โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดแหลม, วัดหัวบ้าน, วัดหัวแหลม
ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถ.ถวาย
ตำบล : ท่าฉลอม
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สมุทรสาคร
พิกัด DD : 13.541315 N, 100.271075 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน
วัดแหลมสุวรรณาราม ตั้งอยู่ในตัวเมืองท่าฉลอม จากวงเวียนท่าฉลอม ใช้ถนนโสมมนัสมรรคา มุ่งหน้าทางเหนือ ประมาณ 400 เมตร ถึงวัดแหลมสุวรรณาราม
นอกจากอุโบสถไม้และพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถแล้ว บริเวณริมแม่น้ำท่าจีนยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์ใหญ่ "สมเด็จองค์พระปฐมพระพุทธสิขีจักรพรรดิมุนีสัมพุทธชยันตีศรีสาคร" พุุทธศาสนิกชนสามารถเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแหลม และผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานได้ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. สามารถโทรติดต่อวัดได้ที่เบอร์ 0-3449-8059
วัดแหลมสุวรรณาราม, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ปัจจุบันสภาพโดยทั่วไปเป็นเมือง และแหล่งอุตสาหกรรม วัดแหลมสุวรรณารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน บริเวณที่เป็นคุ้งน้ำกระเพาะหมู ของตำบลท่าฉลอม สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นเมือง ทิศเหนือติดแม่น้ำท่าจีน ทิศใต้ติดคลองสวนอ้อย ทิตะวันออกติดคลองสาธารณะ ทิศตะวันตกติดที่ดินรถไฟ
สภาพปัจจุบันของอุโฐสถที่เป็นโบราณสถาน ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโดยยกพื้นบริเวณลานด้านนอกอุโบสถและพื้นอุโบสถให้สูงขึ้น พื้นระเบียงและพื้นภายในอุโบสถได้รับการซ่อมแซมใหม่ แต่ยังคงเก็บพื้นกระเบื้องของเดิมให้เห็นในบางพื้นที่ เช่น ระเบียงด้านหน้าอุโบสถ พื้นภายในอุโบสถด้านหน้าพระประธาน นอกจากนี้ผนังอาคารไม้และบานหน้าต่างได้รับการซ่อมแซมโดยการทาสีใหม่ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553)
แม่น้ำท่าจีน
ตะกอนดินเคลย์ที่ราบน้ำขึ้นถึงปัจจุบันบนตะกอนดินเคลย์ทะเล สมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2559)
วัดแหลมสุวรรณาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน บริเวณที่เป็นคุ้งน้ำกระเพาะหมู ในตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร ตั้งเมื่อ พ.ศ.2369 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2422 (กองพุทธศาสนา 2545) โบราณสถานสำคัญภายในวัดได้แก่ อุโบสถไม้
อุโบสถไม้ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553) ราชบุรี ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยขนาดความยาวห้าห้อง เป็นอาคารไม้ทาสีเหลืองนวล ฐานชั้นล่างสุดก่ออิฐถือปูนยกเป็นพื้นเตี้ย ๆ มีบันไดทางขึ้นจากด้านข้าง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกและชายคากันสาดรองรับด้วยเสาไม้กลมโดยรอบ เครื่องลำยองประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์เป็นรูปมังกร ประดับกระเบื้องตามแบบศิลปะจีน หน้าบันเป็นลายด้านขดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ตรงกลางเป็นรูปเทวดาบนช้างสามเศียร
ตัวอาคารอุโบสถเป็นอาคารไม้ทาสีเหลืองนวล ประกอบด้วยผนังส่วนล่างทำแบบฐานปัทม์ (ประกอบด้วยบัวคว่ำ ท้องไม้ ลวดบัว และบัวหงาย) ส่วนบนตีเป็นฝาไม้ซ้อนกัน มีบันไดและประตูทางเข้าออกอุโบสถทางด้านหน้า 2 ประตู ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์ โดยประดิษฐานลดหลั่นกันลงมา ได้แก่ พระพุทธรูปหลวงปู่แสนสุข (พระประธาน) หลวงพ่อเชียงแสน และหลวงพ่อดำ ซึ่งองค์พระเป็นสีดำที่แต่เดิมองค์พระเป็นไม้ แต่ปัจจุบันได้ครอบด้วยปูน
ที่บริเวณผนังด้านด้านข้างภายในอุโบสถมีเสาไม้กลมรองรับหลังคา และระหว่างเสาแต่ละต้นทำเป็นช่องหน้าต่าง พื้นภายในอุโบสถปูด้วยกระเบื้องลายสีน้ำเงินและสีขาว
ผนังอุโบสถแห่งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ บริเวณระหว่างช่องหน้าต่างทางด้านนอกของอาคาร มีการประดับด้วยพระพุทรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัวปูนปั้น ทาด้วยสีทองทั้งองค์ ด้านหน้าของฐานบัวมีชายผ้าทิพย์ห้อยลงมา พระพุทธรูปส่วนใหญ่ได้รับการพอกปั้นปูนซ่อมแซมและมีการทาสีเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะมีการตกแต่งขอบของจีวรและสังฆาฏิด้วยลายคล้ายลูกประคำขนาบอยู่สองข้างของลายสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งมี่การขูดขีดตกแต่งภายในเป็นลวดลายคล้ายดอกจัน
(ก่อนหน้านี้ พระพุทธรูปที่ประดับอยู่ผนังด้านนอกอาคาร จะมีการทาด้วยสีสันสดใส ฐานบัวปูนด้วยสีแดง-ขาว-น้ำเงิน หรือพระพักตร์ พระวรกาย พระเกตุมาลา รวมทั้งสีจีวรและสีสังฆาฏิ ก็จะแตกต่างกัน ตามการซ่อมแซมแต่ละครั้ง เช่น พระพุทธรูปบางองค์สีพระวรกายเป็นสีขาว บางองค์เป็นสีเหลือง บางองค์ครองจีวรสีเหลือง ชายสังฆาฏิเป็นสีแดง บางองค์ครองจีวรสีแดงมีชายสังฆาฏิเป็นสีเหลืองหรือสีขาว ซึ่งหากพิจารณาจากการทาสีจีวรและการทาสีพระโอษฐ์แล้ว ช่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำพระพุทธรุปปูนปั้นเหล่านี้ น่าจะได้รับอิทธิพลจากการทำพระพุทธรูปตามแบบพม่าหรือแบบมอญ ที่มักทำพระพุทธรุปที่มีพระโอษฐ์แดง และการนุ่งห่มจีวรสีแดงตามแบบพระมอญ-พม่า)
แต่ที่มีลักษณะพิเศษองค์หนึ่งคือ พระพุทธรูปสำริด ที่มีการปิดทองและเขียนสี ประทับนั่งบนฐานบัวและที่ชายผ้าทิพย์มีข้อความว่า “จีนใช้แม่ตอมสร้างไว้ในสาสน” นอกจากนี้ที่บริเวณชายผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปบางองค์ก็มีข้อความที่เขียนไว้ด้วยตัวอักษรจีน
นอกจากนี้ที่ผนังด้านนอกอุโบสถยังมีการตกแต่งซุ้มหน้าต่างและซุ้มประตูด้วยการทำลวดลายปูนปั้นและทาด้วยสีเหลือง สีส้ม สีแดง และสีน้ำเงิน กรอบซุ้มหน้าต่างและกรอบซุ้มประตูทั้งสองข้างทำเป็นเสา ยอดเสาและโคนเสาเป็นลวดบัว ทำเป็นลายรูปหกเหลี่ยมเรียงต่อกันในแนวนอน ขนาบอยู่ด้านบนและล่างของแถวของลายดอกกไม้สี่กลีบเรียงซ้อนกัน พื้นที่เสาตรงกลางทำลายก้านต่อดอก เป็นรูปดอกไม้สี่กลีบเรียงต่อกันในแนวตั้งและมีก้านเชื่อมในแต่ละดอก
บริเวณเหนือกรอบประตูตกแต่งด้วยลายดอกไม้สี่กลีบและลายกระจังเรียงต่อกัน ถัดขึ้นไปตรงกลางเป็นซุ้ม ประดับตกแต่งคล้ายเครื่องลำยองของหน้าบันที่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์เป็นรูปหัวมังกร ลายตรงกลางทำเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งบนดอกบัวกลางสระบัวที่มีทั้งดอกบัวตูม ดอกบัวบาน และใบบัว ระเบียงทางเดินโดยรอบอุโบสถมีเสาลูกกรงไม้เชื่อมต่อกันไปในแนวเดียวกันกับเสารองรับชายคากันสาด พื้นระเบียงบางส่วนได้รับการซ่อมแซมแล้ว แต่ยังคมมีพื้นเดิมบางส่วนบริเวณทางเข้าออก อุโบสถด้านหน้าปูด้วยกระเบื้องสีแดง-เหลือง-ขาว เป็นลายดอกไม้ในวงกลมเชื่อ่มต่อกันไปเป็นชุด ๆ ส่วนพื้นด้านข้างปูด้วยกระเบื้องรูปหกเหลี่ยมสีแดงลีขาวเชื่อมต่อกันล้ายรูปรังผึ้ง
ด้านนอกอุโบสถมีซุ้มเสมา ภายในประดิษฐานเสมาขนาดเล็ก ทาสีขาวและสีทอง ตรงกลางเสมามีรูปธรรมจักรทาสีแดง
ส่วนอาคารเสนาสนะอื่นของวัด ประกอบด้วยศาลาการเปรียญ กว้าง 9 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นอาคารไม้ทรงไทย หอสวดมนต์ กว้าง 8.50 เมตร ยาว 13.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2502 เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์จำนวน 10 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ศาลาบำเพ็ญกุศลจำนวน 5 หลัง หอฉัน 1 หลัง โรงครัว 2 หลัง โรงเก็บพัสดุ 1 หลัง และโรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสมุทรสาคร.กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด (มหาชน), 2559.
กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.
สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.