่เคารพสักการะและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านหนองขาว ชาวบ้านเชื่อว่าหากกราบไหว้ขอพรหลวงปู่โตแล้ว สิ่งที่ขอจะสำเร็จไปได้ด้วยดี

รอบวิหารประดิษฐานรูปปั้นอดีตเจ้าอาวาสวัดอินทาราม เบื้องซ้าย-ขวาด้านหน้าวิหารมีหอระฆังก่ออิฐถือปูนอยู่ด้านละ 1 หอ ลักษณะเป็นอาคารมณฑปขนาดเล็ก ด้านล่างมีช่องประตูทั้ง 4 ทิศ ส่วนบนทำเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารพระป่าเลไลยก์ ข้างประตูทางเข้าวัด เป็นอาคารตึกก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ปัจจุบันทาสีเหลือง หลังคาจั่วเตี้ยๆ มุงกระเบื้องลอน หันหน้าไปทางทิศเหนือออกสู่ถนนภายในวัด เดิมเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนวัดอินทาราม “โกวิทอินทราทร” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2478

หลังจาก พ.ศ.2541 ทางวัด โรงเรียน และท้องถิ่นได้ร่วมกันใช้อาคารเรียนดังกล่าวที่ไม่ใช้งานแล้ว จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาวขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องราวท้องถิ่นบ้านหนองขาวและจัดแสดงวัตถุที่ชุมชมรวบรวมขึ้น นำเสนอเป็นหมวดหมู่ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชาวหนองขาว

เจดีย์ จำนวน 3 องค์ อยู่ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถ 2 องค์ (ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 1 องค์ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ 1 องค์) และด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของวิหารพระป่าเลไลย์ 1 องค์ (หรือทางทิศตะวันออกของพระปรางค์) ทั้งหมดเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก สี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสิงห์ เจดีย์องค์ด้านหลังวิหารพระป่าเลไลย์และองค์เบื้องขวาของอุโบสถมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม จากรูปแบบศิลปกรรมสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์

อาคารสำคัญอื่นๆ ศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2495 ภายในประดิษฐานจ้าวพ่อเขาเอื้อย (ขณะสำรวจกำลังมีการบูรณะใหญ่) และหมู่กุฏิก่ออิฐฉาบปูน ที่น่าจะสร้างขึ้นรุ่นราวคราวเดียวกับศาลาการเปรียญ และได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.252-?

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 กันยายน 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี