โพสต์เมื่อ 9 ม.ค. 2025
ชื่ออื่น : กำแพงค่าย, จวนเจ้าเมืองตะกั่วป่า, กำแพงเมืองเก่า, กำแพงจวนเจ้าเมือง
ที่ตั้ง : ถนนอุดมธารา
ตำบล : ตะกั่วป่า
อำเภอ : ตะกั่วป่า
จังหวัด : พังงา
พิกัด DD : 8.830904 N, 98.366634 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตะกั่วป่า
เขตลุ่มน้ำรอง : ทะเลอันดามัน
โบราณสถานกำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าตั้งอยู่บนถนนอุดมธารา ในเขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่า ห่างจากแม่น้ำตะกั่วป่ามาทางทิศตะวันตกประมาณ 200 เมตร โดยจากที่ทำการเทศบาลเมืองตะกั่วป่า มาตามถนนราษฎร์บำรุง แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนมนตรี 2 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีตะกั่วป่าตรงไปประมาณ 260 เมตร จะพบโบราณสถานกำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าอยู่ทางซ้ายมือ
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานกำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ ตัวกำแพงมีความมั่นคงแข็งแรง ภายในกำแพงมีการปลูกหญ้าและปูพื้นเป็นทางเดินบางส่วน อย่างไรก็ตาม ตัวกำแพงบางจุดมีวัชพืชและไม้ยืนต้นขึ้นยึดเกาะซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับตัวโบราณสถานหากไม่ได้รับการดูแล ด้านหน้าโบราณสถานมีป้ายให้ข้อมูลประวัติโบราณสถานของกรมศิลปากรและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ในทุกปีเทศบาลเมืองตะกั่วป่าร่วมกับชุมชนในเขตเทศบาลจัดงาน “พิธีทำบุญเลี้ยงพระ จวนเจ้าเมืองตะกั่วป่า” กำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่า เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า นอกเหนือจากย่านตลาดเก่า ตึกขุนอินทร์ ฯลฯ นอกจากนี้ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน – เมษายน ของทุกปี เทศบาลเมืองตะกั่วป่าร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงาจัดงานถนนสายวัฒนธรรม “ตะกั่วป่าเมืองเก่าเล่าความหลัง” โดยมีกำหนดจัดงานทุกวันอาทิตย์ช่วงเย็น บริเวณถนนศรีตะกั่วป่าหรือตลาดเก่า กิจกรรมภายในงาน อาทิเช่น การแสดงศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมทำขนมพื้นบ้านและอาหารพื้นเมือง สาธิตวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีต นิทรรศการภาพถ่าย ฯลฯ
กรมศิลปากร, เทศบาลเมืองตะกั่วป่า, ตระกูล ณ นคร
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539
โบราณสถานกำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าตั้งอยู่ทางตะวันตกหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำตะกั่วป่า ริมถนนอุดมธารา ห่างจากวัดหน้าเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร โดยตั้งอยู่บริเวณที่ราบดินตะกอนลำน้ำตะกั่วป่า มีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่ง ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ของโบราณสถานติดกับที่พักอาศัย ด้านทิศเหนือเป็นป่า มีต้นไม้ขึ้นรกทึบ ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นป่าและที่พักอาศัย
แม่น้ำตะกั่วป่า
ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
ผลการศึกษา :
การขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2542 พบโบราณวัตถุที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 อาทิ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยยุโรป เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินและเนื้อแกร่ง เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม เป็นต้นกำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าสันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในสมัยพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองตะกั่วป่า ระหว่าง พ.ศ. 2383 – 2424 โดยสร้างล้อมรอบจวนที่พัก เป็นลักษณะของกำแพงค่ายป้องกันศัตรู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายจากลุ่มชาวจีนที่ก่อความวุ่นวายขึ้นในเมืองตะกั่วป่าบ่อยครั้งเนื่องจากขัดผลประโยชน์ในการทำเหมืองแร่ดีบุกและใช้เป็นที่หลบภัยของชาวเมือง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินยังตะกั่วป่า และได้ทอดพระเนตรจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าแห่งนี้ด้วย
กำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าเป็นกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะการก่อสร้างกำแพงก่อจากปูนผสมกรวดทรายแล้วนำมาวางซ้อนกันเป็นชั้นขึ้นไป ใช้เทคนิคการสร้างทำฐานให้กว้างกว่าตัวกำแพง กำแพงส่วนที่สมบูรณ์สูงประมาณ 5 เมตร ภายในกำแพงแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนวังหน้า ห้องโถง และวังหลัง แต่ละส่วนมีกำแพงเล็กกั้น และมีช่องประตูเชื่อมต่อกัน ลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ไม้ทำเป็นคานรับน้ำหนักและใช้อิฐเสริมด้านบนและด้านล่างของคานไม้
- ส่วนวังหน้า ติดกับถนนอุดมธารา โดยบริเวณมุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ถูกถนนอุดมธาราตัดผ่าน ลักษณะเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 58.42 เมตร ยาว 94.98 เมตร กำแพงด้านทิศเหนือมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีช่องประตู 1 ช่อง บริเวณกำแพงด้านนอกมีไม้ยืนต้นขึ้นริมกำแพงรกทึบ กำแพงด้านทิศตะวันออก มีสภาพชำรุด บางส่วนของกำแพงพังหักหายไป มีไม้ยืนต้นขึ้นริมกำแพงด้านนอกและมีรากต้นไม้ขึ้นยึดเกาะกำแพง กำแพงด้านทิศใต้ มีช่องประตู 1 ช่องเป็นแนวตรงกับช่องประตูด้านทิศเหนือ บางช่วงส่วนบนของกำแพงหักพังลง มีวัชพืชขึ้นเล็กน้อยริมกำแพงด้านในและด้านนอก กำแพงบางส่วนมีไม้เลื้อยยึดเกาะ กำแพงด้านทิศตะวันตก เป็นกำแพงเล็กกั้นระหว่างส่วนวังหน้ากับห้องโถง มีสภาพชำรุดบางส่วนหักหายไป มีวัชพืชขึ้นริมกำแพงและมีรากต้นไม้ยึดเกาะ ปัจจุบันภายในส่วนวังหน้าติดกับถนนอุดมธาราติดตั้งป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานและประวัติเมืองตะกั่วป่าของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริเวณใกล้กับกำแพงด้านทิศใต้ติดตั้งป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานของกรมศิลปากร
- ส่วนห้องโถง มีระดับต่ำกว่าส่วนวังหน้า มีไม้ยืนต้นขึ้นเป็นบางส่วน ลักษณะเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 94.98 เมตร ยาว 109.09 เมตร กำแพงด้านทิศเหนืออยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ บางส่วนหักพังลง มีไม้ยืนต้นขึ้นรกทึบด้านนอกของกำแพงและมีวัชพืชยึดเกาะกำแพงด้านในบางส่วน มีช่องประตู 1 ช่อง เชื่อมต่อกับส่วนวังหลัง กำแพงด้านทิศตะวันตกอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีไม้ยืนต้นขึ้นติดกับกำแพงด้านในและด้านนอก มีช่องประตู 1 ช่อง กำแพงด้านทิศใต้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และมีไม้ยืนต้นขึ้นชิดกำแพง มีช่องประตู 1 ช่อง ด้านทิศตะวันออกเป็นกำแพงกั้นระหว่างห้องโถงกับส่วนวังหน้า
- ส่วนวังหลัง อยู่ติดกับห้องโถงด้านทิศเหนือมีช่องประตูเชื่อมต่อกัน ลักษณะเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 48.15 เมตร ยาว 50 เมตร กำแพงส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด โดยบางส่วนของกำแพงด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือพังทลาย
จากการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2542 พบโบราณวัตถุที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 อาทิ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยยุโรป เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินและเนื้อแกร่ง เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม เป็นต้น
การใช้พื้นที่ภายในกำแพงจวนเจ้าเมืองมีการอยู่อาศัยเพียงชั้นเดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งเป็นชั้นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับฐานกำแพง จากนั้นจึงเป็นชั้นดินที่ไม่มีการอยู่อาศัย สอดคล้องกับหลักฐานด้านเอกสารว่าในสมัยพระยาเสนานุชิต (นุช) เจ้าเมืองตะกั่วป่า (พ.ศ. 2383-2424) ได้สร้างกำแพงค่ายขึ้นล้อมรอบจวนที่พักและยังคงมีการใช้งานเรื่อยมาถึงสมัยบุตรชาย คือ พระยาเสนานุชิต (เอี่ยม ณ นคร) เป็นเจ้าเมือง (พ.ศ.2424-2435) ต่อมาเมื่อพระนราเทพภักดี (สิทธิ์ ณ นคร) ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า มีการย้ายที่ตั้งเมืองไปที่เกาะคอเขาและที่บ้านย่านยาวตามลำดับ ทำให้ไม่มีการใช้งานจวนเจ้าเมืองภายในเมืองตะกั่วป่าและคงถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ช่วงเวลานี้