สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม)


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : สถานีรถไฟบางกอกน้อย, วังหลัง

ที่ตั้ง : ถ.รถไฟ

ตำบล : ศิริราช

อำเภอ : เขตบางกอกน้อย

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.759948 N, 100.486950 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยมหิดล ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

การเดินทาง สามารถเดินทางได้หลายวิธี ทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถสาธารณะ เช่น

สายรถเมล์ที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช: สาย 57, 81, 146, 149, 169, ปอ.91, ปอ.177, ปอ.157

รถสองแถวเล็ก: แยกบ้านแขก -โรงพยาบาลศิริราช

รถไฟ:มีสถานีสายศาลายา - โรงพยาบาลศิริราช โดยขบวนแรกที่ออกจากสถานีศาลายา เวลา 05.00-17.35 น. และขบวนแรกออกจากสถานีธนบุรี เวลา 04.20 น. ถึงเวลา 19.30 น. โดยผ่านสถานีธนบุรี จรัญสนิทวงศ์ บางระมสด ชุมทางตลิ่งชัน บ้านฉิมพลี พุทธมณฑลสาย 2 ศาลาธรรมสพน์ ศาลายา

รถไฟฟ้า MRT: ลงสถานีอิสรภาพ (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) จากนั้นต่อรถสองแถวเล็กหรือรถรับจ้างอื่นๆ

เรือด่วนเจ้าพระยา:  ลงท่ารถไฟ หรือท่าวังหลัง (พรานนก)

เรือข้ามฟาก: จากท่าช้าง ท่ามหาราช ท่าพระจันทร์ ลงท่ารถไฟ หรือท่าวังหลัง (พรานนก)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) เป็นอาคารอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบบางส่วน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ สามารถเข้าเยี่ยมชม  พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ที่การจัดแสดงส่วนหนึ่งได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวังหลังและสถานีรถไฟธนบุรี ได้ที่  

ที่ตั้ง: พิพิธภัณฑ์ศิริราช เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

เวลาทำการ: จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ซื้อบัตรเข้าชมก่อนเวลา 16.00 น.) หยุดวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

โทรศัพท์: 0 2419 2601, 0 2419 2618-19, 0 2419 6363

เว็บไซต์: http://www.sirirajmuseum.com, http://www.si.mahidol.ac.th/museums

Facebook: https://www.facebook.com/siriraj.museum

อีเมล: sirirajmuseum@gmail.com 

อัตราค่าเข้าชม:
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช หรือพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เพียงแห่งเดียว
– ชาวต่างชาติ ราคา 200 บาท
– ชาวไทย ราคา 80 บาท
– เด็กไทยและต่างชาติ อายุต่ำกว่า 18 ปี ราคา 25 บาท
บัตรเดียวเที่ยว 2 พิพิธภัณฑ์
– ชาวต่างชาติ ราคา 300 บาท
– ชาวไทย ราคา 150 บาท (ราคาพิเศษ 100 บาท)
– เด็กไทยและต่างชาติ อายุต่ำกว่า 18 ปี ราคา 50 บาท (ราคาพิเศษ 30 บาท)

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

มหาวิทยาลัยมหิดล

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ113ง วันที่ 14 พฤศจิกายน 2544

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยมหิดล ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตัวอาคารสถานรีรถไฟ เป็นอาคารอนุรักษ์ ได้รับการบำรุงหลักษาเป็นอย่างดี

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท โบรันดี จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2562

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : การรถไฟแห่งประเทศไทย

ผลการศึกษา :

ขุดค้นทางโบราณคดีในโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟธนบุรี บริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่สถานรถไฟธนบุี พ.ศ.2562

ชื่อผู้ศึกษา : กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551, พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลการศึกษา :

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าจ้าง ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาวิจัยทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานสถานีรถไฟธนบุรี

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

พระราชวัง/วัง, จุดขนส่ง/ขนถ่ายคนหรือสินค้า

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์จักรีใน พ.ศ. 2325 ทรงเล็งเห็นว่าเมืองธนบุรีเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเสี่ยงต่อการเพลี่ยงพล้ำต่อการรักษาเมือง และไม่เหมาะสมกับการขยายเมืองในภายหน้า เนื่องจากขนาดของเมืองธนบุรีที่จำกัด จึงทรงย้ายราชธานีไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้า และสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นในปีต่อมา โดยยังคงใช้พื้นที่ฝั่งธนบุรีเป็นแหล่งเสบียงและชุมชนช่างฝีมือซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัยของพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางที่มีส่วนต่อการรักษาพระนคร ที่ตั้งบ้านเรือนราษฎรกระจายอยู่ตามริมฝั่งคลอง ทั้ง ชุมชนชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งมีศาสนสถานสำคัญในช่วงสมัยดังกล่าวตั้งอยู่ (บริษัท โบรันดี จำกัด 2562) ดังนี้

มัสยิดบางกอกน้อย ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ มีการใช้งานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและใช้งานต่อเนื่องจนถึงสมัยธนบุรี ลักษณะของมัสยิดไม่มีการบันทึกไว้ว่ามีลักษณะรูปแบบอย่างไร แต่มีบันทึกไว้ในหนังสือของกระทรวงโยธาธิการ เมื่อจะมีการสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อยว่า มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และมีการกล่าวถึงผู้ออกเงินว่ามีจานวน 46 คน เป็นมุสลิมไทย 30 คน และมุสลิมในบังคับต่างประเทศ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส 16 คน ทั้งนี้ บริเวณมัสยิดยังมีพื้นที่ฝังศพหรือกุโบร์ ที่ได้มีการถมดินเพื่อป้องกันน้าท่วมไว้อย่างแน่นหนา โดยในสมัยต่อมาชาวมุสลิมยินยอมให้ทารางรถไฟผ่านพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องขุดดินเท่านั้น ดังนั้น ทางกรมรถไฟจึงทำพื้นที่บริเวณนี้เป็นทางหลีกสำหรับจัดรถเท่านั้น

วัดทอง (วัดสุวรรณาราม) ราว พ.ศ. 2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อสิ่งก่อสร้างเดิม ซึ่งอาจสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม ทรงสร้างอุโบสถ พระวิหาร กำแพงแก้ว ข้างหน้ามี 2 เก๋ง พร้อมทั้งเสนาสนะ และ โปรดฯให้สร้างเครื่องป่าช้า วัดดังกล่าวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่บริเวณนอกเมืองธนบุรี อาจเป็นพื้นที่จัดการเรื่องศพของคนในย่านนั้นสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ราวปี พ.ศ. 2345 กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขเสด็จไปในสงครามหัวเมืองเหนือ เมื่อเสร็จศึกทรงนาเชลยชาวเมืองเหนือติดตามกองทัพกลับมายังพระนครด้วย โปรดฯให้ชาวเหนือเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนใกล้กับวังหลัง ทำให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีชาวเหนือเข้ามาเพิ่มอีกกลุ่มหนึ่ง

วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) ในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม ในปี พ.ศ. 2349 แล้วพระราชทานนามว่า “วัดอมรินทราราม” แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เสด็จทิวงคตก่อน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปรากฎหลักฐานที่กล่าวถึงสภาพวิถีชีวิตของผู้คนบริเวณริมคลองบางกอกน้อยในนิราศพระประธม ดังนี้
“จนนาวาคลาคล่องเข้าคลองกว้าง ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน  ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน  แลแต่ล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว”

จากข้อความข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการกล่าวถึงการนั่งเรือยามดึกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ที่เมืองนครชัยศรี ซึ่งได้ผ่านบริเวณริมคลองบางกอกน้อย โดยเป็นย่านตลาดแพและเรือนตลาด ตั้งแต่หัวโค้งแม่น้าเจ้าพระยา ต่อเนื่องลึกเข้ามายังคลองบางกอกน้อย ผ่านสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) บ้านบุ วัดทอง (วัดสุวรรณาราม) จนถึงบางบำหรุ เรือนแพจึงค่อยๆ ลดลงเข้าเขตเรือกสวน แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตของผู้คนปากคลองบางกอกน้อยทั้งสองฝั่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มักอาศัยอยู่บนเรือนแพง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เกิดการพัฒนาและปฏิรูปพื้นที่หลายแห่งในกรุงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในการพัฒนาประเทศในช่วงนี้ คือ การสร้างเส้นทางคมนาคมประเภทถนนและทางรถไฟ ซึ่งบริเวณพื้นที่พระราชวังหลังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็น “โรงศิริราชพยาบาล” (โรงพยาบาลศิริราช)

จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2443 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างรถไฟสายตะวันตก สายเพชรบุรี ต้นทางเริ่มที่บริเวณริมแม่น้าเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกน้อย เพื่อให้คนจากฝั่งพระนครข้ามเรือมาขึ้นรถไฟได้สะดวก ตั้งสถานีที่บริเวณริมแม่น้า อีกทั้ง ยังทรงคิดสร้างทางเหล็ก โรงเก็บรถ และที่อยู่พนักงานรถไฟ ในพื้นที่เดียวกันเพื่อความสะดวก โดยพื้นที่ที่จะใช้สร้าง เริ่มตั้งแต่บริเวณริมแม่น้าเจ้าพระยาเลียบคลองบางกอกน้อยไปทางทิศตะวันตกผ่านมัสยิดบางกอกน้อย และวัดอมรินทราราม ตัวชุมชนบริเวณมัสยิดและวัด ไปจนถึงบริเวณคลองวัดสุวรรณาราม ส่งผลให้มีการเวนคืนที่ดินครั้งใหญ่ พื้นที่ที่ถูกเวนคืนแลกเปลี่ยนคือ มัสยิดบางกอกน้อยหรือกฎีเล็ก ซึ่งมีเนื้อที่ราว 2 ไร่ เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญต่อชาวมุสลิมบริเวณปากคลองบางกอกน้อย ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างมัสยิดฝั่งตรงข้าม คือ คลองบางกอกน้อยฝั่งเหนือ ในพื้นที่ที่เคยเป็นอู่เรือหลวงและพื้นที่หลวง ต่อมาคือมัสยิดหลวงบางกอกน้อยหรือมัสยิดอันซอริซซุนนะห์ในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ ยังมีการเวนคืนวัดอมรินทราราม จากเอกสารการจัดซื้อที่ทาทางรถไฟสายเพชรบุรี ทำให้ทราบว่าแต่เดิมพื้นที่วัดมีขนาดใหญ่กว่าในปัจจุบัน ทางพระราชาคณะเจ้าอาวาสจะให้กรมรถไฟปลูกสิ่งก่อสร้างเดิมขึ้นใหม่ในที่อื่นทั้งหมด แต่กรมรถไฟมีความเห็นว่า สิ่งก่อสร้างในวัดหลายอย่างผุพังและไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น โบสถ์เก่า ศาลาชารุด เป็นต้น การปลูกสร้างใหม่จะไม่เกิดประโยชน์และเสียเงินมาก จึงจะสร้างสิ่งอื่นทดแทนที่เกิดประโยชน์ คือ สร้างโรงเรียนให้หนึ่งหลัง ศาลาการเปรียญ โรงเรือ และท่าน้ำ 

หลังจากการดำเนินงานเวนคืนพื้นที่ดินเรียบร้อย จึงได้มีการจัดสร้างสถานีรถไฟธนบุรี โรงเก็บรถ ทางหลีก และที่พักพนักงานรถไฟในพื้นที่ริมคลองบางกอกน้อยจนสำเร็จ มีการจัดพระราชพิธีเปิดรถไฟสายเพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2447) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดโดยกระบวนรถม้าพระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวังพร้อมด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาทแห่นำ ตามเสด็จ มาประทับเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิษฐ์ ขึ้นไปตามลำน้ำเทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าสะพานรถไฟ ริมปากคลองบางกอกน้อย แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่งไปยังเทียบยังสถานีรถไฟเพื่อประกอบพระราชพิธีเปิด และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรึงหมุดที่รางรถไฟ จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ขบวนรถปฐมฤกษ์แล่นไปยังเพชรบุรี มีพระไชยหลังช้างประดิษฐานที่รถนำหน้าพร้อมพระสงฆ์สมณศักดิ์ คือ พระอมรโมฬี เจ้าคณะมณฑลราชบุรี โปรยทรายตลอดทางไปจนถึงเมืองเพชรบุรี รถไฟสายเพชรบุรีจึงได้เดินรถตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

สถานีรถไฟบางกอกน้อย มีลักษณะพื้นที่รูปยาวรีประมาณกิโลเมตรเศษ จากปากคลองบางกอกน้อยตั้งแต่แม่น้าเจ้าพระยายาวเลียบไปตามคลองบางกอกน้อยถึงชุมชนบ้านบุ โดยมีคลองบางกอกน้อยอยู่ด้านทิศเหนือ ด้านตะวันออก คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ติดพื้นที่วังพระเจ้าเชียงใหม่ วังหลัง วัดอมรินทรารามและด้านทิศตะวันตกเรียวคอดเป็นทางรถไฟมุ่งสู่คลองมหาสวัสดิ์ ด้านปากที่ติดกับแม่น้าเจ้าพระยาจะมีลักษณะเป็นรูปโค้งมนๆ ซึ่งด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยานี้จะมีท่าน้ำสำหรับพระเจ้าอยู่หัว และถัดไปเป็นท่าน้ำราษฎร โดยท่าน้ำสำหรับพระเจ้าอยู่หัวจะอยู่ค่อนมาใกล้ปากคลองบางกอกน้อย ส่วนอีกด้านหนึ่งของรางรถไฟจะมีโรงเก็บรถพระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนครปฐมและเพชรบุรีหลายครั้งด้วยเส้นทางและสถานีรถไฟบางกอกน้อยนี้ โดยเสด็จพระราชดำเนินจากท่าราชวรดิษฐ์ด้วย เรือกลไฟมาขึ้นยังท่าพระเจ้าอยู่หัวแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นรถไฟที่มีรถจักรไอน้ำนำขบวน

ภายในบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย มีพลับพลาเรือนนายสถานีและโรงสถานี รางรถไฟหลายราง มีรางหลีก สะพานเครื่องชั่ง ที่เก็บน้ำ โรงเก็บรถ ชานไว้ฟืน 2 ชาน โรงเก็บพัสดุโรงงาน โรงสำหรับเก็บรถจักรเป็นครึ่งวงกลม มีโรงงานและโรงช่างขนาดใหญ่ โรงไว้ถ่านหิน โรงหล่อ และโรงกุดัง นับว่ามีพื้นที่กว้างขวาง เมื่อเปิดเดินรถไฟสายเพชรบุรีได้ประมาณ 6 ปี

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการขยายเส้นทางรถไฟสายใต้จากเพชรบุรี ต่อไปยังเมืองปราจีนบุรี เมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลาจนถึงเมืองระแงะ แล้วเรียกทางรถไฟสายนี้ใหม่ ว่า “รถไฟหลวงสายใต้” จึงส่งผลให้มีการขยายพื้นที่เกิดการเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเส้นทางรถไฟหลวงสายใต้ต่อลงไปจนถึงมลายู กลันตัน และไทรบุรี ทำให้การเดินรถ การรับส่งผู้คนและสินค้าเพิ่มขยายขึ้นมาก แต่สถานีรถไฟบางกอกน้อยเริ่มคับแคบ เนื่องจากแต่เดิมสถานีรถไฟบางกอกน้อยสร้างขึ้นเพื่อรองรับเฉพาะการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - เมืองเพชรบุรีเท่านั้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามสถานีรถไฟบางกอกน้อยอีกในปี พ.ศ 2457 ซึ่งขณะนั้นกรมรถไฟได้ย้ายมาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

การขยายสนามสถานีรถไฟดังกล่าวได้ให้มิสเตอร์ เย เอ ครัมส์ อินจีเนีย บารุงทางรถไฟสายเพชรบุรีเป็นข้าหลวงคมนาคม ให้พระเพ็ชรปราณี เจ้ากรมอำเภอเป็นข้าหลวงท้องที่ ข้าหลวงทั้งสองนี้มีหน้าที่จัดที่ดินเพื่อขยายสถานี จึงเกิดการเวนคืนที่ดินขยายเข้าไปบริเวณพื้นที่ที่ติดกับวัดอมรินทราราม บ้านเนิน และบ้านบุอีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ทรงโปรดฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน

นอกจากนี้การริเริ่มสร้างสะพานพระราม 6 เป็นสะพานข้ามรถไฟเพียงอย่างเดียวเพื่อเชื่อมต่อระหว่างพระนครกับจังหวัดธนบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทำให้มีการขยายตัวของพื้นที่เมืองเพิ่มมากขึ้น จนไม่สามารถรองรับการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีแนวคิดในการขยายพื้นที่พระนครออกไปยังจังหวัดธนบุรี เกิดแนวคิดสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ สำหรับรถยนต์และคนเดินเท้าข้ามแม่น้าเจ้าพระยา เพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี ในปี พ.ศ.2475 นอกจากนี้ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนฝั่งธนบุรี 10 สาย สาหรับเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและสถานีธนบุรี โดยถนนที่ตัดผ่านบริเวณพื้นที่รถไฟธนบุรี คือ ถนนอิสรภาพ ถนนอรุณอัมรินทร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 กรมรถไฟรายงานต่อกระทรวงเศรษฐการว่า อาคารสถานที่เดิมของสถานีรถไฟธนบุรีเป็นของเก่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสร้างทางรถไฟ บัดนี้ล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพบ้านเมืองที่มีการพัฒนาและขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการก่อสร้างดัดแปลงโดยขยายผ่านสถานีเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับกิจการเดินรถรับส่งคนโดยสารและสินค้า 

เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2485 กรมรถไฟได้เปลี่ยนชื่อสถานีและหยุดรถไฟบางแห่ง ให้ตรงกับทำเนียบท้องที่ของส่วนภูมิภาค สถานีบางกอกน้อยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีธนบุรี” และในปีเดียวกันประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ประกอบด้วย เยอรมัน อิตาลีและญี่ปุ่น กองพันญี่ปุ่นได้ใช้ประเทศไทย เป็นแหล่งบัญชาการสงครามในภูมิภาค

พ.ศ. 2485 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกขึ้นที่จังหวัดสงขลาและยึดเอาสถานี รถไฟธนบุรีเป็นฐานที่ตั้งลำเลียงและขนถ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไปจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งต่อไปยังประเทศ พม่า แต่เนื่องจากไทยยอมเป็นมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่นจึงไม่ได้ผลกระทบมากนัก ซึ่งบริเวณปากคลองบางกอกน้อยใน ช่วงเวลานั้นเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีเรือขายของนานาชนิดเต็มลำ ชาวสวนในคลองบางกอกน้อยมักจะนำของจากสวนมาค้าขาย เช่น ผลไม้ ใบตอง พริกขี้หนูสวน มะนาว มะกรูด เป็นต้น สองฟากฝั่งปากคลองบางกอก น้อยมีแพขายของเรียงราย รวมถึงแพขายที่นอนของชาวมุสลิม และเป็นแหล่งผลิตที่นอนชั้นดีมีชื่อเสียงนอกจากตลาดน้าปากคลองบางกอกน้อยแล้วยังมีแหล่งค้าขายบนบก คือ ตลาดวัดทอง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

พ.ศ. 2487 ชาวพระนครเริ่มได้รับผลกระทบจากสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มโจมตีกองทัพฝ่ายอักษะที่มีญี่ปุ่นเป็นกาลังหลัก ซึ่งขณะนั้นได้ตั้งกองกาลังในพระนครหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีถือเป็นฐานใหญ่ ทาให้พื้นที่ดังกล่าวถูกโจมตีอย่างหนักหลายครั้ง มีบันทึกไว้ว่า บริเวณบ้านบุที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟถูกระเบิดอย่างรุนแรง ผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตจานวนมาก ทาให้ฐานทัพญี่ปุ่นที่บางกอกน้อยพังเสียหายอย่างมาก รวมถึงอู่เรือหลวง อู่เรือพระราชพิธี มัสยิดคลองบางกอกน้อยได้ถูกระเบิดเสียหายด้วยเช่นกัน แต่หลวงพ่อโบสถ์น้อยในวัดอมรินทรารามยังคงอยู่ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์

พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้นาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดครั้งใหญ่อีกครั้ง ส่งผลให้ฐานทัพ ญี่ปุ่นบริเวณสถานีรถไฟเสียหายอย่างมาก และสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ใกล้เคียงคือ มีระเบิดตกลงใน บริเวณมัสยิดบางกอกน้อย โรงเรียนราชการุญ และหมู่บ้านมุสลิมริมคลองบางกอกน้อยฝั่งเหนือบริเวณตรงข้าม สถานีรถไฟ ทาให้พื้นที่ดังกล่าวเสียหายอย่างมาก เหลือเพียงที่ฝังศพและถังน้าของมัสยิดเท่านั้น

พ.ศ. 2489 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย พื้นที่บริเวณ สถานีธนบุรีได้รับการซ่อมแซมในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีหม่อมเจ้า โวฒยากร วรวรรณ เป็นสถาปนิกออกแบบอาคารสถานี สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2493 และเปิดใช้งานบางส่วนใน ปี พ.ศ. 2490 ส่วนพื้นที่มัสยิดบางกอกน้อย ชาวมุสลิมได้ร่วมกันฟื้นฟูมัสยิดขึ้นมาใหม่ (บริษัท โบรันดี จำกัด 2562)

ในปี พ.ศ. 2546 รฟท.ได้มอบที่ดินบริเวณสถานีธนบุรีจำนวน 33 ไร่ แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รฟท.จึงไม่เดินรถเข้าสถานีธนบุรีเป็นการถาวร โดยให้ใช้สถานีบางกอกน้อยที่สร้างใหม่เป็นต้นทาง-ปลายทาง และทำให้อาคารสถานีธนบุรีมิใช่ทรัพย์สินของ รฟท.อีกต่อไป

หลังจากโรงพยาบาลศิริราชได้รับมอบพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรีจำนวน 33 ไร่ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ในระหว่างก่อสร้างได้พบหลักฐานทางโบราณคดี อาทิเช่น ซากเรือไม้ เศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีขึ้น ในการศึกษาวิจัยได้แบ่งพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดีออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ บริเวณที่มีการก่อสร้างอาคารปิยมหาราชการุณย์ (AREA1) ซึ่งมีการขุดดินลึกลงไปแล้วประมาณ 20 เมตรเพื่อก่อสร้างชั้นใต้ดินจำนวน 3 ชั้น ส่วนที่สอง คือ บริเวณรอบนอกงานก่อสร้างอาคารปิยมหาราชการุณย์ (AREA2) ประกอบไปด้วยอาคาร 4 อาคาร ส่วนที่ 3 คือ พื้นที่ด้านตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) (AREA3) ต่อมาโรงพยาบาลศิริราชได้มีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานในพื้นที่นี้โดยบูรณะตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรีเป็นตัวอาคารจัดแสดงหลัก และอาคารอนุรักษ์อื่นๆ ในการนี้ ได้ทำการขุดค้นฐานรากของป้อมพระราชวังหลังบริเวณด้านหลังตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) เพิ่มเติมอีกครั้งในปี พ.ศ.2554 (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2562)

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2562)

1. การเก็บกู้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบระหว่างการเตรียมการก่อสร้างอาคารและสำรวจผิวดินบริเวณพื้นที่ที่ 1 (AREA 1)

โลงไม้และโครงกระดูกมนุษย์ พบโลงไม้ภายในบรรจุโครงกระดูกมนุษย์ 1 โลง และโครงกระดูกมนุษย์ 2 โครง ระดับของการฝังศพทั้ง 3 โครง อยู่ในระดับเดียวกันคือ ประมาณ 2 เมตรจากผิวดินปัจจุบัน การวางตัวของโลงและโครงอยู่ในแนวเดียวกันตามแนวทิศเหนือ - ใต้ โดยวางศีรษะไปทางด้านทิศเหนือ และไม่พบโบราณวัตถุฝังร่วมแต่อย่างใด

จากการศึกษาพบว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนสร้างสถานีรถไฟธนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 5            

ซากเรือไม้ ซากเรือไม้ที่พบมีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ลักษณะของเรือที่พบเป็นเรือกระแชง ท้องเรือเป็นทรงโค้งกลมขนาดใหญ่ ภายในเรือพบตะปูปลิงเป็นจำนวนมาก กงเรือเป็นไม้โค้งวางตามแนวขวางตามท้องเรือ วางเรียงกันถี่เป็นระยะห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ใต้ท้องเรือใช้แผ่นทองเหลืองบุใต้ลำเรือ พบตัวอักษรภาษาอังกฤษประทับที่แผ่นทองเหลือง ตรงกลางเป็นตัวอักษร 24 ล้อมรอบด้วยวงกลม และมีตัวอักษรพิมพ์นูนว่า “MUNTZ PATENT

บริเวณเปลือกเรือด้านทิศตะวันตกพบร่องรอยของไฟไหม้ตลอดทั้งแนวเกือบครึ่งลำเรือ สันนิษฐานว่า หลังจากเรือลำนี้ได้ถูกชะลอมาจอด ณ ที่แห่งนี้แล้ว ต่อมาบริเวณนี้มีไฟไหม้เกิดขึ้น เรือบางส่วนก็ถูกไหม้ในคราวนั้นด้วย เรือทั้งลำวางอยู่บนคานที่มีลักษณะคล้ายซุงทั้งท่อน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 23 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.50 เมตร ใช้เป็นคานรองรับลำเรือ เมื่อครั้งเป็นสถานีรถไฟธนบุรีเคยมีลำคลองสายเล็ก
เป็นท่าเทียบเรือ เรือนี้ถูกถมทั้งลำ จากหลักฐานทั้งหมดสันนิษฐานว่าเรือควรอยู่ในช่วงที่มีการปรับถมพื้นที่ครั้งใหญ่ คือ ช่วงกำลังสร้างสถานีรถไฟ หรือช่วงปรับปรุงพื้นที่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่
2

ใต้ท้องเรือได้ขุดค้นพบไหเครื่องเคลือบสีน้ำตาลอมสีดำขุ่น ไหใบนี้ผลิตจากกลุ่มเตาสืออวน เมืองฝ่อซาน เมืองกว่างตง โดยอาจมีแหล่งผลิตอยู่ที่เตาหนานเฟิง มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตรงกับรัชกาลจักรพรรดิเต้ากวงถึงรัชกาลจักรพรรดิเสียนเฟิงแห่งราชวงศ์ชิง และตรงกับรัชกาลที่ 3 - แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภาชนะดินเผากลุ่มนี้มักพบในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมเพชร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในแม่น้ำแม่กลอง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และที่วัดท่าพูด จังหวัดสมุทรสงคราม  ในต่างประเทศพบจากแหล่งเรือเดสซารุ ประเทศมาเซีย 

เรือไม้นี้ ได้ถูกตัดออกเป็น 7 ส่วน เพื่อนำขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อนำไปอนุรักษ์ ปัจจุบันเรือไม้นี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

2. การสำรวจทางโบราณคดี

พบเศษเข็มไม้ เศษกระเบื้องมุงหลังคากระจัดกระจายโดยรอบ เศษกระดูกช้าง ลูกระเบิด ภาชนะดินเผาเนื้อดินทั้งที่เต็มใบและแตกหัก เครื่องถ้วยจีนทั้งที่เต็มใบและแตกหัก ทั้งที่กำหนดอายุได้ในสมัยอยุธยา
ตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ตอนต้น

3. การขุดค้นทางโบราณคดีป้อมพระราชวังหลัง

จากการขุดค้นด้านหลังอาคารสถานีรถไฟธนุบรีเดิมได้พบแนวอิฐยาว 18 เมตร มีความกว้างประมาณ 1.9 - 2 เมตร บริเวณส่วนฐานรากของป้อมพระราชวังหลังพบที่ระดับต่ำกว่าผิวดินปัจจุบัน 1 เมตร อิฐที่ใช้ก่อกำแพงมีขนาดเฉลี่ย 17.5x34x8.5 เซนติเมตร แนวอิฐทั้งหมดมีความสูงประมาณ 2.3 เมตร อิฐที่ใช้รองรับอยู่ด้านล่างจะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามระดับความลึก

ป้อมพระราชวังหลังใช้กำแพงเป็นตัวรับน้ำหนักทั้งหมด ไม่มีการใช้ซุงหรือเข็มไม้การรับน้ำหนักใต้แนวอิฐก้อนสุดท้าย (ชั้นอิฐที่ 19) ใช้ทรายละเอียดที่มีขนาดเม็ดพอๆ กัน ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากที่อื่นมาปรับถมพื้นที่บริเวณนี้อย่างจงใจก่อนจะก่อฐานรากด้วยอิฐ

จากตำแหน่งที่ตั้งและทิศทางการวางตัวของแนวอิฐสามารถเทียบเคียงได้กับแนวของป้อมพระราชวังหลัง ป้อมมุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณปากคลองบางกอกน้อยของพระราชวังหลัง ในแผนที่เก่า พ.ศ.2439 ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระนิพนธ์ถึงพระราชวังหลังในตำนานวังเก่าไว้ว่า

“พระราชวังหลังสร้างที่ตำบลสวนลิ้นจี่ (คือตรงที่ตั้งโรงศิริราชพยาบาลบัดนี้) ตั้งแต่กรมพระราชวังหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ด้วยที่ตรงนั้นมีป้อมปราการเป็นมุมเมืองมาแต่ครั้งธนบุรีจึงเป็นที่สำคัญสำหรับป้องกันพระนครทางฝั่งตะวันตกมาสถาปนาเป็นพระราชวังหลังต่อชั้นหลัง”

สันนิษฐานว่าป้อมพระราชวังหลังนี้ปรับปรุงมาจากป้อมมุมเมืองกรุงธนบุรีมาแต่เดิม


ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "สถานีรถไฟธนบุรี(รวมวัดอมรินทราราม)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โครงการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม). เสนอต่อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. เอกสารอัดสำเนา, 2551.

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. การศึกษาทางโบราณคดีป้อมพระราชวังหลัง. เสนอต่อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. เอกสารอัดสำเนา, 2554.

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

บริษัท โบรันดี จำกัด. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดี โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟธนบุรี บริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่สถานรถไฟธนบุี พ.ศ.2562.เสนอต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย. เอกสารอัดสำเนา, 2562.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี