โพสต์เมื่อ 3 เม.ย. 2022
ชื่ออื่น : ถ้ำเขาปินะ
ที่ตั้ง : ถ.เทศบาล 28
ตำบล : นาวง
อำเภอ : ห้วยยอด
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.749212 N, 99.526943 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองขี้เสียด, คลองหยี
จากที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าจังหวัดกระบี่ (มุ่งหน้าทางทิศตะวันตก) ประมาณ 14.3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเทศบาล 1 (ทางหลวง ตง.1037)ไปตามถนนประมาณ 1.7 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าวัดเขาปินะ ประมาณ 230 จะพบปากถ้ำเขาปินะอยู่ทางขวามือ
เขาปินะ เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของจังหวัดตรัง อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติคือป่าไม้ และทรัพยากรทางวัฒนธรรมคือ แหล่งโบราณคดี หลักฐานทางโบราณคดีในถ้ำ และวัดเขาปินะ จากความงามตามธรรมชาติของเขาปินะ และความน่าสนใจทางด้านโบราณคดี ทำให้มีบุคคลสำคัญมาที่ภูเขานี้อยู่เสมอ เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2445 (ร.ศ.121) พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อ พ.ศ.2458 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อ พ.ศ. 2471 เป็นต้น
ถ้ำเขาปินะ เป็นโบราณสถานสำคัญของจังหวัด ที่ได้รับการโปรโมทให้เป็น 1 ใน 20 โบราณสถานสำคัญของจังหวัดที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. หากต้องการติดต่อทางวัดเขาปินะ โทร. 075-215-867
วัดเขาปินะ, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, กรมป่าไม้
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50ง หน้า 9 วันที่ 18 ธันวาคม 2539
เขาปินะเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด มีความสูงประมาณ 100 เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำตรัง บริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาปินะ ทิศตะวันออกของเขาปินะติดคลองเล็กๆ ชื่อ คลองขี้สียด ในอดีตคาดว่าเขาปินะน่าจะเป็นที่ราบไปจดทะเลและคงมีป่าชายเลนมาจรดเชิงเขา เนื่องจากเคยขุดพบสมอเรือโบราณในทุ่งบริเวณเขาลูกนี้ เขาปินะประกอบด้วยถ้ำหลายถ้ำตั้งอยู่ลดหลั่นกัน แบ่งได้เป็น 6 ระดับ ลักษณะภายในเป็นโพรงสามารถเดินทะลุถึงกันและทะลุออกหน้าผาชันหลายช่อง มีบันไดคอนกรีตลัดเลาะไปตามระดับความสูงของถ้ำ มีการติดไฟฟลูออเรสเซนต์และเดินสายไฟโยงไปตามที่ต่างๆ ในถ้ำ บางถ้ำมีการปรับระดับพื้นและทำพื้นปูนซีเมนต์ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2565; กรมศิลปากร 2565)
ปัจจุบันถ้ำเขาปินะอยู่ในอาณาบริเวณของวัดเขาปินะ ปากถ้ำที่พบหลักฐานทางโบราณคดีหันหน้าออกทิศใต้ หรือหันหน้าออกทางวัด วัดเขาปินะและท้องถิ่น ดูแลรักษาหลักฐานทางโบราณคดีและสิ่งแวดล้อมในถ้ำเป็นอย่างดี แต่ก็มีร่องรอยขีดเขียนข้อความของนักท่องเที่ยวบนผนังถ้ำ
แม่น้ำตรัง, คลองหยี, คลองขี้เสียด
ภูเขาหินปูนลูกโดด กลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมืยน อายุประมาณ 245-286 ปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2550)
เขาปินะ เป็นภูเขาหินปูน มีความสูงประมาณ 100 เมตร มีถ้ำใหญ่น้อยสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความสวยงามและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง และเป็นสถานที่ที่เคยรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 2 รัชกาล คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญอีกจำนวนมาก ที่เคยมาเที่ยวชมถ้ำแห่งนี้ เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2445 (ร.ศ.121) โดยเฉพาะรัชกาลที่ 6 เสด็จมาถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2452 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2458 ส่วนรัชกาลที่ 7 เสด็จมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2471 และทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ปปร.ไว้ที่หน้าผาชั้นบนสุด (กรมศิลปากร 2565; ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 129)
ถ้ำขนาดใหญ่น้อยของเขาปินะ สามารถแบ่งได้เป็น 6 ระดับ และได้พบหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือ
ระดับที่ 1 เรียกว่า “ถ้ำน้ำ” พื้นถ้ำต่ำกว่าระดับพื้นดิน มีน้ำขังตลอดปี และมีทางถ้ำไหลลอดภูเขา
ระดับที่ 2 พื้นถ้ำสูงจากพื้นดินประมาณ 3 เมตร ภายในจะมีถ้ำอยู่ 3 ถ้ำ คือ ถ้ำฤาษี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เดิมเรียก “ถ้ำกระดูก” เพราะพบกระดูกคนโบราณ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2495 พระใบฎีกานิมิต สุมงฺคลโล ได้ให้เก็บกระดูกเผาไฟแล้วก่อรูปฤๅษีประดิษฐานไว้ปากถ้ำ ส่วนอีกถ้ำคือ “ถ้ำแกลบ” และอีกถ้ำไม่ปรากฏชื่อ ตั้งอยู่ระหว่างถ้ำแกลบและถ้ำฤาษี
ระดับที่ 3 เรียกว่า “ถ้ำพระบรรทม” เพราะมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างในสมัยท่านขุนไกรเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาปินะ ก่อด้วยปูนเพชร ฝีมือนายช่างชื่อ นายนุ้ย สุวรรณคีรี บ้านควนขัน อำเภอเมืองตรัง
ระดับที่ 4 “ถ้ำพระองค์กลาง” มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่ 5 องค์ ก่อด้วยปูนเพชร เป็นพระพุทธรูปที่มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ มีตำนานกล่าวถึงการสร้างพระพทุธรูปว่า พระภิกษุสงฆ์และอุบาสกจากเมืองไทรบุรีที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้โดยทางโดยเรือมาบูชาและบูรณะพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แต่เมื่อมาถึงตำบลนี้ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าจันทรภาณุได้บูรณะพระบรมธาตุเสร็จแล้ว จึงได้หยุดพักแรมที่บริเวณเขาปินะและได้รวมกันสร้างพระพุทธรูปขึ้น 5 องค์ พร้อมทั้งนำทรัพย์สินบรรจุไว้ภายในเพื่อเป็นพุทธบูชา (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2565)
ระดับที่ 5 “ถ้ำเจดีย์” สูงจากพื้นราบประมาณ 20 เมตร ประดิษฐานเจดีย์ขนาดล็ก ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นในสมัยใด เดิมมีสภาพทรุดโทรมมาก จนได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยท่านขุนไกรเป็นเจ้าอาวาส ใน พ.ศ.2466 ลูกหลานขุนไกรได้ก่อบัวเพื่อบรรจุอัฐิของท่านไว้ในถ้ำแห่งนี้ ส่วนด้านหลังของบัวมีรูปปั้นจำลองของขุนนัยนาปยา กำนันผู้ดูแลเขาปินะในระยะที่วัดเขาปินะร้าง
ระดับที่ 6 มีถ้ำอยู่ 4 ถ้ำ ได้แก่ "ถ้ำลม" "แอ่งน้ำธรรมชาติ" "ถ้ำหอยโข่ง" และ "ถ้ำจำปา" หรือ "ถ้ำเสวย" ภายในถ้ำหอยโข่งเคยพบโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น ขวานหินขัด และหม้อสามขา เป็นต้น ส่วนถ้ำจำปา เมื่อ พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสและมาเสวยพระกระยาหารที่ถ้ำแห่งนี้ จึงเรียกว่า ถ้ำเสวย ใน พ.ศ.2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ลงพระปรมาภิไธยย่อ “ปปร” และ "๑๐/๑๐/๗๑" ไว้ที่ผนังถ้ำ (กรมศิลปากร 2565; ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 129)
ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีอยู่ในอาณาบริเวณของวัดเขาปินะ ที่ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2400 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ 10 เมษายน 2515 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.
กรมศิลปากร. "เขาปินะ (ถ้ำเขาปินะ)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 17 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. "ถ้ำเขาปินะ" ระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก https://naturalsite.onep.go.th/site/detail/427
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx