กระทรวงพาณิชย์ (เดิม)


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, มิวเซียมสยาม

ที่ตั้ง : เลขที่ 4 ถ.สนามไชย

ตำบล : พระบรมมหาราชวัง

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.744167 N, 100.494136 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูเมืองเดิม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) หรือปัจจุบันคือ มิวเซียมสยาม ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช บริเวณสถานีสนามไชย (รถไฟฟ้ามหานคร) ใกล้กับปากคลองตลาด อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนวัดราชบพิธ โรงเรียนราชินี และอยู่ด้านหลังวัดพระเชตุพนฯ

หากเดินทางโดยรถส่วนตัว สามารถจอดได้ที่ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค (บริเวณปากคลองตลาด) โดยเสียค่าใช้จ่ายในการจอด 40 บาทสำหรับ 4 ชั่วโมงแรก ชั่วโมงถัดไป ชั่วโมงละ 40 บาท

รถเมล์: สาย 3, 6, 9, 12, 32, 44, 47, 53, 82, 524

รถไฟฟ้า: รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสอง-พุทธมณฑล สาย 4) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสนามไชย

เรือด่วนเจ้าพระยา: ลงท่าราชินี หรือท่าเตียน แล้วเดินเท้าต่อไปยังมิวเซียมสยาม

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่น่ารื่นรมย์ และช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยเกี่ยวกับการสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก รวมถึงการสร้าง “แนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่” ของพิพิธภัณฑ์ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่และกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการถาวร นิทรรศการหมุนเวียน และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

มิวเซียมสยาม เปิดให้บริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดให้บริการทุกวันจันทร์) 10.00 - 18.00 น. สามารถเข้าภายนอกอาคารโดยไม่เสียค่าเข้าชม  แต่หากต้องการเข้าภายในอาคารและการจัดแสดงของมิวเซียม มีอัตราค่าเข้าชมดังนี้

บุคคลทั่วไป

นักเรียน นักศึกษา (อายุ 15 ปีขึ้นไป) 50 บาท

ผู้ใหญ่คนไทย 100 บาท

ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 100 บาท

หมู่คณะ 5 คนขึ้นไป

นักเรียน นักศึกษา (อายุ 15 ปีขึ้นไป) 25 บาท

ผู้ใหญ่คนไทย 50 บาท

ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 50 บาท ก

การเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณา ติดต่อ 02 225 2777 ต่อ 411 ในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น.

เข้าชมฟรี

เยาวชนไทยและเยาวชนต่างชาติ อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุสงฆ์ นักบวช ผู้พิการและทุพพลภาพ มัคคุเทศก์ (แสดงบัตรประจำตัวที่ออกโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

การติดต่อ

โทรศัพท์ : 02 225 2777 โทรสาร : 02 225 2775

อีเมล: webmaster@ndmi.or.th

เว็บไซต์: https://www.museumsiam.org/

Facebook: https://www.facebook.com/museumsiamfan/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม  122 ตอนพิเศษ 126ง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2548

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) หรือปัจจุบันคือ มิวเซียมสยาม ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช บริเวณสถานีสนามไชย (รถไฟฟ้ามหานคร) เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชน ตัวอาคารกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นอาคารโบราณสถาน ได้รับการอนุรักษ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดี ปัจจุบันเป็นสถานที่ทำการและสถานที่จัดนิทรรศการการเรียนรู้

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการขุดค้นและขุดตรวจทางโบราณคดี บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสนามไชย วัตถุประสงค์ 1.เพื่อตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดี อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างเดิม และเก็บข้อมูล โดยละเอียด 2.เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ แปลความด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีของพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง 3.เพื่อนำผลการวิเคราะห์ทางโบราณคดีมาประกอบการดำเนินการก่อสร้างสถานีสนามไชย ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค ข.พื้นที่ตั้งโครงการบริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานสนามไชย ยาวประมาณ 300 เมตร หลุดขุดตรวจทางโบราณคดี จำนวย 102 หลุม

ชื่อผู้ศึกษา : ภาควิโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549, พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติแห่งที่ 1 ขึ้นบริเวณภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ถนนสนามไชยและทางสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติได้มอบหมายให้ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการโครงการศึกษาขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ถนนสนามไชย พบร่องรอยโบราณสถานทีเ่ป็นวังเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 5 โบราณสถานสมัยอยุธยา (อาจเป็นส่วนหนึ่งของป้อมวิไชยเยนทร์) และโบราณวัตถุประเภทต่างๆ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจข้อมูลโบราณสถานกระทรวงพาณิชย์

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

8 พฤษภาคม - 21 กันยายน 2543 วัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาผลกระทบทางโบราณคดี เนื่องจากการขุดเปิดหน้าดินในกิจกรรมก่อสร้าง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้ง 3 แห่ง คือ สถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา และสถานีพระราชวัง 2.เพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวเนื่องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่อาจพึ่งมีในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า 3 แห่ง 3.เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขผลกระทบทางด้านโบราณคดีที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรม ข.ขอบเขตของงาน 1.ทำการศึกษาและทบทวนข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในบริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างสถานีทั้ง 3 แห่ง คือ สถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา และสถานีพระราชวัง 2.ทำการขุดเจาะสำรวจในพื้นที่สถานีทุกระยะ 12 เมตร มีความลึก 4 เมตร โดยแสดงผลการขุดเจาะในลักษณะคอลัมน์ดิน 3.ทำการวิเคราะห์ผลของการขุดเจาะสำรวจ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างสถานีทั้ง 3 แห่ง 4.เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น 5.ทำการประเมินราคาค่าใช้จ่ายและขอบข่ายงานที่จะต้องดำเนินการในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องศึกษาในรายละเอียดหรือศึกษาในลักษณะอื่นเพิ่มเติม ขั้นตอนและวิธีการ 1.ศึกษาและทบทวนข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในบริเวณพื้นที่จะก่อสร้างสถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา และสถานีพระราชวัง โดยศึกษาทบทวนจากเอกสารที่ได้มีผู้ศึกษาไว้แล้ว 2.ดำเนินการสำรวจภาคสนามด้านโบราณคดีเบื้องต้น ในพื้นที่จริงเพื่อบันทึกสภาพปัจจุบันของบริเวณโครงการ และสถานที่สำคัญในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี 3.ทำการสำรวจธรณฟิสิกส์ด้วยวิธีหยั่งลึกด้วยสัญญาณเรดาร์ (GPR) ในบริเวณพื้นที่สถานีเพื่อตรวจสอบตำแหน่งสาธารณูปโภค รวมทั้งหลักฐานใต้ดินทั้งบริเวณ โดยความเห็นชอบของสำนักโบราณคดีฯ 4.นำผลการตรวจวัดด้วยเครื่อง GPR ที่มีการแปลความแล้ว ประกอบกับข้อมูลรายงานการสำรวจด้านโบราณคดีเบื้องต้น และข้อมูลจากเอกสาร มาพิจารณากำหนดตำแหน่งหลุเจาะ โดยความเห็นชอบจากสำนักโบราณคดีฯ 5.ดำเนินการหมายสีตำแหน่งหลุมเจาะบนผิวจราจร และบาทวิถี ของถนนพระสุเมรุ(สถานีผ่านฟ้า) ถนนมหาไชย และถนนเจริญกรุง (สถานีวังบูรพา) ถนนสนามไชย (สถานีพระราชวัง) 6.หน่วยงานสาธารณูปโภค ที่มีแนวสาธารณูปโภคอยู่ภายใต้พื้นผิวถนน ร่วมสำรวจพื้นที่โครงการ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของตำแหน่งหลุมเจาะในแง่ของความปลอดภัยจากความเสี่ยงอันตราย และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบธารณูปโภค 7.ปรับตำแหน่งหลุมเจาะ เสนอขอรับความเห็นชอบจากสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 8.หลังจากได้รับอนุญาตขุดเจาะถนนจากกรุงเทพมหานครแล้ว จึ่งเริ่มดำเนินการขุดเจาะสำรวจเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามจุดที่กำหนดไว้ ด้วยเครื่องจักรขุดเจาะแบบ Rotary Drillinh Rig ซึ่งควบคุมโดยระบบไฮดรอลิค โดยระหว่างการดำเนินการมีนักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีควบคุมอย่างใกล้ชิด 9.เมื่อเก็บตัวอย่างคอลัมน์ดิน ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ทำการกลบหลุมขุดเจาะให้มีสภาพเรียบร้อยดังเดิม 10.วิเคราะห์ตัวอย่างดินในแง่ปฐพีวิทยาและโบราณคดี 11.สรุปผลการขุดเจาะสำรวจและวิเคราะห์ด้านโบราณคดี 12.จัดทำรายการผลการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ศึกษาและตรวจสอบข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ศิลปกรรมและวัฒนธรรม บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกองโบราณคดีดำเนินการสำรวจโบราณสถานและอาคารเก่าในเขตรัตนโกสินทร์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ป้อมค่าย, พระราชวัง/วัง, สถานที่ราชการ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พื้นที่กระทรวงพาณิชย์เดิม ปัจจุบันคือสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม เดิมเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาที่ต่างกันตามลำดับดังนี้

1. การใช้พื้นที่ภายในกระทรวงพาณิชย์ก่อนรัชกาลที่ 3 (ก่อน พ.ศ. 2367)

ประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ก่อนรัชกาลที่ 3 นั้น สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในสมัยอยุธยา อาจจะการใช้พื้นที่ในการทำเกษตร เรือกสวนไร่นา หรือเป็นที่โล่งว่าง จวบจนกระทั่งในสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างชาวฝรั่งเศสสร้างป้อมปราการขึ้น 2 แห่ง ที่เมืองบางกอกขนาบอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีชื่อเรียกรวมกันว่า “ป้อมบางกอก” “ป้อมเมืองธนบุรี” หรือ “ป้อมวิไชยเยนทร์” ในกาลนั้นทรงให้ออกญาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์) ควบคุมการสร้างป้อมฝั่งด้านตะวันตก(ฝั่งธนบุรี)และป้อมฝั่งด้านตะวันออก(ฝั่งพระนครหรือบริเวณโรงเรียนราชินี และพื้นบริเวณกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน) โดยบริเวณระหว่างป้อมทั้ง 2 ฝั่งจะมีโซ่ใหญ่ขึงขวางลำแม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบเสมือนเป็น “ด่าน” ตรวจคนเข้าออกเมือง และป้องกันภัยก่อนจะเข้าสู่เมืองอยุธยาได้

บริเวณป้อมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกนั้น สันนิษฐานว่ามีพื้นที่ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนราชินี ถนนสนามไชย และพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) จากแผนที่โบราณที่มองซิเออร์วอลลันด์ เดส์เวอร์เกนส์ นายทหารฝรั่งเศสที่รักษาป้อมทำไว้ ในสมัยพระเพทราชา เมื่อพ.ศ. 2231 พบว่า ป้อมบางกอกนี้มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบขนาดป้อมที่อยู่ฝั่งธนบุรี ป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกมีลักษณะผังแฉก 5 แฉก ทางด้านหน้าที่ติดริมน้ำมีมุขยื่นออกมา ภายในป้อมนี้มีอาคารภายในประกอบไปด้วยโรงทหารฝรั่งเศส โรงเก็บเสบียง โรงสวด ตึกดิน นอกจากนั้นในแผนที่โบราณแสดงให้เห็นว่าบริเวณโดยรอบมีบรรดาค่ายไทยที่ตั้งล้อมฝรั่งเศสในป้อมบางกอกนี้ โดยค่ายไทยนั้นแผ่บริเวณกว้างเกือบถึงวัดราชบูรณะเลยทีเดียว และนอกจากนั้นบริเวณโดยรอบสันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นสวน ไร่นา หรือเป็นที่เป็นป่าโดยรอบ เนื่องจากในแผนที่โบราณฉบับนี้ได้วาดไว้เป็นรูปแนวต้นไม้ทั่วบริเวณ

ภายหลังจากจบศึกษาในคราวนั้น ทหารฝรั่งเศสพ่ายในการศึก สันนิษฐานว่าป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกในคราวนั้นคงจะเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการทำศึกในคราวนั้น ครั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ.2325 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงโปรดฯให้รื้อซากป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกลงเสีย เพื่อขยายพระนครให้กว้างขวางยิ่งขึ้นบริเวณพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ก่อนรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367) นั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีสภาพพื้นที่เช่นไร ทราบแต่เพียงว่า บริเวณโดยรอบพื้นที่นั้นมีการตัดถนน ได้แก่ ถนนจักรวรรดิวังหน้า หรือถนนสนามไชยในปัจจุบัน ถนนจักรวรรดิวังหน้านี้ตัดผ่านทางด้านหน้าของพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) สันนิษฐานว่าพื้นที่ก่อนรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367) เป็นพื้นที่โล่ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดเป็นพิเศษจึงไม่มีการบันทึกไว้ บริเวณใกล้เคียงกันนั้นได้สร้างกำแพงเมืองและป้อมมหาฤกษ์ สันนิษฐานจากแผนผังเก่าว่าตำแหน่งที่ตั้งของป้อมมหาฤกษ์ได้สร้างไว้บริเวณถนนมหาราชและพื้นที่บางส่วนของริมทางเท้าหน้าโรงเรียนราชินีและบางส่วนภายในโรงเรียนราชินี

2. การใช้พื้นที่ภายในกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัชกาลที่ 3-5 (พ.ศ. 2367-2453)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวังจำนวน 5 วังด้วยกันบริเวณท้ายวัดพระเชตุพนฯ หรือบริเวณพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) และสน.พระราชวังในปัจจุบัน ซึ่งในประชุมพงศาวดารภาคที่ 26 ตำนานวังเก่า (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2513) ได้กล่าวถึงการสร้างวังเพื่อพระราชทานพระเจ้าลูกเธอที่ออกวังในคราวแรกนั้นด้วยกัน 6 พระองค์ได้ แก่ สมเด็จฯ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ กรมหมื่นเชษฐาธิเบน กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ พระองค์เจ้างอนรถ กรมหมื่นภูมินทร์พักดี โดยทั้ง 5 พระองค์นี้สร้างวังใหม่ทั้งหมด มีเพียง พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ได้รับพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน ริมประตูท่าพระ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เสด็จประทับ

วังต่างๆทั้งสร้างเพื่อพระราชทานแก่พระราชโอรสทั้ง 5 พระองค์นั้น ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) อยู่บริเวณทางตอนล่างของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส (นามเดิมในสมัยรัชกาลที่ 3 นามในปัจจุบันคือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นชื่อที่รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามใหม่) วังต่างๆทั้ง 5 วังนั้นเมื่อรวมกับชุมชนรอบๆแล้วทำให้เกิด กลุ่มวังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งนับได้ว่าเป็นชุมนุมข้าราชการที่มีเจ้านาย ขุนนาง และไพร่สมอยู่รวมกันเป็นจำนวนหนึ่ง และยังมีราษฎรค้าขายเป็นบริเวณกว้างต่อเนื่องกันไปอีกด้วย (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ม.ร.ว. 2534 : 84) วังต่างๆที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อพระราชทานให้กับพระเจ้าลูกเธอในคราวนั้น 5 วัง ที่รวมเรียกว่า วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ และเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของวังนั้นอยู่บริเวณทางตอนใต้ของวัดพระเชตุพนฯ จึงเรียกวังทั้งห้าว่า วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ในกาลต่อมา วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ประกอบไปด้วยวังต่างๆ 5 วัง ดังต่อไปนี้

     (1) วังท้ายวัดพระเชตุพนฯวังที่ 1 เป็นวังที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ หันหน้าสู่ถนนสนามไชย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้สร้างพระราชทานพระราชโอรสของพระองค์ คือ กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์พระองค์เสด็จประทับที่วังนี้จนสิ้นพระชนม์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงแล้ววังท้ายวัดพระเชตุพนฯ วังที่ 1 จึงเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าในกรมสืบมาจนถึงรัชกาลที่ 5 วังนี้จึงว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานวังที่ว่างอยู่นี้ให้แก่กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช และโปรดฯให้สร้างตำหนักใหม่พระราชทานในคราวนั้นด้วย กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชเสด็จประทับที่วังนี้จนถึงรัชกาลที่ 6 จึงย้ายวังไปสร้างใหม่บริเวณริมแม่น้ำที่ถนนพระอาทิตย์แทน พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่วังพระอาทิตย์จนสิ้นพระชนม์ ส่วนวังท้ายวัดพระเชตุพนฯนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดฯให้ซื้อที่ทั้งหมดของวังเพื่อสร้างเป็นสถานที่ราชการต่อไป

     (2) วังท้ายวัดพระเชตุพนฯวังที่ 2 วังนี้ตั้งอยู่ทางด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของวังท้ายวัดพระเชตุพนฯ วังที่ 1 หันหน้าวังสู่ถนนมหาราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้สร้างพระราชทานกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ พระราชโอรส ครั้นต่อมาโปรดฯให้กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ เสด็จไปประทับที่วังอื่น และพระราชทานวังนี้แก่พระองค์เจ้าลำยอง พระองค์เสด็จประทับต่อมาจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 วังนี้จึงว่างอยู่นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงเห็นว่าวังนี้ยังว่างอยู่ จึงโปรดฯ พระราชทานให้แก่ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 หากแต่กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ยังคงประทับอยู่ที่วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช (วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ วังที่ 1) ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระเชษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน จึงไม่ได้สร้างพระตำหนักใหม่ที่วังที่ 2 นี้ ภายหลั กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติทรงซื้อที่ส่วนพระองค์และสร้างวังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลสามเสนทางตอนเหนือของวัดส้มเกลี้ยง พระองค์ประทับที่วังนี้ตลอดพระชนมายุ ส่วนวังเดิมคือ วังท้ายวัดพระเชตุพน วังที่ 2 น่าจะถูกทิ้งร้างไปจนถึงรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ. 2458 วังนี้จึงถูกรื้อทำเป็นสถานที่ราชการ

     (3) วังท้ายวัดพระเชตุพนฯวังที่ 3 วังนี้หันหน้าวังออกถนนสนามไชย อยู่ทางทิศใต้ของวันที่ 1 หรือเป็นวังกลางอยู่ระหว่างวังที่ 1 กับวังที่ 5 หันหน้าวังสู่ถนนสนามไชย รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานพระองค์เจ้างอนรถ พระราชโอรส พระองค์ เสด็จประทับจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2393 รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานพระองค์เจ้าเปียก พระองค์เสด็จประทับอยู่ 5 ปี จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2398 ซึ่งตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 4 และไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานวังนี้แก่ใคร ภายหลังจากนั้นซึ่งไม่ต่ำกว่า 15 ปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างวัดราชบพิตร ซึ่งบริเวณพนื้ ที่จะสร้างวัดราชบพิตรจะตอ้ งลํ้าเข้าไปในที่ของวังสะพานถ่านที่ประทับของกรมหลวงดินทรไพศาลโสภณ พระองค์จึงโปรดให้กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณย้ายมาประทับอยู่ที่วังนี้ พระองค์เสด็จประทับต่อมาจนสิ้นพระชนม์ ในปีพ.ศ. 2446 เมื่อกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณสิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้บุคคลที่มียศศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าที่ในกรมเสด็จประทับต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6 จนภายหลังพ.ศ. 2458 บริเวณวังนี้จึงถูกเปลี่ยนแปลงเป็นสถานที่ราชการ

     เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงกำลังปฏิสังขรณ์วัดราชาธิราช ทรงมีพระราชดำริเห็นว่าท้องพระโรงของกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ เป็นพระโรงที่มีความงดงามที่เจ้าของวังก็เสียชีวิตแล้ว ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปปลูกไว้เป็นหอสวดมนต์ ที่วัดราชาธิวาส (จารุณี อินเฉิดฉาย 2546)

     (4) วังท้ายพระเชตุพนฯวังที่ 4 วังนี้เป็นที่อยู่ถัดจากวังที่ 2 มาทางทิศใต้ หรืออยู่ตรงกลางระหว่างที่ 2 กับวังที่ 5 หันหน้าออกถนนมหาราช สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อพระราชทานให้กรมหมื่นภูมินทร์ภักดีพระองค์เสด็จประทับจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2417 ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จากนั้นหม่อมเจ้าในกรมประทับต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6 หลังจากนั้นบริเวณพื้นที่ของวังนี้จึงถูกรื้อสร้างเป็นสถานที่สำหรับราชการ

     (5) วังท้ายวัดพระเชตุพนวังที่ 5 อยู่ทางใต้ของวังที่ 3 และวังที่ 4 ขอบเขตของวังท้ายวัดพระเชตุพนฯ วังที่ 5 นี้ จดถนนสนามไชยด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งจดถนนมหาราช อีกทางด้านหนึ่งจดทางสามแพร่งที่สองถนนนั้นรวมกัน ชาวจีนต่างพากันเรียกวังนี้ว่า “ซากั๊กวัง ” หมายถึง วังที่ทางสามแพร่ง ปัจจุบันวังนี้ถูกรื้อถอนและสร้างเป็นสถานที่ตำรวจนครบาลพระราชวังขึ้นแทนที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเข้าใจว่า เดิมสร้างพระราชทานสมเด็จฯกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ครั้นต่อมาทำนองจะทรงพระราชดำริเห็นว่าคับแคบนัก จึงสร้างวังพระราชทานใหม่ที่ริมแม่น้ำเหนือปากคลองตลาด วังดังกล่าวนั้นปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนราชินี ส่วนวังท้ายวัดพระเชตุพนฯ วังที่ 5 นี้ โปรดฯพระราชทานให้เป็นที่ประทับของกรมหมื่นอุดมรัตนรังสี ต่อมาเมื่อสมเด็จฯกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 วังริมแม่น้ำเหนือปากคลองตลาดนั้นจึงเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าในกรมต่อมา ครั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์พระราชทานวังสมเด็จฯกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ที่ริมแม่น้ำเหนือปากคลองตลาดแก่กรมหมื่นอุดมรัตนรังสี และโปรดฯ ให้พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ กับหม่อมเจ้าองค์อื่นในสมเด็จฯกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ย้ายมาประทับที่วังท้ายวัดพระเชตุพนวังที่ 5 แทน และเมื่อพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศสิ้นพระชนม์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉาดเฉิด ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นนฤบาล มุขมาตย์ในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประทับต่อมาจนสิ้นพระชนม์ และกลายเป็นที่ของเชื้อสายของพระองค์ต่อมา จนสร้างเป็นสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังขึ้นแทนที่ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2513)

3. การใช้พื้นที่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าเกล้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจและการพาณิชย์อย่างมาก จึงทรงต้องการให้มีการจัดตั้งกระทรวงพาณิชย์นั้นเริ่มมาจากรัชกาลที่ 6 ได้ทรงเห็นความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจและการพาณิชย์อย่างมาก จึงทรงต้องการให้มีการจัดตั้งการพาณิชย์ให้เป็นระบบบริหารที่เป็นรูปธรรม มีอำนาจในเรื่องการบริหารเรื่องการค้าขายอย่างทั่วถึงเป็นสากล และต่อยอดจากการพัฒนาประเทศในการปฏิรูปราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 (กระทรวงพาณิชย์ 2525)

แต่ในระยะเริ่มแรกนั้นที่ตั้งของอาคารกระทรวงพาณิชย์มิได้อยู่ในบริเวณวังท้ายวัดพระเชตุพนฯ เนื่องด้วยกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่ตั้งใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และยังไม่มีสถานที่ราชการเป็นของตน ในระยะแรกจึงใช้หอรัษฎากรพิพัฒน์ (กระทรวงพาณิชย์ 2525) ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นที่ทำการชั่วคราว แล้วจึงได้สร้างอาคารที่ทำการกระทรวงเป็นหลักแหล่ง ในพื้นที่ว่างอันเป็นที่ตั้งของวังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ และวังกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ มีถนน 3 สายโดยรอบ ได้แก่ ถนนสนามไชย ถนนมหาราช และถนนเขตต์ (ถนนเศรษฐการในปัจจุบัน) ใกล้กับที่ทำการศาลาแยกธาตุ ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี ที่ตั้งอยู่แต่เดิม โดยเป็นพื้นที่ที่ทางกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ขอพระราชทานที่ไว้ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 6 มร. 6ค/1 เล่ม 2 ปึกที่ 45 2460)

ตัวอาคารที่ทำการใหญ่นั้น น่าจะเริ่มทำการก่อสร้างใน พ.ศ.2464 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2465 หนังสือออกจากกระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2465 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ รองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์แจ้งความมายัง พระยาจักรีปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ราชเลขาธิการ (จดหมายที่ ก 656/2465) กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทำการเปิดกระทรวงฯ แสดงให้เห็นว่างานก่อสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ควรจะสำเร็จใน พ.ศ. 2465 ตามที่อ้างไว้เบื้องต้น (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 6 มร. 6ค/1 เล่ม 2 ปึกที่ 45 2460) พื้นที่และอาคารภายในกระทรวงพาณิชย์นี้ได้ถูกใช้มาทั้งหมด 67 ปี จึงเริ่มมีการย้ายที่ทำการของกระทรวงพาณิชย์ต้นไปสู่พื้นที่ใหม่

ในปี พ.ศ. 2532 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ใช้ที่ดินราชพัสดุจำนวนเนื้อที่ 48 ไร่เศษ บริเวณตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สำหรับก่อสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงพาณิชย์แห่งใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงจนถึงปัจจุบัน

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมอาคารกระทรวงพาณิชย์ ตึกอาคารดังกล่าวมีสถาปนิกมาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) เป็นผู้ออกแบบร่วมกับวิศวกรกอลโล สปินโญ และสถาปนิกกวาเดรลลิ ในช่วงปี พ.ศ.2465 – 2469 เป็นหนึ่งในอาคารที่ได้รับการออกแบบก่อสร้างตามที่ปรากฏในบัญชีรายการผลงานของศาสตราจารย์มาริโอ ตามาญโญ ที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว ณ กรุงเทพฯ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2469 (เอเลนา ตามานโญ 2541 : 39 – 45) ลักษณะของอาคารที่ทำการกระทรวงเป็นตึกสูง 3 ชั้น ผังรูปตัว E มีบันไดและประตูเข้าสู่ อาคารทั้ง 4 ด้าน สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป โดยออกแบบให้มีระเบียงทางเดินด้านหน้าของอาคารทั้ง 3 ชั้น ลักษณะอาคารและลวดลายประดับตกแต่งของอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ชั้นล่างผนังฉาบเรียบ เสาติดผนังทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมเซาะร่องตามแนวขวางของเสา เลียนแบบการก่อด้วยหิน ซุ้มหน้าต่างชั้นที่ 2 ก่อเป็นรูปวงโค้งครึ่งวงกลม เหนือซุ้มปั้นปูนเป็นลายร้อยห้อยขนาบแนวโค้ง เหนือวงโค้งปั้นเป็นรูปหน้าสตรียุโรป ยกเว้นในบริเวณมุขด้านหน้าที่จะทำเฉพาะตรงกลางแนวประตูเท่านั้น สำหรับบัวหัวเสาของอาคารนั้น เป็นแบบ Ionic ในส่วนของผนังด้านหลังของอาคารนั้น ไม่มีการทำลวดลายประดับ นอกเหนือจากซุ้มประตูด้านหลังบนชั้นที่ 2 ที่เหนือวงโค้งทำเป็นรูปหน้าสตรีแบบเดียวกันที่ทำด้านหน้า ที่บานประตูเหล็กบริเวณประตูทางเข้าด้านมุขกลางของอาคารกระทรวงพาณิชย์ (เดิม)นั้น ด้านหน้าติดแผ่นโลหะทรงกลมเป็นตราภาพพระวิสสุกรรม หรือตราน้อย อันเป็นตราประจำกระทรวง

ศาลาแยกธาตุ พ.ศ. 2470 โอนกรมศาลาแยกธาตุในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มาขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทำหน้าที่วิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม โดยอาคารศาลาแยกธาตุ เป็นอาคารรูปตัว L ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันกรมแยกธาตุเปลี่ยนเป็นกรมวิทยาศาสตร์บริการ

สถาบันพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม พ.ศ.2550 พื้นที่กระทรวงพาณิชย์ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ ในชื่อว่า ”มิวเซียมสยาม” แสดงประวัติศาสตร์เรื่องราวของมนุษย์ในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน โดยมีการจัดแสดงที่เป็นกันเอง เน้นการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชม โดยใช้อาคารเดิม ของกระทรวงพาณิชย์(อาคารรูปตัวE)เป็นสถานที่จัดแสดง

การดำเนินงานทางโบราณคดี

ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติแห่งที่ 1 ขึ้นบริเวณภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ถนนสนามไชยและทางสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติได้มอบหมายให้ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการโครงการศึกษาขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ถนนสนามไชย ระหว่าง พ.ศ.2549-2550

สรุปหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่พบได้ดังนี้

1. หลักฐานทางโบราณคดีของการใช้พื้นที่ภายในกระทรวงพาณิชย์ก่อนรัชกาลที่ 3 (ก่อน พ.ศ. 2367)  ในสมัยก่อนรัชกาลที่ 3 (ก่อน พ.ศ. 2367) นั้น มีแผนผังโบราณบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า มีป้อมวิไชยเยนทร์ สมัยพระ นารายณ์ (พ.ศ.2199-2231) ในสมัยอยุธยาในพื้นที่บริเวณนี้ มีขนาดใหญ่ และมีแผนผังลักษณะเป็นแฉกปลายแหลม 5 แฉก ผลจากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีพบลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่แปลกกว่าบริเวณอื่นที่พบ และอยู่ในระดับที่ลึกว่าชั้นดินในระดับที่สันนิษฐานว่าเป็นระดับของวังในพื้นที่ขุดค้นที่ 6 (area 6) หรือด้านหลังของพื้นที่มิวเซียมสยาม ด้านที่ติดกับถนนราช โดยสิ่งก่อสร้างที่พบนั้นเป็นโครงสร้างฐานรากก่อด้วยอิฐใหญ่ ก่อด้วยความหนาและกว้างกว่าที่พบในบริเวณอื่นๆ กล่าวคือแนวอิฐที่พบมีความกว้างตั้งแต่ 1.5 - 2.5 เมตร อิฐมีขนาดประมาณ 23x13x5 เซนติเมตร และ 28x14x5 เซนติเมตร ลักษณะของการเรียงอิฐเป็นแบบวนโดยใช้อิฐหักครึ่งก้อนอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยอิฐก้อนสมบูรณ์ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส แนวอิฐที่พบนี้เรียงต่อกันในรูปแบบของตาราง และมีโครงร่างคล้ายกับแผนผังของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์ ใต้แนวอิฐมีไม้ซุงรองรับแนวอิฐอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากหลักฐานของสิ่งก่อสร้างที่พบล้วนถูกสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ทำลายไปเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถหาขอบเขตตลอดจนลักษณะและรูปแบบของโครงสร้างฐานรากของสิ่งก่อสร้างได้ ทำให้ไม่อาจสันนิษฐานได้แน่ชัดว่าเป็นป้อมวิไชยเยนทร์หรือไม่อย่างไร แต่ก็พบว่าโบราณวัตถุที่พบในบริเวณดังกล่าวและในระดับชั้นดินเดียวกันเป็นโบราณวัตถุที่อยู่ในช่วงอายุสมัย อยุธยา บางชิ้นพบว่าเป็นโบราณวัตถุที่อยู่ในสมัยพระนารายณ์

2. การใช้พื้นที่ภายในกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัชกาลที่ 3-5 (พ.ศ. 2367-2453) พื้นที่ภายในกระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ในช่วงเวลานี้ จะเป็นที่ประทับของเจ้านายองค์ต่างๆ จำนวน 4 วัง จากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี พบร่องรอยของโครงสร้างฐานรากของสิ่งก่อสร้างโบราณที่บ่งบอกว่าเป็นอาคารต่างๆภายในวังของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 3-5 กระจายโดยรอบทั่วบริเวณ โดยบริเวณที่สามารถนำมา วิเคราะห์และเทียบเคียงกับแผนผังอาคารของวังต่างๆในสมัยโบราณได้ชัดเจนมากที่สุดคือ พื้นที่ขุดค้นที่ 3 เนื่องจากเป็นพื้นที่เป็นสนาม ไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างในสมัยหลังรบกวนมากเท่ากับบริเวณอื่นๆ ส่วนพื้นที่การขุดค้นในบริเวณอื่นๆนั้น พบแนวของสิ่งก่อสร้างโบราณที่ก่อด้วยอิฐ ซึ่งโดยลักษณะทางกายภาพของอิฐ รูปแบบและวิธีการก่ออิฐนั้นสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นแนวของโครงสร้างฐานรากของอาคารภายในวังได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากแนวของสิ่งก่อสร้างบริเวณอื่นๆถูกรบกวน เป็นอย่างมากด้วยสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ทำให้แนวของอาคารโบราณนั้นถูกตัดเป็นช่วง และขาดหายไป จนไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับแผนผังของวังในสมัยโบราณเพื่ออธิบายรูปแบบและขอบเขตของอาคารภายในวังต่างๆนั้นได้

จากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีได้พบโครงสร้างฐานรากของอาคารขนาดใหญ่ โดยมีลักษณะเป็นไม้วางเรียงต่อกันไปเพื่อรองรับ กำแพงอาคาร แนวของการวางไม้เพื่อรองรับแนวของกำแพงอาคารนั้นทำให้สามารถทราบขอบเขตความกว้างยาวของอาคารนั้นได้โดยประมาณ และยังทำให้สามารถทราบการแบ่งห้องต่างๆภายในอาคารได้ และเมื่อนำขอบเขตภายนอกของการ วางไม้เพื่อรองรับกำแพงนั้นมาเทียบเทียงกับแผนผังโบราณ พบว่าอาคารดังกล่าวตรงกับอาคารที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าวัง ซึ่งมีแบบแผนของอาคารเดียวกันกับอาคารในวังของกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดาอาคารต่างๆที่อยู่ในวังทั้ง 4 วังที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ทั้งนี้อาคารดังกล่าวน่าเป็นอาคารเครื่องไม้ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารมีฐานที่ก่อด้วยอิฐถือปูน และมีเสาไม้รองรับหลังคาไม้มุงกระเบี้อง นอกจากนั้นยัง พบกองของกระเบี้องมุงหลังคาชนิดเกล็ดเต่าในบริเวณนั้นด้วย จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่ากระเบื้องมุงหลังคาชนิดเกล็ดเต่าน่าจะเป็นชนิดของกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาอาคารนี้ และเหตุที่สันนิษฐานว่าเป็นอาคารเครื่องไม้มุงกระเบื้องเนื่องจาก ลักษณะของโครงสร้างฐานรากที่แสดงให้เห็นว่ากำแพงไม่น่าจะรองรับน้ำหนักของอาคารที่ก่อด้วยอิฐจำนวนมากได้ และนอกจากนั้นความนิยมในแบบแผนของการสร้างวังเจ้านายในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1-3 จะปลูกสร้างเป็นอาคารไทย เครื่องไม้มุงกระเบื้อง ส่วนอาคารที่เป็นตึกหรืออาคารแบบตะวันตกนั้นมีมาแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5-6 หากการก่อสร้างอาคารตึกดังกล่าวล้วนมีการบันทึกและมีแบบการก่อสร้างอย่างชัดเจน

หลักฐานประเภทโบราณวัตถุ โบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ล้วนสอดคล้องกับประวัติของเจ้าของวัง กล่าวที่สำคัญ คือ

     (1) กิจกรรมเกี่ยวกับการทำมุก เนื่องจาก บริเวณพื้นที่ริมรั้วที่ติดกับถนนเศรษฐการและถนนสนามไชยมาบรรจบกันได้พบหอยมุกเป็นจำนวนมาก สามารถจำแนกได้ 3 ชนิด คือ หอยมุกไฟ หอยมุกจาน และหอยมุกนมสาว เปลือกหอยมุกที่พบส่วนมากเป็นมุกไฟ พบทั้งชิ้นส่วนแกนหอยมุก ก้นหอย และแผ่นเปลือกหอยที่ผ่านการตัดเจียนเป็นรูปทรงต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุดิบเพื่อทำเป็นเครื่องประมุก บานประตูมุก ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องกับเจ้าของวังคนแรก คือ กรมเชษฐาธิเบนทร์ทรงกำกับกรมช่างมุก ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นรัชสมัยที่มีการสร้าง บูรณะ ปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามต่างๆเป็นจำนวนมาก ในการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัดนั้น มุกล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการประดับตกแต่ง โดยเฉพาะการทำบานประตู บานหน้าต่าง บุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการ ยกย่องว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมในงานมุก และฝากฝีมือกับบานประตูที่ถือว่าเป็นงานประดับที่เก่าแก่ที่สุดและงดงามที่สุดที่เหลืออยู่ คือ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสในพระราชบิดาองค์เดียวกัน และมีวังที่อยู่บริเวณท้ายวัดพระเชตุพนฯ เช่นเดียวกัน ดังนั้นมุกที่พบในบริเวณนี้น่าจะมีความสัมพันธ์ในการทำบานประตูมุกให้กับวัดต่างๆในรัชกาลที่ 3

     (2) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับม้า การขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับม้าหลายอย่างด้วยกัน เช่น กระดูกม้า เกือกม้า แปรงปัดขนม้า ซึ่งตรงกับประวัติของเจ้าของวังคนที่สอง คือ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระองค์ทรงเป็นทหารมาตั้งแต่ พ.ศ. 2414 เป็นต้นมา โดยในครั้งแรกทรงเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จนต่อมาใน พ.ศ.2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาเป็นจเรสัตว์พาหนะทหารบกและการทหารม้า และมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับม้าทั้งปวง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กระทรวงพาณิชย์. ประวัติกระทรวงพาณิชย์.พิมพ์ในวาระงานฉลองครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ . กรุงเทพฯ, 2525.

จารุณี อินเฉิดฉาย. ศิลปกรรมวัดราชาธิวาส . กรุงเทพฯ : สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส ,2546.

พิพัฒน์ พงศ์รพีพร . ภาพมุมกว้างของกรุงเทพพระมหานครในสมัยรัชกาลที่ 4 : การค้นพบใหม่. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544.

ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. โครงการศึกษาขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ถนนสนามไชย. เอกสารอัดสำเนา, 2550.

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.). การอนุรักษ์อาคารกระทรวงพาณิชย์ : โครงการอนุรักษ์และพัฒนาอาคารกระทรวงพาณิชย์ (เดิม) เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, 2550.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 26 เรื่อง ตำนานวังเก่า. พระนคร : กรมศิลปากร, 2513.

เอเลนา ตามาญโญ. “สิบห้าปีแห่งการเป็นสถาปนิกในราชสำนักสยาม (2443-2468)” เมืองโบราณ  24, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2541), หน้า 39-45.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี