ชุมชนเลื่อนฤทธิ์


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ที่ตั้ง : ซ.เลื่อนฤทธิ์ ถ.เยาวราช

ตำบล : จักรวรรดิ

อำเภอ : เขตสัมพันธวงศ์

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.743784 N, 100.505074 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ตั้งอยู่ในซอยเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช สามารถเดินทางได้โดย รถเมล์สาย  1, ปอ.7, ปอ.21, 49, 85, ปอ.507 หรือรถไฟใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล MRT BLUE LINE สถานีวัดมังกร หรือสถานีสามยอด

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยวย่านเก่าและเป็นแหล่งการค้าสำคัญย่านเยาวราช สามารถเข้าเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าได้ทุกวั

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกวัดตึก ถนนเยาวราช มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

4 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556, พ.ศ.2557, พ.ศ.2558

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการศึกษาทางโบราณคดีเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกวัดตึก ถนนเยาวราช มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชุมชนประกอบด้วยชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ชุมชนมีพัฒนาการเติบโตควบคู่ไปกับถนนเยาวราช เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของคุณหญิงเลื่อน ภรรยาหลวงฤทธิ์ นายเวร ชาวบ้านจึงเรียกชื่อย่านนี้ว่า เลื่อนฤทธิ์ ต่อมาคุณหญิงเลื่อนได้ขายที่ดินให้กับพระคลังข้างที่ และได้พัฒนาปรับปรุงเป็นตึกแถวพาณิชย์ แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดเป็นอาคารพาณิชย์ยุคแรกๆ ของไทย ในช่วงแรกของการใช้งานอาคารนั้น เป็นห้องเช่าของผู้เดินทาง มีโรงน้ำชาตั้งอยู่ในชุมชน ต่อมาชาวจีนฮากกาหรือจีนแคะย้ายเข้ามาจับจองและอยู่อาศัยจนกายเป็นย่านคนจีนแตะที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า "เซี่ยงฮู้ตู้" จนเมื่ออุตสาหกรรมผ้าเจริญเติบโตมากขึ้น คนอินเดียและคนจีนกลุ่มอื่นๆ ได้เข้ามาเซ้งตึกและประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกผ้า รวมถึงสินค้าอื่นๆ (www.เลื่อนฤทธิ์.com)

ราวปี 2544 ชาวชุมชนได้รับหนังสือบอกเลิกเช่า จึงได้รวมตัวกันและเจรจากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัจริย์ ต่อมาสำนักงานฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เช้าเดิมรวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัท และเข้ามาทำสัญญาเช่าเพื่อทำการบูรณะปรับปรุงอาคารและพื้นที่ในรูปแบบอาคารอนุรักษ์และด้วยการร่วมแรงร่วมใจและร่วมทุนของชาวบ้านเองทั้งหมด บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่ากับสำนักงานฯ ในปี 2555 เป็นต้นแบบของชุมชนอนุรักษ์และะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง (www.เลื่อนฤทธิ์.com)

ในปี พ.ศ.2555 ที่ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เพื่อดำเนินการอนุรักษ์อาคารและพื้นที่ของชุมชนนั้น ในระหว่างการสำรวจสภาพอาคารเพื่อออกแบบการอนุรักษ์ ได้ดำเนินโครงการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ โดยวิธีการขุดค้นทางโบราณคดี 2 ระยะ คือ ระยะแรก ในปี 2556 ได้ขุดค้นภายในอาคาร เพื่อนำข้อมูลไปใช้ออกแบบบูรณะอาคารต่อไป ระยะที่สอง ในปี 25572558 ระหว่างดำเนินการบูรณะอาคาร ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณถนนในซอยเลื่อนฤทธิ์ เพื่อตรวจสอบร่องรอยการอยู่อาศัย และการใช้พื้นที่ในอดีต (กรรณิการ์ สุธีรัตยภิรมย์ 2562)

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ (กรรณิการ์ สุธีรัตยภิรมย์ 2562)

พื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ แต่เดิมเคยเป็นของคุณหญิงเลื่อน ผู้เป็นภรรยาของหลวงฤทธินายเวร (พุด เทพหัสดิน บุตรชายของพระยาไชยสุรินทร์ เจ้าของที่ดินเดิม) ต่อมาคุณหญิงเลื่อนขายพื้นที่นี้ให้กับกรมพระคลังข้างที่ในปี พ.ศ.2452 กรมพระคลังข้างที่ได้สร้างตึกแถวเพื่อปล่อยให้เช่าต่อไป

จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติม ดังนี้

1. ฐานรากของตึกแถวเลื่อนฤทธิ์

พื้นตึกแถวเลื่อนฤทธิ์ปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์รองพื้นด้วยปูนขาวหนา 4 เซนติเมตร และถมทรายหนา 3 เซนติเมตร ฐานรากอาคารแบบผนังรับน้ำหนักหนา 80 เซนติเมตร เรียงอิฐ 14 ชั้นอิฐ โดยเรียงตัวแบบขั้นบันไดลดหลั่นกัน 5 ชั้น ใต้ฐานรากอิฐรองพื้นด้วยปูนหนาประมาณ 26 เซนติเมตร ใต้พื้นปูนเป็นชั้นอิฐหักถมปรับพื้นที่หนาประมาณ 20 เซนติเมตร และบริเวณใต้ชั้นปูนวางรองด้วยเข็มไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 - 18 เซนติเมตร โดยเข็มไม้แต่ละต้นเรียงห่างกันราว 16 - 23 เซนติเมตร

2. ถนนเดิม

จากการขุดค้นได้พบแนวถนนเดิม เป็นถนนปูด้วยอิฐ ลึกจากผิวดินประมาณ 50 เซนติเมตร วางเรียงกัน 2 ชั้นอิฐ อิฐชั้นล่างวางแนวนอนสลับด้านสั้นด้านยาว ต่อมามีการปรับถนนใหม่ โดยถมด้วยชั้นทรายหนาประมาณ 5 - 10 เซนติเมตร แล้วจึงปูอิฐชั้นบน โดยใช้ส่วนสันอิฐวางเรียง

จากการขุดค้นทางโบราณคดีในหลุมขุดค้นที่ 14 ทำให้ทราบว่า แนวถนนนี้ได้สร้างทับบนถนนเดิมที่ปูด้วยกระเบื้องดินเผา อย่างไรก็ตาม แนวถนนที่พบบางส่วนถูกรบกวนด้วยแนวทางระบายน้ำสมัยใหม่ที่สร้างทับซ้อน น่าสังเกตว่า ในช่วงที่เป็นผืนที่ดินเดิมของคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เคยมีตลาด มีโรงละคร มีตึกแถวไม้ ซึ่งยังปรากฏร่องรอยของกลุ่มของเศษกระเบื้องมุงหลังคาเป็นจำนวนมากตกอยู่ริมถนน นอกจากนั้นได้พบภาชนะดินเผา ข้าวของต่างๆ ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เลื่อนฤทธิ์ในอดีต นอกจากเศษภาชนะดินเผาพื้นเมือง เครื่องถ้วยจีน ยุโรป ญี่ปุ่นแล้ว ยังพบไพ่นกกระจอก ขวดแก้วที่เป็นขวดน้ำหอมของบริษัทบีกริม แผ่นกระจก เกือกม้า เหรียญรัชกาลที่ 5 เปลือกหอยแครง หอยโข่ง แมลงภู่ กระดูกหมู อีกด้วย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด. รายงานผลการดำเนินงานโครงการขุดค้นทางโบราณคดีพื้นที่เลื่อนฤทธิ์. เอกสารอัดสำเนา, 2558.

บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด.  "ชุมชนเลื่อนฤทธิ์" (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงจาก www.เลื่อนฤทธิ์.com

บริษัท สยามอินเตอร์แอดไวเซอรี่ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด. โครงการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์. เอกสารอัดสำเนา, 2556.

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์. "โครงการซอยเลื่อนฤทธิ์." (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงจาก http://www.crownproperty.or.th/post/โครงการซอยเลื่อนฤทธิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี