ศุลกสถาน


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : โรงภาษีร้อยชักสาม

ที่ตั้ง : ซ.เจริญกรุง 36 ถ.เจริญกรุง

ตำบล : บางรัก

อำเภอ : เขตบางรัก

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.725187 N, 100.513888 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ศุลกสถานตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 36 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถเดินทางโดย

รถเมล์สาย 1, 15, ปอ.35, ปอ.76

รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม หรือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม สถานีสะพานตากสิน หรือสถานีสุรศักดิ์ จากนั้นต่อมอเตอร์ไซต์รับจ้าง หรือรถสองแถว หรือเดินเท้า 

เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าวัดม่วงแค หรือโอเรียนเต็ล

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมภายนอกอาคารได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมธนารักษ์

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 131ง วันที่ 28 ธันวาคม 2545

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เป็นอาคารโบราณสถานที่กำลังได้รับการปรับปรุงเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง พร้อมด้วยห้องอาหาร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2429

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท มรดกโลก จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

ขุดค้นและขุดตรวจทางโบราณคดีศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) บางรัก

ชื่อผู้ศึกษา : กระทรวงการคลัง, บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2562

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดตรวจ


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งค้าขาย/เมืองท่า/ตลาด, จุดขนส่ง/ขนถ่ายคนหรือสินค้า

สาระสำคัญทางโบราณคดี

นับตั้งแต่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาบาวริงกับรัฐบาลอังกฤษเมื่อปี 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นการเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก มีผลให้ไทยต้องจัดตั้งศุลกสถาน (CUSTOMS HOUSE) หรือโรงภาษีขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยละสาม (ร้อยชักสาม) และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ท้ายสัญญา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฎิรูปการคลังขึ้นใหม่และย้ายโรงภาษีจากปากคลองตลาดมาที่บางรัก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนเนื้อที่ 4 ไร่เศษ ติดกับสถานทูตฝรั่งเศส โดยเริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคำกราบบังคมทูลของพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) อธิบดีกรมศุลกากรคนแรก สร้างเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก และสมมาตรตามวิถีของปัลลาดีโอ (Neo-Palladian) เป็นอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัวไอ (นารีนาฏ ภัยวิมุติ 2556) โยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi/Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลีสัญชาติออสเตรีย-ฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง 

อาคารศุลกสถานเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึง พ.ศ. 2492 กรมศุลกากรจึงย้ายไปอยู่ที่คลองเตย ศุลกสถานก็เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2502 ใช้เป็นสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก จนกระทั่งย้ายออกไป 

สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลง “โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม” ระหว่างกระทรวงการคลังกับ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ยู ซิตี้ พร้อมด้วยกรมศิลปากร ได้เริ่มลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีพร้อมทั้งบันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมของศุลกสถาน ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เพื่อบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารโดยละเอียด โดยข้อมูลและโครงสร้างเดิมที่ค้นพบจากการขุดค้นดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการบูรณะอาคารศุลกสถานและการก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ในอนาคต โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม จะใช้เวลาดำเนินการรวมประมาณ 6 ปี ประกอบด้วยการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี การบูรณะซ่อมแซมอาคารเดิมจำนวน 3 หลัง ด้วยการเสริมโครงสร้างและความแข็งแรง การตกแต่งภายนอก และการตกแต่งภายใน รวมถึงการสร้างอาคารใหม่อีก 1 หลัง โดยคาดการณ์ว่าการดำเนินงานทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2568 ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 4,600 ล้านบาท และในลำดับต่อไปของการพัฒนาโครงการฯ จะครอบคลุมไปถึงการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง พร้อมด้วยห้องอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน (สยามรัฐ 2562)

ผังของศุลกสถาน ประกอบด้วยตึกสำคัญ 3 หลัง ได้แก่

1. ตึกหลังกลาง หรืออาคารศุลกสถาน (custom house) เป็นตึกใหญ่รูปสี่เหลี่ยมยาวแผ่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา หลังคาทรงปั้นหยาทำเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องจีนทรงกระบอกแบบไม้ไผ่ผ่าซีกและกระเบื้องกาบกล้วยอันเป็นลักษณะการผสมผสานลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกและจีนหลังคานี้คลุมตลอดแนวอาคารไม่มีชายคา ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นขนาดใหญ่ตอนกลางเสริมต่ออีกชั้นหนึ่งเหนือขึ้นไปเป็นคูหาติดตั้งนาฬิกาทรงกลมขนาดใหญ่ ตัวอาคารศุลกสถานเป็นการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยคลาสสิกมาใช้ใหม่กล่าวคือผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวแผ่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยามีระเบียงทางเดินด้านหน้าซึ่งประกอบด้วยซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ชั้นล่างเป็นซุ้มหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมเรียบๆส่วนชั้น 2 ถึง 3 เป็นหน้าต่างซุ้มโค้งขอบระเบียงเป็นลูกมะหวดปูนปั้นมีเสาอิงหรือเสาหลอกเป็นระยะสลับกับแนวหน้าต่างช่วงกลางตอนบนก่อเป็นหน้าบันจั่ว (pediment) ติดตั้งนาฬิกาทรงกลมขนาดใหญ่หากเดินทางมาทางน้ำจะเห็นและได้ยินเสียงนาฬิกาบอกโมงยามได้แม้ในระยะไกลเหนือหน้าบันมีแผงกระบังปูนปั้นรูปพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินหรือที่เรียกว่าตราแผ่นดินซึ่งตรานี้ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ตราอาร์ม)บางส่วนได้หักหายไปทั้งนี้ยังได้ใช้เป็นเป็นสัญลักษณ์ของศุลกสถานอีกด้วย การออกแบบทางสถาปัตยกรรมจัดให้มีการวางองค์ประกอบ 2 ข้างสมมาตร (symmetrical balance) และให้ความสำคัญกับด้านหน้าอาคาร (facade)โครงสร้างอาคารเป็นระบบผนังรับน้ำหนักแบบตะวันตกเห็นได้จากการใช้ช่องโค้งแบบอาร์ค (arch) เป็นส่วนรองรับและถ่ายเทน้ำหนักผนังอาคารจึงค่อนข้างหนาขนาดประมาณ 80 ถึง 90 เซนติเมตร ตรงกลางด้านหน้าตึกมีประตูทางเข้าขนาดใหญ่เป็นทางเข้าหลักสู่ตัวอาคารเมื่อเดินเข้ามาจะพบโถงขนาดใหญ่1ห้องตรงกลางมีบันไดหลักขึ้นลงภายในอาคารลักษณะเป็นบันไดไม้เนื้อแข็งเดินขึ้นได้สองทางต่อด้วยชานพักราวบันไดไม้เซาะร่องตกแต่งด้วยลูกมะหวด สิ่งที่น่าสนใจคือตอนกลางของตึกซึ่งเชื่อมด้วยบันไดหลักนิยมเว้นที่ว่างไว้สำหรับเป็นโถงในอาคารแต่ละชั้น แต่เดิมชั้นสามนับจากชั้นล่างของศุลกสถานเคยใช้เป็นสถานที่เต้นรำของชาวต่างประเทศในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3-4 ครั้งรวมทั้งงานสมโภชเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกด้วยห้องโถงชั้นบนที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานเต้นรำนี้ประดับด้วยกระจกเงาแผ่นใหญ่และฉากรูปเขียนสีน้ำมันเพดานห้อยโคมระย้าแก้วปัจจุบันไม่ปรากฏผนังภายนอกอาคารปัจจุบันฉาบปูนเรียบชั้นล่างเจาะช่องประตูและหน้าต่างทรงสี่เหลี่ยมสลับกันไปเป็นระยะๆผนังภายในฉาบปูนเรียบทาสีการแบ่งพื้นที่ภายในอาคารโดยทั่วไปมีการกั้นห้องแยกจากกันอย่างเป็นสัดส่วนโดยมีระเบียงทางเดินหน้าห้องเป็นตัวเชื่อม การใช้ประตูและหน้าต่างนับเป็นสิ่งแสดงถึงรูปแบบที่นิยมแพร่หลายในยุคนั้นเช่นกันประตูเป็นแบบบานเปิดคู่ลูกฟักไม้กระดานดุน หน้าต่างเป็นแบบบานทึบผสมบานเกร็ดช่องแสงเป็นรูปซุ้มโค้งครึ่งวงกลมแบบอาร์ค (arch) ประดับด้วยกระจก ฝ้าและเพดานไม้โดยทั่วไปเป็นไม้ตีสลับในแนวนอนภายในโถงกลางของแต่ละชั้นลักษณะฝ้าเพดานย่อมุมขึ้นไปเล็กน้อยมีการติดตั้งช่อโคมไฟบนเพดานซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ส่วนฐานอาคารเป็นแบบโบราณกล่าวคือเป็นฐานยกพื้นสูงฐานล่างสุดเดิมคงปูด้วยท่อนไม้ซุงขนาดใหญ่เป็นตารางคล้ายฐานแพแล้วก่ออิฐขึ้นไปเป็นฐานรองรับน้ำหนักของอาคารเพื่อป้องกันการทุดตัวของดินริมฝั่งแม่น้ำฐานอาคารในระดับพื้นชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนด้านนอกฐานตกแต่งด้วยลวดบัวปูนปั้นตามแนวรอบอาคารไม่มีช่องระบายอากาศ ด้านในพื้นอาคารมีลักษณะเป็นพื้นไม้ทำจากไม้เนื้อแข็งตีสลับตามแนวนอนตลอดความกว้างของห้องเดิมพื้นไม้นี้น่าจะขัดมันเรียบปัจจุบันพื้นส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย (กรมศิลปากร 2564)

2. อาคารสองชั้นด้านทิศเหนือ ตั้งอยู่ใกล้กองตำรวจน้ำและมัสยิดฮารูณ วางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำ มีสองชั้นเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก (มีตัวหนังสือ Import and Export Department ที่หน้าบันตัวตึก) ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนตัวอาคารวางในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกโครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องกาบกล้วยและกระเบื้องทรงแบบกระบอกไม้ไผ่หน้าบันก่อทรงจั่วกรอบหน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นประตูมีลักษณะเป็นแบบบานทึบลูกฟักไม้กระดานดุนหน้าต่างทรงโค้งแบบอาร์คบานหน้าต่างเป็นแบบบานทึบและแบบบานทึบผสมบานเกร็ดไม้ช่องแสงโค้งประดับกระจกทรงแฉกคล้ายรัศมีของพระอาทิตย์มีบันไดขึ้นลงภายในอาคารทางด้านทิศตะวันตกฐานตกแต่งปูนปั้นเป็นลวดบัวตลอดแนวฐานอาคาร (กรมศิลปากร 2564)

3. อาคารสองชั้นด้านทิศใต้ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานทููตฝรั่งเศสมีลักษณะเป็นตึกยาวสองชั้น ก่ออิฐถือปูน ตัวอาคารวางในแนวทิศตะวันออกตะวันตกหรือวางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำ ในอดีตใช้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและไปรษณีย์ต่างประเทศ โครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องกาบกล้วยและกระเบื้องทรงกระบอกแบบไม้ไผ่จากมุมมองอาคารทางทิศใต้ด้านติดถนนทางเข้าบริเวณประตูสถานทูตจะเห็นการตกแต่งอาคารที่น่าสนใจกล่าวคือลักษณะคล้ายอาคารทรงปั้นหยาหน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นทรงโค้งเล็กน้อย(Segmenta arch)ส่วนหน้าบันด้านทิศตะวันตกเป็นทรงจั่วผนังอาคารโดยรอบประดับปูนปั้นศิลปะตะวันตกประตูมีลักษณะเป็นแบบบานทึบลูกฟักไม้กระดานดุนและแบบบานทึบทำบานกระทุ้งตรงกลางผสมซี่ลูกกรงไม้ หน้าต่างทรงโค้งบานหน้าต่างเป็นแบบบานทึบและแบบบานทึบผสมบานเกร็ดไม้ช่องแสงประดับลวดลายฉลุไม้ในซุ้มโค้งและช่องแสงสี่เหลี่ยมประดับลูกกรง ในช่วงล่างอาคารหรือส่วนฐานตกแต่งปูนเป็นเป็นลวดบัวตลอดแนวฐานอาคาร (กรมศิลปากร 2564)

ส่วนการขุดค้นในปี 2549 ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นเจ้าของอาคารตามกฎหมาย ได้เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอประมูลและประกวดแบบโครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ศุลกสถานหรือโรงภาษีร้อยชักสาม เพื่อจัดทำเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ เนื่องด้วยศุลกสถานเป็นโบราณสถาน มีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งบริษัท มรดกโลก จำกัด ได้เป็นผู้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนั้น พบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ เช่น

1. แนวคานอิฐของบ้านของนายนุตอาหารบริรักษ์

นายนุตอาหารบริรักษ์เป็นผู้จัดการภาษีร้อยชักสามในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ลักษณะเป็นบ้านตึกทรงจีนกลุ่มใหญ่ ได้รับสืบทอดมาจากบิดาคือ เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ซึ่งมีเชื้อสายจีน ต่อมาในปี พ.ศ.2426
มีการปรับปรุงบ้านของนายนุตอาหารบริรักษ์เป็น “ออฟฟิตโรงภาษีหลวง”

จากการขุดค้นพบแนวคานบ้าน เป็นแนวก่ออิฐ 2 แนว มีความกว้างประมาณ 40 - 50 เซนติเมตร บางส่วนของแนวอิฐนี้มีการปูพื้นทางเดินด้วยอิฐและกระเบื้องดินเผา จากลักษณะของฐานรากที่พบเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารพระราชวังสราญรมย์ ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นอาคาร 2 ชั้น

แนวคานอิฐที่พบสันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านนายนุตอาหารบริรักษ์ที่ถูกปรับปรุงเป็นอาคารภาษีหลวงในสมัยแรก และถูกรื้อถอนบางส่วนไปในการก่อสร้างอาคารศุลกสถาน จากการเปรียบเทียบแผนผังอาคารเดิมกับตำแหน่งของแนวคานอิฐที่พบ พบว่าแนวคานอิฐนี้วางอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับแผนผังอาคารบ้านทรงจีนของนายนุตอาหารบริรักษ์

2. แนวคานอิฐของบ้านของนายเวท (เวท วัชราภัย)

นายเวท (เวท วัชราภัย) เป็นหลานของเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) บ้านของนายเวทตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของบ้านนายนุตอาหารบริรักษ์ มีลักษณะเป็นบ้านทรงจีนกลุ่มขนาดใหญ่ มีขนาดใกล้เคียงกับบ้านของ
นายนุตอาหารบริรักษ์ ในสมัยต่อมาได้ถวายบ้านของตนเองเพื่อยกให้เป็นพื้นที่ของโรงภาษีหลวงส่วนหนึ่ง

ลักษณะแนวคานที่พบ เป็นแนวก่ออิฐ 1 แนว มีความกว้างประมาณ 40 - 50 เซนติเมตร จากลักษณะของฐานรากที่พบเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารพระราชวังสราญรมย์ ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นอาคาร 2 ชั้น
และมุงกระเบื้องหลังคาด้วยกระเบื้องดินขอ เนื่องจากพบกระเบื้องมุงหลังคาดินขอจำนวนมากในพื้นที่ขุดค้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "ศุลกสถาน" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/

กรมศุลกากร. กรมศุลกากร 120 ปี ที่ระลึกวันสถาปนากรมศุลกากรครบรอบ 120 ปี 4 กรกฎาคม 2537. กรุงเทพฯ: กรมศุลากร, 2537.

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

นารีนาฏ ภัยวิมุติ. "รายงานพิเศษ/ อนาคต!มรดกชาติ“ศุลกสถาน”(โรงภาษี)" สยามรัฐ. 11 เมษายน 2556

บริษัท มรดกโลก จำกัด. รายงานการขุดค้นและขุดตรวจทางโบราณคดีศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) บางรัก. เสนอต่อ Natural Park Public Company Limited. เอกสารอัดสำเนา, 2549.

สยามรัฐ. "กรมธนารักษ์ ร่วมมือกับ “ยู ซิตี้” บูรณะอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี “โรงภาษีร้อยชักสาม” พลิกฟื้นพื้นที่ย่านเจริญกรุงสู่เมืองแห่งความรุ่งเรืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา" สยามรัฐ. วันที่ 10 ตุลาคม 2562.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี