บ้านพิบูลธรรม


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : บ้านนนที

ที่ตั้ง : กระทรวงพลังงาน เลขที่ 17 ถ.พระรามที่ 1

ตำบล : รองเมือง

อำเภอ : เขตปทุมวัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.749375 N, 100.517499 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองผดุงกรุงเกษม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

บ้านพิบูลธรรม ตั้งอยู่ภายในกระทรวงกลังงาน เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ริมถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ใกล้กับตลาดโบ๊เบ๊ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

บ้านพิบูลธรรมไม่เปิดให้เข้าเที่ยวชมภายในอาคารเป็นการทั่วไป หากต้องการเยี่ยมชมภายในอาคาร ต้องติดต่อขอเยี่ยมชมเป็นการเฉพาะ โดยติดต่อที่

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทร. 0-2223-0021-9 , 0-2223-2593-5 , 0-2222-4102-9 | โทรสาร 0-2225-3785 | อีเมล ct@dede.go.th | เว็บไซต์https://www.dede.go.th/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

บ้านพิบูลธรรม ปัจจุบันมีพื้นที่ 2 ไร่เศษ ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงริมสะพานกษัตริย์ศึกติดต่อกับสะพานยศเส ถนนพระราม 1  แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ปัจจุบันบ้านพิบูลธรรม เป็นที่ตั้งของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมีอาณาเขตติดต่อกับสถานที่ใกล้เคียงดังนี้             

          ด้านทิศเหนือติด ติดต่อกับตลาดโบ๊เบ๊

          ด้านทิศตะวันออก ติดต่อกับทางรถไฟสายเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ             

          ด้านทิศใต้  ติดต่อกับสะพานกษัตริย์ศึกและสะพานยศเส             

          ด้านทิศตะวันตก  ติดต่อกับคลองผดุงกรุงเกษม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองผดุงกรุงเกษม

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5, สมัยรัชกาลที่ 6

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2440

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประดิษฐ์ธนานุรักษ์, หจก.

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546, พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กระทรวงพลังงาน


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ประวัติของบ้านพิบูลธรรม (บ้านนนที)

“บ้านพิบูลธรรม” เดิมชื่อว่า “บ้านนนที” ได้เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2440 ในเนื้อที่ประมาณ 4-5 ไร่ ต่อมาเมื่อเกิดทางรถไฟสายเหนือขึ้นที่สถานีหัวลำโพง ที่ดินบางส่วนของบ้านจึงต้องถูกเวนคืนให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างทางรถไฟ ทำให้เนื้อที่ของบ้านถูกแยกออกเป็นสองส่วน มีทางรถไฟผ่าเกือบกลางเนื้อที่ โดยด้านหนึ่งติดริมคลองผดุงกรุงเกษมอีกด้านหนึ่งติดทางรถไฟสายเหนือ และวัดบรมนิวาสราชวิหาร ด้านหน้าติดถนนพระราม 1 และด้านท้ายติดห้องแถวตลาดโบ้เบ้

บ้านนนที เดิมมีหลังเดียวคือ ตึกกลาง (หรืออาคาร 1 ในปัจจุบัน) ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ได้รับพระราชทานทั้งที่ดินและบ้านจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งเป็น พระยาอนุรักษราชมณเฑียร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณปี พ.ศ. 2456 ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง มียศเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี หลังจากรับราชการในตำแหน่งนี้มาได้ประมาณ 8-10 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งพร้อมกับบริเวณและตกแต่งอาคารหลังเดิมใหม่ เพื่อที่จะเสด็จมาประทับชั่วคราว โดยตึกที่สร้างขึ้นใหม่เป็นตึก 3 ชั้น (อาคาร 2 ในปัจจุบัน) และมีสะพานเชื่อมติดต่อกับตึกกลาง

และเนื่องจากท่านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากร หรือช่างสิบหมู่อยู่ด้วยในขณะนั้น จึงให้ช่างที่กรมศิลปากรออกแบบ โดยระยะนั้นมีนายช่างสถาปนิกชาวอิตาเลียนมารับราชการอยู่ด้วยหลายท่าน ท่านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีจึงได้เลือกศาสตราจารย์ อี.มันเฟรดี (Ercole Manfredi) ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่กรมศิลปากร มียศเป็นรองอำมาตย์เอก (ต่อมาได้โอนสัญชาติเป็นคนไทย) ให้เป็นผู้ออกแบบตึกทั้งหมด ส่วนวิศวกร คือ นายกาเล็ตตี้ และมีนายฟอร์โน เป็นผู้ช่วยในการออกแบบลวดลายบางอย่าง ทั้งสามท่านนี้เป็นชาวอิตาเลียนทั้งหมด ส่วนช่างจีนที่แกะลวดลายไม้ต่างๆ เป็นชาวเซี่ยงไฮ้ ชื่อนายดองชอง และมีนายช่างไทยบางท่านร่วมงานอยู่ด้วย ส่วนผู้ที่เขียนภาพเพดานและภาพฝาผนังภายในห้องต่างๆ คือ ศาสตราจารย์ริโกลี่ (Carlo Rigoli) ชาวอิตาเลียน

การก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 1 ปี ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงินงบประมาณ 150,000 บาท หลังจากการสร้างบ้านและการตกแต่งบ้านทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณ 7-8 เดือน (เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2463) พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรและประทับเสวย โดยมีการแสดงละครถวายคืนนั้นด้วย และได้ประทับอยู่จนถึง 6 นาฬิกา จึงเสด็จฯ กลับ พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยในการก่อสร้างตึกนี้มาก

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านนนทีถูกระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำมาทิ้งโจมตีสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่ลูกระเบิดไม่ถูกเป้าหมายกลับมาลงที่บ้านนนทีหลายลูก ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เกินกว่าที่เจ้าของบ้านจะซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิมได้ ทางเจ้าของบ้านคือ หม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล จึงได้เสนอขายให้แก่ทางรัฐบาลติดต่อกันมาหลายปี จนถึงปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อนุมัติให้โรงงานยาสูบซื้อไว้เป็นสถานที่ราชการ เป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาท และรัฐบาลต้องใช้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมส่วนที่เสียหายท้งหมดให้กลับคืนสู่ในสภาพเดิมเป็นเงินประมาณ 800,000 บาท รวมทั้งได้เปลี่ยนชื่อจาก “บ้านนนที” เป็น “บ้านพิบูลธรรม” อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามซ่อมแซมอย่างดีที่สุดอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถทำให้งดงามดังเดิมได้ อาทิ ภาพผนังห้องต่างๆ และภาพลายเพดานห้งอโถงใหญ่ที่เป็นภาพนกหัสดายุช่วยนางสีดา เป็นต้น

บ้านพิบูลธรรมถูกใช้เป็นบ้านรับรองของรัฐบาล จนกระทั่งในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 การพลังงานแห่งชาติ (หรือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่บ้านพิบูลธรรม (บ้านนนที) แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจากพระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เคยเสด็จมาทอดพระเนตรและประทับเสวยที่สถานที่แห่งนี้แล้ว ในสมัยที่บ้านนนทีหรือบ้านพบูลธรรมถูกใช้เป็นบ้านพักรับรองแขกเมือง ก็ได้มีบุคคลสำคัญอีกหลายท่านที่เคยมาประทับหรือพัก ณ สถานที่แห่งนี้ อาทิ เสด็จเจ้าสุวรรณภูมา แห่งราชอาณาจักรลาว พระยากัลยา ณ ราชไมตรี แห่งสหัรฐอเมริกา ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อครั้งเป็นรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และประธานสหภาพพม่า เป็นต้น นอกจากนี้ในสมัยท่เปฯการพลังงานแห่งชาติหรือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานหรือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในปัจจุบัน ก็ได้มีทูตานุฑูตและผู้แทนต่างประเทศหลายแห่งเข้ามาติดต่อราชการในสถานที่นี้ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าสภาพบ้านพิบูลธรรม (บ้านนนที) ที่เห็นในปัจจุบันจะเป็นสภาพที่ถูกซ่อมแซมดัดแปลงพื้นที่การใช้งานมาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง นับตั้งแต่การบูรณะในคราวที่เสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง และการดัดแปลงพื้นที่เพื่อเป็นสถานที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติ แต่การบูรณะก็ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้เป็นส่วนมาก

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

อาคารที่สำคัญของบ้านพิบูลธณรม มีอยู่ 3 หลัง ได้แก่

อาคาร 1  เป็นตึกสร้างแบบตะวันตก ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน ฉาบเรียบ ทาสีเหลือง-ขาว ลายด้านนอกผนังเซาะเป็นร่องตามแนวยาวเฉพาะชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นผนังเรียบ แต่มีการตกแต่งผนังตรงมุมอาคารทั้งสองด้าน มีลายปูนปั้นประดับอยู่เหนือ-ใต้กรอบหน้าต่าง โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าอาคารที่ชั้นสองลายปูนปั้นประดับจะมีความงดงามมากทีเดียว ใต้ชายคาก็มีการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นวางเป็นเส้นยาวโดยตลอด โครงสร้างหลัก เป็นชนิดกำแพงรับน้ำหนัก (Wall Bearing) ตกแต่งประดับประดาอย่างเรียบง่ายด้วยลายปูนปั้น ประดับในส่วนของกรอบประตูและหน้าต่าง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาผสมทรงมนิลา มุงกระเบื้องว่าว มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างประมาณ 26.30 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร สูง 2ชั้น มีทางเข้าหลายทางแต่บันไดทางขึ้นหลักอยู่ทางด้านหน้าและทางด้านข้าง พื้นชั้นล่างยกพื้นสูงขึ้นจากถนน ก่อผนังปิดใต้ถุนโดยรอบ โดยเจาะเป็นช่องระบายอากาศเว้นไว้เป็นระยะห่างๆ กัน ด้านหน้าอาคารเป็นลานกว้างมีพื้นที่เปิดโล่ง

อาคาร 2  เป็นตึกสร้างแบบตะวันตก เป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก รีไววัล (Classic Revival) ลักษณะเด่นนอกจากตัวสถาปัตยกรรมแล้ว ยังได้แก่การตกแต่งที่มีอย่างครบถ้วน ทั้งการแกะสลัก ประติมากรรม และจิตรกรรม ซึ่งองค์ประกอบ ส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลศิลปะเรอเนสซองส์

ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ผังโดยรวมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างเสา-คาน ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลือง-ขาว ด้านหน้ามี 2 ชั้น ตอนกลางมีทางขึ้นไปอีกห้องหนึ่ง เป็น 3 ชั้น ส่วนด้านหลังเป็นห้องชั้นเดียวเพดานสูง ลักษณะเป็นห้องโถงยาวรูปไข่ยื่นออกมาจากอาคาร 

สำหรับประตูทำเป็นประตูไม้บานเฟื้ยมติดกระจกสี ด้านข้างทางเข้าโถงใหญ่ เป็นประตูบานพับไม้สักแกะลายเถาผลไม้ หน้าต่างบานเกล็ดทรงสี่เหลี่ยมยาว ประดับรูปศีรษะโคนนทิ สำหรับหน้าต่างโดยรอบเป็นหน้าต่างบานไม้ เหนือหน้าต่างมีปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาเช่นเดียวกัน

ภายในอาคารมีห้องโถงใหญ่ผังกลม มีไว้เพื่อใช้จัดประชุมและงานเลี้ยงมาตั้งแต่อดีต มีทางเชื่อมจากประตูหน้า โถงด้านนอกเป็นห้องสี่เหลี่ยมเชื่อมเข้าโถงด้านในรูปปีกโค้งมนกึ่งกลางเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตก เรื่องรามเกียรติ์ ภาพทศกัณฐ์ลักนางสีดากำลังต่สู้กับนกหัสดายุ ถัดมาประดับไม้สักสลักลายเถาไม้ดอกถึงขอบผนัง ติดทวยหูช้างไม้สักคู่โดยรอบ ถัดมาเป็นภาพสีเถากุหลาบมีสีพื้นเป็นสีฟ้า ผนังประดับไม้สักแกะสลักลายเถาผลไม้ มีเสาไม้สักกลมตั้งฐานไม้สี่เหลี่ยมเป็นซุ้มโค้ง ส่วนเพดานห้องโถงนอกเขียนภาพเมขลาล่อแก้วรามสูร

ชั้นที่ 2 ของอาคาร มีห้อง 2 ห้อง ซึ่งผนังสีขาว เพดานมีลวดลายปูนปั้นเขียนสีเป็นลายดอกไม้เถาทั้งสองห้อง ทั้งสองห้องนี้มีระเบียงที่สามารถมองเห็นบริเวณภายนอกอาคาร และระเบียงนี้ยังมีทางเดินเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวอาคารหลังที่ 1 ได้ ชั้น 3 ของอาคารมีห้องเพียงห้องเดียว ทาสีขาวตลอดทั่วทั้งห้อง

สำหรับพื้นที่สวนทางด้านทิศตะวันตกของอาคาร ในปัจจุบันนี้พื้นที่ส่วนนี้ถูกปูด้วยอิฐซีเมนต์บล็อกทั่วทั้งพื้นที่ มีกระบะต้นไม้ที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนด้านบนอยู่ 5 กระบะ ภายในกระบะปลูกต้นไม้ยืนต้น ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางอยู่ทุกกระบะ บริเวณลานน้ำพุถูกปูด้วยกระเบี้องอิฐบล็อกลวดลายต่างๆ ส่วนรายละเอียดของตัวน้ำพุ บ่อน้ำ ฐานของบ่อน้ำเป็นหินล้างสันนิษฐานว่าเป็นของเดิม มีซ่อมแซมด้วยปูนซีเมนต์บ้างเล็กน้อยในส่วนของฐานของบ่อน้ำพุ แต่ยังคงลักษณะเดิมไว้ ส่วนรอบๆ บ้านในด้านทิศอื่น ถูกดัดแปลงพื้นที่ ราดทับด้วยปูนซีเมนต์ เพื่อทำเป็นถนนและทางเดิน

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกสถานที่หนึ่งของบ้านพิบูลธรรม ที่สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับบ้าน พิบูลธรรม อาคาร 2 ได้แก่ ศาลาไม้ที่อยู่ด้านข้างหรือด้านตะวันตกบ้านพิบูลธรรม อาคาร 1 ริมคลองผดุงกรุงเกษม หรือทางด้านใต้ของบ้านพิบูลธรรม อาคาร 2 เป็นอาคารไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ตัวศาลาเป็นไม้สักทั้งหลัง เพดานปูฝ้า มีทวยเล็กติดโดยรอบภายใน พื้นภายในปูด้วยหินอ่อน ด้านนอกทำซุ้มโค้งรอยศาลา เหนือซุ้มประตูแกะลายเถาดอกไม้ทานตะวัน มีเสาคู่และเสาสามที่มุม ตั้งบนบานไม้สี่เหลี่ยมแทนระเบียง พื้นปูหินอ่อนพื้นที่รอบศาลาไม้ถูกปูด้วยพื้นอิฐบล็อกทั่วทั้งบริเวณ

ศาลาไม้

พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของบ้านพิบูลธรรม เป็นพื้นที่สวน ภายในสวนมีศาลาไม้ ที่สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับอาคาร 2  ตั้งอยู่ทางด้านหน้าตึกบ้านพิบูลธรรมหลังที่ 2 เป็นศาลาโถงไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ตัวศาลาเป็นไม้สักทั้งหลัง เพดานปูฝ้า มีทวยเล็กติดโดยรอบภายใน พื้นภายในปูด้วยหินอ่อน ด้านนอกทำซุ้มโค้งรอยศาลา เหนือซุ้มประตูแกะลายเถาดอกไม้ทานตะวัน มีเสาคู่และเสาสามที่มุม ตั้งบนบานไม้สี่เหลี่ยมแทนระเบียง พื้นปูหินอ่อนพื้นที่รอบศาลาไม้ถูกปูด้วยพื้นอิฐบล็อกทั่วทั้งบริเวณ

ารขุดค้นทางโบราณคดี (กรรณิการณ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2562)

ระหว่างปี 2546-2547 กระทรวงพลังงานจะบูรณะบ้านพิบูลธรรมจึงได้ว่าจ้าง หจก.ประดิษฐ์ธนานุรักษ์ ดำเนินงานอนุรักษ์อาคาร โดยในระหว่างการอนุรักษ์ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีไปพร้อมกัน การขุดค้นในครั้งนั้นทำให้ได้ข้อมูลด้านสภาพภูมิทัศน์ในอดีตของบ้านพิบูลธรรม

จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่สวนรอบนอกของบ้านพิบูลธรรม ในปี 2547 ทำให้ทราบลักษณะของสวนในช่วงเวลานั้น ดังนี้

ระยะเมื่อแรกสร้าง ลักษณะของสวนเดิมเป็นสวนดิน มีกระถางต้นไม้ก่ออิฐ 3 กระบะ ประดับสวนด้วยลานน้ำพุ ลานน้ำพุเดิมเป็นเนินดินปลูกหญ้า มีผังเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยส่วนฐานของครึ่งวงกลมหันสู่ตัวบ้าน มีน้ำพุอยู่ตรงกลางลาน

ระยะต่อมา มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสวนหลายครั้ง มีการปูพื้นกระเบื้องปูนทับลงบนสวนดิน ก่อขอบลานน้ำพุขึ้นใหม่ ปูพื้นภายในลานน้ำพุด้วยกระเบื้องปูนแทนที่สวนดิน มีการวางระบบสุขาภิบาลและท่อน้ำภายในสวน ก่อกระถางต้นไม้ใหม่แทนที่กระถางต้นไม้เดิม และบางพื้นที่ถมทรายปูพื้นใหม่ด้วยปูนบล็อกปัจจุบัน

ส่วนบริเวณศาลาไม้ ด้านที่หันไปทางสะพานกษัตริย์ศึก เคยเป็นบ่อน้ำมาก่อน มีบันไดศาลา 8 ขั้น ทอดยาวลงไปในบ่อน้ำที่เป็นเขามอ โดยขั้นบันไดที่ 6 เป็นชานพักปูด้วยหินอ่อนลายเดียวกับศาลาและบ้านพิบูลธรรม ต่อมาบ่อน้ำนี้ถูกถมให้มีระดับเดียวกับศาลา

ทางเดินเมื่อแรกสร้างจากประตูรั้วบ้านจะติดคลองผดุงกรุงเกษม ใช้เรือเป็นพาหนะสัญจร มีทางเดินอิฐจากหน้าประตูบ้านมายังศาลาและต่อเนื่องไปประตูบ้านพิบูลธรรม ทางเดินอิฐนี้มีความกว้าง 130 เซนติเมตร
มีการบูรณะอย่างน้อย
5 ครั้ง โดยปรับเปลี่ยนพื้นด้านบน จากพื้นกระเบื้องอิฐ เป็นกระเบื้องปูน ต่อมารื้อพื้นถมดินทั้งหมดเพื่อยกระดบพื้นทางเดินโดยใช้กรวดล้างและตัดแนวทางเดินบางส่วนออก ในปัจจุบันพื้นกรวดล้างถูกรื้อออกแล้วปูพื้นด้วยปูนบล็อก

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน. 106 ปี บ้านนนที: 50 พลังงาน. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2545.

กรมศิลปากร. "บ้านพิบูลธรรม" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2522.

ผุสดี ทิพทัส. บ้านในกรุงรัตนโกสินทร์เล่ม 2 รัชกาลที่ 4-5 พ.ศ. 2399-2453. กรุงเทพฯ:  โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประดิษฐ์ธนานุรักษ์. รายงานการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีบ้านพิบูลธรรม. เอกสารอัดสำเนา, 2547.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี