โพสต์เมื่อ 24 เม.ย. 2021
ที่ตั้ง : ทางหลวงชนบท 3036 บ้านแสรออ
ตำบล : ปราสาททอง
อำเภอ : เขวาสินรินทร์
จังหวัด : สุรินทร์
พิกัด DD : 14.996451 N, 103.628615 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองละหาน
จากตัวอำเภอเขวาสินรินทร์ บริเวณที่ว่าการอำเภอเขวาสินรินทร์ ใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 3036 มุ่งหน้าตะวันออก หรือมุ่งหน้าตำบลปราสาททอง และตำบลตากูก เดินทางไปประมาณประมาณ 3.7 กิโลเมตร จะพบวัดปราสาททองอยู่ทางซ้ายมือ โบราณสถานตั้งอยู่ภายในวัด
โบราณสถานปราสาททอง ตั้งอยู่ภายในวัดปราสาททอง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 6.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม
ในช่วงสงกรานต์ คือวันที่ 13-14 เมษายน ของทุกปี ทางท้องถิ่นจะร่วมกันจัดงานแสงสีเสียงฉลององค์ปราสาททอง
วัดปราสาททอง, กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3713 วันที่ 8 มีนาคม 2478
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง ชุมชนโบราณที่สร้างโบราณสถานตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่เนินหนึ่ง ส่วนโบราณสถานปราสาททองตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศเหนือของชุมชนโบราณแห่งนี้ ปัจจุบันโบราณสถานปราสาททองเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่บนเนินดินสูงภายในวัดปราสาททอง
สภาพโบราณสถานค่อนข้างชำรุดเสียหายตามกาลเวลา มีเหล็กค้ำยันองค์ปราสาทไว้ ปัจจุบันยังคงมีการใช้งาน ชาวบ้านให้ความเคารพสักการะ และมีการจัดงานแสงสีเสียงบริเวณปราสาททุกปีในช่วงวันสงกรานต์
แม่น้ำมูล, คลองละหาน
หินทรายในหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส (กรมทรัพยากรธรณี 2553)
ปราสาททอง ตั้งอยู่ภายในชุมชนโบราณ ปัจจุบันโบราณสถานปราสาททองมีลักษณะเป็นปราสาทขอมองค์เดียว ก่ออิฐถือปูน มีความสูงจากพื้นดินปัจจุบันประมาณ 8 เมตร ปราสาทตั้งอยู่บนฐานก่อเป็นเขื่อนอิฐถมดิน แผนผังปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 3.2 เมตร ย่อมุม ลักษณะทึบตัน ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่าผนังส่วนห้องอาคารหรือเรือนธาตุด้านนอกทำเป็นประตูหลอกทั้งสี่ด้าน แต่ปัจจุบันประตูด้านทิศใต้และตะวันตกถูกเจาะเป็นช่องประตูจนเห็นแกนอาคารด้านใน และที่ประตูด้านทิศใต้ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานบนแท่นฐาน กรอบประตูต่างๆ ของปราสาท ตกแต่งด้วยลายกนกปูนปั้น ส่วนบนของปราสาทที่ถัดจากเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นซ้อน 3 ชั้น ประดับปูนปั้น
จากรูปแบบศิลปกรรมและอายุสมัย สันนิษฐานว่า ปราสาททองหลังนี้ สร้างโดยชาวเขมรอพยพในสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เรื่องเล่าท้องถิ่น
- คำว่า แสรออ มาจากภาษาเขมรว่า นางงาม ส่วนที่ปราสาทหลังนี้ชาวบ้านเรียกปราสาททอง เพราะมีเรื่องเล่ากันสืบต่อมาว่า เดิมบนยอดปราสาทมีทองอยู่
- ประวัติและตำนานพื้นบ้านที่เกี่ยวกับปราสาทแสรออ มีการเล่าแตกต่างกัน ได้แก่ พรานหมู่บ้านส่วยไปพบกวางสีทองใกล้หมู่บ้าน จึงพาพวกมาล้อมจับ แต่กวางก็หลบหนีไปได้ ชาวบ้านส่วยจึงพากันตามรอยกวางไปทันที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เป็นเวลาพระฉันเพล พรานส่วยกับพวกจึงล้อมไว้และได้ใช้มีดฟันถูกขาซ้าย แต่ก็ไม่สามารถจับกวางตัวนั้นได้ กวางหนีผ่านปราสาทแสรออ ถึงหมู่บ้านหนึ่งแล้วหายไปในป่าบริเวณปราสาท พรานส่วยกับพวกพากันค้นหา ก็ไปพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีสีทองเหลืองอร่ามอยู่ในปราสาท ด้วยความกลัว พรานส่วยกับพวกจึงพากันหนีกลับ เพราะเชื่อว่ากวางตัวนั้นก็คือพระพุทธรูปจำแลงกายเป็นกวางไปเที่ยวป่าหมู่บ้านที่พรานส่วยกับพวกพบเห็นและล้อมจับเป็นครั้งแรก ได้ชื่อว่า บ้าน จอมพระ บ้านที่พรานส่วยกับพวกตามรอยกวางไปถึงตอนพระฉันเพล ได้ชื่อว่า บ้านฉันเพล และหมู่บ้านที่พรานส่วยกับพวกไปพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ได้ชื่อว่าบ้านพระปืด
- ชาวบ้านท้องถิ่นเชื่อว่าปราสาททองสร้างไว้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ของคนในสมัยโบราณ อีกด้านหนึ่งคือ เชื่อว่าปราสาททองเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นโดยเชื้อพระวงศ์ชาวเขมร ที่อพยพมาจากเขมร ได้มาสร้างเอาไว้ และได้ฝังทรัพย์สมบัติไว้เป็นจำนวนมากใต้ฐานปราสาท ซึ่งสังเกตจากเนินดินใต้ฐานปราสาท และมีความเชื่ออีกว่า ในปราสาทมีงูใหญ่คอยปกปักษ์รักษาทรัพย์สมบัติเอาไว้ โดยไม่มีใครสามารถมองเห็นสมบัติได้
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2553.